สัมภาษณ์ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์: วิกฤตสองพรรคการเมืองใหญ่ และโอกาสของพรรคทางเลือก

นี่เป็นช่วงเวลาที่สองพรรคการเมืองใหญ่ของไทยคือเพื่อไทย และประชาธิปัตย์จะต้องฝ่าวิกฤตศรัทธาของมวลชนผู้สนับสนุนพรรค โดยเพื่อไทยได้ทำการอัตวินิบาตกรรมตัวเองจากกรณี “นิรโทษกรรมเหมาเข่ง” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดปรากฏการณ์คนเสื้อแดงออกมาแสดงความไม่พอใจพรรคเพื่อไทยอย่างชัดเจน บรรยากาศในโซเชียลมีเดียสะท้อนความผิดหวังของมวลชนส่วนหนึ่งที่สนับสนุนพรรคผ่านการวิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน เลยไปถึงการออกมาจัดกิจกรรมประท้วง

ขณะที่กระแสของประชาธิปัตย์นั้นทรงๆ ทรุดๆ เพียงไม่กี่เดือนก่อนมีเรื่องราวของความไม่ลงรอยเรื่องการปฏิรูปพรรคมาจากคนในพรรคเอง ทำให้หัวหน้าพรรคอย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะต้องชิงออกมาชี้แจงว่าแนวทางปฏิรูปพรรคเป็นเรื่องที่อยู่ในแนวทางของพรรคอยู่แล้ว ไม่มีการผิดคิวกันแต่อย่างใด แต่การเลือกตั้งที่ไม่เคยชนะเลือกตั้งมาเลยติดต่อกันเป็นเวลากว่าสิบปี ก็เป็นเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ติดสอยห้อยตามชื่อพรรคประชาธิปัตย์มาอย่างยาวนาน

หลังจากรัฐบาลผลักนิรโทษกรรมสุดซอยผ่านสามวาระรวดในคืนเดียว ทำให้การเมืองไทยพลิกผันมาสู่การต่อสู้กันบนท้องถนนอีกครั้ง และพรรคประชาธิปัตย์ก็กระโจนลงสู่ท้องถนนอย่างเต็มตัวแล้ว จากการประกาศของสมาชิกพรรคระดับนำอย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ  ขณะที่มวลชนผู้ผิดหวังกับเพื่อไทยจำนวนไม่น้อย ยอมหันกลับไปแตะมือกับพรรคเพื่อไทยเพราะเห็นว่าประเด็นต้านนิรโทษกรรมนั้นขณะนี้ได้กลายมาเป็นประเด็นเขย่ารัฐบาลเสียแล้ว

ท่ามกลางการชิงไหวชิงพริบกันทางการเมืองของสองพรรคใหญ่ ที่ต่างพิสูจน์ตัวเองว่าตอบสนองต่อประชาชนได้ย่ำแย่ พื้นที่ทางเลือกอื่นๆ จะมีโอกาสเบียดแทรกขึ้นมาได้หรือไม่ ประชาไทไปพูดคุยกับ 2 นักรัฐศาสตร์ ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประจักษ์ ก้องกีรติ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ISIS) เคยเสนอให้พรรคประชาธิปัตย์ปฏิรูปโดยเปลี่ยนตัวผู้นำพรรคเสียใหม่ ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้เขาเห็นว่าประชาธิปัตย์เผชิญกับความยากลำบากมากยิ่งขึ้น เมื่อเลือกเดินเกมนอกสภา ลงมานำการเมืองบนท้องถนนเสียเอง เขายังเห็นว่าโอกาสที่ฝ่ายต่อต้านทักษิณและพรรคเพื่อไทยจะดึงมวลชนคนเสื้อแดงเข้ามาเป็นแนวร่วมนั้นได้ผ่านเลยไปเสียแล้ว และสุดท้ายเขามองว่าขณะนี้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับพรรคทางเลือก และพื้นที่ทางเลือกที่จะเสนอตัวให้คนที่กำลังเบื่อหน่ายผิดหวังสองพรรคใหญ่ ได้ลองพิจารณา

ประชาไท: จากปรากฏการณ์การเมืองล่าสุดที่เกิดขึ้น ทั้ง 2 พรรคการเมืองถูกตั้งคำถามมากว่ายังเป็นพรรคการเมืองทางเลือกที่ดีของประชาชนอยู่หรือเปล่า ทั้งพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์

ระบบพรรคการเมืองของเราไม่ตอบสนองประชาชนพลเมือง เพราะถ้าพรรคการเมืองสามารถตอบสนองได้ เราจะไม่มีความขัดแย้ง การเผชิญหน้า การประท้วงบนท้องถนนอย่างต่อเนื่องยาวนานขนาดนี้ ฉะนั้นเราต้องถามว่าพรรคการเมืองของเราไม่พร้อม มีข้อบกพร่อง มีข้อจำกัดตรงไหนบ้างที่จะมาปรับปรุงแก้ไข

ส่วนหนึ่งมันเป็นตัวสะท้อนของสังคมเราเอง จะไปโทษพรรคการเมืองนักการเมืองทั้งหมดไม่ได้ มันสะท้อนว่าสังคมเราก็แตกแยกเอง

ที่สังคมแตกแยกนั้น เพราะเรามีความเข้าใจต่ออนาคตไม่ตรงกัน อดีตที่ผ่านมานั้นเราก็มีความเข้าใจไม่ตรงกันและตีความต่างกันด้วย เราจะเห็นได้ว่าตอนนี้มองอนาคตไปเป็นช่วงผลัดแผ่นดิน ช่วงปลายรัชสมัยที่ในอนาคตที่ระบอบประชาธิปไตยเชิงเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ปฏิเสธแล้วต้นทุนสูง จะไปยึดอำนาจโดยใช้รถถัง กระบอกปืน ในที่สุดแล้วก็จะไปไม่รอด จะอยู่ยาก ได้ไม่คุ้มเสีย เราก็เห็นมาแล้ว

ขณะเดียวกัน การที่จะแทรกแซงโดยตุลาการ โดยใช้วิธีอื่นๆ ที่ไม่ยึดอำนาจโดยรถถังก็มีข้อจำกัดเหมือนกัน ในที่สุดแล้วประชาธิปไตยเชิงเลือกตั้งก็กลับมาอีก ขณะเดียวกันประชาธิปไตยเชิงเลือกตั้งนั้นก็ไม่ตอบสนองประชาชนชาวไทยกลุ่มหนึ่งส่วนหนึ่งที่เห็นว่า ประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งก็ได้นักการเมืองที่เข้ามาคดโกง ทุจริต คอร์รัปชั่น ก็มีความไม่พอใจ ต่อต้านคอร์รัปชั่น ต้องการหาคนดี คือสังคมมีความแตกแยกตรงนี้ และอนาคตกับอดีตเรามองไม่ตรงกัน

ในสุดแล้ว ผมคิดว่าจะเลี่ยงไม่ได้แล้วประชาธิปไตยเชิงเลือกตั้ง แต่จะทำยังไงให้ประชาธิปไตยเชิงเลือกตั้งตอบสนอง มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพที่จะทำให้คนพอใจมากกว่านี้ และตราบใดที่เราอยู่ในช่วงปลายรัชสมัย ที่ผ่านมาเราต้องไม่ลืมว่า เราอยู่รอดมาได้จากภัยคอมมิวนิสต์และอะไรมิต่ออะไร ระหกระเหินแต่ก็อยู่รอดมาได้เป็น 60 ปีเลย แต่ว่าระบบนั้นที่ยึดกับการสร้างสังคม สร้างโครงสร้างการเมืองที่ยึดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ กับกองทัพ ระบบราชการ รวมไปถึงตุลาการด้วย ระบบนั้นก็สร้างโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การเมืองขึ้นมาแบบหนึ่ง

โครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การเมืองนั้น ไม่เน้นนักการเมือง นักการเมืองจะเป็นผู้ร้ายมาตลอด และจะเป็นเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นด้วย ทีนี้โครงสร้างนั้นมาถึงทศวรรษที่ผ่านมาจะเห็นว่าไม่ตอบสนองแล้ว

ผมคิดว่า ความผิดอันมหันต์ที่สุด ที่ร้ายแรงที่สุดที่คุณทักษิณได้ทำเอาไว้ที่คนโกรธเกลียดเขามาก เรื่องคอร์รัปชั่นมีส่วน เรื่องลุแก่อำนาจ การที่เผด็จการมีส่วนแน่นอน คนที่คอร์รัปชั่นในบ้านเรามีเยอะนะ มันแฝงไปหมด อยู่ในวัฒนธรรม เรียกว่าฝังรากเลย แม้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ มันไม่ใช่คอร์รัปชั่นของนักการเมืองไปกินงบประมาณอย่างเดียว มันก็คือการมีผลประโยชน์ทับซ้อน

คิดดูว่าใครบ้างที่จะไม่มีผลประโยชน์ในประเทศนี้ ทุกคนในประเทศนี้มีผลประโยชน์กันทั้งนั้น แต่ใครที่มาเสียสละทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี ก็คือทำตามกฎระเบียบ เสียสละให้ส่วนรวม มีน้อย เราต้องเน้นตรงนั้น

เพราะฉะนั้น ระบบเดิมที่ได้ก่อสร้างขึ้นมาในช่วงสงครามเย็น ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ทำให้เกิดกลุ่มผลประโยชน์ และคนที่ได้ผลประโยชน์จากระบบนั้น ระบบนั้นก็เปิดอยู่พอสมควร มันไม่ได้ปิด ไม่จำเป็นต้องมีความมั่งคั่งมีสตางค์หรือเป็นคนรวยถึงจะได้ดิบได้ดี คนที่ไม่มีก็มีได้ ก็ได้ทุนไปเรียนต่างประเทศกลับมาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีเยอะแยะเลย โดยรวมแล้วสังคมมีความเจริญก้าวหน้าได้เหมือนกันในระบบเดิม แต่มันไม่ทันใจคน

เมื่อคุณทักษิณมา เรียกว่าเปิดระบบเลย เอาให้ทันใจคนทันทีเลย ทันใจ ทันที ทั่วหน้า คนก็เลยชอบตรงนี้ มันตอบสนองโจทย์คนในยุคสมัยใหม่ที่ได้รับข้อมูลข่าวสารเยอะ เขาอาจมีความคาดหวังสูงขึ้นแต่ระบบเดิมไม่สามารถตอบสนองได้ เมื่อคุณทักษิณเข้ามาตอบสนองอย่างนี้ เขาเลยได้รับความนิยมมาก นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าเขาทำให้เมืองไทยไม่เหมือนเดิม การทำให้เมืองไทยไม่เหมือนเดิมนั้นทำให้เขาถูกเกลียดชังมากๆ เข้าเลือด เข้าเนื้อ เข้ากระดูกเลย

สำหรับพวกที่ต่อต้านคุณทักษิณ คอร์รัปชั่นก็ยิ่งเป็นเชื้อเพลิงให้เป็นวิธีการ เป็นเครื่องมือ เป็นทางผ่าน เป็นเหตุผลที่จะต่อต้านเกลียดชัง แต่ก็เป็นตัวสะท้อนว่าคนอื่นก็มีคอร์รัปชั่นเหมือนกัน คุณทักษิณอาจจะคอร์รัปชั่นลึกซึ้งหน่อย แยบยลมาก ใช้การแก้กฎหมายเพื่อเอื้อให้กับพรรคพวกตัว บริษัทตัวเอง ครอบครัวตัวเอง การเลื่อนขั้นตำแหน่ง พรรคพวกตัวเองอาจจะได้เป็นหลัก คือเขากินรวบโต๊ะ แต่การกินรวบโต๊ะของเขา คนเดิมๆ ก็ไม่ชอบ

นอกจากนั้น คุณทักษิณเป็นคนนอกด้วยที่มีค่านิยมแบบคนรวยใหม่ ต้องฟุ้งเฟ้อ ขับรถปอร์เช กินสตาร์บัค มันไม่มีคุณสมบัติภาพลักษณ์ของผู้ดี ก็เป็นคนรวยใหม่ไม่ใช่ผู้ดีเก่า ก็ยิ่งตอกย้ำให้ไม่ชอบเข้าไปอีก ทีนี้ ปัญหาก็คือเขาทำสิ่งที่เขาทำไป ในที่สุดกระแสก็ตีกลับ ก็มีการประท้วงขับไล่คุณทักษิณ คุณทักษิณก็ไปอยู่นอกประเทศ ก็แก้รัฐธรรมนูญใหม่เลือกตั้งใหม่

ผมคิดว่าตอนนี้วาทกรรมของประเทศไทยมีอยู่ 2 แบบใหญ่ๆ หนึ่งก็คือ ทุกอย่างเพราะทักษิณคนเดียว ก่อนทักษิณมา เราก็อยู่กันสุขสบายดี พอทักษิณเลือกเข้ามาแล้วมาเติบใหญ่ ลุอำนาจ มาทุจริตคดโกง มีผลประโยชน์ทับซ้อน เอื้อผลประโยชน์แต่พรรคพวกตัวเอง กินรวบโต๊ะ ในที่สุดแล้วก็โดนขับไล่ออกไป ขับไล่ไปแล้วก็ไม่เลิก ก็มายุแยงมาชักใยอยู่ข้างหลัง ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชาชนมีนายกเป็นคุณสมัคร คุณสมชาย ทักษิณก็ชักใยอยู่ กดปุ่มอยู่ข้างหลังจากข้างนอก ผ่านปี 51, 52, 53 คุณทักษิณก็ชักใยคนเสื้อแดงมาประท้วง ทำให้บ้านเมืองเราเดือดร้อนลุกเป็นไฟ กลับมาเลือกตั้งก็ยังอาน้องสาวมาเป็นนายก ยังชักใยอยู่ข้างนอกอีก บิดเบือนต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ตัวเองอย่างเดียว ต้องการได้ทรัพย์สินคืนมา ต้องการล้างมลทินตัวเอง นั่นเป็นวาทกรรมหนึ่งที่เราจะได้ยินโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ

อีกวาทกรรมหนึ่งก็คือ แน่นอนคุณทักษิณก็มีปัญหาติดตัว มีเรื่องทุจริตแน่นอน แต่ระบบก็ต้องจัดการไป คุณทักษิณก็เป็นหนึ่งคนในระบบ ปัญหานี้ต้องแก้ด้วยระบบ ถ้าไม่พอใจเรื่องคอร์รัปชั่นก็ไล่ออกไปก็ได้ ก็มีการยึดอำนาจรัฐประหาร รัฐประหารแล้วก็ไม่เป็นไร คนก็ไม่ออกลุกฮืออะไร ก็ผ่านไป ก็คิดว่ากฎไม่ดีทำให้คุณทักษิณขึ้นมาใหญ่และรวบอำนาจได้ ก็กลับไปแก้กฎเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมา แต่ว่าถึงเวลาที่คนจะได้ออกเสียง คนที่สมัยก่อนผมคิดว่ารู้สึกว่าไม่ได้มีเสียง เดี๋ยวนี้ไปออกเสียง พอออกเสียงแล้วเขายึดกับเสียงที่เขาออก ไม่ว่าจะในระบบใดก็ตาม ในเมื่อไปแก้ระบบแล้ว ในเมื่อไปแก้กฎแก้ระบบแล้ว เมื่อมาถึงคิวเขา เขาก็ไปใช้สิทธิออกเสียง เขาก็ได้พรรคพลังประชาชนขึ้นมาสู่อำนาจ

เมื่อไปโค่นล้มพรรคพลังประชาชนลงโดยใช้อำนาจศาล และอะไรต่ออะไรที่เราเห็นมา ตุลาการภิวัฒน์ต่างๆ ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยน เขาก็ไม่ยอม เพราะเขาถือว่าเป็นเสียงเป็นสิทธิ์ของเขา แล้วการโค่นล้มก็ดิบๆ เลยคือจะเล่นงานคุณทักษิณ การเล่นงานคุณทักษิณและทำลายระบบคือความไม่พอใจของฝ่ายๆ หนึ่ง กรณีคุณสมัครโจ๋งครึ่มเลย คือไปทำอาหารจะหมดสภาพนายกฯ ได้ยังไง มาถึงคุณสมชายก็มีประท้วงกันทั้งปีเมื่อปี 2551 ก็ถึงคิวของเสื้อแดงประท้วงเมื่อได้นานยกฯ จากฝั่งตรงข้ามขึ้นมา เขาก็รู้สึกว่าสิทธิที่ใช้เสียงที่ออกโดนปล้น เสื้อแดงก็ออกมาประท้วงปี 2552-2553 แล้วก็มีการปะทะกัน โดยเฉพาะเมษา-พฤษภาปี 53 มีคนบาดเจ็บล้มตาย เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นใหญ่ พอมาเลือกตั้งครั้งล่าสุด เขาก็ใช้สิทธิออกเสียงเหมือนเดิมอีก ออกมาได้พรรคคุณทักษิณอีก

เพราะฉะนั้น วาทกรรม 2 อันนี้ก็ขัดแย้งกันอยู่ มันไปด้วยกันก็แล้วแต่ว่าเราจะถามใคร ถ้าถามข้างหนึ่งก็จะบอกว่าเพราะคุณทักษิณคนเดียว แต่ถ้าถามอีกข่างหนึ่งว่าศัตรูคุณทักษิณแหละตัวปัญหา คุณทักษิณก็แค่หนึ่งคนที่ระบบต้องจัดการไป ต้องยึดระบบนั้นเป็นหลัก เพราะระบบนั้นคือเสียงที่เขาออกระบบที่เขาใช้ น่าจะเป็นอย่างนั้น

ประชาไท: เรื่องนิรโทษกรรมทำให้ต้องกลับมาคิดว่าแม้คนตื่นขึ้นมา รู้สึกถึงสิทธิเสียงของตัวเอง แต่สิ่งที่พรรคเพื่อไทยทำให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นมากับพรรคเพื่อไทย อาจารย์คิดว่าสิ่งนี้ทำให้คนเสื้อแดงที่เคยเป็นผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยจะกลับมาตั้งคำถามไหม

ฐิตินันนท์: มีหลายส่วนประกอบ องค์ประกอบทั้งสองข้างมีหลายขั้น มีหลายส่วน เราพูดว่าพรรคการเมืองไม่ตอบสนองก็เพราะว่าสังคมเรามีความแตกแยกแล้วก็เรายังไม่สามารถที่จะหาจุดลงตัวระหว่างสถาบันกับระบอบประชาธิปไตยเชิงเลือกตั้งได้ พอเรามาดูเรื่องพรรคการเมืองเราก็เห็นว่ามีจุดบกพร่องข้อจำกัด และเราต้องแยกระหว่างเพื่อไทย นปช. คุณทักษิณ ออกจากกัน แกนนำนปช. ก็เป็นตัวเชื่อมของคุณทักษิณกับเสื้อแดง และแกนนำนปช. ก็เป็นตัวเชื่อมระหว่างพรรคเพื่อไทยกับเสื้อแดง และก็มีความทับซ้อนกันอยู่ แต่เมื่อมาถึงคิวนี้ผมคิดว่ามีการผลักดัน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม มันก็เป็นการประเมินผิดของคุณทักษิณอย่างใหญ่หลวง ซึ่งสำหรับคุณทักษิณแล้วเขาอาจจะคิดว่านี่คือวิธีการปรองดองของเขา เขาก็เหมาเข่งให้ทุกคนเลย รวมทั้งตัวเขาด้วย ย้อนกลับไปถึงตากใบเลย ก็อาจจะเป็นวิธีที่เขาคิด ซึ่งเขาก็อาจจะเป็นคนอย่างนี้ที่คิดว่ามั่นใจในตัวเอง อย่างการขายหุ้นชินคอร์ปเมื่อต้นปี 2549 เขาก็คงไม่คิดนะครับว่าการขายหุ้นชินคอร์ปจะทำให้ประเทศลุกฮือขึ้นมาต่อต้านระบอบทักษิณได้ขนาดนั้น

มารอบนี้เขาก็คิดว่าพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผมคิดว่าเขาก็คงไม่คิดว่าจะทำให้คนลุกฮือขึ้นมาได้ขนาดนี้ และทุกภาคส่วนด้วย เสื้อแดงก็ไม่เอา เสื้อเหลืองเสื้อหลากสี หน้ากากขาวก็ไม่เอา ประชาธิปัตย์ไม่เอา ก็คือเจ้าเดิมๆ มีพรรคเพื่อไทยที่เห็นด้วย รัฐบาล

เป็นครั้งแรกนับแต่การรัฐประหารปี 2549 ที่เราเห็นว่าเป็นงานที่เรียกแขกได้ถ้วนหน้าเลย แล้วก็มีการผนึกกำลังกันอย่างทั่วถึง ก็เป็นการประเมินผิด แต่การประเมินผิดนี้คุณทักษิณก็เสียรังวัดไปเยอะ แต่ว่าคู่ต่อสู้คุณทักษิณก็เสียรังวัดไปเยอะเหมือนกันนะครับ

พรรคประชาธิปัตย์ตอนนี้เป็นพรรคฝ่ายค้านในสภาแต่ว่าออกมานำม็อบเอง ซึ่งอันนี้ผมคิดว่ามันจะมีผลเสียระยะยาวต่อระบบพรรคการเมืองของไทย เมื่อพรรคเก่าแก่ที่สุดมานำม็อบเนี่ยถือว่าเกหมดหน้าตักแล้ว นี่ก็คือจะเลยเถิดไปถึงการโค่นล้มรัฐบาลไปเลย จะตัดสินความผิดที่เขาบอกว่าจะให้ศาลประชาชนมาตัดสินเนี่ยนะครับ นี่ก็ต้องดูว่าผบลต่อไปเขาจะมาปรับอย่างไร พรรคประชาธิปัตย์ก็เสียหายหนัก

คุณทักษิณนั้นเสียหายหนักมากเลย เพราะว่ารอบนี้เป็นรอบแรกที่เสื้อแดงไม่เอาด้วยเลย เหมือนว่าโดนทรยศ คุณทักษิณทรยศเสื้อแดงนปช. พรรคเพื่อไทยก็คงสองจิตสองใจเพราะว่าถึงแม้ว่านี่จะเป็นนายใหญ่แต่ว่าฐานเสียงไม่เอาด้วยเขาก็เลยคงจะกระอักกระอ่วนเหมือนกัน แต่ผมคิดว่าเรามีโอกาสที่จะขยับไปหาทางออกร่วมกันแต่เรากำลังพลาดโอกาสนี้

สิ่งทีน่าจะเกิดก็คือ ฝ่ายที่ต่อต้านคุณทักษิณทั้งหลาย น่าจะยื่นไม้ยื่นมือเอ่ยปากพูดคุยกับฝั่งเสื้อแดงแล้วก็บอกเสื้อแดงเขาว่า เห็นไหม ทักษิณเขาไม่จริงใจหรอก เขาก็ใช้พวกท่านทั้งหลาย เขาก็ต้องการเอาตัวเองให้รอด เขาต้องการเอาทรัพย์สินคืนมา มันก็คือเรื่องของทักษิณคนเดียวเท่านั้น ถ้าพูดอย่างนั้น พวกเสื้อแดงในจังหวะนั้นเขาอาจจะฟังบ้าง แต่ในขณะเดียวกัน พวกที่ต่อต้านคุณทักษิณก็ต้องยอมรับด้วยว่าพวกเสื้อแดงที่เลือกพรรคของคุณทักษิณมาตลอด เขามีตัวมีตนจริงๆ เขามีปากมีเสียงจริงๆ เขาไม่ได้เป็นคนโง่ เขาไม่เป็นคนไร้การศึกษา ต้องยอมรับเขาตรงนั้น ถ้ายอมรับเขาและก็คุยกับเขา นี่คือทางออกประเทศไทย

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ผมคิดว่าเราพลาดโอกาสนั้นแล้ว เพราะว่าที่ผ่านมาฝ่ายที่ต่อต้านคุณทักษิณทั้งหลายโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เขาไม่ได้ไปสนใจพวกเสื้อแดงเลย เสื้อแดงคัดค้านต่อต้านนิรโทษกรรมเขาชอบเพราะว่าไปทางเดียวกันแต่เขาไม่เคยไปถามเลยว่าเราจะหาทางออก เราจะเดินไปข้างหน้าด้วยกันได้ไหม มันจะมีทางไหนไหม เขี่ยทักษิณให้ตกไปแล้วเรามาคุยกันเอง เขาไม่ทำอย่างนั้น เมื่อไม่ยอมรับพวกเสื้อแดงแล้วพยายามไปโค่นล้มรัฐบาลที่พวกเขาเลือกเข้ามา ขี้หมูขี้หมาแล้วในเวลาเข้าตาจนแล้วพวกเสื้อแดงเขาก็ต้องกลับไปหาเพื่อไทยอยู่ดี เพราะว่าระหว่างเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ เขาต้องเอาเพื่อไทยอยู่แล้ว

ก็เสียดายว่าถ้าเกิดฝ่ายที่เป็นปรปักษ์กับคุณทักษิณเขาให้พื้นที่ ให้เกียรติ ยอมรับพวกเสื้อแดงมากขึ้นซะบ้าง ไม่ต้องมากขึ้นก็ได้ สักนิดเดียว มันก็จะทำให้เกิดเชื้อใหม่ๆ เกิดขึ้นในแวดวงการเมืองไทย ทำให้เราอาจจะนำไปสู่อนาคตของเราได้

ผมคิดว่าทางฝั่งที่คัดค้านคุณทักษิณเขาไม่สามารถทำได้เพราะว่าถ้าไปยอมรับพวกเสื้อแดงเมื่อไหร่แล้วมันก็จะเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่าง นั่นคือการยอมรับการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย ประเทศไทยในอนาคตมันไม่ใช่เป็นประเทศไทยที่เหมือนสมัยสงครามเย็น มันจะเป็นประเทศไทยที่ตาสีตาสา คนที่เขาไม่ค่อยได้มีเสียง เขาก็จะหันมามีสิทธิมีเสียง แล้วถ้าเป็นอย่างนั้นคนที่เคยมีศักยภาพสูงได้ประโยชน์จากระบบเดิม ก็จะมีคนเข้ามามากขึ้น จะแออัดมากขึ้น แต่ว่าอนาคตผมคิดว่าคงจะเลี่ยงตรงนั้นยาก

ประชาไท: ทั้งสองพรรคควรจะเรียนรู้อะไรบ้าง จากการเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้

ทั้งสองพรรคต้องเรียนรู้ว่าประชาชนมีความแตกแยก แล้วก็พยายามพัฒนาตัวเอง ขยายฐานมาดูนโยบาย ไปดึงอีกข้างหนึ่งเพื่อที่จะขยายฐานให้เรามีความรอมชอมกันขึ้น

พูดง่ายๆ ว่าเพื่อไทยถึงแม้ว่าจะเป็นพรรคเสียงข้างมาก ต้องสนใจพรรคเสียงข้างน้อย คนที่สนับสนุนพรรคเสียงข้างน้อยมากขึ้น มันแปลกนะครับการเมืองโลกเดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้ พรรคที่มีเสียงข้างมากไม่ใช่ขึ้นมาแล้วจะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ เสียงข้างน้อยก็สามารถคว่ำบาตรปิดประเทศได้ เขาสามารถมาประท้วง มีข้อมูลข่าวสาร มีการจัดตั้งที่ทำให้รัฐบาลเสียงข้างมากทำงานยาก เพราะฉะนั้นต้องสนใจเขาด้วย

ในขณะเดียวกันพรรคประชาธิปัตย์ต้องมีพื้นที่ ในเมื่อแพ้ก็ต้องฟังเสียงประชาชนแล้วก็มีการต่อต้านที่มันเสนอทางออก ถ้าไม่เอานโยบายแบบนี้จะเอานโยบายแบบไหนล่ะ แล้วก็พยายามทำนโยบายแบบที่ตัวเองเสนอให้ชนะใจคน

ผมคิดว่าตอนนี้สถานการณ์สุกงอมมากเลยที่จะมีทางเลือกอื่นขึ้นมา เป็นทางเลือกอื่นที่อาจจะมีพรรคการเมืองอื่นหรือว่าพื้นที่อื่นๆ ที่จะตอบสนองตรงนี้ ตอนนี้มีคนที่ผิดหวัง หงุดหงิด ไม่พอใจมากมายทั้งสองฝั่ง ฝังของพรรคประชาธิปัตย์ที่ออกมาประท้วง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม หลายๆ คนผมเชื่อว่าเขาไม่ได้ศรัทธาหรือว่ามีความตื่นเต้นกับพรรคประชาธิปัตย์นักหรอกแต่ว่าเขาไม่เอาคุณทักษิณ ในขณะที่ฝั่งเพื่อไทยเขาก็เห็นแล้วล่ะว่าคุณทักษิณทรยศเขา แต่ว่าถ้าเกิดไปโค่นล้มรัฐบาลที่เขาเลือกมาซึ่งไม่ว่ารัฐบาลจะหน้าตาเป็นอย่างไร แต่เป็นรัฐบาลที่เขาเลือกมา ใครจะมาโค่นล้มเขาก็รับไม่ได้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้นทั้งสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งก็ไม่ได้หวือหวามากนักหรอกครับกับพรรคประชาธิปัตย์แต่เขาไม่เอาคุณทักษิณ อีกฝั่งหนึ่งก็
ไม่ได้หวือหวากับคุณทักษิณมากหรอกครับแต่ต้องการจะยึดระบบ ยึดเสียงยึดสิทธิของตัวเอง

ทีนี้การที่จะหาจดที่จะทำให้มีการสลับสับเปลี่ยนปรับขั้วต่างๆ เพื่อจะสลายสองขั้วนี้ ทางหนึ่งก็คือว่ามีพรรคอื่นและก็พื้นที่อื่นที่มาตอบสนองคนที่ผิดหวัง อกหัก ไม่พอใจ ต่างๆ ทั้งสองข้าง ก็อาจจะมีพรรคการเมืองที่สาม เราเคยมีพรรคภูมิใจไทยที่ตอนนี้ก็ไปกับพรรคเพื่อไทย เพราะฉะนั้นพรรคที่สามผมเห็นได้เลยว่าแนวนโยบายน่าจะเป็นอะไรได้บ้าง

หนึ่ง ต้องเล่นเรื่องความสุจริต จริยธรรม  ในเชิงเปรียบเทียบ คือไม่มีที่ไหนหรอกครับในการเมืองไทยหรือการเมืองในประเทศที่จะเป็นขาวกับดำ คือนักการเมือง กลุ่มการเมืองที่มาแบบขาวจั๊วะ สะอาดทุกอย่างมันไม่มีหรอก แต่ว่าเรื่องสกปรกเนี่ยมันต้องน้อยที่สุดแล้วก็เป็นระบบที่สุดแล้วก็ตรวจสอบได้มากสุดแล้วก็จัดการกันได้ อย่างนั้นถ้าเขาขึ้นมามีแนวนโยบายเรื่องจริยธรรม สุจริตมากกว่าคนอื่น

สอง เน้นสิทธิเสียงของคนที่เขาไม่เคยมีให้เขาได้แสดงออก เขาก็จะได้เสียงเยอะ เขาต้องให้เกียรติ ต้องยอมรับคนเหลานั้น และก็ต้องทำให้คนอีกข้างหนึ่งคือคนที่มาจากขั้วอำนาจเดิมมีความอุ่นใจอยู่บ้าง แล้วก็ให้เกียรติ ยอมรับสิทธิเสียงของคนที่มาจากการเลือกตั้ง ระบบประชาธิปไตยเชิงเลือกตั้ง

สาม ต้องหาคนที่จะเป็นผู้นำ บ้านเมืองเรามีคนเก่งๆ มีความรู้เยอะนะครับ ผมเห็นมีประสบการณ์มาหลายประเทศ ประเทศไทยไม่ได้ด้อยไม่ได้น้อยหน้าใครในเรื่องคนที่มีความรู้ ไปเรียนหนังสือมาเก่งๆ แต่ว่าที่จะมีความเป็นผู้นำพอในเวลานี้ก็ต้องหากัน ผมไม่อยากจะระบุชื่อ แต่มี มีคนที่อยากจะไปหาทางออกร่วมกัน

สี่ ต้องมีแรงสนับสนุน มีสะตุ้งสตางค์ มาทำป้ายพรรค มาทำสำนักงานต่างๆ ระบบเราเป็นอย่างไรก็ต้องมีปัจจัยที่จะชนะให้ได้
ห้าเขาไม่ต้องชนะหมด ถ้ามีพรรคที่สาม ชนะได้ ส.ส. แค่ 40-60 มันจะพลิก จะเป็นทางออก สลายสองขั้วเผชิญหน้าแบบนี้ในเวทีการเมืองเชิงเลือกตั้งได้

ประชาไท: แต่ว่าที่ผ่านมาเราก็มีพรรคทางเลือกที่ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมหรือชนะคะแนนในการเลือกตั้งได้ อะไรคือเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคของพรรคทางเลือกในประเทศไทย

คือหลายประการ เหตุผลหลักคือโครงสร้างสนามเลือกตั้งบ้านเราที่ยึดระบบอปุถัมภ์สูงโดยเพาะในต่างจังหวัดซึ่งสะท้อนความบกพร่องของภาครัฐที่จะเข้าไปหาคนในต่างจังหวัด คือถ้าเกิดคนในต่างจังหวัดไม่เดือดร้อนหรือเดือดร้อนแล้วมีที่พึ่งจากภาครัฐเขาก็ไม่ต้องเข้าไปหานักการเมืองท้องถิ่น อีกส่วนหนึ่งคือนักการเมืองท้องถิ่นก็เติบโตมาจากการโกงกินได้งบประมาณกลางออกมาไปสร้างถนน เป็นทุนท้องถิ่นขึ้นมา เมื่อมีสตางค์ไปหาการเมือง ก็เอาการเมืองมาหาสตางค์เพิ่มก็เป็นระบบอุปถัมภ์ขึ้นมา เราต้องยอมรับก่อนว่าเป็นอย่างนี้ ก็ต้องไปพยายามหาทางเลือกอื่นขึ้นมาในอนาคต

ทีนี้นอกจากระบบอุปถัมภ์แล้ว พรรคการเมืองนอกจากพรรคของคุณทักษิณทั้งสามพรรค ยังไม่มีพรรคการเมืองไหนที่เน้นหานโยบายที่จะได้ใจคน ชนะใจคน ที่จะตอบสนองใจคนและมีภาพให้คนรู้สึกว่าทำให้ประเทศไทยเดินหน้าได้

พรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอมทำ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์จะทำก็ต้องเปลี่ยนหัวหน้าพรรค เปลี่ยนแกนนำพรรค หาคนหน้าใหม่ หาเลือดใหม่ที่จะได้ใจประชาชน และเขาต้องหานโยบาย อย่างนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงเนี่ยขายไม่ออก เขาพยายามขายก็ขายไม่ออกก็แพ้เลือกตั้งมาตลอดเขาต้องยอมรับว่าคนต้องการอะไรบ้าง และประเทศไทยจะเดินหน้าแล้วก็ค่อยๆ ผันความคิดเหล่านี้

หลักๆ มันมาจากความเข้าใจ มีการเห็นพ้องต้องกันต่ออนาคตก่อนแล้วมาคิดว่าประเทศไทยจะเดินไปตรงนั้นอย่างไร จะขยับไปข้างหน้าอย่างไร แล้วก็นำมาสานต่อนโยบายมาขาย ให้คนชอบตรงนี้ มาเลือกเขา ก็จะต้องเป็นการต่อสู้กันในที่สุด แล้วออกจากระบบอุปถัมภ์ที่เป็นอยู่ เดี๋ยวนี้เรามีพื้นที่ในการต่อสู้โดยนโยบายโดยความคิดมากกว่าที่เราเคยมีมา เพราะฉะนั้นในอนาคตนี่จะเป็นทางออก และในที่สุดแล้วประชาชนจะไปเลือกกันเอง

ประชาไท: ขอตัวอย่างของพรรคการเมืองที่มีการปรับตัวในต่างประเทศ

หลายประเทศ มีการเลือกตั้ง และพรรคการเมืองเหมือนสัตว์มีชีวิต เมื่อเขาเป็นที่นิยมเขาก็จะมีพัฒนาการ แล้วก็มีการเจ็บไข้ได้ป่วย เขาจะมีอายุมากขึ้นก็ต้องมีการปรับตัวอยู่ตลอด เพื่อให้มีความกระปรี้กระเปร่า มีพลวัตร อย่างพรรคแรงงาน ( Labor Party) ตอนที่โทนี แบลร์จะขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคแรงงาน พรรคนั้นก็ไม่ไหวแล้ว โทรม เนือย อืด เข็นไม่ขึ้น ขายไม่ออก โทนี แบลร์ก็ทำให้เป็น New Labor  หลักๆ คือทำให้เห็นว่าธุรกิจเอกชนไม่ได้เป็นศัตรู คือสมัยก่อนพรรคแรงงานเขาเน้นแรงงาน แรงงานเป็นใหญ่พวกนายจ้าง เอกชน ทุนนิยม ถูกมองว่าเป็นศัตรู เศรษฐกิจก็ไม่ค่อยโต ไม่ค่อยเกิดพลวัตร โทนี แบลร์เข้ามาปรับให้เข้ากันได้ คือสวัสดิการก็ยังมีอยู่ แรงงานก็ยังสำคัญ แต่ธุรกิจต้องเดินหน้าได้เศรษฐกิจต้องโต เขาก็ไม่ได้เน้นแรงงานโดยที่ไปทำให้นายทุนเสียหาย คือนายทุนกับแรงงานต้องไปด้วยกันได้ นิวเลเบอร์ก็ประสบความสำเร็จชนะใจคน โทนี แบลร์เป็นนายกถึงสิบกว่าปี

พรรครีพับลิกันตอนนี้ที่สหรัฐอเมริกา มีปัญหามาก กระอักเลยเพราเขาไม่สามารถชนะเลือกตั้งได้ เขาไม่ยอมขยับมาตรงกลาง เขาอยู่ทางขวาๆ ถ้าเขาจะขยับมาตรงกลางก็คือเขาต้องเน้นบางประเด็นให้น้อยลง เขาเน้นประเด็นที่ว่ารัฐบาลไม่ควรมีสวัสดิการมาก ไม่ควรจะเก็บภาษีสูง ให้เอกชนทำเอง ให้คนมีสิทธิเสรีภาพในการประกอบธุรกิจดำเนินชีวิตอย่าไปอุ้มคนมากทำให้คนเคยตัว กลาโหมต้องแข็ง อเมริกาต้องแกร่ง ส่วนของโอบามา(เดโมแครต) เขาชนะใจคนได้มากกว่า แต่ก็ชนะกันเฉียดฉิวนะ สวัสดิการสังคมสำคัญ สาธารณสุขทุกคนต้องเข้าถึงได้ เขาก็ชนะใจคน กลาโหม ทหารกองทัพ ก็แข็งพอจัดการบินลาเด็นได้ แต่ไม่บุกใครแล้ว ถอนกำลังจากอิรักและอัฟกานิสถาน แต่ริพับลิกันเขากำลังหาอยู่ พยายามจะมีความคิดจะปรับแนวนโยบายอย่างไรที่จะชนะใจคนได้อีกครั้ง

ออสเตรเลียเพิ่งจะมีการเลือกตั้งมาเมื่อไม่นานนี้ พรรคอนุรักษ์นิยมชนะการเลือกตั้ง โทนี แอบบ็อตต์ก็มาเป็นนายกรัฐมนตรี เขาก็ขายบางเรื่องนะครับ วัดดวงนะว่าคนจะเอาหรือเปล่า เช่น เขาจะแกร่งขึ้น เข้มขึ้นเรื่องของการลักลอบเข้าเมือง ไม่เช่นนั้นเขาจะเสียงานไป คนจะว่างงาน ตกงาน เขาจะเอาพวกการช่วยเหลือต่างประเทศพวก AUSAID เข้ามาพ่วงอยู่ภายใต้กระทรวงการต่างประเทศเลย ก็คือเน้นประโยชน์ของออสเตรเลียเป็นหลัก ไม่ได้ต้องไปช่วยให้มีสันติภาพโลกอะไรพวกนี้ ก็ลดลงแล้ว แต่คนก็เลือกเขา

เพราะฉะนั้นเรา พรรคการเมืองต้องมีความกระปรี้กระเปร่า มีความตื่นตัวอยู่ตลอดในการที่จะประเมินอุณหภูมิของเวที ของประเทศ ของสังคม และชีพจรของสังคมว่าตอนนี้อยู่ตรงไหน เขาต้องการอะไร

เราเห็นกันแล้วว่าสิบกว่าปีที่ผ่านมาสังคมเปิดกว้างขึ้นมาก จากเครื่องมือต่างๆ ความมั่งคั่งที่สะสมมา เศรษฐกิจก็โต คนก็มีอยู่มีกิน ดีขึ้นแล้วก็คนรู้เรื่องมากขึ้นมากเป็นประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้จะทำอะไรต้องตอบสนองคนเยอะๆ พูดง่ายๆ ว่ายุคนี้ ในศตวรรษที่ 21 คือยุคที่ชาวบ้านเป็นใหญ่ สมัยก่อนชาวบ้านก็อยู่แบบชาวบ้านไป นักการเมืองเป็นใหญ่ ผู้มีอำนาจเป็นใหญ่ กองทัพเป็นใหญ่ ใครต่อใคร ข้าราชการอาวุโสเป็นใหญ่มีคนเป็นใหญ่เยอะในเมืองไทย เดี๋ยวนี้ชาวบ้านเป็นใหญ่ ถ้าเกิดเราไม่ยึดตรงนี้ เริ่มนับหนึ่งจากตรงนี้เดินหน้าลำบาก ถ้าทุกคนนับหนึ่งจากตรงนี้เราจะหาทางเข้าใจกัน เห็นพ้องต้องกัน เดินหน้าร่วมกันได้

โปรดติดตามตอนต่อไป สัมภาษณ์ประจักษ์ ก้องกีรติ: ทางเลือกภายใต้การเมืองสองขั้ว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท