Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ม็อบมวลชนขนาดกระเป๋า (pocket-sized mob) แต่แกนนำตั้งชื่อเรียกยิ่งใหญ่ระดับประเทศว่า “กองทัพประชาชนแห่งประเทศไทย (กปท.)" แถลงคำประกาศการยึดอำนาจทางการเมืองเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 และอ้างว่าจะเดินทางเข้าเฝ้าเพื่อคืนพระราชอำนาจให้สถาบันกษัตริย์

นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีผู้ประกาศการยึดอำนาจโดยไม่มีกำลังทหารของกองทัพหนุนหลัง (แม้แต่การประกาศคำแถลงการยึดอำนาจโดยคณะราษฎรในเดือนมิถุนายน 2475 ก็มีกำลังทหารของกองทัพหนุนหลัง) แต่แกนนำและคณะเสนาธิการ กปท. ประกาศให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพต่าง ๆ เดินทางไปพบหรือรายงานตัวต่อพวกตนในวันที่ 12 พฤศจิกายน (ซึ่งในทางปฏิบัตืจะไม่มีผลเกิดขึ้น)

การประกาศยึดอำนาจครั้งนี้มีผู้สังเกตการณ์ให้ข้อสังเกตทางเว็บไซต์ต่าง ๆ ว่าคณะผู้ประกาศการยึดอำนาจยังไม่สามารถแม้แต่จะยึดสถานีโทรทัศน์ไว้สักแห่งเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อการยึดอำนาจของตนต่อไป (ซึ่งแม้แต่สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีและสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสก็ไม่สามารถอนุญาตให้ กปท. ไปนั่งแถลงการยึดอำนาจในสถานีของตนเพราะผู้บริหารสถานีโทรทัศน์นั้นจะถูกจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างแน่นอน)

การประกาศการยึดอำนาจนั้นถูกพิจารณาจากสาธารณชนจำนวนมาก (แม้แต่จากบรรดาผู้มีเจตนาต้องการให้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยพ้นไปจากการเมืองไทย) ว่าเป็นกิจกรรม “หลุดโลก” ของอดีตนายทหารระดับพลเอกจำนวนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับพลตรีจำลอง ศรีเมืองในปัจจุบันและพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ในอดีต

อย่างไรก็ตาม  การแถลงคำประกาศนั้นเป็นการแถลงที่มีการประชุมหารือกำหนดเนื้อหากันไว้ล่วงหน้าก่อนการแถลงต่อสื่อมวลชน (ไม่ใช่การแถลงอย่าง “กลอนพาไป” ตามกระแสเหตุการณ์บนเวทีนักปราศรัยการเมืองทั่วไป)  คำแถลงนั้นเป็นการเปิด “ช่อง” ให้ตนเองสามารถถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเชิญตัวไปสอบสวนข้อเท็จจริงตามกฎหมายว่ามีเจตนายึดอำนาจด้วยวิธีการขัดรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่  ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถใช้ดุลยพินิจได้ว่าเป็นการแถลงที่ไม่สามารถดำเนินการยึดอำนาจเช่นนั้นได้จริง จึงอาจปล่อยตัวไปพร้องตั้งเงื่อนไขไม่ให้แกนนำ กปท. ก่อความวุ่นวายต่อไปอีก หรืออาจควบคุมตัวไว้สอบสวนภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด 

ผลทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นได้ต่อเนื่องคือการสลายตัวไปเองของผู้ชุมนุมมวลชนกองทัพประชาชนแห่งประเทศไทย และการโดดเดี่ยวแกนนำม็อบประชาธิปัตย์ที่ถนนราชดำเนิน หากแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ยังดึงดันการต่อสู้เพื่อโค่นล้มรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ต่อไปตามลำพัง 

กลยุทธ์การโดดเดี่ยวนี้มีความแนบเนียน และไม่กระทบความรู้สึกของม็อบ กปท. ที่เป็นมวลชนของตนมากนัก  ขณะที่แนวร่วมการชุมนุมกลุมอื่นที่มุ่งล้มล้างรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ (เช่นม็อบประชาธิปัตย์และบรรดาอธิการบดีมหาวิทยาชั้นนำของรัฐจำนวนมาก) ก็ไม่สามารถประกาศคำตำหนิแกนนำ กปท. ให้สาธารณชนเชื่อได้ว่าทรยศหักหลังกันในหมู่ผู้มีเจตนาโค่นล้มอำนาจรัฐบาลที่เอาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมและบรรดาข้ออ้างอื่นมาปราศรัยบังหน้าเพื่อเรียกร้องการมีส่วนร่วมของชนชั้นกลางกรุงเทพฯในการชุมนุมสร้างสถานการณ์

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net