Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดร เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นการจัดการน้ำของรัฐบาล ระบุรัฐไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ชาวบ้านได้ข้อมูลไม่เพียงพอ ส่วนผู้นำชุมชนเผยโครงการโขงชีมูลล้มเหลว

12 พ.ย.56 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ร่วมกับคณะอนุกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี โดยการแต่งตั้งของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ.จัดเวทีประชุมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โครงการเพื่อการออกแบบและก่อสร้างการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยฯ ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 ในวงเงิน  3.5 แสนล้านบาท ที่ห้องประชุมฟ้าหลวงโรงแรมนภาลัย จ.อุดรธานี เมื่อวานนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีข้าราชการ หน่วยงานส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นกว่า 200 คน รวมทั้งชาวบ้านจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีซึ่งคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตชราว 50 คน เข้าร่วมเวทีดังกล่าวด้วย โดยมีนายสุทธินันท์  บุญมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานกล่าวเปิดงาน

จากนั้น เวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนชาวอุดรธานีเริ่มขึ้น พร้อมกับนำเสนอข้อมูลโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำผ่านวีดีทัศน์เป็นเวลาประมาณ 15 นาที แล้วจึงเปิดเวทีให้มีการแสดงความคิดเห็น โดยกำหนดให้ผู้ร่วมอภิปรายมีเวลาได้แต่ละครั้งไม่เกิน 3 นาที

รศ.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต กล่าวว่า หากจะมีการก่อสร้างใดๆ หรือมีโครงการขนาดใหญ่ในประเทศไทย รัฐธรรมนูญระบุว่าต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง ดังนั้น แผนแม่บทโครงการบริหารจัดการน้ำของประเทศตามที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนจะทำเฉพาะในพื้นที่ 36 จังหวัดที่มีโครงการนั้นไม่ได้ ต้องจัดทำทั้ง 76 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานครด้วยเพราะเงินที่จะไปลงตามโครงการต่างๆ นั้น เป็นเงินภาษีอากรที่จะต้องเก็บจากราษฎรทุกคน

“ที่จังหวัดอุดรธานีแม้ไม่มีโครงการตามพื้นที่ 36 จังหวัด แต่ท่านสามารถแสดงความคิดเห็นในภาพรวมได้ว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับโครงการ หรือหากมีปัญหาการก่อสร้างเขื่อน การก่อสร้างคลองระบายในพื้นที่ของท่านก็เสนอแนะเข้ามาได้” ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพลกล่าว

ด้านนางมณี บุญรอด แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งได้ยื่นหนังสือคัดค้านเวทีการรับฟังความคิดเห็น กล่าวว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีขึ้นในภาคอีสานหลายจังหวัด ไม่ได้เป็นไปตาม มาตรา 57วรรคสอง ที่กำหนดให้ “การวางแผนพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ การวางผังเมือง การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และการออกกฎ ที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน ให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ” และมาตรา 67 วรรคสองที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญว่า “การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน  และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการ”

แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวด้วยว่า การที่ศาลปกครองมีคำสั่ง ซึ่งนอกจากจะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึงแล้ว กลุ่มอนุรักษ์ฯ เห็นว่าโครงการของรัฐจะต้องมุ่งเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วม และมีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจร่วมกันกับรัฐในการดำเนินโครงการ แต่การนำเสนอข้อมูลผ่านวีดีทัศน์เพียง 10 นาทีเศษ ให้ผู้เข้าร่วมได้รับชมก่อน แล้วเปิดเวทีให้แต่ละคนไม่เกิน 3 นาที ได้อภิปรายตามข้อมูลที่มีอยู่ในขณะนั้น จึงทำให้ประชาชนขาดข้อมูลอย่างรอบด้านในการพิจารณาผลดี และผลเสียของโครงการ

“การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา มีลักษณะที่เป็นการโฆษณา และประชาสัมพันธ์โครงการ โดยให้หน่วยงานของรัฐกะเกณฑ์คนมาร่วมลงชื่อรับฟังและสนับสนุนโครงการมากกว่า” นางมณีกล่าว

ขณะที่นายประภาส อำคา กำนันตำบลอุ่มจาน อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่รอบหนองหานกุมภวาปี 3 อำเภอ ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการบริหารจัดการน้ำของรัฐที่ไม่ยั่งยืน ภายใต้โครงการโขงชีมูลในอดีต โดยการขุดลอกและทำคันคูกั้น ส่งผลให้น้ำจากลำห้วย 8 สาย ไหลลงสู่หนองหานไม่ทัน จึงเกิดปัญหาน้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่ไร่นาสร้างความเสียหายให้กับชาวบ้าน ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีโครงการขุดลอกหนองหานกุมภวาปีขึ้นอีก ภายใต้งบประมาณ 964 ล้าน ระยะเวลา 3 ปี คือ ปี 55-57 แต่เดียวนี้ใกล้จะสิ้นปี 56 แล้วโครงการยังคืบหน้าไม่ไปไหนเลย ก็ขอฝากให้รัฐบาลได้ติดตามโครงการนี้ด้วย

“ตั้งแต่ปี 2534 จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการบริหารจัดการน้ำในหนองหานกุมภวาปีให้ดีขึ้นเลย ชาวบ้านต้องก้มหน้ารับกับปัญหา และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ก็เปลี่ยนไปตามโครงการที่รัฐจัดให้” นายประภาสกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net