Skip to main content
sharethis
ยูนิเซฟ ชูประเด็น ‘เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตร’ หวังพัฒนาคุณภาพชีวิต-สติปัญญาเด็กไทย ระบุสังคมไทย-นโยบายรัฐมุ่งการศึกษา แต่ยังขาดการดูแลเด็กปฐมวัย ทั้งที่เป็นรากฐานการเติบโตและให้ผลตอบแทนการลงทุนคุ้มค่าสุด ด้านองค์กรเด็กเห็นพ้อง ‘ความยากจน-โภชนาการ’ ยังเป็นปัญหาใหญ่
 
‘เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตร’ หมายถึงเงินที่จ่ายเป็นประจำให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กในช่วงปฐมวัย (อายุ 0-6 ปี) ซึ่งเป็นครัวเรือนยากจน เพื่อให้มีเงินสำหรับจับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต หลายประเทศจัดให้มีเงินอุดหนุนดังกล่าวเพื่อเป็นเครื่องมือในการลดช่องว่างรายได้ รวมทั้งสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม
 
อีกทั้งผลการศึกษายืนยันว่าการลงทุนในเด็กเล็กให้ผลตอบแทนต่อสังคมที่สูงกว่าช่วงวัยอื่น เพราะจะเป็นพื้นฐานสำหรับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ อีกทั้งการปล่อยปละละเลยในช่วงวัยเริ่มต้นของชีวิตจะส่งผลให้การแก้ไขความบกพร่องในระยะต่อไปทำได้ยาก และต้องใช้งบประมาณที่สูงกว่า
 
องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เสนอแนวคิดเรื่อง ‘เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตร’ เนื่องจากพบว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการพัฒนา ‘การคุ้มครองทางสังคม’ เพื่อให้ครอบคลุมสิทธิประโยชน์ในหลายด้านสำหรับคนกลุ่มต่างๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ อาทิ การประกันสุขภาพ สวัสดิการด้านแรงงาน และระบบบำนาญผู้สูงอายุ เป็นต้น แต่สำหรับเด็กและเยาวชน ภาครัฐยังคงเน้นให้การสนับสนุนแก่กลุ่มเด็กวัยเรียน ขณะที่กลุ่มเด็กปฐมวัยเป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
 
ขณะเดียวกันเด็กปฐมวัยจำนวนมากอยู่ในครอบครัวยากจน และเผชิญปัญหาด้านโภชนาการ อาทิ เด็กแรกเกิดร้อยละ 19 มีน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ร้อยละ 27.6 มีปัญหาขาดสารอาหาร นอกจากนี้ การได้รับอาหารและการดูแลที่ไม่เหมาะสมยังส่งผลให้เด็กมีภาวะแคระแกร็น รวมทั้งมีเซลล์สมองและการเชื่อมโยงของสมองที่น้อยกว่าเด็กปกติ ซึ่งจะส่งผลระยะยาวต่อการเรียนรู้
 
อย่างไรก็ตาม ‘เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตร’ ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย คณะทำงานด้านเด็ก และคณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง ‘การพัฒนาและดูแลเด็กปฐมวัย กับการคุ้มครองทางสังคมแก่เด็ก’ ครั้งที่ 1 ขึ้น เพื่อระดมความคิดเห็นจากองค์การพัฒนาเอกชนที่ทำงานกับกลุ่มเด็กปฐมวัย
 
ความคิดเห็นต่อข้อเสนอที่ว่า“เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตรควรเป็นจำนวนเงิน 600 บาทต่อเดือน สำหรับเด็กที่อายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ขวบ” จะสามารถตอบสนองต่อการพัฒนาและดูแลเด็กปฐมวัยหรือไม่ อย่างไร และมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด
 
 
เพ็ญวดี แสงจันทร์ หนึ่งในคณะทำงานด้านเด็ก เล่าถึงประสบการณ์ทำงานกับเด็กในชุมชนคลองเตย โดยตั้งข้อสังเกตว่าปัญหาด้านโภชนาการและการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสมตั้งแต่ช่วงวัยเด็กน่าจะมีผลต่อพัฒนาการของเด็กในช่วงวัยต่อมา เนื่องจากมีเด็กในชุมชนจำนวนไม่น้อยที่เรียนอ่อนและกลายเป็นเด็กเกเร แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าที่เด็กเรียนไม่รู้เรื่อง เนื่องจากมีปัญหาในด้านสติปัญญา
 
“มีเด็กจำนวนมากที่พ่อแม่ไปทำงานต่างจังหวัด แล้วทิ้งเด็กไว้กับปู่ย่าตายาย เงินไม่พอ ตายายต้องเอาน้ำข้าวผสมเกลือหรือน้ำตาลให้เด็กกิน บางครั้งชงนมข้นหวานกับน้ำร้อน” เจ้าหน้าที่มูลนิธิดวงประทีป ยืนยันว่าแม้เด็กส่วนหนึ่งจะได้เงินจากพ่อแม่ แต่นำไปซื้อขนมและน้ำอัดลมที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ยังมีครอบครัวอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่มีเงินเพียงพอในการซื้อหาอาหารให้แก่บุตรหลาน
 
 
ลูกแรงงานนอกระบบยังขาดการเหลียวแล
 
การคุ้มครองทางสังคมสำหรับเด็กปฐมวัยที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ระบบประกันสังคม ซึ่งผู้ประกันตนจะได้รับเงินเลี้ยงดูบุตรจำนวน 400 บาทต่อเดือน โดยได้สิทธิไม่เกิน 2 คน ซึ่งแรงงานในระบบประกันสังคมปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 14.8 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 37.4 ขณะที่แรงงานนอกระบบมีจำนวนสูงถึง 24.8 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 62.6 และมีเด็กปฐมวัยจำนวนกว่า 800,000 คนที่เป็นเด็กยากจน หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของเด็กทั่วประเทศ ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือทางการเงินอย่างเป็นระบบ
 
พูนทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์ จาก เครือข่ายแรงงานนอกระบบ จึงเห็นด้วยกับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตร เพราะคนงานนอกระบบ นอกจากไม่ได้รับเงินเลี้ยงดูบุตรอย่างกลุ่มผู้ประกันตนแล้ว เรื่องของเศรษฐกิจก็เป็นปัญหาใหญ่สำหรับแรงงานนอกระบบที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
 
“กลุ่มคนงานที่รับงานมาทำที่บ้านค่าแรงลดลงตลอดเวลา ค่าเย็บเสื้อ เมื่อก่อนได้ตัวละ 10 กว่าบาท ปัจจุบันเหลือตัวละ 3-5 บาท รองเท้าเมื่อก่อนได้คู่ละ 20 บาท ปัจจุบันเหลือคู่ละ 8-12 บาท หมายความว่าทุกคนต้องทำงานมากขึ้นเพื่อจะให้ได้เงินในจำนวนเท่าเดิม”
 
 
เงินเพื่อ “เด็กยากจน” หรือ “เด็กทุกคน”
 
แอนดรู เคลย์โพล หัวหน้าแผนกนโยบายสังคม องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตร ที่หลายประเทศจัดให้มีขึ้นว่า เมื่อปี 2552 ธนาคารโลกได้สรุปบทเรียนจากเงินอุดหนุนดังกล่าวว่าส่งผลด้านบวกต่อเด็กในประเทศต่างๆ เช่น ที่ประเทศบราซิลและเม็กซิโก การมีเงินอุดหนุนเพื่อเด็กทำให้อัตราการเข้าเรียนของเด็กเพิ่มขึ้น รวมทั้งช่วยลดอัตราความยากจนในวัยเด็กได้ ส่วนในประเทศแอฟริกาใต้ เงินอุดหนุนสำหรับเด็กช่วยให้ภาวะโภชนาการ การศึกษา และสุขภาพของเด็กดีขึ้น นอกจากนี้ยังลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อีกด้วย
 
อีกคำถามที่พบบ่อยในเรื่องเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตร คือประเด็นที่ว่า เงินอุดหนุนดังกล่าวควรจัดให้เฉพาะสำหรับเด็กยากจน หรือสำหรับเด็ก “ทุกคน” หัวหน้าแผนกนโยบายสังคม องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย อธิบายว่า เนื่องจากการพิจารณารายได้ครัวเรือน การจัดทำตัวชี้วัด รวมทั้งการติดตามและประเมินผลในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก มีข้อถกเถียง และใช้ต้นทุนสูง ทำให้หลายประเทศเลือกที่จะจัดเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตรเป็นการทั่วไป
 
“แต่บางประเทศเริ่มจากการจัดให้กับกลุ่มยากจนก่อน เมื่อประชาชนให้การยอมรับแนวคิดเพิ่มขึ้นจึงค่อยขยายสำหรับทุกคน ในลักษณะเดียวกันกับเงินผู้สูงอายุของไทย” เจ้าหน้าที่องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ให้มุมมอง
 
 
ผู้เข้าร่วมสัมมนายังมีการหยิบยกประเด็นที่เกี่ยวข้อง อาทิ ข้อดีของเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตรที่จะกระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญในการเลี้ยงดูบุตรหลานอย่างเหมาะสม การสนับสนุนพ่อแม่ผู้ปกครองให้เกิดความตระหนักและความรู้ความเข้าใจในเรื่องการดูแลเด็กปฐมวัย การสร้างกลไกเพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยให้การเลี้ยงดูเด็กไม่ตกเป็นภาระของพ่อแม่แต่เพียงฝ่ายเดียว เป็นต้น
 
ภายหลังจากการจัดเวทีในครั้งนี้ คณะทำงานด้านเด็ก และคณะทำงานวาระทางสังคมคาดว่าจะใช้ระยะเวลาอีกราว 7-8 เดือน เพื่อจัดเวทีย่อยอย่างต่อเนื่องและรวบรวมข้อมูล เพื่อจัดทำข้อเสนอในเรื่องเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตรให้เกิดความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net