Skip to main content
sharethis

คณาจารย์รัฐศาสตร์ มช.ฯ ระบุ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง เป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้อง เพราะในอนาคตทั้งผู้สั่งการ-ผู้กระทำรุนแรงทางการเมืองจะคาดหมายได้ว่าไม่ต้องรับผิดใดๆ แนะออก กม.นิรโทษกรรมต้องฟังเสียงประชาชนอย่างกว้างขวาง ลงท้ายด้วยประชามติ

ที่มาของภาพ: เว็บไซต์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

6 พ.ย. 2556 - เมื่อวานนี้ (5 พ.ย.) คณาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ไพรัช ตระการศิรินนท์ คณบดี และรองศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ และจันทนา สุทธิจารี หัวหน้าสำนักวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ฯลฯ ร่วมประกาศแถลงการณ์ในนามของคณาจารย์แสดงจุดยืนและความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับแก้ไขวาระ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร โดนมีเนื้อหาและข้อเสนอดังนี้

 

000

แถลงการณ์ของคณาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ตามที่สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2556 โดยมีสาระสำคัญ ให้นิรโทษกรรมแก่ การกระทำของบุคคล กลุ่มบุคคล คณะบุคคล องค์กร และประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง และความขัดแย้งทางการเมือง ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2547 - 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 โดยครอบคลุมทั้งผู้กระทำการหลักในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ และครอบคลุมทั้งการกระทำในทางการเมือง และการกระทำความผิดในลักษณะการทุจริต คอรัปชั่นของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย

คณาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความเห็นดังนี้

1. ด้วยเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้ง และอาจทำให้เกิดวิกฤติศรัทธาต่อบทบาทการทำหน้าที่ของสถาบันนิติบัญญัติในการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาของประเทศไทย เนื่องจากมีการกล่าวอ้างถึง ระบบเสียงข้างมากในกระบวนการนิติบัญญัติในสภาผู้แทนราษฎร โดยละเลยที่จะให้ความสำคัญกับ หลักนิติธรรม และเจตนารมณ์ของกฏหมายที่ต้องเป็นไปเพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่สังคมอย่างแท้จริง โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

2. แม้ว่าเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจะกล่าวถึงการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง เพื่อพิทักษ์สิทธิมนุษยชน และสิทธิของความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่ดี แต่ด้วยเนื้อหาที่ครอบคลุมไปถึงผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายที่อยู่ในข่ายของการเป็นผู้ที่ควรต้องรับผิดชอบในผลของการสั่งการหรือผลของการกระทำที่เกิดขึ้น จึงอาจเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องที่ถูกนำไปอ้างอิงเพื่อประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ต้องการทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองต่อไปในอนาคต เนื่องจากแม้เป็นผู้สั่งการ หรือกระทำการให้เกิดความรุนแรงทางการเมือง แต่ก็คาดการณ์ได้ว่าจะไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ต่อการกระทำดังกล่าว โดยอ้างบรรทัดฐานจากกรณีกฏหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ การณ์ดังนี้จึงกระทบต่อหลักนิติธรรม และจริยธรรมในการออกกฏหมาย

3. ขอเรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้โปรดทบทวนถึงความชอบด้วยเหตุผลและถูกต้องตามหลักนิติธรรมของการออกกฏหมายที่มีลักษณะละเอียดอ่อน ส่งผลกระทบต่อสังคมในระดับกว้างขวางเช่นนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งผลกระทบต่อบรรทัดฐานทางกฏหมายที่ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุข ความสงบเรียบร้อยของสังคม ไม่เลือกปฏิบัติให้เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นการเฉพาะ แม้ว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา จะให้อำนาจสถาบันรัฐสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชนในการออกกฏหมายโดยใช้หลักเสียงข้างมากในรัฐสภา หากทว่า ระบอบประชาธิปไตยก็ต้องการให้เสียงข้างมากที่เป็นตัวแทนของประชาชนไม่ละเลยเสียงข้างน้อยที่มีเหตุผล และประการสำคัญที่สุดต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์และความต้องการของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเป็นสำคัญ

4. ในส่วนของอำนาจบริหาร คือรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฏหมาย ควรที่จะทบทวนถึงความเหมาะสม ถูกต้อง ชอบธรรมของร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมดังกล่าวให้ถ่องแท้ และใช้บทบาทของอำนาจบริหารในการตรวจสอบและถ่วงดุลกับอำนาจนิติบัญญัติ ยับยั้งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อหยุดยั้งความขัดแย้ง และวิกฤติศรัทธาของสังคมอันจะเกิดจากการบังคับใช้กฏหมายฉบับนี้ ซึ่งย่อมกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลด้วย

5. บทบาทของวุฒิสภา ซึ่งมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบ กลั่นกรองกฏหมายเพื่อความรอบคอบและให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศชาติ ได้โปรดทบทวนถึงความถูกต้องตามหลักนิติธรรมของร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม และใช้อำนาจที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ยับยั้งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อนำไปสู่การทบทวนแก้ไขอีกครั้งหนึ่ง

6. ศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเพื่อใช้อำนาจในการตีความร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ว่าขัดแย้งกับการใช้อำนาจนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

7. การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างกว้างขวาง บนพื้นฐานของการแสดงเหตุผล และเป็นไปอย่างสันติวิธี เพื่อเรียกร้องให้สถาบันรัฐสภา ทบทวนตรวจสอบการใช้อำนาจในฐานะผู้แทนของประชาชน ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง

8. พระราชบัญญัติกฏหมายนิรโทษกรรมเป็นกฏหมายที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม และจะเป็นบรรทัดฐานทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยต่อไป จึงควรเป็นกฏหมายที่ให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยมีส่วนร่วม

ในกระบวนการนิติบัญญัติด้วยตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้กว้างขวางและทั่วถึง ก่อนที่จะนำเข้าสู่กระบวนการทางรัฐสภา และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจสุดท้ายโดยการออกเสียงลงประชามติ

คณาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
4 พฤศจิกายน 2556

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net