ประคับประคองความขัดแย้ง-ออกแบบอนาคต

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ขณะที่เขียนบทความนี้ ปรากฏการณ์ความขัดแย้งใหญ่ในสังคมไทยซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นความขัดแย้งที่สู้กันด้วยสันติวิธีมาแต่แรกทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายผู้ประท้วงเปลี่ยนแปลงไปอย่างน้อย 3 ประการ คือ ประการแรก มีเหยื่อของความรุนแรงจากการปะทะกันในจุดต่างๆ จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 รายและบาดเจ็บอยู่โรงพยาบาลต่างๆ อย่างน้อย 119 คน ประการที่สอง ตั้งแต่เช้าวันนี้ (3 ธันวาคม 2556) ดูเหมือนสถานการณ์ต่างๆ จะผ่อนคลายลงบ้าง รัฐบาลปล่อยให้ผู้ประท้วงผ่านเข้าไปในกองบัญชาการตำรวจนครบาลและทำเนียบรัฐบาลเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกันเช่นเมื่อคืนก่อน และประการที่สาม ขณะนี้มีความพยายามจากฝ่ายต่างๆ เพื่อหาคำตอบทางการเมืองเพื่อยุติความขัดแย้งนี้ เช่นนายกรัฐมนตรีประกาศว่ายินดีจะทำทุกอย่างภายใต้กรอบของประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ รวมทั้งการลาออกและการยุบสภา ในขณะที่ฝ่าย กปปส. ผู้ประท้วงก็ประกาศเสนอ “สภาประชาชน” เป็นคำตอบ แทนสภาผู้แทนราษฎรที่พวกเขาไม่เห็นด้วย

บทความของคณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี ( คยส.) ชิ้นนี้ มิได้เป็นความพยายามเสนอว่า หนทางทางการเมืองที่จะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างฝ่ายต่างๆ ในสังคมนี้ควรเป็นเช่นไร เพราะข้อเสนอดังกล่าวคงมีหลากหลายจากฝ่ายที่มีความรู้ทางกฎหมาย รัฐธรรมนูญ และกระบวนการประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา

แต่บทความนี้เป็นข้อเสนอว่า ไม่ว่าจะเสนอหนทาง หรือ รูปแบบทางการเมืองเช่นไร มีสิ่งสำคัญเช่นความไว้วางใจ และความทนกันได้ในบริบทสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว  อันต้องนำมาพิจารณาประกอบด้วย เพราะทางออกที่แต่ละฝ่ายนำเสนออาจเป็นทางออกเชิงเทคนิคในแง่กฎหมายและการต่อรองทางการเมือง  ขณะที่ คยส.เห็นว่า ทุกข้อเสนอทางเทคนิคล้วนอยู่ในบริบททางสังคมที่เป็นจริง  ซึ่งต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้ข้อเสนอทางการเมืองเชิงเทคนิคที่กลายเป็นคำตอบสุดท้ายอันเป็นผลจากการแปรเปลี่ยนของสัมพันธภาพเชิงอำนาจขณะนี้ ไม่กลายเป็นเชื้อมูลที่จะนำพาสังคมไทยไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่ ซึ่งอาจจะมีภัยอันตรายต่อผู้คนในสังคมยิ่งกว่าเดิม

ตำแหน่งแห่งที่ความขัดแย้งไทยในปัจจุบัน

คำถามประการหนึ่งที่มักได้ยินกันทั่วไปคือ ทำไมจึงเกิดเหตุขัดแย้งเช่นนี้กับสังคมของเรา? สังคมไทยเดินทางมาสู่จุดนี้ได้อย่างไร?  คยส. เห็นว่าเราเดินทางมาอยู่ตรงจุดที่อาจเรียกว่าเป็นตำแหน่งบรรจบกันของแนวทางที่แตกต่างกระทั่งขัดแย้งกัน (convergence) ปัญหาเช่นนี้เคยเกิดขึ้นกับพัฒนาการทุนนิยมในยุโรป เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 19 เวลานั้นทุนนิยมในยุโรปประสบปัญหาใหญ่เพราะเปลี่ยนแปลงมาจนถึงจุดที่ก่อให้เกิดการขูดรีด และความไม่เป็นธรรมทั่วไป เกิดวิกฤตขัดแย้งแหลมคมทำให้ความชอบธรรมทั้งของทุนนิยมและ ของรัฐที่พิทักษ์ระบบตกต่ำ นำไปสู่การเคลื่อนไหวของกรรมาชีพอย่างกว้างขวาง จนทั้งรัฐและทุนในเวลานั้นต้องปรับตัว เพื่อรักษาระบบทุนนิยมและความชอบธรรมของรัฐไว้ เป็นเหตุหนึ่งให้เกิดรัฐสวัสดิการที่คือลักษณะพิเศษของทุนนิยมในยุโรปตะวันตก

เป็นไปได้หรือไม่ว่า ประเทศไทยในเวลานี้ก็เดินทางมาถึงจุดบรรจบเช่นนี้ เป็นจังหวะในประวัติศาสตร์สังคมไทยที่เกิดความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างฝ่ายต่างๆ และดังนั้นพัฒนาการของประชาธิปไตยจึงผลักดันให้เกิดการแสวงหากระบวนวิธีให้แนวคิดที่แตกต่างขัดแย้งกันมาบรรจบกัน ระหว่างประชาธิปไตยซึ่งมีฐานความชอบธรรมอยู่ที่การเลือกตั้ง กับ การไม่ไว้วางใจอันเนื่องมากจากการทุจริตและการใช้อำนาจไม่ชอบ  ที่จุดบรรจบเช่นนี้ อาจเป็นเวลาซึ่งคนในสังคมไทยจะแสวงหารูปแบบและกระบวนการประชาธิปไตยที่ตอบสนองความต้องการที่แตกต่างขัดแย้งกันของผู้คน ด้วยเหตุนี้เราคงจะได้เห็นข้อเสนอทางการเมืองเชิงเทคนิคมากมาย ที่น่าจะมีผู้เสนอขึ้นเพื่อแก้ไขความแตกต่างขัดแย้งดังกล่าว

คยส.เห็นว่า ข้อเสนอเชิงเทคนิคทางรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หรือ กระทั่งประเพณีปฏิบัติทางการเมืองในสังคมไทย เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องทุ่มเทความรู้ความสามารถมาครุ่นคิด แต่ทุกข้อเสนอทางเทคนิคการเมือง จำต้องถูกพิเคราะห์พิจารณาในเงื่อนไขอย่างน้อย 3 ประการ คือ ความไว้วางใจ (trust) , ความทนกันได้ (tolerance), และความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย

ความไว้วางใจ

ความขัดแย้งใหญ่ในสังคมไทยที่ส่งผลให้มวลชนจำนวนมากไม่ยอมเชื่อฟังรัฐบาลวันนี้  อาจมีสาเหตุใหญ่มาจากระดับความไว้วางใจตกต่ำสุดขีด ปัญหานี้เป็นปัญหาภายในระบอบประชาธิปไตยเองอยู่แล้วที่ความชอบธรรมซึ่งรัฐบาลอ้างว่ามาจากการเลือกตั้งนั้น อาจสั่นคลอนได้ หากประชาชนมีระดับของความไม่ไว้วางใจสูง และไม่มีกลไกหรือมาตรการใดที่จะใช้เป็นหลักประกันได้ 

ประชาธิปไตยต้องการทั้งความชอบธรรมและความไว้วางใจ หาไม่แล้วระบบการเมืองจะไม่สามารถทำงานได้  โจทย์ใหญ่ของรัฐบาล สภาผู้แทนรวมถึงศาลรัฐธรรมนูญในเวลานี้ก็คือ ทำอย่างไรจะฟื้นฟูความไว้วางใจให้กลับคืนมาได้  ซึ่งอาจทำบางส่วนได้ด้วยการยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น แก้ไขสิ่งผิดให้ถูกต้อง เยียวยาความเสียหาย และสร้างมาตรการขึ้นใหม่ชนิดที่ทุกฝ่ายซึ่งขัดแย้งกัน เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดกติกาดังกล่าว 

ข้อเสนอทางการเมืองเชิงเทคนิคของฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งครั้งใหม่ถ้าเกิดการยุบสภาขึ้น หรือ “สภาประชาชน” ถ้าจะปรากฏขึ้น จำเป็นต้องวางอยู่บนความไว้วางใจของทั้งสังคม ด้วยเหตุนี้ การกำหนดกติกาใดๆ จึงควรต้องมาจากความเห็นพ้องต้องกัน และ มีความชัดเจนว่าจะทำงานได้อย่างไร การกำหนดกติกาบนฐานของความไว้วางใจหมายถึง การที่ฝ่ายต่างๆ ในสังคมต้องพร้อมยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดจากการไว้วางใจในกันและกัน

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้กลไกของประชาธิปไตยทำงานไม่ได้ แม้จะมีการออกแบบมาอย่างดีในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็น ฉบับปี 40 หรือ ปี 50 ก็เนื่องจากผู้คนในสังคมไม่ไว้ใจว่าผู้ใช้กลไกเหล่านั้นจะใช้กลไกที่มีอยู่ตามเป้าหมายที่ควรจะเป็น เกิดความหวาดระแวงอันเป็นผลจากการไม่ตรงไปตรงมา ไม่คงเส้นคงวา เช่น กรณีการตัดสินยุบพรรคโดยศาลรัฐธรรมนูญ หรือ การผ่านร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม โดยสภาผู้แทนราษฎร

ความทนกันได้

การออกแบบทางการเมืองเชิงเทคนิคควรคำนึงถึงความสามารถทนรับความแตกต่างที่ดำรงอยู่ให้ได้ เพราะสังคมมนุษย์ที่แตกแยกเช่นนี้ไม่สามารถก้าวออกจากความขัดแย้งโดยเชื่อว่า ฝ่ายที่ชนะต้องขจัดคนแพ้อีกเกือบครึ่งหนึ่งให้สิ้นไปได้

เงื่อนไขที่กำหนดระดับความทนกันได้ นอกเหนือจากความเชื่อเรื่องสิทธิ เสรีภาพ แล้ว คือความรู้สึกมั่นใจว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และแน่ใจว่าจะไม่ถูกคุกคามเมื่อเห็นเมื่อคิดต่างจากคนอื่น ชีวิตไม่ได้อยู่บนความเสี่ยง อีกทั้งยังรู้สึกมั่นคงและพอใจในความเป็นอยู่ของตน  ผลการสำรวจระดับความทนกันได้ในสังคมไทย ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สงขลา และ กทม. เมื่อปี 2548 ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่มีความอดทนต่อความคิดเห็นแบบสุดโต่ง อันอาจทำให้ชีวิตทางสังคมของพวกเขาถูกคุกคามไม่มั่นคง

ด้วยเหตุนี้การออกแบบการเมืองเพื่อแก้ปัญหาในปัจจุบัน ต้องผนวกความต้องการของหลายฝ่ายไว้ให้ได้ ไม่สามารถตัดทิ้งความวิตกกังวลของฝ่ายใดออกไปได้ จนทำให้ฝ่ายนั้นรู้สึกถึงความกีดกันไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม การขจัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้สิ้นไป ไม่มีที่ยืนทางสังคม ก็เป็นความคิดแบบสุดขั้วชนิดหนึ่งที่เราพบในงานวิจัยว่าคนส่วนใหญ่ไม่ยอมอดทน

อาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่สังคมไทยต้องการในขณะนี้คือ การเมืองแห่งการรอมชอมโอบกอดความแตกต่างเข้าไว้ให้ได้ คิดนอกกรอบความเชื่อที่เห็นคนที่ต่างจากตนเป็นศัตรู เพราะต้องตอบคำถามว่า จะทำอย่างไรจึงจะทำให้คนที่แตกต่างกันจริงๆ อยู่ร่วมกันได้ หรือ ร่วมมือกันสร้างสรรค์สังคมไทยให้ได้ ไม่ใช่ทำอย่างไรจะเป็นฝ่ายชนะในความขัดแย้งเช่นนี้

ความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย

ความเป็นจริงที่ต้องยอมรับกันในสังคมไทยปัจจุบันคือ สังคมไทยเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ คนในสังคมนี้อาจไม่ได้ “รู้รักสามัคคี”กันเช่นที่หลายฝ่ายเชื่อ ชนบทไทยก็แปรเปลี่ยนไปผูกโยงกับทุนนิยมโลกมากขึ้น คนจนในเมืองก็ไม่เหมือนเดิม ที่มักบ่นกันว่าหา “คนกลาง” มาแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ได้ ก็อาจเป็นเพราะปัจจุบันจำนวนคนที่ “อยู่ตรงกลาง” มีน้อยลงไปมาก “คนกลาง”ที่เห็นๆ กันมาแต่ก่อนก็ถูกหาว่าไม่เป็นกลางจริงจากฝ่ายที่ขัดกัน สถาบันทางการเมืองที่เคยพึ่งพาอาศัยได้ก็แปรไปตามอายุแห่งการเปลี่ยนแปลงและแรงกดดันจากความขัดแย้งตลอดมา หรือสังคมไทยอาจเติบโตขึ้น จนหลายฝ่ายรู้สึกว่า ไม่ต้องเรียกหา “คนกลาง” หรือ “อำนาจ”อื่นๆ อีกต่อไปแล้ว

ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ดำรงอยู่ในบริบทความขัดแย้งที่ผู้คนขัดกันทั้งในแง่ความใฝ่ฝันทางการเมืองว่าอยากได้รัฐบาลและผู้แทนชนิดใด ทั้งในแง่หนทางไปสู่ความใฝ่ฝันนั้น เพราะขณะที่ฝ่ายหนึ่งดูแคลนการเลือกตั้งและตัวแทนทางการเมืองว่าเป็นสิ่งฉ้อฉล ซื้อหามาได้ อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า นี่คือฐานอำนาจที่เป็นจริงของพวกเขา เป็นอาภรณ์แสดงศักดิ์ศรีของพวกเขา ไม่ใช่ของซื้อขายราคาถูกเช่นที่อีกฝ่ายกล่าวหา

ทั้งหมดนี้หมายความว่า ไม่ว่าจะคิดออกแบบการเมืองเชิงเทคนิคเช่นไร จำต้องตระหนักว่า รูปแบบอนาคตประชาธิปไตยที่กำลังจะนำเสนอ ปรากฏขึ้นในสังคมที่มีความแตกต่างขัดแย้งจริงจัง คือประเด็นที่เขาเห็นต่างกันล้วนมีคุณค่าความหมายต่อพวกเขา เพราะถ้าไม่คำนึงถึงเรื่องนี้ ข้อตกลงทางการเมืองหรือรูปแบบการเมืองเชิงเทคนิคใดๆ ก็อาจกลายเป็นเชื้อไฟแห่งความโกรธ ความเกลียดชัง ที่รอวันปะทุขึ้นคุกคามทำร้ายสังคมไทยในอนาคตได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท