Skip to main content
sharethis

14 พ.ย.2556 (เมื่อวันที่ 12 พ.ย.) ที่โรงแรมเดอะกรีนปาร์แกรนด์ จังหวัดยโสธร คณะอนุกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ. ร่วมกับจังหวัดยโสธร ได้จัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ของประชาชนในพื้นที่ ตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางที่ให้รัฐบาลปฏิบัติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี พ.ศ. 2550 มาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง โดยการนำแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำไปจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียอย่างทั่วถึง เนื่องจากโครงการบริหารจัดการน้ำทุกสัญญา (โมดูล) มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยผู้เข้าร่วมมีทั้ง พระสงฆ์ หน่วยงานราชการ นายก อบต. นายกเทศบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชน ประมาณกว่า 200 คน นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านลุ่มน้ำชีที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนยโสธร-พนมไพร เขื่อนธาตุน้อยในลุ่มน้ำชีกว่า 20 คน เข้าร่วมด้วย

นายประวัติ ถีถะแก้ว ผู้ว่าราชการยโสธร เป็นประธานในพิธีเปิด กล่าวว่า เวทีการรับฟังความคิดเห็นประชาชน เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญกับการแสดงความคิดเห็นของประชาชน การรับฟังความคิดเห็นเรื่องแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย แบ่งออกเป็นสองแบบ คือ แบบแรกเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นพื้นที่ที่มีโครงการ เช่น จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดสกลนคร แบบที่สองเป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่อยู่นอกพื้นที่ตั้งโครงการ ซึ่งจังหวัดยโสธร เป็นจังหวัดที่ไม่มีโครงการ แต่ก็มีผลกระทบเนื่องจากจะมีโครงการที่ต้นแม่น้ำชีเพราะถ้ามีการสร้างเขื่อนเก็บน้ำในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิก็จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อบ้านเราด้วย อย่างไรก็ตามเวทีนี้จะสร้างความเข้าใจและให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ”

หลังจากนั้นวิทยากรกระบวนการได้เสนอแผนการดำเนินงานของแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ และเสนอวีดีทัศน์ ประมาณ 14 นาที โดยเสนอเพียงโครงสร้างของโครงการเท่านั้น ต่อจากนั้นได้มีการเปิดเวทีให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น โดยเปิดโอกาสให้เพียงคนละ 3 นาที

นายน้อย เทพเจริญ ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนยโสธรพนมไพร เขื่อนธาตุ น้อยในแม่น้ำชี กล่าวว่า โครงการต่างๆ ของภาครัฐเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการน้ำ มีผลกระทบต่อชาวบ้านเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะจากโครงการ โขง-ชี-มูล ที่มีการสร้างเขื่อนยโสธร-พนมไพรและเขื่อนธาตุน้อยกั้นแม่น้ำชี ส่งผลกระทบให้พื้นที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร ข้าวเสียหาย แม้ว่าจะมีการเสนอการแก้ไขปัญหากับภาครัฐ แต่ก็ไม่มีการปฏิบัติตามข้อเสนอ สิ่งที่เป็นคำถามคือ โครงการ บริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ชาวยโสธร ได้ประโยชน์อะไร แน่นอน หรือโครงการการนี้จะทำให้ทุกคนเป็นหนี้ร่วมกัน

นายน้อย ยังกล่าวต่อว่า กลุ่มคนที่เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นมีการล็อกรายชื่อไว้แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ หน่วยงานรัฐ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกอบต. นายกเทศมนตรี ส่วนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่มีไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ จึงเห็นว่าเวทีความรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

ขณะเดียวกัน นายยุทธ ถอมออม คณะกรรมการลุ่มน้ำชี กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นประชาชนเป็นสิ่งที่ดี แต่การบริหารจัดการน้ำของบ้านเราในปัจจุบันล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง จะเห็นได้ว่า เมื่อปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ เกิดจากการที่คนที่ไม่มีความรู้เรื่องน้ำมาบริหารจัดการและสั่งการในระบบน้ำ สุดท้ายเกิดภัยพิบัติ ปี 2555 รัฐบาลสั่งให้เปิดเขื่อนระบายน้ำในช่วงหน้าฝนเกรงว่าน้ำจะท่วม แต่ผลสุดท้ายคือหน้าแล้งไม่มีน้ำ เกิดปัญหาภัยแล้ง ซึ่งไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้ ”

“ผมเสียดายเงิน 3.5 แสนล้าน ว่า จะมีความคุ้มค่าหรือเปล่า แต่ก็อยากให้มีการบริหารน้ำที่ดี ให้คนที่มีความรู้เรื่องน้ำอย่างแท้จริง เพราะขณะเดียวกันโครงการยังไม่ได้ออกแบบอะไร แต่มีการจัดประมูลโครงการ หากมองอีกมุมหนึ่งไม่แน่ใตว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์หรือเปล่า เพราะขั้นตอนการดำเนินโครงการที่รวบรัด สุดท้ายมีความเป็นห่วงว่า โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านที่ทำโดยคนที่ไม่มีความรู้เรื่องน้ำ”นายยุทธกล่าว

นายนิมิต หาระพันธ์ ประธานกลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนยโสธรพนมไพร เขื่อนธาตุน้อยในแม่น้ำชี กล่าวว่า “พื้นที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนยโสธร-พนมไพรและเขื่อนธาตุน้อย ปัจจุบันชาวบ้านก็ยังได้รับผลกระทบโดยไม่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาเยี่ยวยา ชดเชย ผู้ได้รับผลกระทบจากภาครัฐเลยเป็นระยะเวลา 10 กว่าปี ซึ่งรัฐควรแก้ไขปัญหาเก่าที่ยังค้างคาอยู่ก่อน

นายนิมิต ยังกล่าวทิ้งท้ายว่าเวทีการรับฟังความคิดเห็นวันนี้ เป็นเพียงพิธีกรรมหนึ่งที่ทำให้เสร็จไป โดยไม่ได้เข้าใจปัญหาของพื้นที่อย่างแท้จริง เป็นเพียงการประชุมพูดคุยกันแค่ส่วนราชการ ซึ่งคิดว่า การรับฟังความคิดเห็นต้องลงพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ เพราะไม่งั้นแล้วเวทีการรับฟังความคิดเห็นรูปแบบนี้ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร และไม่สามารถที่จะนำไปแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริงได้

หลังจากนั้น นายนิมิต หาระพันธ์ ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนยโสธรพนมไพร เขื่อนธาตุน้อย ได้มีการยืนหนังสือคัดค้านเวทีการรับฟังความคิดเห็น ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร

ผู้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นได้สลับสับเปลี่ยนกันแสดงความคิดเห็น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นการเสนอปัญหาพื้นที่ของตนเองและเสนอโครงการต่างๆเพื่อพัฒนาในพื้นที่ตน เช่น การขุดลอกคูคลอง สร้างพนังค์กั้นน้ำ รวมถึงการเสนอให้แม่น้ำชีเข้าไปอยู่ในแผนแม่บทการบริหารจัดการมรัพยากรน้ำด้วย

เวทีรับฟังความคิดเห็นได้มีการดำเนินการจากเวลา 13.00 น.มาจนถึงเวลา 15.30 น. ผู้ดำเนินรายการหยุดให้แสดงความคิดเห็นและเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าวปิดเวทีการรับฟังความคิดเห็นประชาชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net