Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปัญหาอย่างหนึ่งที่ "ดูเหมือนเล็กน้อย" หากแทรกซึมในทุกอณูในความรู้สึกนึกคิด ปัญหาเล็กๆน้อยๆ ที่ว่านี้ส่งผลต่อสิ่งที่เรียกว่าการเจรจาด้วยเหตุผลตามความเชื่อในยุคแสงสว่างทางปัญญาว่า ยุคที่เราเชื่อว่าการพูดคุยกันด้วยเหตุผลจะนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งหรือเกิดความเข้าใจที่มากขึ้น ผมคิดว่าปัญหาที่ดูเล็กน้อยแต่สร้างภาระและกับดักใหญ่หลวงนั่นคือ อคติทางวัฒนธรรม/ชาติพันธุ์

บ่อยครั้งที่เดียวที่อคติดังกล่าวทำงานอย่างเข้มข้นในสังคมไทย สามจังหวัดภาคใต้มีปัญหากับคำว่าแขกและความเป็นแขกที่คนนอกยัดเยียดให้จนถึงทุกวันนี้ ในขณะที่ปัญหาเรื่องอคติทางวัฒนธรรม/ชาติพันธุ์ก็ปรากฏในในภูมิภาคอื่นๆ ด้วยเช่นกัน อย่างน้อยที่สุด ภาพลักษณ์ตามลักษณ์ของความบ้านนอก เชย เปิ่น และล้าหลัง ก็ยังคงปรากฏอยู่ดุจดั่งภาพประทับอันถาวร แต่แน่นอน เรื่องพวกนี้มิได้เกิดขึ้นในลักษณะคู่ตรงข้าม ระหว่างศูนย์กลางอำนาจรัฐกับภูมิภาค เท่านั้น หากผู้คนในภูมิภาคเองต่างก็มีปัญหาด้านอคติทางวัฒนธรรม/ชาติพันธุ์อยู่ภายในตลอดเวลา บางครั้ง ก็รับเอาอุดมการณ์ของรัฐมาสิงสู่ตัวเองเพื่อเล่นงานกลุ่มคนที่ตนเองมีอคติด้วย

แน่นอน ผมกำลังหมายถึงปัญหาของการคัดค้านเขื่อนแม่แจ่มและขุนวางที่จ.เชียงใหม่ที่ผ่านมา เวทีรับฟังความคิดเห็นถูกจัดขึ้นตามชื่อ ทว่า ปัญหาเรื่องคติทางชาติพันธุ์พลันบังเกิดขึ้นระหว่างคนสนับสนุนเขื่อนและฝ่ายคัดค้าน เท่าที่ผมติดตามข้อมูลเบื้องต้นพบว่า มีการร้องไล่ให้แกนนำที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอญอให้กลับไปพูดภาษาไทยให้ชัดแล้วค่อยมาค้านเขื่อนบ้าง บ้างก็ว่าถูกเอ็นจีโอเสี้ยมสอน บ้างไม่เชื่อว่ากลุ่มชาติพันธุ์นี้จะสามารถเขียนป้ายผ้าเองได้ (ภาษาไทย) นอกจากนี้ผมยังได้ยินมากับหูตัวเองในร้านอาหารแห่งหนึ่งว่า "พวกแมงนี้ไม่มีสัญชาติแล้วจะมาเรียกร้องอะไร...เป็นคนไทยหรือเปล่าก็ไม่รู้..." รวมความแล้วก็คือ อคติทางชาติพันธุ์ได้ถูกดึงเข้ามาเป็นความชอบธรรมทางการเมืองเพื่อลิดรอนสิทธิ์ของผู้อื่น และจะมีสิทธิด้านไหนเล่าจะเด่นชัดเท่ากับ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไม่ว่าจะด้วยภาษาพูด ภาษาเขียน ภาษากาย นี่คือ สิทธิเบื้องต้นของการยืนยันในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่ทัดเทียมกัน

ดังนั้น การนำเอา "ความเป็นไทยที่คับแคบ" ของฝ่ายสนับสนุนเขื่อน โดยเฉพาะเรื่องการออกเสียงชัด/ไม่ชัด พูดไทยคล่อง/ไม่คล่อง มากำหนดความมากน้อยของสิทธิ จึงเป็นเรื่องที่น่าอับอายและสะท้อนปมอัปลักษณ์ที่เป็นปัญหาของกลุ่มผู้พูดเองเสียยิ่งกว่า

เท่าที่ผมผูกชีวิตกับภาคเหนือมาตั้งแต่เรียนปริญญาตรี มีเรื่องเล่าอยู่สองเรื่องที่ผมจดจำไว้อย่างแม่นยำ และสองเรื่องนี้สะท้อนทัศนะในการมองตัวเองบางด้านของคนเมืองได้เป็นอย่างดี เรื่องแรก คนเฒ่าคนแก่และกลุ่มบุคคลวัยกลางคนขึ้นไปมักเล่าถึงบรรยากาศการ "ถูกปรับตังค์" ในโรงเรียนกรณีที่ใช้ภาษาท้องถิ่น (อู้กำเมือง) เนื่องจากการสร้างความเป็นไทยจากศูนย์กลางนั้นแผ่ขยายอำนาจเข้ามาถึงขั้นบงการการใช้ภาษา ปัญหาในเรื่องนี้เป็นปมที่ซ่อนภายในของการรณรงค์เรื่องการอนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนาในปัจจุบัน โดยมีธงนำคือ ภาษา ปมดังกล่าวนี้สะท้อนถึงความเจ็บปวดที่วัฒนธรรมตนเองถูกกดเอาไว้ ดังนั้น การ "อู้ไทยปะแล๊ด" หรือ พูดภาษาไทยสำเนียงแปร่งๆ ของคนเมืองจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้อย่างไม่เสียหายในปัจจุบัน อย่างมากก็เป็นเรื่องขำขันกันเองในชีวิตประจำวัน อย่างแรงก็คือการถูกเหยียดให้อายในเวทีทางการ (ซึ่งไม่แน่ใจว่า ในปัจจุบันการเหยียดมีมากน้อยแค่ไหน สำหรับกลุ่มชนส่วนใหญ่ในภูมิภาคต่างๆ - ในทางกลับกันการพูดไทยในสำเนียงถิ่นก็เริ่มกลายเป็นต้นทุนวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ดังที่จะเห็นได้จากบรรดาค่ายเพลงลูกทุ่งที่ต้องมีนักร้องกลิ่นอายภาษาสำเนียงถิ่นมากมาย)

เรื่องที่สอง ผมตะลึงกับคำว่า "แมง" ในภาษาคำเมือง แมงในความหมายนี้ก็คือ แมลงที่เป็นสัตว์ตัวเล็กๆ นั่นแหละ แต่คนเมืองมักใช้คำว่า "แมง" นำหน้ายามเรียกคนกลุ่มอื่นๆ ที่มีนัยความสัมพันธ์เชิงอำนาจต่ำกว่าด้วย อาทิ "แมงแข่" (เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ อาข่า และคนจีน) "แมงยาง" (ปกาเกอญอ) แมงแม้ว-แมงดอย (ม้ง) ในเรื่องสั้นของนักเขียนอย่าง ส.ธรรมยศ  ยังปรากฏคำว่า "แมงแดง" (หมายถึงผู้หญิงขายบริการ) คำพวกนี้ดูผิวเผิน ช่างคล้ายกับการ "อู้เล่นบ่าดาย...บ่ดีกึ้ดนัก" (พูดเล่นๆเฉยๆ ไม่ต้องคิดมากหรอก) แต่ผมเชื่อเหลือเกินว่ามันมีส่วนสะท้อนอคติทางชาติพันธุ์ออกมาอย่างลึกซึ้ง ปมปัญหาเช่นนี้ มิได้อยู่ในระดับสามัญสำนึกที่สามารถกำหนดและควบคุมได้ หากอคติทางชาติพันธุ์ล้วนเป็นปมในจิตใต้สำนึก คล้ายกับปุ่มที่มองไม่เห็น และมันสามารถถูกกดให้ออกมาได้ทุกเมื่อ "แมง..." ก็เช่นเดียวกัน หากไม่มีในความหมายของความต่ำต้อย ความเป็นอื่น ก็จะมีในลักษณะของความสกปรก ล้าหลัง และต่ำต้อยกว่าตนเอง

พลันที่ผมได้ยินคำผรุสวาทของฝ่ายสนับสนุนเขื่อน ผมอดคิดไม่ได้ทันทีว่าเรื่องเขื่อนนี้ไม่สามารถจัดเวทีเพื่อรับฟังความเห็นหรือถกเถียงกันได้ด้วยเหตุผลเพียงอย่างเดียวเสียแล้ว ยิ่งไม่ต้องพูดถึงปัญหาและข้อเสนอการจัดการน้ำที่หลากหลายและยั่งยืน เนื่องจากปัญหาอคติทางชาติพันธุ์เข้ามาสวมทับและลดสิทธิกลุ่มคนที่เรียกร้องให้เกิดการทบทวนนโยบาย มองในแง่นี้ ภาษาไทยที่ไม่ชัดของกลุ่มผู้คัดค้านชาวชาติพันธุ์จึงเป็นประหนึ่งเสียงรบกวนของผู้สนับสนุน แต่ในทางกลับกัน กลุ่มผู้สนับสนุนซึ่งส่วนหนึ่งนิยามตัวเองว่าเป็น "คนเมือง" ก็เท่ากับกลืนเลือดและความเจ็บปวดทางวัฒนธรรมของตัวเองและบ้วนทิ้งใส่คนอื่น อันที่จริง เราควรกล่าวเสียด้วยซ้ำว่า พวกเขาเหล่านั้นยังคงวิ่งวนอยู่ภายใต้ "อาณานิคมภายใน" ที่รัฐสยามในอดีตเป็นผู้บ่มเพาะขึ้น ครั้นในปัจจุบัน ความเป็นคนเมืองที่ฉวยใช้อคติทางชาติพันธุ์มาโจมตีผู้เห็นต่างจากตัวเอง จึงมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับความเป็นไทยที่กดทับวัฒนธรรมท้องถิ่นและภูมิภาคในช่วงเวลาที่ผ่านมา

เวทีที่รับฟังความคิดเห็นจึงมีลักษณะดราม่าน้ำเน่าในสังคมประชาธิปไตย คือแสร้งเปิดพื้นที่ทางการเมือง ทว่า แฝงด้วยการกีดกันสิทธิ แม้กระทั่งสิทธิที่จะพูดและแสดงความเห็นในสำเนียงที่แตกต่าง สำหรับผม การควบคุมคำพูดและความคิดให้เหมือนกัน รวมไปถึงการควบคุมสำเนียงให้ถูกต้องมาตราฐาน นั่นคือ ลักษณะของอำนาจเผด็จการอันเบ็ดเสร็จที่ไม่ควรพึงมีในสังคมของเรา

ไม่ต้องแปลกใจว่า เหตุใด กรณีของเขื่อนแม่แจ่ม ขุนวาง และนโยบายการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลชุดนี้ จึงแทบไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลในแง่มุมต่างๆอย่างรอบด้าน ไม่มีการพูดคุยกับความเห็นที่แตกต่าง หรือใส่ใจกับสิทธิและเสียงของผู้คัดค้าน

นั่นเพราะ มันไม่ใช่ปัญหาเรื่องเขื่อนเพียงอย่างเดียว หากแทรกซ้อนด้วยปัญหาเชิงวัฒนธรรมและอคติทางชาติพันธุ์

สำหรับผม สำเนียงที่พูดไทยไม่ชัดของกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังเรียกร้องสิทธิต่างหาก คือ การเริ่มต้นนิยามประชาธิปไตยในความหมายที่หลากหลาย เป็นทั้งการทิ่มแทงวัฒนธรรมไทยกระแสหลัก และตักเตือน "คนเมืองบางกลุ่ม" ที่ลืมอดีตอันเคยเจ็บปวดของตัวเอง




 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net