รายงาน: 6 ปี ‘ชุมชนศรัทธา’ สิ่งละอันลดความขัดแย้ง จับต้องได้ที่หมู่บ้าน

สิ่งละอันพันละน้อย ภารกิจก่อกิจกรรมลดความขัดแย้ง จับต้องได้ที่หมู่บ้าน ถอดจากเวทีประเมินโครงการ 6 ปี‘ชุมชนศรัทธา’ โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนโดยใช้วิถีท้องถิ่นเดินนำ

 
หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “ชุมชนศรัทธา” กันมาบ้างแล้ว แต่อาจจะยังไม่เข้าใจลึกซึ้งว่ามันคือ อะไร แบบไหนและอยู่ที่ไหน แล้วมันลดความขัดแย้งได้อย่างไร
 
“ชุมชนศรัทธา”  หรือ “กำปงตักวา”ในภาษามลายูนั้นมีชื่อเต็มว่า โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายชุมชนศรัทธา “กำปงตักวา” แนวคิดหลักคือ มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนตามวิถี อัตลักษณ์ที่เป็นทุนเดิมของชุมชน
 
ในรายงานการถอดบทเรียนชุมชนศรัทธาประจำปี 2556 โดยศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) อธิบายว่า เครือข่ายชุมชนศรัทธา เน้นกระบวนการและรูปแบบการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม ภายใต้โครงสร้างอำนาจของชุมชน ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ 
 
เป็นกระบวนการที่ใช้ภูมิปัญญา วิถีท้องถิ่น หลักศาสนา เป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพชุมชน ทำให้คนในชุมชนมีศักยภาพในการร่วมเสริมสร้างสันติสุข การพึ่งตนเอง การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างมั่นคงถาวร
 
 
โครงการนี้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีชุมชนหรือหมู่บ้านเป้าหมาย 120 หมู่บ้าน ขั้นต้นได้รับงบประมาณจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ต่อมาได้งบจากมูลนิธิชุมชนไทและ Action Aids ซึ่งได้รับทุนมาจากสหภาพยุโรป (EU) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและประสิทธิภาพการขับเคลื่อนในแต่ละชุมชนผ่านผู้นำ 4 เสาหลักและอาสาสมัครใน 120 หมู่บ้านเป้าหมาย
 
การสร้างชุมชนศรัทธา เพื่อเป็นฐานรองรับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามวิถีวัฒนธรรม ความเชื่อและศาสนา เพื่อตอบสนองเป้าหมาย ความยุติธรรม สวัสดิการชุมชน ความเสมอภาคทางสังคม บทบาทการมีส่วนร่วม เพื่อบริหารจัดการผลประโยชน์ของชุมชน ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา ที่ศาลากลางจังหวัดปัตตานี คณะทำงานโครงการโครงการชุมชนศรัทธาได้จัดประชุมถอดบทเรียนชุมชนศรัทธา ประจำปี 2556 มีผู้เข้าร่วมจาก 4 พื้นที่เป้าหมายในการถอดบทเรียนเข้าร่วม
 
ทั้ง 4 หมู่บ้านเป้าหมายดังกล่าว ได้แก่
 
1.บ้านมะยูง ต.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส
2.บ้านแลเวง ต.ดอนทราย อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี
3.บ้านกำปั่น (ตาแป) ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา
4.บ้านจวบ (จูวะ) ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส
 
ผู้รายงานสรุปผลการถอดบทเรียนมี 3 คน ได้แก่ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโส DSW และนายอะห์หมัดสมบูรณ์ บัวหลวง คณะทำงานโครงการชุมชนศรัทธา ซึ่งได้ลงไปประเมินงานใน 4 หมู่บ้านดังกล่าวมาแล้ว 
 
การถอดบทเรียนดังกล่าว ใช้ทั้งแบบสอบถาม การประชุมกลุ่มเฉพาะ เช่น กลุ่ม 4 เสาหลัก กลุ่มแกนนำตามธรรมชาติ ปราชญ์ท้องถิ่น กลุ่มสตรี สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ประชาชนทั่วไป การปฏิบัติงานภาคสนาม การจัดทำรายงานสรุปผลและประชาพิจารณ์ข้อมูล ไปจนถึงการจัดทำเป็นคู่มือกิจกรรมและแผนงานชุมชนศรัทธาเผยแพร่ต่อสาธารณะ
 
สิ่งละอันพันละน้อยที่ชุมชนศรัทธาได้รับ
 
เนื้อหาบางส่วนจากรายงานการถอดบทเรียนใน 4 หมู่บ้านเป้าหมายดังกล่าว พบว่า โครงการชุมชนศรัทธาได้ก่อให้เกิดกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่อย่างน่าสนใจหลายอย่าง 
 
จากการนำเสนอของ 4 หมู่บ้านเป้าหมาย มีหลายประเด็น ส่วนใหญ่เชื่อว่าวิถีชีวิตชุมชนศรัทธาใช้หลักการศาสนาอิสลามเป็นหลัก มีลักษณะคล้ายกับกลุ่มดะวะห์ตับลีค (กลุ่มเผยแพร่ศาสนาอิสลามรูปแบบหนึ่ง)
หลายคนพยายามอธิบายว่า ชุมชนศรัทธาคือความเชื่อมั่น ศรัทธา มุ่งเน้นให้สมาชิกชุมชนศรัทธาตามหลักศาสนาอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความสามัคคี ร่วมกันตระหนักถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีงาม สามารถพึ่งตนเอง เป็นแบบอย่างที่ดีงาม ห่างไกลความเลวร้ายด้านอาชญากรรม ยาเสพติดและอบายมุขต่างๆ โดยใช้ศาสนสถานเป็นศูนย์กลางการบริหารและจัดการชุมชน
 
กล่าวคือ ชุมชนมุสลิมใช้มัสยิดและชุมชนพุทธใช้วัดเป็นหลัก
 
จากความเข้าใจดังกล่าว ทำให้สมาชิกและแกนนำชุมชนส่วนใหญ่จึงมักนำเสนอกิจกรรมภาคปฏิบัติมากกว่าเรื่องแนวคิด เช่น
 
เปิดสอนการอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่านในชุมชน ซึ่งปัจจุบันหลายรูปแบบ เช่น สอนโดยผู้รู้ในบ้านตนเองหรือศาสนสถาน สอนแบบกีรออาตีซึ่งผู้สอนต้องผ่านการอบรม ส่วนใหญ่ใช้ศาสนสถานเป็นที่สอน สอนแบบท่องจำที่เรียกว่าฮาฟิสอัลกุรอ่าน ส่วนใหญ่ใช้สถานศึกษาเฉพาะ ผู้เรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กชาย เรียนเต็มแบบเวลา และการสอนในโรงเรียนตาดีกา
 
บางชุมชนดำเนินการได้ดีจนสามารถบรรจุเป็นข้อบัญญัติขององค์ปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่และได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภายนอก เช่น ธนาคารโลก (World Bank) สนับสนุนค่าดำเนินกิจกรรมหรือสร้างอาคารเรียน เป็นต้น
 
การจ่ายซากาต (การบริจาคภาคบังคับ) 
 
วิธีการจ่ายซากาตที่นิยมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ่ายแบบส่วนตัวของตนหรือครอบครับโดยมอบผู้มีพระคุณ เช่น โต๊ะอิหม่าม ครูสอนศาสนา ครูสอนอัลกุรอาน แต่บางชุมชนมีข้อตกลงให้จ่ายซากาตที่มัสยิด โดยตั้งคณะกรรมการจัดสรรและแจกจ่ายซากาตให้เป็นไปตามหลักศาสนา
 
ด้านสังคมสงเคราะห์ 
 
เช่น การสร้างโรงครัวให้มัสยิด การสร้างโรงทานให้วัด จัดหารถยนต์อำนวยความสะดวกและบริการรับส่งสมาชิกที่เจ็บป่วย หรือรับส่งไปงานบุญอื่นๆ โดยไม่คิดค่าบริการ จัดรับบริจาคผ้าขาวห่อศพและอุปกรณ์โลงศพ 
 
การระดมทุนจากสมาชิกมาเป็นทุนการศึกษาแก่เด็กยากจนและเด็กกำพร้าประจำปี บางชุมชนสามารถตั้งกองทุนเลี้ยงอาหารนักเรียนตาดีกาทุกวัน บางชุมชนจัดหาเงินซื้อตำราสอนศาสนาแจกนักเรียนตาดีกา
 
กิจกรรมนันทนาการ
 
ในเรื่องการเมืองท้องถิ่น มีการใช้กระบวนการพูดคุยและปรึกษาหารือ (ชูรอ) ก่อนและหลังการเลือกตั้งในตำแหน่งต่างๆ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน นายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาล เพื่อป้องกันไม่ให้การแพ้ชนะทางการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องบาดหมางกัน ซึ่งช่วยลดความขัดแย้งได้ บางชุมชนได้เชิญฝ่ายแพ้เลือกตั้งมาเป็นคณะทำงานด้วย
 
บางชุมชนพยายามจัดการนันทนาการของนักเรียนตาดีกาในเครือข่ายหลายๆโรงเป็นประจำ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์และเสริมสร้างความสามัคคี
 
บางชุมชนมีการจัดงานวันคล้ายวันเกิดของศาสดามูฮำมัด เรียกว่า “เมาลิดีนนบี หรืองานเมาลิด” งานวันอาซูรอ โดยเน้นให้สมาชิกในชุมชนหาวัตถุดิบมาร่วมกันทำขนมอาซูรอ
 
ในเดือนรอมฎอน ทุกชุมชนจัดกิจกรรมละศีลอดร่วมกัน ทั้งที่ทำทุกวันหรือจัดครั้งเดียวที่มัสยิด
กิจกรรมเหล่านั้น เป็นส่วนสำคัญที่สร้างความผูกพันในชุมชนให้มากขึ้น แม้บางชุมชนไม่ได้มีศักยภาพมากก็ตาม
 
เสริมหลักสูตรในโรงเรียน
 
เป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่สอดคล้องกับหลักการของศาสนาในโรงเรียนของชุมชน ซึ่งบางชุมชนสามารถบูรณาการแนวคิดและหลักศาสนามาสู่ภาคปฏิบัติในโรงเรียนประจำชุมชน ทั้งรวมถึงสูตรการเรียนรู้อื่นๆ เช่น การเปิดพิธีด้วยการอัญเชิญคัมภีร์อัลกุรอ่าน การขอพร(ดูอา)หน้าเสาธง เป็นต้น
 
สิ่งเหล่านี้แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ก็มีคุณค่าในเชิงจิตวิทยาชุมชนค่อนข้างมาก เพราะหลายชุมชนมีนักเรียนที่นับถือศาสนาอิสลามทั้งหมด แต่ยังเคยปฏิบัติเช่นนี้ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่มีความรู้หรือเกรงจะขัดกับระเบียบของโรงเรียน แต่เมื่อเริ่มทำไปแล้วกลับกลายเป็นแบบอย่างให้โรงเรียนอื่นๆไปด้วย
 
การพัฒนาแกนนำและสมาชิก 
 
หลายชุมชนมีกระบวนทัศน์ในการพัฒนาศักยภาพสมาชิกและแกนนำ เช่น ส่งบุคลากรเข้าอบรมการสอนคัมภีร์อัลกุรอ่านระบบกีรออาตี เพื่อให้มีผู้สอนเป็นของชุมชนเอง มีการจัดตั้งชมรมโรงเรียนตาดีกาเพื่อพัฒนาเครือข่ายการเรียนการสอน และส่งเสริมความสามัคคี 
 
การส่งเสริมการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เช่น ไปทัศนศึกษาดูงาน การจัดฝึกอบรมและสัมมนาแกนนำและสมาชิกกันเองหรือโดยองค์กรภาคี
 
 
โครงสร้างชุมชนศรัทธา
 
การจัดโครงสร้างการบริหารและการจัดการชุมขนศรัทธา จะใช้ผู้นำ 4 เสาหลักเป็นแกนนำดำเนินการ
 
ผู้นำ 4 เสาหลัก ประกอบด้วย 
 
ฝ่ายปกครอง เช่น กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน 
 
ฝ่ายพัฒนา คือนายกอบต.หรือนายกเทศมนตรีและสมาชิก 
 
ผู้นำศาสนา เช่น โต๊ะอิหม่าม คณะกรรมการมัสยิด โต๊ะครู (ผู้สอนศาสนาในสถาบันปอเนาะ) อุสตาซ(ครูสอนศาสนาในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม)
 
ผู้นำตามธรรมชาติ หรือปราชญ์ท้องถิ่น หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น นักคิด นักกิจกรรม ผู้อาวุโสที่มีความรู้เรื่องทั่วๆไป ผู้มีประสบการณ์ด้านต่างๆ ที่ไม่มีตำแหน่งอื่นๆในชุมชน
 
บางชุมชนแบ่งความรับผิดชอบในการดูแลชุมชน เช่น แบ่งซอยหรือส่วนย่อยของชุมชน หรือแบ่งตามกิจกรรม เพื่อสะดวกในการดูแลบริการต่างๆตามแผนงาน 
 
การทำงานส่วนใหญ่จะผ่านกระบวนการพูดคุย การปรึกษากันและกันตามหลักการอิสลาม คือกระบวนการชูรอ เพื่อให้เป็นฉันทามติและความเป็นสิริมงคล
 
กิจกรรมด้านบริการ/สวัสดิการ
 
หลายชุมชนมีแบบอย่างเรื่องการจัดหาทุนเพื่อเป็นสวัสดิการของชุมชน มีแบบอย่างของการเสียสละของแกนนำ เช่น ยอมหักค่าตอบแทนตำแหน่งหัวหน้าชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน(ชรบ.)ให้กองทุน หรือนำมาออมกับกลุ่มออมทรัพย์แบบสมัครใจรายวัน(วันละบาท) เพื่อเป็นทุนทำกิจกรรมหรือซื้อสินค้า กองทุนอาชีพของกลุ่มสตรี
 
เมื่อชุมชนมีองค์กรและกระบวนการที่ชัดเจน ก็จะได้รับงบประมาณช่วยเหลือจากองค์ภาคีและจากรัฐเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อต่อยอดและเติมเต็มกิจกรรมชุมชนแต่ยังคงหลักการของชุมชนศรัทธาไว้
 
ตัวอย่างกิจกรรมที่ชุมชนดำเนินการเพื่อการพัฒนาอาชีพและรายได้ เช่น การฟื้นฟูนาร้าง การส่งเสริมปลูกต้นไผ่เพื่อเก็บหน่อ การขุดสระน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร การรวมกลุ่มสตรีทำขนมขายตามงานเทศกาล
 
สิ่งที่ได้คือ เมื่อชุมชนผ่านกระบวนการในโครงการชุมชนศรัทธา การทำงานเพื่อสังคมหรือจิตอาสาได้เกิดขึ้นทันที โดยความเห็นร่วมของคนในชุมชน
 
ก้าวต่อไปที่ชุมชนศรัทธาต้องการ
 
แม้ชุมชนเป้าหมายบางพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำคนใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อกระบวนการทำงานบ้าง แต่ก็มีความกระตือรือร้นที่จะนำชุมชนพัฒนาไปข้างหน้า บางชุมชนสามารถสร้างภาพจินตนาการที่เป็นรูปธรรมได้ เช่น 
 
ด้านบริการและสวัสดิการชุมชน มีแนวคิดตั้งกองทุนกลางเพื่อชุมชน อาจจะเรียกว่า กองทุนอุมมะห์(Ummah) กองทุนออมทรัพย์อิสลามและอื่นๆ บางชุมชนทดลองดำเนินการไปแล้ว เพื่อช่วยเยาวชนที่เรียนดีขยันแต่ขาดทุนทรัพย์ได้เรียนต่อ หรือเพื่อพัฒนาอาชีพและรายได้แก่สมาชิกในชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เช่น การผลิตน้ำบูดู
 
บางชุมชนมีปัญหาที่จอดรถยนต์ เพราะเมื่อราคายางพาราสูงขึ้นสมาชิในชุมชนก็มีเงินซื้อรถยนต์มากขึ้น จึงคิดแก้ปัญหาด้วยการหาเงินทุนซื้อที่ดินทำลานจอดรถสาธารณะของชุมชนในอนาคต
บางชุมชนเคยจัดแข่งขันความสะอาด มีห้องน้ำมัสยิดสะอาด ห้องน้ำเพื่อคนพิการ จึงนำมาเสนอเป็นแผนงานของชุมชน
 
บางชุมชนมีภูเขาและน้ำตก แต่ยังไม่เคยใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง จึงวางแผนสร้างระบบน้ำประปาภูเขา
ด้านการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับสภาพชุมชน เช่น แหล่งประวัติศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลและธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงเกษตรอนุรักษ์ 
 
การพัฒนาทักษะการเรียนรู้และการบริหารจัดการชุมชนศรัทธาควรทำอย่างกว้างขวาง สม่ำเสมอและต่อเนื่อง และอยากให้ขยายพื้นที่ตามแนวคิดชุมชนศรัทธาให้ครอบคลุมทั้งตำบลและอำเภอ
 
 
ข้อจำกัดที่ต้องข้ามพ้น
 
แนวคิดและหลักการของชุมชนศรัทธา เป็นรูปแบบที่สามารถปฏิบัติเป็นรูปธรรมในทุกชุมชน เพราะเป็นหลักคิดการพัฒนาศักยภาพของชุมชนบนพื้นฐานความความถูกต้อง ดีงามและเกิดประโยชน์ตามวิถีวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อและศาสนา 
 
แต่การสร้างความมั่นคงของชุมชนก็มีข้อจำกัดอยู่หลายประการ เช่น การขาดการถ่ายทอดงานกันระหว่างกรรมการโครงการคนเก่ากับคนใหม่ บางชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงของแกนนำหลัก หรือมีภารกิจอื่นนอกชุมชนมากขึ้น บวกกับการขาดการประสานงานที่ดีทำให้การขับเคลื่อนงานชุมชนศรัทธาอ่อนแอลง
 
นอกจากนี้ การเพิ่มทักษะและพัฒนาศักยภาพการทำงาน ทั้งการทำงานกลุ่ม และความรู้ทั่วไปที่ต้องควบคู่กับความเข้าใจทางด้านศาสนาที่นำมาใช้ได้ในชุมชน ยังต้องเติมเต็มในส่วนที่ยังขาดอยู่
 
ที่สำคัญค่านิยมของสังคมคนมลายูที่ยอมรับความเป็นผู้นำในชุมชนอย่างมาก จนทำให้การทำงานตามหลัก“กระบวนการประชาธิปไตย”ลดน้อยลงไป 
 
หมายความว่า สมาชิกมักจะมอบหมายอำนาจให้ผู้นำ จนทำให้ผู้นำบางคนเข้าใจว่าการทำงานของตน คือการทำงานตามหลักประชาธิปไตยที่ดีแล้ว หรือเข้าใจว่า การประชุมสมาชิกในชุมชนคือความมีประชาธิปไตยแล้ว แต่ในความเป็นจริงมีสมาชิกบางคนเท่านั้นที่มีโอกาสพูดและตัดสินใจในที่ประชุม
 
อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่สำคัญที่จะทำให้ชุมชนศรัทธาเดินต่อไปได้ คือความต่อเนื่องและสม่ำเสมอในการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของชุมชน
 
เสียงสะท้อนจากผู้ถอดบทเรียน
 
ในขณะที่ ความเห็นในส่วนของผู้ถอดบทเรียน อย่างนายอะห์หมัดสมบูรณ์ บัวหลวง คณะทำงานโครงการชุมชนศรัทธา เห็นว่า ชุมชนศรัทธาสามารถเปลี่ยนให้เป็นชุมชนพึ่งพาตนเองได้ จากการคิดเองบริหารเอง แต่ควรสร้างองค์ประกอบอื่นๆ ด้วยเช่น การสร้างคณะกรรมการชุดใหม่มารับช่วงต่อ
 
“การมีกรรมการชุดใหม่ในขณะที่ยังเหลือกรรมการชุดเก่าอยู่อาจทำให้เกิดการสงวนท่าที และการเปลี่ยนแปลงผู้นำชุมชนก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ชุมชนเดินหน้าลำบาก เพราะฉะนั้นการเปิดพื้นที่กลางให้ทุกฝ่ายมีพื้นที่พูดคุยก็จะช่วยลดปัญหานี้ได้”
 
ชุมชนศรัทธาต้องมีโรดแมป
 
นายอะห์หมัดสมบูรณ์ กล่าวว่า การสร้างแผนที่นำทางหรือ Road map เพื่อการจัดลำดับการบริหารจัดการเพื่อให้ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงก็สำคัญ ซึ่งทางชุมชนต้องกลับไปพูดคุยหารือกันเพื่อให้การทำงานเกิดความชัดเจนมากขึ้น
 
นายอะห์หมัด กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะทำงานต้องมีขั้นตอนและกระบวนของตนเองที่มั่นใจว่าสามารถดำเนินการได้และต้องสร้างเครือข่ายหนุนเสริมชุมชนศรัทธาด้วย
 
ส่วนนายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโสศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า การทำ Road map จะเป็นเป็นตัวกำหนดการทำงานที่ต้องเดินหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้
 
นายมูฮำมัดอายุบ กล่าวด้วยว่า ชุมชนศรัทธาสามารถหนุนเสริมให้ยุติการฆ่าหรือยุติความรุนแรงในพื้นที่ได้ โดยใช้ประโยชน์จากการขับเคลื่อนกิจกรรมทางวัฒนธรรม หากชุมชนศรัทธาทำได้ ชุมชุนอื่นก็สามารถทำได้เช่นกัน หลักคิดคือคณะทำงานต้องสร้างการทำงานที่เป็นรูปธรรมสามารถจับต้องได้ จะส่งผลให้การทำงานเป็นหนึ่งและสามารถเดินหน้าต่อไปได้
 
“ผู้นำยิ่งถอยหลัง ชุมชนยิ่งก้าวไปไกลขึ้น”
 
นายอดินันท์ บินมุมิน ผู้ใหญ่บ้านจวบ หมู่ที่ 1 ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส กล่าวว่า เครื่องมือในการขับเคลื่อนชุมชนศรัทธาที่ชุมชนของตนใช้ คือ ความสามัคคีของผู้นำ เพราะความสามัคคีจะเป็นตัวทำลายความเป็นตัวตนของแต่ละคน
 
นายอดินันท์ กล่าวว่า หากไม่มีความสามัคคีชุมชนก็จะแตกแยก เพราะมีหลายอย่างที่ทำให้เกิดความแตกแยกได้ เช่น บรรยากาศก่อนการเลือกตั้งหรือหลังการเลือกตั้งในหมู่บ้าน มักสร้างความแตกแยกของคนในชุมชนได้
 
“หากผู้นำจับมือกันทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่สอบตกเราก็นำมาเป็นคณะทำงานร่วมกันต่อได้” นายอดินันท์ กล่าว
 
นายอดินันท์ ย้ำว่า เมื่อผู้นำกับผู้จับมือกันได้ ผู้ตามของแต่ละฝ่ายก็ต้องรวมตัวกัน ซึ่งช่วยลดความขัดแย้งและสร้างบรรยากาศที่ดีในชุมชนได้อีกด้วย
 
ก่อนที่เขาจะทิ้งท้ายว่า “ผู้นำต้องถอยเป็น และต้องรู้จักถอยบ้าง ยิ่งถอยลงมาเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งก้าวต่อไปให้ได้ไกลกว่า อย่างหนังสติ๊กยิ่งดึงถอยหลังมากเท่าไหร่ ลูกหนังสติ๊กก็ยิ่งไปได้ไกลมากขึ้นไปอีก”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท