Skip to main content
sharethis

การอภิปรายโดยวรเจตน์ ภาคีรีตน์ ในการแถลงข่าวคณะนิติราษฎร์กรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา เมื่อ 23 พ.ย 2556

 

การอภิปรายโดยปิยบุตร แสงกนกกุล ในการแถลงข่าวคณะนิติราษฎร์กรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา เมื่อ 23 พ.ย. 2556

การอภิปรายโดยจันทจิรา เปี่ยมมยุรา ในการแถลงข่าวคณะนิติราษฎร์กรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา เมื่อ 23 พ.ย. 2556 นอกจากนี้เป็นการอภิปรายสรุปและตั้งข้อสังเกตโดยปิยบุตร แสงกนกกุล และวรเจตน์ ภาคีรัตน์

ลงทะเบียนรับข่าวสารที่ http://youtube.com/user/PrachataiTV หรือ http://youtube.com/user/Prachatai

 

24 พ.ย. 2556 - เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะนิติราษฎร์จัดงานแถลงข่าวเพื่อเสนอความคิดเห็นทางวิชาการ ต่อกรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2556 ศาลธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกรณีรัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา โดยคณะนิติราษฎร์เห็นว่า "คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบควบคุมกระบวนการตลอดจนเนื้อหาของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้าตรวจสอบควบคุมการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งๆ ที่ปราศจากอำนาจตามรัฐธรรมนูญแต่กลับสถาปนาอำนาจดังกล่าวขึ้นมาเอง จึงเป็นการขยายแดนอำนาจของตนออกไปจนกลายเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญและอยู่เหนือองค์กรทั้งปวงของรัฐ มีผลเป็นการทำลายหลักนิติรัฐประชาธิปไตยลง จนก่อให้เกิดสภาวการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสูงสุดเด็ดขาด"

"แม้คณะนิติราษฎร์เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาคดีดังกล่าวนี้ก็ตาม แต่โดยเหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญได้แสดงทัศนคติทางการเมืองผ่าน “คำวินิจฉัย” ต่อสาธารณชน ซึ่งเนื้อหาใน “คำวินิจฉัย” อาจก่อให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องจนส่งผลร้ายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้ จึงจำเป็นที่คณะนิติราษฎร์ต้องจัดแถลงข่าวเพื่อเสนอความเห็นทางวิชาการต่อ “คำวินิจฉัย” ดังกล่าว" ส่วนหนึ่งของประกาศจากคณะนิติราษฎร์ระบุ

ทั้งนี้ในการแถลงข่าว วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หนึ่งในนักวิชาการคณะนิติราษฎร์กล่าวในการแถลงว่า ผลของการวินิจฉัยมาตรา 68 ของศาลรัฐธรรมนูญ กลายเป็นการสถาปนาอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาเอง มีการตีความอย่างกว้างขวาง ไม่ชอบด้วยหลักการตรวจสอบถ่วงดุล และไม่ชอบด้วยหลักการจัดโครงสร้างรัฐ ถ้าปล่อยให้การตีความมาตรา 68 ของศาลรัฐธรรมเป็นแบบนี้ก็เป็นการปล่อยให้เขตอำนาจขยายไปเรื่อย เชื่อว่าจะมีคนมาร้องศาลรัฐธรรมนูญตลอดเวลา เพราะมีคนพร้อมจะทำเช่นนั้นอยู่แล้วในทุกเรื่อง ศาลจะมีอำนาจในการรับคดีต่างๆ มาพิจารณาคดีเต็มไปหมด กลายเป็น "ซูเปอร์องค์กร" เป็นองค์กรที่อยู่เหนือองค์กรทั้งปวง และศาลนั้นแม้จะเกิดจากรัฐธรรมนูญ แต่โดยผลของการใช้กฎหมายแบบนี้จะกลับเป็นคนที่ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญเอง มันจะเกิดสภาพวิปลาส ผิดเพี้ยนไปหมด มีผลรุนแรงทำลายหลักนิติรัฐและประชาธิปไตยลง ส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสูงสุดเด็ดขาด โดยความร้ายแรงแบบนี้เองที่ทำให้เราต้องยืนยันว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้เสียเปล่าและไม่มีผลทางกฎหมาย

จันทจิรา เอี่ยมมยุรา ได้วิจารณ์ในส่วนของคำวินิจฉัยของศาลในเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยศาลชี้ว่าจะทำให้เกิดการไม่สมดุล เป็นสภาญาติพี่น้อง สภาครอบครัวหรือสภาผัวเมียทำให้สูญสิ้นสถานะและศักยภาพแห่งการเป็นสติปัญญาให้กับสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทำลายสาระสำคัญของการมีสองสภา

"ศาลเข้ามาใช้อำนาจชี้นำการกำหนดโครงสร้างทางการเมืองเป็นกรณีที่ศาลกระทำสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ของศาลและการมีวุฒิสภาในประเทศอื่นในโลกที่เป็นประชาธิปไตยก็ล้วนมาจากการเลือกตั้งการที่ศาลอ้างว่าไม่เป็นประชาธิปไตยก็ขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตย"

"ส่วนการมีเจตจำนงให้วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งเป็นการถาวรตลอดไปก็ต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 291"

ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวตอนหนึ่งว่า การพยายามมาแตะเรื่องเนื้อหาเพราะว่าการแก้ไข ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเป็นการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อวางหลักไว้ว่าจะไม่มีใครสามารถมาเสนอเรื่องแบบนี้ได้อีกแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญกำลังขยายแดนของบทบัญญัติที่ห้ามแก้ไขออกไปเรื่อยๆ ทั้งที่ตามรธน.มีแค่ 2 เรื่องเท่านั้นที่แก้ไม่ได้ คือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเรื่องรูปของรัฐ

ถ้าเห็นด้วยกับ ส.ว. แต่งตั้งก็ไปร่วมรณรงค์กับเสียงข้างน้อยเพื่อโน้มน้าวให้เสียงข้างมากเห็นด้วย ไม่ใช่เอาทัศนคติตัวเองไปลงไว้ในคำวินิจฉัย ซึ่งปิยบุตรย้ำอีกครั้งส่า ส.ว. แต่งตั้งเป็นมรดกตกทอดจากการรัฐประหาร

ทั้งนี้วรเจตน์ปิดท้ายการแถลงข่าวโดยสรุปว่า หลังจากนี้อาจจะมีข้อโต้แย้งว่า แม้คำวินิจฉัยจะมีปัญหาร้ายแรงตามที่วิพากษ์วิจารณ์มา แต่หากไม่ทำตาม ไม่ยอมรับ บ้านเมืองก็ไม่มีขื่อไม่มีแป จะทำอย่างไรกันต่อไป

“เราจะยอมถูกกดขี่โดยคำวินิจฉัยไปชั่วกัลปาวสานหรือ นี่มันไม่ใช่หลักนิติธรรม ไม่ใช่หลักประชาธิปไตย” วรเจตน์กล่าวพร้อมระบว่าอาจมีคนอ้างมาตรา 206 วรรค 5 ว่าผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้มีผลผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร แต่วรเจตน์เห็นว่ากรณีนี้โมฆะ เนื่องจากคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญจะมีผลเป็นเด็ดขาดไม่ได้ เพราะเป็นคำวินิจฉัยที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย นิติรัฐ นิติธรรม และไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเอง ในทางกฎหมายต้องถือเป็นโมฆะ บังคับองค์กรของรัฐไม่ได้ แต่ถามว่าจะเกิดวิกฤตไหม เกิดวิกฤตแน่นอน

ในส่วนของผลทางกฎหมาย คำวินิจฉัยนี้ไม่ได้บอกว่าต้องทำอะไร ระหว่างนี้มีคนบอกว่าร่างรัฐธรรมนูญ นี้ตกไปแล้ว แต่ถามว่าตกไปจากไหน ตอบไม่ได้ กระบวนการขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ไปแล้ว ซึ่งในคำวินิจฉัยของศาลก็ไม่ได้บอกว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ตกไป เพราะเขาไม่มีอำนาจจะบอกได้ ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการรอลงพระปรมาภิไธย จะสั่งกษัตริย์ให้ไม่ลงพระปรมาภิไธยก็ไม่ได้ มาตรา 68 ก็ไม่ได้ให้อำนาจไว้ เป็นการชี้ว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยไม่มีอำนาจ ดังนั้นขณะนี้ร่างรัฐธรรมนูญ ยังมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายทุกประการ และหากกษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยก็นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ถ้าไม่ทรงวงพระปรมาภิไธย ก็ถือว่าทรงใช้อำนาจวีโต้ สภาก็ต้องมาปรึกษากัน ถ้าลงมติยืนยันไม่ถึง 2 ใน 3 ก็ตกไป แต่ถ้าลงคะแนนถึง 2 ใน 3 ก็ต้องยืนยันทูลเกล้าฯ อีกครั้ง และครั้งนี้หากพ้น 60 วันก็ประกาศเป็นกฎหมายต่อไปได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net