ดีเบต “ทุนนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ยากไร้” (ตอน 2)

 

30 พ.ย. 56 เวลา 16.00 น. ร้าน Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดดีเบตในหัวข้อ “ทุนนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ยากไร้”  โดยมีวิทยากรแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ได้แก่ เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กับ สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนนักแปลอิสระ และ แบ๊งค์ งามอรุณโชติ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ดู ดีเบต ‘ทุนนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ยากไร้’ ตอน 1)

 

ปีศาจทุนนิยม กับปัญหาสองระดับของทุนนิยมเสรี

ภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น กล่าวว่ามีความแตกต่างระหว่าง “ทุนนิยม” (Capitalism) และ “ทุนนิยมเสรี” (Liberal Capitalism) สองอย่างนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกันทีเดียว คำว่าทุนนิยมโดยธรรมชาติ ถ้าไม่มีสิ่งที่เรียกว่าตลาดเสรี หรือ Liberalism มาประกบท้าย ก็เป็นระบบเศรษฐกิจที่ต้องการการผูกขาดเพื่อผลกำไรที่มากที่สุด แต่เราไม่ได้อยู่ในสังคมในความหมายนี้ทั้งหมด เราอยู่ในสังคมที่เรียกว่า Liberal Capitalism

ปัญหาของทุนนิยมเสรีที่มีต่อผู้ยากไร้ มีอยู่สองระดับ คือระดับภายในและระดับภายนอก ปัญหาภายในอันแรก การหมุนเวียนของทุน (Capital circulation) โดยหลักมันต้องการการสะสมทุน (accumulation) แต่ถามว่าจะสะสมทุนได้ด้วยวิธีการไหนบ้าง ส่วนหนึ่งซึ่งทำให้เกิดปัญหาภายใน คือมันต้องอาศัยการขูดรีดเอากับแรงงาน ดังที่อาจารย์เก่งกิจได้อธิบายไว้พอสมควรแล้ว

อันที่สอง มนุษย์ในทัศนะของพวกมาร์กซิสต์ เกิดมาพร้อมกับแรงงาน แต่ในสภาพระบบทุนนิยม แรงงานของมนุษย์ถูกทำให้อยู่ในสภาพวัตถุแรงงาน (objectified labor) แรงงานทุกคนที่อยู่ในโรงงาน เขาไม่ได้มีฐานะเป็นมนุษย์ในสายตาของนายทุน แต่มีฐานะเป็นต้นทุนชนิดหนึ่งในบัญชีรายรับรายจ่าย นี่คือสิ่งแรกที่ระบบทุนนิยมกระทำต่อมนุษย์ สิ่งเหล่านี้เกิดในพื้นที่กรรมสิทธิ์ส่วนตัวของนายทุน เมื่อแรงงานมนุษย์เข้ามาในพื้นที่นี้ ก็ต้องสร้างมูลค่าส่วนเกิน หรือขูดรีดแรงออกมาให้ได้มากที่สุด เพื่อนำไปสู่ผลผลิตหรือสินค้า

อันที่สาม เมื่อมนุษย์ก้าวเข้าสู่พื้นที่ส่วนตัวของขนชั้นนายทุน และถูกแปลงสภาพให้เป็นวัตถุแรงงาน เขาจะรู้สึกแปลกแยกกับตัวเอง (alienation) คุณอาจถูกตีมูลค่าให้มีค่าตัว 300 บาท แต่คุณสามารถผลิตสินค้าได้ราคามากกว่าราคาค่าตัวคุณ อาจจะได้ 500 บาท แต่คุณกลับไม่ได้ส่วนแบ่งตรงนั้น เกิดสภาวะที่แรงงานแปลกแยกจากสินค้าที่ตนผลิต แล้วคนงานก็ดำเนินชีวิตไปให้แค่ตัวเองมีกินมีใช้ เพื่อมาทำงานต่อไป นอกจากนั้นเมื่อคุณเข้าในพื้นที่ของนายทุนก็ถูกขูดรีดโดยอัตโนมัติ โดยนายทุนจ้องหากำไรจากแรงงานของคุณตลอดเวลา ไม่ว่าการนอนของคุณก็ถูกตีเป็นราคาหมด ว่าให้นอนกี่ชั่วโมง

ในส่วนระดับภายนอก เป็นระดับที่เรียกว่าพื้นที่สาธารณะ พวกเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจะมองว่าตลาดเสรีเป็นสิ่งที่ช่วยกระจายความมั่งคั่ง แต่ตนไม่เชื่อว่าตลาดเสรีจะทำงานได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม มันเป็นมายาคติหรือหน้ากากที่ไปซ่อนเร้นความเป็นปีศาจร้ายของสิ่งที่อยู่เบื้องหลังตลาดเสรี มันคือการขูดรีดเด้งที่สองที่ระบบมีต่อคนในตลาด ต่อคนในสังคมทั่วไป ไม่ใช่เพียงผู้ยากไร้

ประการแรก พวกเสรีนิยมมีความเชื่อว่าทุกคนเสมอภาคเท่าเทียมกันเฉพาะแค่เรื่องโอกาส แต่อย่างอื่นเป็นเรื่องของคุณ แต่ในความจริงมนุษย์แต่ละคนไม่ได้มีศักยภาพเท่ากัน พวกเขาจะเชื่อว่าตลาดจะเป็นเครื่องมือในการกระจายความมั่งคั่ง แต่ในโลกความเป็นจริง ยิ่งใช้กลไกตลาด ยิ่งทำให้คนจำนวนน้อย มีความมั่งคั่งมากขึ้น และคนจนมีจำนวนมากขึ้น

ประการที่สอง มายาคติเรื่องสังคมแบบปัจเจกชน เสรีนิยมเชื่อเรื่องปัจเจกชนที่สุด เชื่อว่าทุกคนมีเหตุผลเท่ากัน แต่ในความเป็นจริง เราไม่ได้อยู่ในสังคมแบบปัจเจกชนสุดโต่ง แต่เราอยู่ในสังคมที่เราไม่เท่าเทียมกัน มีชนชั้นที่ถูกแบ่งแยก

ประการที่สาม ถามว่าสังคมที่มีชนชั้นเกิดจากอะไร มันเกิดขึ้นจากระบบทุนนิยมเป็นด้านหลัก อันแรก เวลาที่แรงงานผลิต มันเกิดสิ่งที่เรียกว่าผลผลิต โดยผลผลิตจะไม่มีมูลค่าอะไรในตลาดเลย ถ้าไม่ถูกแปลงให้เป็นสินค้าเสียก่อน นายทุนพยายามหากำไรจากการทำให้ผลผลิตกลายเป็นสินค้า ราคาสินค้าไม่ได้เท่ากับต้นทุนผลผลิตที่ออกจากโรงงาน มันนำไปสู่มูลค่าในการแลกเปลี่ยน ซึ่งมากับมูลค่าส่วนเกินเสมอ ทุกอย่างในระบบทุนจึงถูกทำให้เป็นสินค้าหมด ไม่ว่าจะต่อต้านทุนนิยมอย่างไร คุณก็หนีความจริงนี้ไม่พ้นสังคมที่เป็นทุนนิยม ถ้าคุณไม่มีเงินไม่บริโภค คุณตาย เมื่อคุณซื้อของเมื่อไร ตลาดตรงนี้ก็กลายเป็นเครื่องมือในการขูดรีดโดยอัตโนมัติ

ภาคิไนย์กล่าวถึงปัญหาว่าทางออกจากสภาพสังคมทุนนิยมนี้ ว่าตนมีข้อเสนอสามเรื่องหลักๆ คือ หนึ่ง เรื่องทางเลือกของกรรมสิทธิ์ ไม่ได้หมายถึงการล้มล้างระบอบทรัพย์สินเอกชน แต่เสนอให้มีทางเลือกของกรรมสิทธิ์ให้เพิ่มมากขึ้น เช่น การให้มีสิทธิสาธารณะ สิทธิชุมชน

สอง การต่อสู้ทางชนชั้นในศตวรรษที่ 21 ต้องมีการแปลงสภาพ แน่นอนว่าแนวทางแบบมาร์กซิสต์ดั้งเดิมมันล้มเหลวมาแล้ว แล้วมันจะมีทางเลือกอื่นๆ ในการต่อสู้ทางชนชั้นได้ไหม ตนเสนอว่าจำเป็นต้องมีกระบวนการที่เรียกว่า Political Radicalization หรือ Radical Democracy คือการสร้างระบบประชาธิปไตย สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่มันขยายมากกว่าไปกว่าชนชั้นกรรมกร ชาวนา ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนในการกดดัน เจรจา ต่อรอง มีส่วนกำหนดนโยบายของรัฐและทุน ด้วยพลังของสาธารณะ มาร์กซิสต์เมื่อก่อนจะเชื่อว่าชนชั้นแรงงาน-กรรมกรเท่านั้น ที่จะนำพาการเปลี่ยนแปลง แต่ในศตวรรษนี้สังคมมันซับซ้อนขึ้น และมีชนชั้นอะไรมากมาย 

สาม รัฐจะต้องมีบทบาทในการกระจายความมั่งคั่งให้มากกว่านี้ บทบาทในการกระจายรายได้ให้กับคนยากไร้ เพราะทุนนิยมโดยตัวมันเอง ไม่สามารถจะกระจายความมั่งคั่งไปสู่คนอื่นๆ ได้ เพราะมันต้องขูดรีดอยู่ตลอดเวลา แต่ก็มีปัญหาว่ามันถูกควบคุมโดยคนชนชั้นไหนอีกหรือไม่

ธุรกิจ-นายทุนเพื่อคนจน

สฤณี อาชวนันทกุล กล่าวว่าการพูดว่าตลาดเสรีจะนำไปสู่การกระจายความมั่งคั่ง แต่ที่จริง มันไม่มีกลไกอะไรที่จะการันตีเรื่องนี้ ถ้าแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ก็จะบอกว่าอันนั้นไม่ใช่เรื่องของระบบเศรษฐกิจ พูดง่ายๆ ว่าความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งที่ต้องเกิดอยู่แล้ว พอแข่งขันมันก็ต้องมีคนแพ้คนชนะ สายพวกนี้ก็จะไม่สนใจเรื่องนี้เลย ถ้าเกิดอยากจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ก็ต้องใช้นโยบายรัฐอย่างเดียวอยู่แล้ว แต่เขาก็จะบอกว่าถ้ารัฐมายุ่มย่าม แรงจูงใจของคนจะลดลง

สฤณี ได้ยกคำพูดของ Bono อดีตนักร้องวงยูทูที่ว่า “ทุนนิยมทำให้คนหายจนมากกว่าเงินช่วยเหลือ” และยกตัวอย่างคนทำชายสี่หมี่เกี๊ยว หรือกรณีเจ๊เกียว เจ้าของเชิดชัยทัวร์ ที่จบแค่ชั้นป.4 แต่ก็เป็นเศรษฐีได้ นี่คือกุญแจสำคัญที่ตอบว่าทำไมทุนนิยมต่อให้สร้างปัญหาต่างๆ มากมาย แต่ทำไมถึงยังอยู่ได้ ก็เพราะมันเป็นระบบที่ทำให้คนรู้สึกว่ามีโอกาสที่จะเปลี่ยนชนชั้น คนเกิดมายากจน ถ้าขยันทำงานหนัก อาจกลายเป็นมหาเศรษฐีได้ มันสร้างแรงจูงใจที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้น ต่อให้โอกาสอาจจะน้อยมาก แต่ต่อให้ 1 ในล้าน คนเราก็มักจะรู้สึกว่าเราอาจจะเป็น 1 ในล้านก็ได้

สฤณีชี้ให้เห็นตัวเลขอัตราความยากจน วัดจากรายได้ 1 เหรียญต่อวัน ทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง จากกรณีที่อาจารย์เก่งกิจแสดงตัวเลขส่วนแบ่งรายได้ของแรงงานที่ลดลง มันแปลว่า GDP ของประเทศมันโตเร็วกว่าที่ค้าจ้างจะเพิ่มขึ้น ต่อให้รายได้ของแรงงานเพิ่มขึ้น แต่รายได้ของทุนมันเพิ่มขึ้นเร็วกว่า ก็ทำให้ส่วนแบ่งมันลดลง แต่โอกาสที่คนมองเห็นว่าชีวิตเขาจะดีขึ้น ก็เพียงพอที่จะทำให้คนอยากจะถีบตัวเองขึ้นมา ไม่ได้คิดจะล้มล้างระบอบ

 

ตัวเลขอัตราความยากจน

ในกรณีของ Occupy Wall Street หลายคนบอกว่าเห็นไหมว่ามีคนจำนวนมากออกมาประท้วงภาคการเงินอเมริกา สะท้อนการประท้วงทุนนิยม บอกว่าทุนนิยมไปไม่ได้แล้ว แต่นักคิดหลายคนก็บอกว่าไม่จริง เช่น Nicholas Kristof เห็นว่าขบวนการนี้เป็นความต้องการให้รัฐเอาหลักการพื้นฐานที่จะกำกับทุนนิยมกลับมา เช่น ความรับผิด ปัญหาที่เจอคือระบบธนาคารของอเมริกาใหญ่เกินไป รัฐไม่ยอมให้ล้ม พอสร้างปัญหา ก็โยนไปให้สังคมแบกรับ ดังนั้น OWS คือโอกาสที่จะพิทักษ์ กอบกู้ระบบทุนนิยมเองนั่นแหละ กอบกู้มาจากทุนนิยมพวกพ้องแบบที่เป็นอยู่

ในทางเศรษฐศาสตร์ไม่ว่าจะสำนักไหน ก็มีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์เยอะ ว่าระบบเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันมากๆ โดยเฉพาะในสินค้าที่ไม่ใช่เป็นบริการสาธารณะ ถ้าเป็นสินค้าเอกชน ยิ่งมีการแข่งขันมาก คนยิ่งได้ประโยชน์ จากการพัฒนาบริการต่างๆ อันนี้คือความย้อนแย้งในตัวมัน ระบบทุนนิยมที่พึงปรารถนา อาจกล่าวว่าคือระบบที่ต้องกำกับนายทุนได้ คือทำให้นายทุนบรรลุความต้องการตนเองไม่ได้ เช่น ให้บทบาทรัฐเข้ามา

ข้อดีอย่างหนึ่งของระบบทุนนิยม คือมันไม่ได้มีลักษณะเหมือนกันทั้งโลก และมันมีการปรับตัวตลอดเวลา หลังสมัยมาร์กซ์ที่มีการขูดรีดแรงงานชัดเจน แรงงานก็มีการรวมตัวต่อรอง หลังจากนั้นนายทุนก็ถูกบังคับให้ยอม มันมีการปรับตัวของมันอยู่ หรือทุนนิยมในอเมริกา ก็ไม่เหมือนกับทุนญี่ปุ่น ไม่เหมือนแบบจีน แต่เราไปคุ้นเคยกับระบบทุนนิยมของอเมริกา ซึ่งเป็นทุนนิยมที่ใหญ่ที่สุด ความแตกต่างของทุนนิยมแบบต่างๆ นี้ คือเส้นแบ่งที่บอกว่ารัฐให้ตลาดทำอะไร ให้ตัวเองทำอะไร แล้วให้ชุมชนทำอะไร มันไม่เหมือนกัน

สฤณียกตัวอย่างวิธีการต่างๆ ที่เรียกว่าเป็น “ธุรกิจเพื่อคนจน” คือธุรกิจที่ทำอะไรเพื่อคนจน สะท้อนว่าแรงจูงใจที่จะได้กำไร ไปด้วยกันได้แรงจูงใจที่จะช่วยคนจนได้ เป็นตัวอย่างให้เห็นว่านักธุรกิจเองก็มีแรงจูงใจที่หลากหลาย

เช่น โครงการบ้านเพื่อคนจน โดยบริษัท CEMEX ปูนซีเมนต์ในเม็กซิโก สิบกว่าปีก่อนเมื่อพบว่ายอดขายตัวเองไม่กระเตื่อง เพราะมีคู่แข่งมากขึ้น ผู้จัดการคนหนึ่งเสนอให้ขายสินค้าให้คนจน ซึ่งคนเม็กซิกันจำนวนมากไม่มีบ้าน ก็มีการไปค้นคว้าวิจัย จนออกมาเป็นโครงการที่ไม่ได้ขายปูนอย่างเดียว แต่ใช้วิธี “วงจรออม-กู้” ให้เชื่อไว้ก่อน ส่งปูนให้ก่อนล่วงหน้า เป็นคล้ายการผ่อนส่ง และมีการหาสถาปนิกมาช่วยออกแบบบ้านที่ค่อนข้างมีราคาถูกให้  ในเวลา 1 ทศวรรษ โครงการนี้ปล่อยกู้ไมโครเครดิตกว่า 135 ล้านดอลลาร์ ช่วยยกระดับชีวิตคนจนกว่า 1.3 ล้านคน ให้มีบ้านที่มีคุณภาพ ช่วยให้คนจนสร้างบ้านได้เร็วกว่าปกติ 3 เท่า และถูกกว่า 3 เท่า

หรือบริษัท Body Shop ตอนที่นำโดย Anita Roddick ทำธุรกิจเครื่องสำอางค์ในฐานะนักกิจกรรม โดยประกาศทำธุรกิจเพื่อรักษาคุณค่าต่างๆ เช่น ต่อต้านการทดลองสัตว์, สนับสนุนการค้าเสรีโดยชุมชน, พิทักษ์สิทธิมนุษยชน และปกป้องสิ่งแวดล้อม บริษัททำกิจกรรมต่างๆ เช่น ไปร่วมประท้วงบริษัทเชลล์ ในไนจีเรียกับชุมชนที่นั่น ยอดขายบริษัทเองก็ไม่ได้ตกเมื่อทำกิจกรรมเหล่านี้ สะท้อนว่าผู้บริโภคเองก็สนับสนุน ในทุนนิยม บริษัทต่างๆ เองก็ไม่ได้อยู่โดดๆ ไม่ได้มีแต่นายทุนกับแรงงาน แต่มีผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ที่สามารถสร้างแรงกดดันไปถึงการทำงานของบริษัทได้

สฤณีชี้ให้เห็นว่าถ้าดูโอกาสของสิ่งที่เรียกว่า “ตลาดคนจน” ทั่วโลก คือคนที่มีรายได้ไม่ถึง 2 เหรียญต่อวัน มี 3-4 พันล้านคน ถ้ารวมมูลค่าก็มากถึง 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (8 % ของ GDP โลก) ตอนนี้เลยมีธุรกิจที่พยายามเข้าไปบุกเบิกธุรกิจในตลาดเหล่านี้ ซึ่งสร้างประโยชน์ทางสังคม ช่วยให้คนจนหายจนหรือมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ตัวอย่างของ “นายทุนเพื่อคนจน” จำนวนมาก ที่ทำงานอยู่ในระบบทุนนิยมปัจจุบัน แปลว่ามันมีช่องทางมีโอกาสที่ทำให้คนเหล่านี้อยู่ได้ เป็นพลังของระบบที่เปิดโอกาสให้ความคิดสร้างสรรค์และแรงจูงใจแบบอื่นๆ ทำงาน ไม่ใช่แรงจูงใจแบบกำไรสูงสุดสุดขั้วเท่านั้น

 

ตัวอย่างงานศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาความยากจน

สรุปประเด็นการดีเบต

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เห็นว่าประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายความเห็นนี้มีร่วมกัน คือเห็นว่าทุนนิยมที่มีปัญหาคือทุนนิยมที่ผูกขาด แต่ฝ่ายเก่งกิจ-ภาคิไนย์เห็นว่าทุนนิยมโดยธรรมชาติมัน destructive และมันมีพัฒนาการที่เพิ่มดีกรีการทำลายล้างมากขึ้น ส่วนอีกฝ่าย เห็นว่าทุนนิยมมันมีหลายประเภท ต้องแยกแยะให้ชัดก่อน มันมีประเภทที่ destructive ก็จริง มีแบบสุดโต่งที่ทำลายล้าง แต่ก็มีประเภทอื่นๆ

ประเด็นที่สอง คือฝ่ายเก่งกิจ-ภาคิไนย์ เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับแรงงาน เป็นความสัมพันธ์เชิงขูดรีด อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ปฏิเสธ แต่เลี่ยงไปใช้คำว่า “ความเหลื่อมล้ำ” ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติของทุนนิยม แต่คุณสฤณีก็ชี้ให้เห็นนิดหนึ่งว่าในความสัมพันธ์นี้มันเปลี่ยนได้ ทุนนิยมมีพลังด้านบวก สร้างโอกาส สร้างแรงจูงใจ คนสามารถเลื่อนสถานะได้ ประเภทของทุนนิยมที่ “ดี” สามารถมีเป้าหมายเชิงสาธารณะได้

ประเด็นต่อมา คือฝ่ายเก่งกิจ-ภาคิไนย์เห็นว่ากรรมสิทธิ์เอกชน เป็นมูลเหตุของการขูดรีดและทำลายล้าง ส่วนอีกฝ่ายเห็นว่ากรรมสิทธิ์เอกชนมันสร้างอย่างอื่นด้วย เป็นรูปแบบสิทธิประเภทหนึ่ง และตัวของมันเองไม่ได้เป็นปัญหา แต่กรรมสิทธิ์เอกชนที่สุดโต่งต่างหาก ที่เป็นปัญหา แต่ในตอนท้ายทั้งสองฝ่ายก็กลับเสนอทางเลือกที่คล้ายๆ กัน

ด้าน ภัควดี วีระภาสพงศ์ เสนอความเห็นว่าการบอกว่าระบบทุนนิยมทำให้คนหายจนมากขึ้น มันสามารถวิจารณ์ได้ว่าก็เพราะพลังการผลิตมันสูงจนล้น ไม่สามารถระบายออก มันเลยไหลลงมาให้กับคนข้างล่าง การบอกว่าทำให้คนมีรายได้มากกว่า 1 ดอลลาร์ บางครั้งไม่ต่างกับการบอกว่าระบบทาสมันดีกว่าเลิกทาส เพราะชีวิตทาสมันดีกว่าตอนเลิกทาส

นอกจากนั้นประเด็นเรื่องโศกนาฏกรรมสาธารณะที่นักเศรษฐศาสตร์ชอบพูด ก็เป็นโมเดลสมมติที่ไม่เคยมีข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์หรือความเป็นจริงรองรับ โดยลักษณะสำคัญของระบบทุนนิยมอีกอย่างหนึ่งคือมันเป็นระบบที่เอาเศรษฐกิจมาครอบงำสังคม ระบบที่ผ่านมาของมนุษย์เป็นระบบที่สังคมกำกับ แต่ทุนนิยมใช้ระบบเศรษฐกิจควบคุมระบบ

เหมือนทั้งสองฝ่ายเชื่อว่ากลไกตลาดกำกับดูแลสังคมไม่ได้ ถ้าแบบนั้น สงสัยว่าโมเดลเศรษฐกิจที่ฝ่ายทุนนิยมตั้งขึ้นมา มันไม่พังตั้งแต่แรกแล้วหรือ และเวลายกตัวอย่างถึงปัจเจกบุคคลที่ใช้ช่องว่างของพลังการผลิตที่ล้นเกิน มาทำอะไรดีๆ ขึ้นกับแรงจูงใจ มันอาจจะไม่ต่างกับการหวังพึ่งเอา “คนดี” หรือไม่ แต่มันจะมีระบบอะไรที่เป็นหลักประกันว่าสังคมจะเปลี่ยนไปอย่างนั้น

ตอบข้อโต้แย้ง

สฤณี อาชวนันทกุล กล่าวตอบว่าตนมองว่าถ้าแรงจูงใจมันขัดแย้งกับตรรกะของระบบ ระบบก็อยู่ไม่ได้ ตนเห็นว่าเรามีมายาคติของการทำกำไรสูงสุดอยู่เหมือนกัน ที่ยกเป็นเคสเพื่อจะบอกว่าถ้าไปถามนักธุรกิจ น้อยมากที่เขาจะตอบว่าเขาทำเพื่อกำไรสูงสุด แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่ากำไรที่เขาทำได้ เป็นกำไรสูงสุดแล้วหรือยัง ตนคิดว่ามันตอบไม่ได้

ตนไม่ได้ปฏิเสธกลไกตลาด แต่ความแตกต่างคือจะให้ตลาดทำงานในเรื่องอะไรบ้าง จะให้จัดการอะไร อะไรไม่ควรให้จัดการ ความแตกต่างของสำนักต่างๆ มีสองสามเรื่อง หนึ่งคือขอบเขตของตลาด กลไกตลาดจะเวิร์คในกรณีไหนบ้าง สองคือวิกฤติต่างๆ มันเป็นธรรมชาติของทุนนิยมมากน้อยแค่ไหน และสามคือเรื่องบทบาทของรัฐควรจะเป็นอย่างไร ทั้งหมดไม่เชิงเป็นการถกเถียงว่าจะเอากลไกตลาดหรือไม่ แต่จุดร่วมคือคิดว่ากลไกตลาดเป็นกลไกที่ใช้งานได้ในหลายกรณี อันนี้คือจุดที่แตกต่างจากมาร์กซิสต์ ที่ตั้งต้นแล้วว่ามันเป็นการขูดรีด

เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ กล่าวว่าปัญหาสำคัญในเรื่องนี้คือความสัมพันธ์ในการผลิต ความสัมพันธ์ที่เรามีต่อทุน ทุนผูกขาดการบริหารจัดการองค์กร ไม่ได้คิดถึงการให้บริการประชาชน แต่คิดเรื่องกำไร โดยการพูดถึงผู้ประกอบการทางสังคมนั้น มันเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นโดยระบบทุนนิยม เพื่อให้มีผู้ประกอบการเยอะ เพื่อลดความขัดแย้งที่มีต่อระบบทุนนิยม เสรีนิยมใหม่เกิดเพื่อจะลดความขัดแย้งระหว่างทุนกับแรงงาน วิธีการที่สำคัญคือการถีบแรงงานออกไปจากโรงงาน ไปทำงานพาร์ตไทม์ แรงงานห้องแถวต่างๆ ไปเป็นผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อทำให้ทุนสามารถบริหารจัดการได้ยืดหยุ่น

แล้วเวลาเรายกตัวอย่างคนจนที่ประสบความสำเร็จในระบบทุน มันมีลักษณะที่เป็นข้อยกเว้น หรือเวลาพูดว่าระบบทุนนิยมมีหลายประเภท เอาเข้าจริงระบบทุนนิยมต้องทำให้ตัวมันหลากหลาย เพื่อสร้างเครื่องมือในการไปดึงเอามูลค่าจากที่ต่างๆ เช่น คุณค่าแบบเอเชีย มันก็เป็นทุนนิยมแบบหนึ่ง คือมันมีกฎทั่วไปอันเดียวกัน การพูดว่ามันหลากหลาย แล้วบางอันดีหรือไม่ดี มันละเลยลักษณะทั่วไปของมัน นอกจากนั้นการบอกว่ารัฐต้องเข้ามากระจายต่างๆ แต่คำถามคือใครเป็นผู้ควบคุมอำนาจรัฐ ใครอยู่ในสภาบ้าง ก็กลุ่มนายทุนเองด้วย จะเห็นว่าแทบเป็นไปได้ที่จะให้รัฐมากระจายความมั่งคั่งได้ 

แบ๊งค์ งามอรุณโชติ กล่าวว่าในช่วงแรกตนได้พูดถึงการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจรัฐด้วย เช่น การจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อต่อสู้ ถ้าสหภาพเข้มแข็งและมีเครือข่ายพอ ก็สามารถจัดตั้งตัวเองไปสู่การเป็นพรรคแรงงาน ถามว่าทำไมต้องยึดอำนาจรัฐให้ได้ เหตุผลสำคัญคือถ้าไม่ทำ ทุนก็จะไปยึดอำนาจรัฐเอง ตนอยากชวนฝ่ายซ้ายคิดว่าเวลาพูดถึงการยึดอำนาจรัฐมันเพียงพอไหม ตนคิดว่าไม่เพียงพอ ถ้ายกเลิกกรรมสิทธิ์เอกชน ทุนต่างชาติในประเทศต่างๆ จะถอนตัวออกไปทันที ประเด็นคือถ้าจะต่อสู้เพื่อให้เข้าใกล้อุดมคติของฝ่ายซ้ายใดๆ ต้องคิดในระดับโลกาภิวัตน์

ตนอยากสรุปว่าทุนนิยมได้เข้ามาทำให้เกิดคนที่เป็นผู้ยากไร้ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งสี่คนเห็นตรงกันว่าเกิดขึ้นจริง แต่ถึงที่สุด เราไม่จำเป็นจะต้องจำนนกับมัน ตนยังเห็นว่าเราสามารถที่จะต่อสู้ภายในระบบทุนนิยมได้ โดยไม่ต้องกระโดดไปที่ระบบอื่น ระบบมันไม่ได้ครอบงำเราได้เบ็ดเสร็จ เราสามารถเป็นผู้กระทำต่อระบบด้วย

ภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น กล่าวว่าตนเสนอว่าทุนนิยมกับประชาธิปไตยโดยรากฐานไปด้วยกันไม่ได้ ประชาธิปไตยฐานคิดเป็นคนละเรื่องกับทุนนิยม ประชาธิปไตยพยายามจะให้อำนาจกับคนทั่วไป เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะมอบอำนาจให้กับคนที่ถูกกดขี่ขูดรีด ในการควบคุมทุนนิยมให้อยู่กับร่องกับรอย เราจึงต้องสร้างประชาธิปไตยขึ้นเพื่อเป็นคานงัดที่มีต่อระบบทุนนิยม

ตนยังเชื่อว่ารัฐเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการกำหนดแง่มุมในการกระจายความมั่งคั่ง และตนเห็นด้วยกับการยึดอำนาจรัฐโดยกลไกปกติทางการเมือง แต่การยึดอำนาจรัฐจำเป็นต้องมีความเป็นประชาธิปไตย สร้างอำนาจต่อรองให้ผู้กดขี่ในทางปฏิบัติ จำเป็นต้องมีระยะเวลาที่ยาวนานในการจัดตั้งชนชั้นที่ถูกขูดรีด เพื่อเปลี่ยนวัฒนธรรมและอุดมการณ์ในสังคมได้ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท