ศัพท์ภาษาอังกฤษน่ารู้เกี่ยวกับการประท้วง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

                                

               In chess, the pawns go first.
               ในเกมหมากรุก  ตัวเบี้ยลุยไปก่อน

แมคเนโต ใน X-Men: The Last Stand

1. Mob
      ผู้เขียนเคยตั้งข้อสังเกตว่าการที่ภาษาไทยของสื่อมวลชนนำเอาคำว่าม็อบหรือ Mob มาใช้กับผู้ชุมนุมประท้วงเป็นการไม่ยุติธรรมนัก เพราะ mob (ตามดิกชันเนรี Macmillan ของผู้เขียน) หมายถึงฝูงชนขนาดใหญ่ที่อันตรายและยากที่จะควบคุม ดังนั้นควรใช้คำว่า protester อันหมายถึงผู้ประท้วงซึ่งมีพฤติกรรมที่สงบ สันติและเป็นไปตามกรอบของกฎหมายจึงน่าจะไม่ได้เป็นการเหมารวม  นอกจากนี้คำว่า demonstrator ก็ยังสามารถนำมาใช้ในกรณีนี้ได้ แต่คำนี้ยังอาจหมายถึงกลุ่มบุคคลที่มาชุมนุมกันเพื่อสนับสนุนใครหรือประเด็นอะไรสักอย่างก็ได้

2. Illegal political participation –การมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ผิดกฎหมาย
      อย่างไรก็ตามผู้เขียนเองก็เข้าใจสื่อมวลชนที่ว่านอกจากการใช้คำว่าม็อบเพราะสะดวกและติดตาแนบหูประชาชนดีแล้ว มีผู้ประท้วงจำนวนมากโดยเฉพาะเมืองไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมาได้ขยับขยายกิจกรรมตามวิถีของ protester มาเป็น mob เช่นการบุกเข้ายึดสถานที่ราชการ และสถานที่สำคัญของประเทศรวมไปถึงการใช้ความรุนแรงทางกายและอาวุธกับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองรวมไปถึงผู้มีความคิดเห็นต่างกับตน  จึงทำให้คำว่า Mob ดูโดดเด่นเหนือคำอื่น  สำหรับผู้ประท้วงนั้นก็มีเหตุผลเป็นของตัวเอง เพราะการประท้วงแบบเรียบร้อยนั้นมักไม่ค่อยได้ผลและต้องใช้เวลานานอาจทำให้การประท้วงล้มเหลว ผู้นำการประท้วงและผู้ประท้วงจำนวนมากจึงแอบหวังลึกๆ ว่า การมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ผิดกฎหมายเช่นนี้มักนำไปสู่ความสำเร็จเช่นการล้มรัฐบาล 
   

3. Flash mob/smart mob
     Flash mob ตามวิกิพีเดียภาษาไทยคือ การรวมตัวของกลุ่มคนในสถานที่หนึ่ง อย่างฉับพลัน เพื่อแสดงสิ่งแปลกตาและดูเหมือนไม่มีจุดมุ่งหมายในช่วงระยะเวลาอันสั้นโดยผ่านสื่อเทคโนโลยีเช่นมือถือหรืออินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์  อย่างไรก็สำหรับการประท้วงทางการเมืองที่กลุ่มผู้ประท้วงมีการวางแผนอย่างดีโดยสื่อสารกันผ่านเทคโนโลยีทันสมัยต้องใช้คำว่า  smart mob

4. Demagogue -นักปลุมระดมมวลชนโดยใช้กลยุทธต่างๆ
     หัวใจสำหรับการประท้วงคือการมีผู้จัดตั้งและผู้นำการประท้วง การจะทำให้มวลชนซึ่งอาจมีความคิดสอดคล้องกันเพียงแค่บางประการให้คิดเหมือนกันหมด ผู้นำการประท้วงหรือนักปลุกระดมมวลชนจึงมักมีบารมี (Charisma) และเป็นที่นับถือหรือเป็นที่นิยมของมวลชนไม่ว่าเป็นนักธุรกิจชื่อดัง นักกิจกรรมทางสังคม ดารา นักการเมืองที่คว่ำหวอด หรือแม้แต่พระสงฆ์ ฯลฯ  ซึ่งต้องใช้วาทศิลป์ในการกล่อมให้ฝูงชนเกิดอารมณ์คล้อยตามและปฏิบัติตามโดยไม่มีข้อถกเถียงจนสามารถยอมตายแทนได้ ซึ่งน่าสนใจว่าผู้ที่เป็นเอตทัคคะในด้านนี้ในอดีตคืออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ซึ่งกลยุทธของเขาถูกนำมาใช้โดยนักการเมืองของประเทศต่างๆ ในยุคหลัง (ซึ่งจำนวนมากก็ได้ประณามฮิตเลอร์ไปด้วย ปฏิบัติตามฮิตเลอร์ไปด้วย) อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ว่าเหตุใดผีของฮิตเลอร์ยังคงสิงสู่โลกเหมือนปัจจุบัน

5. Propaganda -การโฆษณาชวนเชื่อ
     หากได้ศึกษาการปลุกระดมมวลชนของบรรดาผู้นำการประท้วงแล้ว เราก็จะตกใจไม่น้อยว่าการประท้วงที่อ้างว่าเพื่อประชาธิปไตยนั้นกลับเต็มไปด้วยกิจกรรมที่ตรงกันข้ามกับประชาธิปไตยทั้งสิ้นโดยเฉพาะการตั้งเวทีเพื่อเสนอข้อมูลด้านลบเกี่ยวกับเป้าหมายของการประท้วง (เช่นรัฐบาล) ผ่านกิจกรรมทุกอย่างเท่าที่จะทำได้นอกจากการใช้วาทศิลป์ของ demagogue   เช่น การแสดงภาพและตัวหนังสือบนจอที่ปลุกใจ การโฟนอินของบุคคลสำคัญ การแสดงละครและดนตรี การนำเอาเด็กหน้าใสๆ ขึ้นเวที หรือแม้แต่พิธีกรรมทางศาสนาผสมผสานกับรวมไปถึงความพยายามในการเชิดชูอุดมการณ์ที่ตนนับถืออย่างไม่ลืมหูลืมตาและเสนอภาพด้านบวกของผู้นำหรือการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มตัวเอง เช่นนำเสนอการแต่งงานของคนที่มาเจอกันขณะประท้วง หรือผู้ประท้วงยื่นดอกไม้ให้ทหาร ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นการโฆษณาชวนเชื่อของผู้นำการประท้วงดูคล้ายคลึงกับโฆษณาชวนเชื่อของลัทธิชาตินิยมในประเทศต่างๆ

6. Militia -กองกำลังติดอาวุธ
    หรืออย่างที่เรียกกันทั่วไปว่าเป็นฝ่ายคุ้มครองการประท้วงหรือการ์ด ซึ่งคนเหล่านั้นมีการแอบเก็บสะสมอาวุธในรูปแบบต่างๆ  (ที่ต้องแอบเพราะจะได้ไม่ต้องเสียภาพพจน์ของการประท้วงแบบอหิงสา) และพร้อมจะเป็นแนวหน้าในการทำสงครามต่อสู้กับผู้มาก่อกวนหรือกลุ่มฝ่ายตรงกันข้ามได้   เมื่อเกิดเหตุปะทะกันการ์ดซึ่งมักเป็นชาวบ้านตาดำ ๆ มักเป็นฝ่ายแรกที่บาดเจ็บ และล้มตาย หรือถูกจับดำเนินคดีกับติดคุกเป็นเวลานาน อันเป็นชะตากรรมที่ค่อนข้างแตกต่างจากกลุ่มผู้นำประท้วงซึ่งมักสามารถหายตัวไปได้ก่อนจะมีการปราบปรามหรือจับกุมผู้ประท้วงครั้งใหญ่

7. Deception   -การหลอกลวง
   ในการโฆษณาชวนเชื่อนั้น กิจกรรมสำคัญสำหรับผู้นำการประท้วงก็คือการหลอกลวง การโกหกเพื่อให้ผู้ประท้วงเกิดความเกลียดชังเป้าหมายจนเข้าสู่สภาวะคลุ้มคลั่ง (insane)  โดยใช้ข้อมูลที่เกินจริง ตัดทอนเอาข้อมูลบางส่วนที่ไม่สอดคล้องกับความเชื่อของตนออกไป เน้นแต่อารมณ์เป็นสำคัญ  ส่วน demagogue หลายคนนอกจากจะใช้การด่าทอที่เต็มไปด้วยคำหยาบคาย แล้วยังพยายามใช้คำกำกวมเช่นการประกาศชัยชนะจนพร่ำเพรื่อ  สู้จนตัวตาย หรือประกาศเงื่อนไขที่ดูดีแต่มีประเด็นซ่อนเร้นเช่นผู้นำมักประกาศว่าถ้าไม่ชนะก็ยินยอมให้ถูกจับกุม เพราะผู้นำฝ่ายประท้วงมักมีอำนาจทางการเมืองในการต่อรองสูง จึงมักไม่ติดคุกหรือติดคุกไม่นาน เป็นที่น่าสนใจว่าการหลอกลวงแบบนี้จะถูกหัวเราะเยาะจากฝ่ายอื่น แต่พวกเดียวกันกลับสามารถเชื่อได้อย่างน่าอัศจรรย์ อันสะท้อนให้เห็นถึงพลังของการโฆษณาชวนเชื่อ

8. Hidden dictatorship -เผด็จการแบบแอบแฝง
     น่าสนใจว่าการประท้วงส่วนใหญ่  อำนาจการตัดสินใจมักรวมศูนย์อยู่ที่หัวหน้าและคณะกรรมการ เพราะการประท้วงเป็นระบบเปิดคือให้คนจากร้อยพ่อพันแม่เข้าร่วม การเปิดให้ทุกคนตัดสินใจร่วมกันในขณะเดียวกันผู้นำการประท้วงต้องการให้ผู้เข้าร่วมประท้วงปฏิบัติตามแบบซ้ายหันขวาหันจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากยิ่ง  ผู้นำการประท้วงจึงมักใช้ลูกไม้ (trick) เช่นการกล่อมให้ผู้เข้าร่วมเกิดความเคลิบเคลิ้มและคล้อยตามแล้วจึงแสร้งถามความเห็นของมวลชนเพื่อให้ได้คำตอบที่ตัวเองได้เตรียมไว้แล้วและจะได้ไว้ใช้เป็นข้ออ้างว่าเป็นฉันทามติของผู้ประท้วง (และสุดท้ายย่อมอ้างไปถึงประชาชนคนไทยทั้งมวล) แน่นอนว่าเวทีการประท้วงย่อมไม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกัน (มากเกินไปนัก ) หรือไม่มีทางที่จะเปิดให้มีการถกเถียง (debate) กันอย่างเสรีระหว่างผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการประท้วง

9. Mastermind -จอมบงการ
     น่าสนใจที่ว่าการประท้วงจำนวนมากจะมีจอมบงการที่อยู่เบื้องหลัง เป็นนักวางแผนตัวจริงและเป็นผู้สนับสนุนด้านทุนและกำลังคนส่วนหนึ่ง  จอมบงการมักไม่ได้อยู่ในที่ชุมนุมประท้วงหรือปรากฏตัวเพียงชั่วขณะหรือส่งสัญญาณบางประการเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มประท้วงหรือดึงดูดใจให้มีคนเข้าร่วมประท้วงมาก ๆ   จอมบงการมักเป็นผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบในด้านลบหากเกิดการปรามปรามของรัฐหรือความรุนแรงและเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากความขัดแย้งครั้งนี้อย่างแท้จริงถ้าฝ่ายตนชนะ   การรับรู้ของสาธารณชนต่อตัวตนของคนเช่นนี้ค่อนข้างหลากหลายเช่นเป็นที่รู้กันทั่วไปบ้าง รู้บ้างไม่รู้บ้าง หรือสื่อไม่ได้นำเสนอแต่คนจำนวนมากก็รู้บ้าง

10. Mediator -ผู้ไกล่เกลี่ย
   เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่าง 2 ฝ่ายที่ไม่ยอมความกันแล้ว วิธีการที่ดีที่สุดประการหนึ่งคือการหาคนกลางมาไกล่เกลี่ย แต่ปัญหาคือในช่วงความขัดแย้งนี้ทุกคนล้วนเต็มไปด้วยความไม่ไว้วางใจกัน (distrust) ดังนั้นจึงหาผู้มาไกล่เกลี่ยซึ่งเป็นที่ยอมรับกันได้ยากยิ่ง เพราะต่างฝ่ายอาจมองว่าผู้ไกล่เกลี่ยแท้ที่จริงอาจเป็นจอมบงการที่อยู่เบื้องหลังหรือแอบเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรืออาจจะเป็นมือที่ 3

11. Intervener –ผู้เข้ามาแทรกแซงหรือมือที่ 3
     มือที่ 3 อาจเกิดจากจอมบงการอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาแทรกแซงเหตุการณ์อันเกิดจากความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มด้วยการเป็นตัวจุดประกายให้การเผชิญหน้าดังกล่าวเกิดระเบิดขึ้นมาเพื่อที่ตนจะได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในภายหลัง  มือที่ 3 เป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่สังเกตได้ยากเพราะไม่แสดงตนและผู้ปฏิบัติการมักจะพรางตนให้เกิดความเข้าใจผิดจากรัฐบาลและฝ่ายประท้วงว่าเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง  วีรกรรมของมือที่ 3 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเช่นช่วงพฤษภาทมิฬปี 2535 ที่มีชายฉกรรจ์ไปเผาโรงพักนางเลิ้ง หรือว่าชายชุดดำในสงครามกลางเมืองของไทยเมื่อปี 2553

12. Civil war -สงครามกลางเมือง
      สงครามกลางเมืองหมายถึงการต่อสู้ระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในประเทศเดียวกันหรือเป็นคนชาติเดียวกัน หากดูจากเวบบอรด์ต่างๆ จะพบว่ามีหลายคนหวาดกลัวว่าการประท้วงใหญ่ครั้งนี้จะนำไทยไปสู่สงครามกลางเมืองแบบซีเรีย ผู้เขียนซึ่งสนใจการเมืองตะวันออกกลางพอสมควรคิดว่าไม่ควรที่จะนำเอาการเมืองของประเทศที่มีบริบทแตกต่างจากเรามาเปรียบเทียบ เพราะซีเรียนั้นอาจจะเริ่มต้นแบบเดียวกับไทย  (หรือยูเครนหรืออื่น ๆ )  แต่เกิดการลุกลามไปได้เพราะต่างชาติเช่นตะวันตก รัสเซียและจีน รวมไปถึงกลุ่มผู้ก่อการร้ายเข้ามาแทรกแซงให้การสนับสนุนผู้ประท้วงและฝ่ายขบถในด้านอาวุธและกำลังคน ซีเรียยังเกิดความจากความขัดแย้งระหว่างนิกาย 2 นิกายคือชีอะห์และซุนนีห์ อย่างไรก็ตามเราก็ไม่สามารถตัดเอาคำว่า  Civil war ออกไปจากอนาคตของการเมืองไทยได้ หากกลุ่ม 2 กลุ่มซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคนไทยในจำนวนที่ใกล้เคียงกันหรือไม่ทิ้งห่างกันเท่าไรยังคงขัดแย้งและความเกลียดชังต่อกันอย่างสูงอยู่เช่นนี้

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท