Skip to main content
sharethis
เสวนาครบรอบ 40 ปี สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กุลลดา เกดบุญชู มี้ด มองย้อนเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่ชนชั้นนำยังมีอำนาจมากในโครงสร้างสังคม ในขณะที่ประจักษ์ ก้องกีรติเสนอปฏิรูปการเมืองครั้งที่สอง เพื่อสร้างกติกาอยู่ร่วมกันและหลีกเลี่ยงความรุนแรง 
 
23 พฤศจิกายน 2556 เวลา 14.00 น. ที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน เนื่องในวาระครบรอบ 40 ปี สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ได้มีการจัดงานรำลึกและงานอภิปรายทางวิชาการในหัวข้อ “การปฏิรูปทางการเมืองและทิศทางประชาธิปไตยไทยในอนาคต ก้าวหน้าหรือถอยหลัง” โดยมีวิทยากรได้แก่ กุลลดา เกษบุญชู มีด จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาฯ ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และอเนก นาคะบุตร นักพัฒนาสังคมและประธานติดตามผลการดำเนินงานของกสทช.
 
 
กุลลดา เกษบุญชู มีด เล่าย้อนถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา โดยชี้ว่า ความเปลี่ยนแปลงในเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ที่ต่อมานำไปสู่การลาออกของรัฐบาลทหารถนอม-ประภาส มีปัจจัยและพลังอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องนอกเหนือจากพลังของนศ.ประชาชนอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน ที่สำคัญ คือความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำเองที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
 
กุลลดากล่าวถึงเหตุการณ์ช่วงก่อน 14 ตุลาว่า ก่อนช่วงสงครามเย็น สถาบันพระมหากษัตริย์มีอำนาจน้อยมาก แต่เมื่อถึงช่วงสงครามเย็น ด้วยกระแสต้านภัยคอมมิวนิสต์ ทำให้สถาบันกษัตริย์และกองทัพมีอำนาจเพิ่มขึ้นมาก โดยได้รับการช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้เสถียรภาพทางของผู้นำทางการเมืองเปลี่ยนไปด้วยในแต่ละช่วง และในช่วง 14 ต.ค. นี้เอง ที่เริ่มเกิดการก่อตัวของผู้นำทหารที่ไม่พอใจการนำของจอมพลถนอมและประภาส 
 
เอกสารทางการทูตของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ได้เปิดเผยว่า ความรุนแรงในเหตุการณ์ 14 ต.ค. เกิดขึ้นมาจากการออกคำสั่งของกฤษณ์ สีวะรา ซึ่งเป็นฝ่ายทหารที่อยู่คนละฝั่งกับจอมพลถนอมและประภาส เพื่อสร้างความรุนแรงและเป็นเงื่อนไขเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาล จึงจะเห็นว่า เหตุการณ์ 14 ต.ค. ถูกขับเคลื่อนด้วยการรวมตัวกันชั่วคราวของกลุ่มพลังที่มีความไม่พอใจต่อถนอม-ประภาส และจะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นเพราะพลังประชาธิปไตยจากนศ. ประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเพราะความขัดเเย้งทางชนชั้นนำและผู้นำทางการเมืองที่เป็นปัจจัยสำคัญ 
 
“แม้แต่พวกนักศึกษาเองยังแปลกใจว่า ทำไมถึงกับเปลี่ยนรัฐบาลได้ มาก็มามือเปล่า ไม่ได้มีอาวุธอะไร” กุลลดากล่าว  
 
เธอได้เปรียบเทียบกับการเมืองในปัจจุบัน โดยชี้ให้เห็นว่า โครงสร้างอำนาจในสังคม ยังคงตกอยู่ที่กลุ่มชนชั้นนำทางการเมือง แต่มิได้อยู่กับประชาชนอย่างแท้จริง
 
เช่นเดียวกับฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ซึ่งมองว่า การชุมนุมของขบวนการประชาชนที่ผ่านมา ไม่เคยมีครั้งไหนที่จะมีพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากพอ ที่ผ่านมา คนที่อยู่เบื้องหลังจะเป็นผู้ตัดสิน คือต้องมี “กำลังภายใน” บางอย่างที่จะเป็นจุดเปลี่ยนได้
 
เขาวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยที่ผ่านมาที่สำคัญๆ ได้แก่ 1. สถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ขึ้นมามีอำนาจในช่วงสงครามเย็น ด้วยการสนับสนุนของสหรัฐ ซึ่งต้องการป้องกันประเทศไทยให้พ้นจากภัยคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน  2. กระแสการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ชนชั้นนำของไทยปฏิเสธกระแสเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงได้ยาก 3. พลังของการกระจายตัว ที่ทำให้การผูกขาดอำนาจเป็นไปได้ยากขึ้น ทั้งนี้มาจากการพัฒนาเทคโนโลยีและคมนาคมที่เข้าถึงคนได้มากขึ้น รวมถึงการเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน ก็ทำให้ประชาชนหันมาสนใจเรื่องปัญหาสังคมการเมืองมากขึ้น 
 
ฐิตินันท์ยังมองว่า ในตอนนี้ การรัฐประหารน่าจะเกิดขึ้นได้ยากแล้ว ถึงแม้ว่าจะทำก็คงทำด้วยภาวะสองจิตสองใจมากขึ้น เขาเล่าว่า หลังการรัฐประหารในปี 49 หนึ่งถึงสองปี มีทหารได้มาปรึกษากับตนว่าหากทำรัฐประหารไปแล้ว จะเกิดผลอย่างไรบ้างโดยเฉพาะปฏิกิริยาจากต่างประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าฝ่ายทหารเองก็กลัวผลทางด้านลบจากต่างประเทศและทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก 
 
เขาสรุปว่า ปัญหาที่ยังใหญ่ที่สุดในสังคมไทย คือทัศนคติที่มองว่าความเป็นคนยังไม่เท่ากัน ยังมีความคิดที่ว่าหากคนมีการศึกษาน้อยกว่า เป็นชาวนา หรือกรรมกร ไม่ควรมีสิทธิมีเสียงเท่ากับคนที่เรียนมาสูงกว่า ซึ่งเขามองว่า สำหรับประเทศไทย คงจะใช้เวลาอีกสิบกว่าปีจนกว่าจะไปถึงจุดที่คนมองว่าคนมีสิทธิและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน 
 
ในขณะที่อเนก นาคะบุตร นักพัฒนาด้านสิทธิชุมชน และประธานคณะผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมการติดตามการปฏิบัติงานของกสทช. มองว่า ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา ภาคประชาชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น จะเห็นจากการขับเคลื่อนเพื่อต่อต้านโลกาภิวัฒน์หรือกระแสทุนนิยม และชูเรื่องของความเข้มแข็งของชุมชนและการปกครองตนเอง การจัดการสิทธิประชาธิปไตยของตนเอง ซึ่งจะเป็นทางออกและข้อเสนอต่อไปอีกสิบปีข้างหน้า ผ่านการตั้งมหาวิทยาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งตอนนี้จัดตั้งได้ 80 ห้องเรียนทั่วประเทศ 
 
เขายังเสนอเรื่องของการกระจายอำนาจ ที่ผลักดันผ่านพ.ร.บ. การปกครองตนเอง เพื่อลดการผูกขาดอำนาจจากส่วนกลางและการผูกขาดจากกลุ่มทุน โดยที่ผ่านมาได้รณรงค์และขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวสามภาคแล้ว ได้แก่ ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคเหนือ
 
ประจักษ์ ก้องกีรติ เสนอว่า ในขณะที่สังคมไทยในช่วงเปลี่ยนผ่าน หมายถึงช่วงที่ระเบียบอำนาจเก่าค่อยๆ หมดไป และระเบียบอำนาจใหม่ขึ้นมา แม้ระเบียบอำนาจใหม่จะยังไม่ชัดเจนนัก สังคมไทยจำเป็นต้องหากติการ่วมกันที่จะสามารถให้ทุกฝ่ายอยู่ด้วยกันได้โดยหลีกเลี่ยงความรุนแรง โดยนอกเหนือไปจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านรวมถึงมวลชนแล้ว ผู้ที่เป็นผู้วางกรอบกติกาตรงกลาง ก็จำเป็นต้องรักษากติกาให้เป็นธรรมด้วย เช่น คำตัดสินของศาลเมื่อสัปดาห์ ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ศาลได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง และกลายเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายค้านรัฐบาลไปแล้ว 
 
ในทางรูปธรรม เขาเสนอเรื่องการปฏิรูปการเมืองครั้งที่สอง คล้ายกับในช่วงปี 2540 ที่ให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด เพื่อร่วมสร้างกติกาการอยู่ร่วมกัน และต้องไม่ใช่การปฏิรูปที่ทำจากรัฐบาลซึ่งผู้ที่มีส่วนร่วมก็เป็นไปอย่างจำกัดเท่านั้น 
 
"ในที่สุดแล้ว ชนชั้นนำก็ต้องรู้ว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 จะใช้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่ได้ เพราะคุณไม่สามารถใช้รัฐธรรมนูญที่มีคนถึง 12-13 ล้านคนไม่ยอมรับได้" เขากล่าว และเสริมว่า เช่นเดียวกับการพยายามผ่านร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมเหมาเข่งของพรรคเพื่อไทย ที่มีคนจำนวนมากคัดค้าน ก็แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลจำเป็นต้องฟังเสียงของประชาชนให้มากที่สุด
 
ประจักษ์มองว่า แม้การเลือกตั้ง หรือระบบวุฒิสภา จะมีปัญหาอย่างที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เช่นเรื่องของการซื้อเสียง เรื่องสภาผัวเมีย แต่แทนที่จะยุบทิ้งไม่เอาการเลือกตั้ง หรือให้ตัวแทนในสภามาจากการแต่งตั้ง ควรจะมองเรื่องการพัฒนาระบบและปรับปรุงให้กระบวนการเป็นธรรมและโปร่งใสมากขึ้น ไม่ใช่เสนอให้กลับไปสู่สิ่งที่ล้าหลังกว่าที่เป็นอยู่ 
 
เช่นในเรื่องของการแก้ไขที่มาของส.ว. แทนที่จะกำหนดให้ส.ว. ต้องมาจากการแต่งตั้ง อาจสามารถปรับปรุงได้ด้วยการศึกษาตัวอย่างในต่างประเทศว่า มีการกำหนดเขตเลือกตั้งส.ว. อย่างไร ที่สามารถสะท้อนผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่ต่างออกไปจากฐานเสียงของส.ส. ซึ่งน่าจะเป็นการพัฒนาที่ตัวระบบและโครงสร้าง มากกว่าการแก้ไขปัญหาด้วยการมองที่กลุ่มบุคคลเพียงอย่างเดียว 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net