สุรพศ ทวีศักดิ์: หมิ่นฯ กษัตริย์ในอดีตผิด มาตรา 112

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เว็บไซต์นิติราษฎร์และประชาไท เผยแพร่ “คำพิพากษาคดีหมิ่นฯอดีตกษัตริย์ ผิด ม.112” มีใจความสำคัญดังนื้

จำเลยกล่าวข้อความว่า

"ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ในสิ่งใดที่เราคิดว่าเราไปแล้วเนี้ยะ ถ้าเราทำด้วยความอิสระ ทำด้วยความคิดเสรี เพื่อพี่น้องประชาชนเราไปครับ แต่ถ้าเราต้องไป แล้วต้องเป็นเหมือนกับรัชกาลที่ 4 เราไม่เป็นครับท่าน ยุคนั้นหมดไปแล้ว แต่บ้านนี้เมืองนี้อาจจะมีอยู่บ้างบางส่วนนะครับ”

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ข้อความดังกล่าว "มีความหมายเป็นการใส่ความหมิ่นประมาท ดูหมิ่นรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในอดีต เปรียบเทียบว่ายุคของพระองค์เหมือนต้องไปเป็นทาส ไม่มีความเป็นอิสระมีการปกครองที่ไม่ดีทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 4 เสื่อมเสียพระเกียรติเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง โดยเจตนาทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ...พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดลงให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษ แต่ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ “ให้ยกฟ้อง” โจทก์ฎีกา และศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยให้เหตุผลว่า

"ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชต้นราชวงศ์ตลอดมาจนกระทั่งรัชกาลปัจจุบัน ประชาชนในประเทศจึงผูกพันกับพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นที่เคารพสักการะ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือ บุคคลใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้ ด้วยเหตุนี้การที่กฎหมายมิได้บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์จะต้องครองราชย์อยู่เท่านั้น ผู้กระทำจึงจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แม้จะกระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ซึ่งสวรรคตไปแล้ว ก็ยังเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว การหมิ่นประมาทอดีตพระมหากษัตริย์ก็ย่อมกระทบถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ยังคงครองราชย์อยู่...ดังนั้น หากมีการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตไปแล้วก็ยังกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนอันจะนำไปสู่ความไม่พอใจและอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรได้" 
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น (ดาวน์โหลดคำพิพากษาฎีกาฉบับเต็มได้ที่ http://www.enlightened-jurists.com/page/287)

จากคำพิพากษาดังกล่าว เราอาจตั้งคำถามได้หลายประการ เช่น

1) ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  ระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามถึงสิบห้าปี” แม้มิได้บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์จะต้องครองราชย์อยู่เท่านั้น” แต่ก็ไม่ได้บัญญัติให้แน่นอนลงไปว่า “รวมถึงพระมหากษัตริย์ในอดีตด้วย” จึงเป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันเท่านั้น คำถามจึงมีว่าศาลตีความกฎหมายเกินไปจากตัวบทหรือไม่?

2) การที่ศาลตีความคำพูดของจำเลยว่า “มีความหมายเป็นการใส่ความ หมิ่นประมาท ดูหมิ่นรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในอดีต...โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 4 เสื่อมเสียพระเกียรติ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง โดยเจตนาทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ...” นั้น เป็นการตีความที่ให้น้ำหนักไปในทางลิดรอนสิทธิเสรีภาพของจำเลยอย่างเกินความจำเป็นหรือไม่?

เนื่องจากตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ 4 ยังมีระบบทาสอยู่จริง (เลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ 5) และยังมีกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดกรอบการใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กรให้เน้นการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

เช่น มาตรา 26 ระบุว่า “การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กรต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” และมาตรา  29 ระบุว่า “การจำกัดสิทธิ เสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้”

3) ข้ออ้างที่ว่า สถาบันกษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ และประชาชนในประเทศผูกพันกับสถาบันกษัตริย์มาโดยตลอด ถึงแม้จะเป็นความจริง แต่ก็เป็นความจริงด้วยว่า ประเทศสยามได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็น “ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy)” มาตั้งแต่ปี 2475 แล้ว รัฐธรรมนูญปัจจุบันก็รับรองเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และประเทศไทยยังเป็นภาคีของกลุ่มประเทศที่ยืนยันปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอีกด้วย

ฉะนั้น ระบบนิติรัฐและกระบวนการยุติธรรม ต้องเป็นระบบและกระบวนการที่ให้ความสำคัญสูงสุดกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยต้องไม่มีการนำเอาเรื่องความเคารพต่อสถาบันกษัตริย์ หรือเรื่องใดๆ มาตีความให้มีความหมายไปในทางลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างเกินความจำเป็น

แม้แต่ประเพณีเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ก็ถือว่า ความชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์ยึดโยงอยู่กับความมี “ทศพิธราชธรรม” โดยกษัตริย์ที่ปกครองโดยธรรมนั้นย่อมใช้ “พระเดช” น้อย แต่ใช้ “พระคุณ” มากกว่า  ดังทศพิธราชธรรมบางข้อ เช่น มีความอ่อนน้อมถ่อมตน (มัททวะ) มีขันติธรรมต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ (ขันติ) ไม่โกรธ (อักโกธะ) ไม่กดขี่เบียดเบียนราษฎร (อวิหิงสา) เป็นต้น ว่าโดยเนื้อหาสาระหลักทศพิธราชธรรมก็คือหลัก “ทองแท้ไม่กลัวไฟ” นั่นเอง ฉะนั้น เมื่อยึดเนื้อหาสาระของทศพิธราชธรรมและหลักการปกครองระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยแล้ว คำกล่าวของจำเลยข้างต้น ไม่น่าจะก่อความเสียหายต่อคุณค่าของสถาบันกษัตริย์ทั้งในอดีตและปัจจุบันอันเป็นเหตุให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา เกิดความเกลียดชัง หรือกระทบต่อความมั่นคงแห่งรัฐได้

ว่าตามจริงแล้ว การอ้างสถาบันกษัตริย์ทำรัฐประหาร และการใช้สัญลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ในการต่อสู้ทางการเมืองและแบ่งแยกประชาชนออกเป็นฝ่ายจงรักภักดีและไม่จงรักภักดี ดังที่ทำกันมานานและยังทำกันอยู่ต่างหาก ที่น่าจะเป็นการไม่เคารพหลักทศพิธราชธรรมและขัดต่อความเป็นประชาธิปไตย ก่อความเสียหายแก่สถาบันกษัตริย์และกระทบต่อความมั่นคงแห่ง “รัฐประชาธิปไตย” มากกว่า แต่ก็ไม่เคยปรากฏเลยว่า ระบบยุติธรรมไทยได้ดำเนินการใดๆ อันเป็นการป้องปราม หรือให้ยุติการกระทำดังกล่าว

ฉะนั้น การที่ระบบยุติธรรมไทย ไม่เคยดำเนินการใดๆ ในการป้องกันและยุติ หรือเอาผิดกับการอ้างสถาบันทำรัฐประหารและต่อสู้ทางการเมืองแบ่งแยกประชาชนออกเป็นฝักฝ่าย ซึ่งส่งผลเสียหายอย่างรูปธรรมชัดแจ้งต่อสถาบันกษัตริย์และความมั่นคงของรัฐประชาธิปไตยมากกว่า แต่กลับมุ่งปกป้องสถาบันกษัตริย์ด้วยการตีความมาตรา 112 อย่างเน้นไปในทางลิดรอนเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน (โดยเฉพาะคนเล็กๆที่ไร้อำนาจต่อรอง)

ตกลงว่าระบบยุติธรรมไทยกำลังทำหน้าที่ป้องกัน “อันตรายที่แท้จริง” ต่อสถาบันกษัตริย์และความมั่นคงของรัฐประชาธิปไตยจริงหรือไม่? จำเป็นต้องปฏิรูประบบยุติธรรมให้มีวัฒนธรรมตีความกฎหมายตามอุดมการณ์เสรีนิยมหรือยัง?

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในโลกวันนี้วันสุข (23-29 พฤศจิกายน 2556)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท