Skip to main content
sharethis

กรณีทหารก่อกบฏจนมีผู้เสียชีวิต 74 รายในปี 2552 ศาลของบังคลาเทศได้ตัดสินให้จำเลยซึ่งเป็นทหารราว 300 นายจำคุกตลอดชีวิตและอีกส่วนหนึ่งต้องโทษประหาร โดยนี่ถือเป็นหนึ่งในคดีประวัติศาสตร์ของโลกที่มีพยานฝ่ายโจทก์มากถึง 654 คน

5 พ.ย. 2556 ศาลบังคลาเทศได้ตัดสินประหารชีวิตทหาร 152 นาย จากกรณีเหตุการก่อกบฏนองเลือดเมื่อปี 2552 นอกจากนี้ ยังมีอีก 157 นายซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้พิทักษ์ชายแดนต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต และมีพลเรือนอีก 23 คนต้องโทษฐานสมรู้ร่วมคิด ส่วนทหารอีก 200 นายถูกตัดสินให้พ้นผิด

ผู้พิพากษา โมฮัมหมัด อัคตารุสซามาน กล่าวว่า คดีนี้มีความโหดร้ายมากถึงขั้นละเมิดสิทธิในศพของผู้ตาย

มีทหารราว 823 นายถูกต้องสงสัยว่ามีส่วนร่วมกับเหตุจลาจลดังกล่าว โดยเหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นที่กองบัญชาการพลทหารปืนยาวในเมืองหลวงของบังคลาเทศ เมื่อนายทหารจำนวนหนึ่งไม่พอใจเรื่องค่าตอบแทนและเรื่องอื่นๆ ทำให้มีการสังหารหมู่เจ้าหน้าที่ระดับสูง โดยการขโมยอาวุธราว 2,500 ชิ้น แล้วบุกเข้าโจมตีการประชุมประจำปีของเจ้าหน้าที่ หลังจากนั้นจึงนำร่างฝังไว้ในหลุมหรือในท่อประปา

หลังจากนั้นการก่อกบฏก็ขยายไปทั่วประเทศเป็นเวลา 30 ชั่วโมง ก่อนที่จะสงบลงโดยฝ่ายผู้ก่อการกบฏยอมจำนน เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิต 74 ราย โดยมีจำนวน 57 รายเป็นเจ้าหน้าที่

ทหารซึ่งเป็นผู้ต้องหาจำนวนมากเข้ารับฟังการพิจารณาคดีในวันที่ 5 พ.ย. ที่ศาลพิเศษพลเรือนในกรุงธากา พวกเขาถูกตั้งข้อหาฆาตกรรม, ทรมาน, สมรู้ร่วมคิด และข้อหาอื่นๆ โดยมีทหารราว 6,000 นายถูกศาลทหารสั่งจำคุกไปแล้วก่อนหน้านี้

หลังคำตัดสินมีผู้ต้องหาจำนวนมากตะโกนแสดงความไม่พอใจ โดยบางคนกล่าวว่าพวกเขาบริสุทธิ์ ขณะที่อีกคนหนึ่งตะโกนว่าเขาไม่ต้องการถูกจำคุกตลอดชีวิตและขอให้แขวนคอเขาเสีย

อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษา อัคตารุสซามาน แสดงความคิดเห็นต่อผู้สื่อข่าวว่า เขาคิดว่าทหารควรได้รับค่าจ้างมากขึ้นจริง และควรได้รับสิทธิในการผ่อนคลายความตึงเครียด โดยเล่าถึงสภาพว่าทหารในบังคลาเทศไม่มีเงินพอแม้แต่จะส่งลูกเข้าโรงเรียนของกองทัพ

บาฮารูล อิสลาม หัวหน้าพนักงานอัยการกล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกเมื่อเทียบกับคดีรูปแบบเดียวกัน โดยมีพยานฝ่ายโจทก์มากถึง 654 คน

คดีนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลกับกองทัพบังคลาเทศซึ่งมีอำนาจมาก โดยที่กองทัพรู้สึกไม่พอใจที่นายกรัฐมนตรี ชีค ฮาสินา ตัดสินใจใช้วิธีการเจรจากับผู้ก่อกบฏแทนการอนุญาตให้ทหารเข้าโจมตี

 

เรียบเรียงจาก

Bangladesh mutiny death sentences, BBC, 05-11-2013
http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-24817887

Bangladesh convicts hundreds in mutiny case, Aljazeera, 05-11-2013
http://www.aljazeera.com/news/asia/2013/11/bangladesh-mutiny-verdict-due-201311561736760822.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net