Skip to main content
sharethis

ประจักษ์ ก้องกีรติ, ชัยรัตน์ ถมยา, สุชาดา จักรพิสุทธิ์ และชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา ร่วมถกใน Media Cafe ถึงบทบาทสื่อกับการนำสู่โศกนาฎกรรมแห่งมวลมนุษยชาติ จัดโดยมีเดีย อินไซต์ เอาท์

24 พ.ย.2556 มีเดีย อินไซต์ เอาท์ จัด Media Cafe สื่อสนทนาครั้งที่ 10 เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นต่อบทบาทสื่อในการรายงานข่าวประเด็นละเอียดอ่อนของสังคม เรียนรู้บทเรียนต่างประเทศที่การทำงานของสื่อนำสู่โศกนาฎกรรมแห่งมวลมนุษยชาติ และวิเคราะห์การทำงานของสื่อไทยในวันที่สังคมอ่อนไหว เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2556 ที่ผ่านมาโดยมี ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา นักวิจัยศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ สุชาดา จักรพิสุทธิ์ บรรณาธิการบริหาร ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิและพลเมือง(TCIJ) และชัยรัตน์ ถมยา บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ ไทยพีบีเอส ร่วมเสวนา โดยมี เพ็ญนภา หงษ์ทอง เป็นผู้ดำเนินรายการ ที่ระเบียงกาแฟ สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียน เชิงสะพานหัวช้าง

00000

ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา

hate speech กับ free speech

ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา กล่าวถึงการวิจัย “การกำกับดูแลสื่อที่เผยแพร่สื่อแห่งความเกลียดชัง โดยโฟกัสไปที่สื่อวิทยุโทรทัศน์” ว่าเป็นการศึกษารูแบบเนื้อหาในช่วงปีที่แล้วที่สถานการณ์ยังไม่มากขนาดปีนี้ แต่สิ่งที่ค้นพบก็อาจเป็นสัญญาณอะไรบางอย่างที่นำมาถึงวันนี้ เราศึกษาทั้งในต่างประเทศด้วย เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมัน สิงคโปร์และออสเตรเลีย ซึ่งมีบริบทแตกต่างกัน แต่ดีเบตที่เกินขึ้นเหมือนกันคือ ระหว่าง hate speech กับ free speech ขอบเขตมันอยู่ตรงไหน บางประเทศที่เป็นเสรีนิยประชาธิปไตยอย่างอเมริกา จะยึดถือ free speech หรือ เสรีภาพในการแสดงความเห็น

ความต่างนี้แล้วแต่จุดยืนของแต่ละประเทศ เช่น อเมริกาจะยึดการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความเห็น เขาจะมองว่า hate speech อยู่ใน free speech คือมีเสรีภาพที่จะพูดจนกว่ามันจะไปสู่ความรุนแรงก็จะถูกระงับ อย่างสิงคโปร์ที่เป็นอนุรักษ์นิยมก็มองที่การดำรงซึ่งความสุขสงบเป็นเรื่องสำคัญ หรือเยอรมันที่มีประสบการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ก็ออกกฏเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าอะไรเป็น hate speech อะไรไม่ใช่ ของเราอยู่ในกฏหมายหมิ่นซึ่งโน้มเอียงไปทาง ม.112 คือหมิ่นพระมหากษัตริย์ เป็นต้น ยังไม่พูดถึงการแสดงความเกลียดชังที่อ้างอิงต่อกลุ่ม จึงนำมาสู่การศึกษาว่าจะวางนิยามประเทศเราว่าอย่างไร ซึ่งยากที่จะระบุว่าอะไรเป็นหรือไม่

อิทธิพลสื่อในการยกระดับความขัดแย้ง

ชนัญสรา กล่าวว่า ความเกลียดชังนั้นไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้น แต่มันมีขั้นตอนของมัน

1.     เริ่มจากสื่อสร้างความวิตกกังวลว่ามีคนกลุ่มหนึ่งจะทำไม่ดีหรือลิดรอนสิทธิของเรา

2.     ขั้นตอนไปนำไปสู่การทำให้แปลกแยกว่าเป็นพวกเขา พวกเรา เขาเป็นเสื้อสีนั้นนี้

3.     ไปถึงขั้นการกล่าวโทษผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เราสามารถทำลายล้างเขาได้

รูปแบบของเมืองไทยที่ผ่านมา จากการค้นพบจากสื่อกระแสหลักทั้งโทรทัศน์และวิทยุ รวมทั้งเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม พบจุดร่วมคือองค์ประกอบของ hate speech มี 4 องค์ประกอบ

1.     มีวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง

2.     มีเป้าหมาย ซึ่งจะรู้ว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่อ้างอิงมีลักษณะความเป็นกลุ่ม

3.     ระดับความร้ายแรง

4.     กระบวนการสื่อที่ซ้ำๆ ต่อเนื่อง และใช้เวลา ไม่ใช่พูดแล้วเกิด ต้องสั่งสม

ระดับความร้ายแรงมีหลายระดับ ในงานวิจัยจึงแบ่งเป็น 3 ระดับ

1.     ขั้นดูถูกแบ่งเขาแบ่งเรา หรือเหมารวม

2.     ลดคุณค่าว่าเขาไม่ใช่คน เปรียบมนุษย์ไม่ใช่คน ปฏิเสธการอยู่ร่วมกัน

3.     ระดับยั่วยุให้เกิดความรุนแรงทางกายภาพ การขจัดทำลายล้าง หมิ่นประมาท ละเมิดศักศรีความเป็นมนุษย์หรือยั่วยุให้กระทำผิดกฏหมาย

ชนัญสรา กล่าวต่อว่า จากการปรึกษาหารือว่าจะตัดสินว่า hate speech ควรตัดที่ระดับไหนนั้นเห็นว่าควรแบ่งเป็นระดับ 3 ซึ่งจะต่อเนื่องไปสู่การกำกับดูแลว่าควรกำกับโดยกฏหมาย ส่วนระดับอื่นนั้นก็ควรจะใช้วิธีการอื่น แต่ทุกคนก็มองว่าผลกระทบนั้นเกิดขึ้นได้ทุกระดับ

สิ่งที่พบทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือกก็พบว่ารายการข่าวจะมีลักษณะคล้ายกันคือระดับ 2 กับ 1 ไม่ถึงระดับ 3 โดยกลุ่มเป้าหมายจะเป็นกลุ่มที่มีอคติจากอุดมการณ์ทางการเมือง คือ รสนิยมทางการเมือง และเรื่องของขั้วตรงข้ามด้วย เช่น เหลืองแดง ทักษิณนิยม อำมาตย์นิยม นิยมเจ้า-ล้มเจ้า หรือแม้กระทั้งเชื่อมไปถึงชนชั้น นี่คือการแบ่งขั้วอคติ ส่วนร้ายแรงระดับ 3 ในเวลานั้นพบได้บ้าง แต่คาดว่า ณ ขณะนี้อาจจะเยอะขึ้น วิทยุจะมีการปล่อยเสียงคนสัมภาษณ์เข้าไปในรายการ เช่น สัมภาษณ์ชาวบ้าน หรือทีวีก็เป็นผู้ดำเนินรายที่ฮาร์ดคอร์

สื่อกระแสหลักมักนำเสนอข่าว 2 ด้าน คือ ถ้าเปิดเสียงเวที ปชป. ก็เปิดเสียง นปช. ถ้าเป็นสื่อทางเลือก(partisan media)จะเลือกที่จะเลือกข้างว่าจะนำเสนอข้างไหน นี่คือธรรมชาติเพราะปัจจุบันคนมีเทคโนโลยี่เข้าถึงการสื่อสารมากก็อยากมีส่วนร่วมทางการเมืองก็มักเสพสื่อแบบนี้มากขึ้น ในอเมริกาก็เช่นกัน

ปลูกความคิดเชิงวิพากษ์(critical thinking)ในสื่อ

ชนัญสรา กล่าวด้วยว่า สื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ซับซ้อน สื่อใหม่ที่เลือกเป็นสื่อทางเลือก(partisan media) และ มันไม่มีพื้นที่ให้คุยกันได้หลากหลายในสื่อกระแสหลัก รวมทั้งสื่อไทยยังยึดโยงกับทุน ระบบเศรษฐกิจ การเมือง ดังนั้นสิ่งที่สำคัญจึงเป็นตัวจริยธรรมที่อยู่ภายในซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังกันมา ด้วยเหตุนี้ถามว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สังคมดีขึ้น การศึกษาควรเพิ่มวิชาการคิดเชิงวิพากษ์ คิดวิเคราะห์ได้ว่าสื่อนี้เป็นของใคร โปรด้านไหน แต่ปัญหาคือเมื่อมีสื่อเฉพาะพวกแล้วมันก็เป็นกลไกทางจิตวิทยาที่จะไม่เปิดรับสื่อตรงข้ามหรือรอบด้านด้วย นิเทศศาสตร์สอนให้เข้าใจว่าเบื้องลึกเบื้องหลังนั้นยากและนักศึกษาเข้ามาเรียนก็มักนึกถึงวงการบันเทิงมากกว่า องค์กรสื่อเองต้องทำตัวเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ด้วย 

ชัยรัตน์ ถมยา

กระบวนการตักเตือน

ชัยรัตน์ ถมยา กล่าวว่าเราก็พยายามที่จะนำเสนอ 2 ด้าน แต่ในบางครั้งคนที่ไปทำข่าวภาคสนามก็มีการเตือนให้ระมัดระวัง เช่น จะปล่อยเสียงคนที่พูดบนเวทีก็ไม่ควรที่จะปล่ยเสียงที่จะทำให้เกิดความเกลียดชัง ต้องเป็นเนื้อหาที่เราคิดว่ามันเหมาะสม แต่ทั้งหมดแล้วการตัดสินใจจะอยู่กับคนที่อยู่หน้างานเป็นส่วนใหญ่และคนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น แม้หน้างานอาจต้องเร่งมากในการตัดสินใจ แต่สิ่งที่สำคัญคือการกลับมาดูว่าที่ทำไปนั้นมันทำให้เกิดความเกลียดชังหรือไม่ ซึ่งก็ต้องมีการตักเตือนกัน และควรมีประจำ

การเลือกใช้คำ กับข้อจำกัดหน้างาน

ชัยรัตน์ กล่าวด้วยว่าหน้าที่ของสื่ออย่างหนึ่งคือการเลือกใช้คำพูด แต่ละคำมีความสำคัญมาก อย่างในสหรัฐอเมริกา ช่วงการเลือกตั้ง มีการสื่อสารกันจนกระทั่งมีบางคนเชื่อว่าโอบามาเป็นมุสลิมเพราะฝ่ายตรงข้ามย้ำตลอดเวลาผ่านการเชื่อมโยงกับบริบทบางอย่าง เหมือนกับโอบาม่านับถื่อศาสนาอิสลาม หรือการใช้คำว่ากลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง มันเป็นการไปสร้างว่าคนมุสลิมต้องใช้ความรุนแรง ภายหลังมีการตกลงว่าจะใช้ว่าเป็นกลุ่มที่มีความคิดสุดโต่งแทน เป็นต้น ดังนั้นการใช้คำพูดหรือการเลือกคำพูดในการรายงานข่าวเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของคนที่นั่งอยู่ตรงหน้าจอด้วย เราก็ต้องพยายามคิดว่าจะเปลี่ยนคำตรงนั้นอย่างไรจากสคริปต์ ซึ่งก็ต้องพยายามแก้ไข แต่หน้างานจริงอาจมีเวลาน้อย ถ้าดูการทำงานในสตูดิโอข่าว บางข่าวนั้นไปนั่งรออ่านแล้วสคลิปต์ข่าวนั้นยังไม่มาก็มี การเลือกคำอาจใช้การอ้างอิงจากคำพูดของนักวิชาการอื่นที่เคยสัมภาษณ์มา เป็นต้น

คนที่อยู่หน้าจอต้องระวังว่าสิ่งที่พูดมันจะต้องเป็นข้อเท็จจริง ไม่ใช่สิ่งที่เราคิด สำหรับข้อเท็จจริงบนเวทีที่เป็นการพูดนั้นเราสามารถเลือกได้ บอกได้ว่าอันนั้นนี้ไม่เอา เพราะมันมีบริบทที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง ซึ่งคำพูดแบบนี้ส่วนใหญ่มันก็จะไม่มีข้อเท็จจริงเท่าไร เพราะเป็นการด่ากัน

การทำข่าวเราก็จะบอกเสมอว่าจะไปขอความคิดเห็นของนักวิชาการบางท่านก็เป็นที่รับรู้ของสาธารณะถึงจุดยืนทางการเมือง ดังนั้นก็ต้องถ่วงดุลอีกฝ่ายด้วย แต่บางครั้งให้เวลาเท่ากัน อีกฝ่ายพูดได้ดีกว่า ก็กลายเป็นว่าเนื้อข่าวนั้นเอียงไปอีกฝ่าย สิ่งนี้จึงเป็นความท้าทายของการทำข่าวเช่นกัน

การวิเคราะห์กึ่งสีเทา และการเสพสื่อแบบปรุงสำเร็จรูป

ชัยรัตน์ กล่าวว่า ในการควบคุมคุณภาพของสื่อจะยากขึ้นหลังมีทีวีติจิตอล สำหรับประเทศที่ประชาธิปไตยพัฒนาอย่างตอนไปที่อเมริกาเวลาที่คนละขั้วมาเจอกันบนถนนเขาด่ากันแรงมาก แต่ด่าเสร็จเขาก็เดินจากไป การยั่วยุในอเมริกาก็มีอยู่เยอะ แต่ก็ไม่มีการนำไปสู่ความรุนแรง

คนดูอยากให้ทำรายการแบบวิเคราะห์ ตนก็บอกว่าตนไม่มีความรู้ ก็ถูกบีบว่าให้ต้องวิเคราะห์ แต่การวิเคราะห์มันเป็นกึ่งสีเทาที่บางครั้งคุณก็ไม่ได้อยู่นเหตุการณ์ มันมีการเรียกร้องมากเยอะ ก็คิดอยู่ว่าการที่เราเสนอข้อมูลไปแล้วคนดูนำไปวิเคราะห์ได้หรือเปล่า หรือต้องการให้ปรุงสำเร็จรูปให้เสร็จเลยหรือ 

สุชาดา จักรพิสุทธิ์

ความน่ากลัวของเครื่องกรองคำของนักข่าว

สุชาดา จักรพิสุทธิ์ กล่าว่า ที่น่ากลัวคือการกลั่นกรองคำของนักข่าวนั้นมาจากวิธีคิดชุดไหน เพราะนักข่าวจำนวนมากคิดว่ากำลังเสนอข้อเท็จจริง ความจริงข้อเท็จจริงมีเป็นจำนวนมาก แต่อะไรที่เราหยิบเอามานั้นก็อาจมีผลมาจากการเลือกข้างด้วย ดังนั้นสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือสื่อที่พยายามรายงานข้อเท็จจริง พยายามตอกย้ำความเป็นหมาเฝ้าบ้าน แต่เนื้อแท้ไม่มีดุลยพินิจที่กว้างพอที่จะหยิบข้อเท็จจริงมานำเสนอ การเลือกที่จะสัมภาษณ์ใครนั้น ความจริงก็ไม่เพียงพอ และสื่อก็มักมีคนที่ให้ข่าวซ้ำๆ

การชี้นำคนอ่านที่เป็นการผลิตซ้ำก็มีมาก สิ่งพบขณะนี้คือมีปัญหาสร้างผีตนหนึ่งที่เรียกว่า "นายใหญ่" ทำให้ทั้งหมดได้ทวีความเกลียดชัง ทำให้เห็นว่าสิ่งที่เขาเขียนมามันจึงไม่ใช่เพียงภาษาของการรายงานข่าวเท่านั้น มันสะท้อนวิธีคิดที่แม้ตัวนักข่าวก็ไม่รู้ตัว

ไม่สามารถตั้งคำถามไปมากว่าตาดูหูฟัง

สุชาดา กล่าวว่า ปัญหาแวดวงในองค์กรสื่อเอง อย่างเช่นกรณีการระบุชื่อสามีนายกฯ ผิดในข่าว ซึ่งเป็นผลมาจากการพูดเล่นกันในองค์กร แล้วเอาไปเขียนโดยเข้าใจว่าเป็นความจริง สิ่งนี้สะท้อนบรรยากาศภายในกองบรรณาธิการข่าวที่ช่วยกันบ่มความเกลียดชัง อคติ และตัวนักข่าวมีข้อมูลที่ไม่เพียงพอ ดังนั้นสื่อที่ไม่สามารถตั้งคำถามไปมากว่าตาดูหูฟังแล้วก็หยิบเอาข้อเท็จจริงเท่าที่ตาดูหูฟังมาเสนอ จึงเป็นความจริงครึ่งๆ กลางๆ และที่ร้ายกว่านั้นคือ ความจริงที่ถูกนำเสนอนั้นก็ถูกบิดไปตามทัศนะของตนเองอีก

ความเป็นจริงนั้นการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด มันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมที่หลากหลาย ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมที่สื่อเป็นธุรกิจประกอบการ หรือแม้ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งไม่ใช่แค่ไปนั่งในตำแหน่งสำคัญๆ ต่างๆ ปัจจุบันอาจไม่ใช่แค่เม็ดเงิน แต่เป็นเรื่องอุมดการณ์เดียวกัน แค่นี้ก็เห็นว่าสื่อบ้านเราอาจจะสอบตก แค่เรื่องไม่เลือกข้างก็แทบจะเป็นไปไม่ได้แล้ว ดังนั้นเป็นการยากที่จะมีสื่อที่จะมีดุลยพินิจที่สามารถแยกแยะได้ว่าข้อเท็จจริงชุดไหนควรนำเสนอ ซึ่งพาดโยงไปที่ระบบการศึกษาทั้งหมดที่ผลิตคนไปทำงานสื่อแล้วไม่สามารถคิดอะไรไปนอกเหนือที่แหล่งข่าวพูด ไม่สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ได้ว่าถ้าเสนอไปจะเป็นผลลบ ทำตัวเองเป็นแค่กระจก ดังนั้นสื่อจึงนำสู่โศกนาฎกรรมจริงๆ ตั้งแต่ 6 ตุลา 19 นักศึกษาจำนวนมากต้องออกจากบ้าน มีคนจำนวนมากที่ถูกกระทำจากสื่อที่บิดเบือนข่าวสารกิจกรรมของนักศึกษาจนทำให้เกิดความรุนแรง

การศึกษาหลอมสื่อให้มีอุดมคติที่ตายตัว

สุชาดา ตั้งคำถามว่าอะไรที่ทำให้สื่อเกลียดทักษิณ ก็ต้องโทษการศึกษาที่มีอุดมคติที่ตายตัว เมื่อเกิดการปะทะมาของชนชั้นล่างที่ต้องการมากกว่าที่เป็นอยู่ในอุดมคติหลักของรัฐ ก็ถูกมองว่าเป็นพวกคนเลวที่ไม่ยอมรับอุดมคติเหล่านั้น สำหรับองค์กรสื่อที่เลือกข้างไปแล้วก็ไม่เท่าไร แต่องค์กรที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีวิธีคิดที่ตายตัวอยู่แล้ว แต่กลับคิดว่าตัวเองทำสิ่งที่ถูกต้องแล้วก็นำความไม่รู้และการไม่ตระหนักถึงบางสิ่งบางอย่าง(ignorant)เช่นกัน

การปราบปรามเชิงวัฒนธรรม

สุชาดา กล่าวว่า สื่อนอกจากเป็นตัวแสดงแล้ว มันยังเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้นทางการเมือง(Active Citizen)ด้วย นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์ที่สมาคมวิชาชีพของสื่อพยายามทำให้สื่อรู้สึกดีกับภาคธุรกิจ มีการจัดอบรมร่วมกัน สิ่งนี้เป็นการปราบปรามเชิงวัฒนธรรมที่เนียนและลึกที่สุด สุดท้ายสื่อก็รู้สึกดีกับชนชั้นนำเหล่านั้น เพราะมันรู้สึกดีกับเขาไปแล้ว เชื่อไปแล้วว่าเขาดีส่งผลให้มันอยู่ในชุดความคิดเดียวกัน

นักเขียนข่าว, และการตรวจสอบโดยบุคคลที่สาม (Third-party)

สุชาดา กล่าวด้วยว่า สื่อไม่มีระบบพัฒนาศักยภาพ ทำให้สื่อกลายเป็นเพียงนักเขียนข่าว ยึดอาชีพนี้เป็นนักเทคนิค ยุคก่อนนั้นวารสารศาสตร์เป็นการเรียนศาตร์แห่งการอ่านโลก ทำให้อ่านสถานการณ์ออก แต่ตอนหลังเป็นการเรียนในเชิงเทคนิคหมด

สถาบันสื่อไม่ได้ลอยอยู่กลางอากาศ คนทำงานสื่อเป็นผลผลิตของการศึกษา พอเข้าสู้วิชาชีพก็ไม่มีระบบการพัฒนาก่อน แต่กระโดดเข้าสนามข่าว ทำให้ไม่สามารถวิพากษ์ปรากฏการณ์ได้ เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดถึงสื่อสันติภาพนั้นเราจะพูดเพียงสื่อไม่ได้ ต้องไปถึงระบบการศึกษา องค์กรต่างๆ ภาคประชาสังคมที่จะตรวจสอบสื่อ สื่อควรเป็นพื้นที่ตรงกลาง เพราะความรุนแรงมันจะเกิดขึ้นแน่ถ้าไม่มีพื้นที่ตรงกลาง

สื่อมักพูดถึงการควบคุมกันเอง แต่มันยังขาดบุคคลที่สาม (Third-party) คือผู้บริโภคสื่อ ซึ่งสถาบันสื่อที่ไม่คิดเรื่องนี้ คิดว่าตัวเองควบคุมได้ ดังนั้นต้องไปไกลกว่าการคุบคุมตัวเองหรือกันเอง แต่ต้องเปิดโอกาสให้ส่วนอื่นเข้ามาควบคุม 

ประจักษ์ ก้องกีรติ

กรณีรวันดา 

ประจักษ์ ก้องกีรติ กล่าวว่าเรื่องความรุนแรงทางการเมืองนั้นนักวิชาการจะพูดถึงสื่อมาก เพราะมันเป็นได้ยากมากที่จะพิจารณาความรุนแรงโดยไม่ดูบทบาทของสือ กรณีคลาสสิคคือกรณีรวันดา ที่เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ที่มากที่สุดหลังกรณีฮอโลคอสต์(สมัยฮิตเลอร์) จากการณีที่ชาวตุดซีในรวันดาที่เป็นคนส่วนน้อยถูกฆ่าล้างเผ่าพันธ์โดยรัฐและชาวฮูตู อาวุธที่ใช้ฆ่านั้นโบราณเช่นใช้มีดพร้าของเกษตรกร โดยนักวิชาการพยายามไปค้นคว้าว่าเกิดอะไรขึ้น ทำให้พบว่าสื่อมีบทบาทสำคัญมาก เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฆ่า แต่ก็ไม่ใช่ว่าสื่อเป็นสาเหตุเดียวที่นำไปสู่ความรุนแรงทั้งหมด โดยกรณีสื่อไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรง แต่ทำหน้าที่ 3 ประการ

1.     แพร่กระจายถ้อยคำ เพลงปลุกใจ สร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการสร้างความรุนแรง

1.1.         ไปลดทอนความเป็นมนุษย์หรือทำให้มีความเป็นคนไม่เท่าเรา เช่น 6 ตุลา 19 มีการบอกว่าฆ่าคอมมิวนิสต์ ไม่บาป

1.2.         ไปปลุกปั่นให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นยักษ์เป็นมาร เป็นคนที่น่ากลัวกว่าความเป็นจริง สร้างปีศาจ ซึ่งในสังคมไทยนั้นกระบวนการนี้สร้างขึ้นมามาก

ทั้ง 2 กระบวนการนี้ทำให้สร้างวาทกรรมที่จะไปกำจัดอีกฝ่ายก่อนเพื่อนความปลอดภัย เช่น สมัยนั้นมีการปลุกระดมว่าชาวตุดซี่จะฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวฮูตู

2.     สื่อทำหน้าที่ประสานงานนักการเมืองหัวรุนแรง ประกาศชี้เป้าว่าขณะนั้นแกนนำคนสำคัญของตุดซี่อยู่ตรงไหน เพื่อให้ชาวฮูตูไปฆ่า และรายงานวิจัยก็พบว่าหลังประกาศไม่นานก็ถูกฆ่า ดังนั้นมีความชัดเจนว่าคนฟังสื่อแล้วไปที่เกิดเหตุ  ดังนั้นเป็นเหตุให้ในศาลอาญาระหว่างประเทศนำเจ้าของสถานีวิทยุจึงถูกพิพากษาว่าผิดด้วย ถือว่าคุณมีผลในการปกป้องได้

3.     ชี้นำสาธารณะให้เห็นว่าความรุนแรงเท่านั้นเป็นทางออกและจำกัดทางเลือกสันติวิธีออกไป

ในสังคมไทย สื่อควรทำหน้าที่เป็นองค์กรที่มีสติมากที่สุด สื่อควรเป็นสติของสังคม ให้ทางเลือกที่หลากหลาย ให้ความเห็นที่รอบด้านในสังคม แต่สื่อไม่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้กลับไปทำหน้าที่เป็นผู้เล่นในการเมือง

สื่อในฐานะตัวละครทางการเมือง

ประจักษ์ กล่าวว่าเวลาเราพูดถึงตัวละครทางการเมือง สื่อมักถูกละเลย ช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมาจะสอนโดยละเลยสื่อไม่ได้ เพราะสื่อเป็นตัวละครในการเมืองแล้ว ตอนนี้สื่อทั้งองค์กรหลายองค์กรเลือกที่จะเป็นผู้เล่น เขียนบทลงไปในสนามเป็นกองเชียร์ และเอาสื่อทั้งหมดไปรับใช้เป้าหมายทางการเมืองตรงนั้นซึ่งอันตรายมาก ข้อมูลมันถูกสกีนออก เช่น เห็นว่าภาพข่าวอันไหนที่จะไปทำให้ขบวนการนั้นอ่อนลงก็ถูกตัอออก ดังนั้นแทนที่สื่อจะไปถอดชนวนความรุนแรงกลับไปเติมความรุนแรง สื่อกำลังข้ามเส้นบทบาทตัวเอง นอกจากสื่อแล้วก็มีตุลาการด้วย

การเมืองสีเทาในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่พระเอกผู้ร้ายแบบลิเก

จริงๆ แล้วการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นสีเทา ถ้าเราอยู่ในระบอบเผด็จการนั้นการเมืองมันขาวดำ สื่อเลือกข้างได้ ในการที่จะตรวจสอบรัฐบาล ในการอยู่ข้างประชาธิปไตย แต่เมื่อมายุคประชาธิปไตยปัจจุบัน มันเป็นการต่อสู้บนผลประโยชน์และอุดมการณ์ที่หลากหลาย สื่อต้องมองว่าการเมืองมันเป็นสีเทา ไม่มีอะไรถูก 100% หรือ ผิด  100% การเมืองมันไม่ใช่พระเอกผู้ร้ายแบบลิเกที่ไม่เห็นมิติของความซับซ้อน ที่มันต่อสู้มานี้ไม่มีใครเป็นพระเอกหรือผู้ร้าย 100% แต่สิ่งที่สื่อควรยึดคือการสร้างบรรยากาศจรรโลงประชาธิปไตยไว้ จะเลือกข้างมีอคติได้ มันเป็นธรรมดาที่จะไม่สามารรถตัดได้ แต่อย่างน้อยสื่อไม่ควรไปเลือกข้างจนไปทำลายระบอบประชาธิปไตย โดยไม่เลือกวิธีการที่จะเชียร์ในการกำจัดฝ่ายตรงข้าม เพราะถ้าไม่เลือกวิธีการแล้ว เมื่อฝ่ายที่เชียร์ชนะแล้วอีกฝ่ายก็คิดว่าเขาไม่เคารพกติกาได้เช่นกัน

จนกระทั่งทุกฝ่ายเหลืออาวุธเดียวกันคือ กำลัง

ประจักษ์ ตั้งคำถามว่าสังคมไทยจะไปถึงรวันดาไหม ก่อนหน้านี้คิดว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะมีหลายปัจจัยที่ทำให้เป็นไปแบบรวันดา แต่ถามวันนี้ชักไม่แน่ใจ เพราะกระบวนการสร้างของสื่อมันไปไกลแล้ว มันรอเพียงน้ำผึ้งหยดเดียว และกติกาก็เริ่มถูกทำลายแล้ว กระทั่งศาลก็ทำอะไรที่นักกฏหมายหลายคนออกมาตั้งคำถามแล้ว สถานการณ์อาจเดินไปเรื่อยๆ จนกระทั่งที่ทุกฝ่ายเหลืออาวุธเดียวกันคือกำลัง

ต้องตั้งคำถามกับสิ่งที่เชื่ออยู่ ไม่ใช่ตอกย้ำมัน

ประจักษ์ กล่าวด้วยว่าคนที่ทำสื่อก็มาจากหลากหลายสาขา รัฐศาสตร์ก็ไปเป็นสื่อมากเพราะมีความคิดว่าจะสร้าง impact ได้ แต่ภายใต้ความคิดแบบนี้ก็มีปัญหาอยู่เช่นกัน จากการมีคำตอบไว้ในใจอยู่แล้ว สำหรับในทางรัฐศาสตร์เวลาพูดถึงการสื่อสารเราจะพูดถึงการสื่อสารทางการเมืองที่มากว่าองค์กรสื่อ แต่ยังรวมถึงพรรคการคเมือง กลุ่มเคลื่อนไหว นักวิชากากร ก็ทำหน้าที่สื่อสารเช่นกัน ในโลกสมัยใหม่ทุกคนก็ทำหน้าที่เป็นสื่อด้วย รวมทั้งโพสต์ความเห็น ทัศนคติ มันแพร่หลายมาก ไฮสปีดอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียก็เป็นช่องทางทั้งในการสร้าความเข้าใจและอคติมากขึ้นด้วย

หน้าที่ของการศึกษามันควรจะเป็นว่าเมื่อเข้ามาเรียนแล้วถึงจุดหนึ่งคือ ตั้งคำถามกับสิ่งที่เชื่ออยู่ ไม่ใช่ตอกย้ำความเชื่อเดิม เพราะอย่างนั้นไม่ต้องมาเรียนแล้ว อ่านหนังสือพิมพ์อยู่บ้านก็ได้ และตอนนี้เราอ่านหนังสือพิมพ์ก็เพื่อตอกย้ำความเชื่อเดิมที่เราเชื่อ สื่อก็ยิ่งทำหน้าที่ตรงนี้ ตอนนี้ถ้ามองกว้างๆ สื่ออาจมีความหลากหลาย แต่เมื่อเข้าไปดูในองค์กรสื่อหนึ่งก็พบว่าไม่มีความหลากหลาย พบปรากฏการณ์ที่ทุกองค์กรสื่อลดทอนความหลากหลายออก จนกระทั่งช่องเอเชียอัพเดทก็มีการถอดรายการของ บก.ลายจุด รายการคุณณัฐวุฒิ ฯลฯ ที่มีความคิดต่างจากพรรคเพื่อไทยไป ซึ่งอันนี้เป็นอันตรายต่อประชาธิปไตย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net