นิทานสองนครา อีกแล้วหรือ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ประวัติศาสตร์อาจไม่ซ้ำรอยได้บ่อยนัก แต่ผู้นำการประท้วงต่อต้านรัฐบาล นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กลับเล่นตลกร้ายของเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่า วันนี้ (3 ธันวาคม: ผู้แปล) เขาได้ประกาศผ่านสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีทุกช่องว่า การเมืองที่ดีที่สุดของไทยได้เริ่มตีฆ้องร้องป่าวขึ้นแล้วเมื่อสองสามวันก่อนที่ถนนราชดำเนิน เขาเรียกร้องให้ประเทศเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล แม้ว่าจะปราศจากการเลือกตั้งก็ตาม

แน่นอนว่ามีเหตุผลมากมายที่จะไม่เห็นด้วยหรืออย่างน้อยก็สงสัยต่อข้อเรียกร้องของเขา เป็นที่แจังชัดว่า "การปฏิวัติมวลชน" ของคุณสุเทพอันมีเป้าประสงค์เพื่อโค่นล้มระบอบทักษิณและแทนที่ด้วยรัฐบาลคุณธรรมที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั้น ไม่มีทางเป็นสิ่งที่เป็นประชาธิปไตยไปได้ อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมที่น่ารำคาญที่สุดของเขา คือการใช้โวหารอันเกรี้ยวกราดและบ้าคลั่งว่าเป็นตัวแทน “เสียงของมวลมหาประชาชน” แต่กลับปฏิเสธกระบวนการการเลือกตั้งเสียเอง

อันที่จริงแล้ว ความพยายามในการขจัด “ระบอบทักษิณ” ให้สิ้นซาก  ได้เริ่มก่อเค้ามาตั้งแต่สองสามปีก่อนการรัฐประหาร 2549 พร้อม ๆ กับวาทกรรมการซื้อสิทธิขายเสียงของคนส่วนใหญ่ในชนบทที่ “ไร้การศึกษา” อย่างไรก็ตาม คนที่ปวารณาตัวเข้าไปอยู่ในวาทกรรมนี้ มักจะเชื่อโดยเพิกเฉยต่อข้อมูลว่า เป็นที่ยอมรับกันว่ามีเงินจำนวนมากไหลเวียนเข้าสู่การเลือกตั้งในพื้นที่ต่าง ๆ ไม่เว้นกระทั่งในภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์

สิ่งที่ขัดแย้งในตัวเองคือ ในขณะที่เสนอระบบการเมืองที่ปราศจากการเลือกตั้งที่นำโดย “คนดีที่ได้รับเลือกจากสรวงสวรรค์” อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ขบวนการต่อต้านทักษิณก็ยังคงก่นด่า ครม. ของยิ่งลักษณ์ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย พวกเขาโต้แย้งว่า ครม. ยิ่งลักษณ์ไม่เป็นประชาธิปไตยเนื่องจากได้รับการเลือกตั้งจากเสียงส่วนมากที่โง่เขลาและไร้คุณธรรม ผู้ซึ่งถูกนำเสนอโดยสื่อกระแสหลัก ระบบการศึกษา และแม้แต่แวดวงวิชาการ ว่าเป็นปัญหาหลักของประชาธิปไตยไทยมาเป็นเวลานาน (ธงชัย, 2008)

แม้ว่าวาทกรรมซื้อเสียงขายเสียงแบบไทย ๆ จะถูกท้าทายสั่นคลอนอยู่หลายครั้งหลายครา (ใน Callahan, 2005; Bowie, 2008; Walker, 2008) ทว่าวาทกรรมนี้ยังคงมีอิทธิพลอย่างมากในหมู่คนไทย พลังของมันอาจนำเราไปสู่นิทานสองนคราแบบใหม่ พูดขยายให้ชัดก็คือทฤษฎีสองนครา(อ)ประชาธิปไตย ทฤษฎีนี้ต่างจากการตีขลุมรูปแบบประชาธิปไตยของชนชั้นกลางในเมืองกับประชาธิปไตยของคนชนบท อย่างที่อธิบายไว้ในงานของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ (1995) เรื่องทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย เราไม่ควรมองว่าทฤษฎีของอเนกยังคงเหมาะที่จะใช้อธิบายสังคมไทยอีกต่อไปเนื่องจากเงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว อีกทั้งความขัดแย้งระหว่างชนบทกับเมืองก็ไม่สามารถแบ่งแยกได้อย่างชัดเจนอีกแล้ว หรือบางทีอาจจะไม่เคยแบ่งได้ชัดเจนเลยด้วยซ้ำ ความแตกต่างระหว่างสองนคราจึงดูเหมือนจะอยู่ที่อื่นเสียมากกว่า และในครั้งนี้ ความแตกต่างที่เกิดขึ้นนั้นชัดเจนยิ่งกว่าครั้งไหน ๆ

กล่าวคือ โวหารอันเกินจริงของสุเทพเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่ปกครองโดย “คนดี” ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ที่ถูกพูดซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยมวลมหาประชาชนของเขา ชี้ให้เห็นถึงความปรารถนาอย่างแรงกล้าในนครคุณธรรมในอุดมคติ สำหรับพวกเขาแล้ว เป็นชาวชนบทที่ยึดติดกับวัตถุนั่นเองที่ขาดความเข้าใจที่เหมาะสมเกี่ยวกับประชาธิปไตย และขายเสียงของตนเพื่อแลกกับนโยบายประชานิยมระยะสั้น ปัญหาจากการมองเช่นนี้คือคำอธิบายดังกล่าวไม่เพียงพอ เพราะว่าเงินเพียงอย่างเดียวไม่ได้เป็นสิ่งที่ชี้ขาดผลการเลือกตั้งด้วยตัวมันเอง อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ปลุกเราตื่นขึ้นมาพบความจริงที่ว่าผู้คนจำนวนมากยังคงปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ในฝันกลางวันของยุคอันเรืองรองในนิยายมายาคติโดยมีโซ่ตรวนที่มองไม่เห็นล่ามข้อเท้าของพวกเขาไว้  ความหลงใหลในความสุขเช่นนั้นเป็นเรื่องพอเข้าใจได้ อย่างไรก็ตาม มันเป็นเรื่องน่ารังเกียจอย่างมากที่จะบีบบังคับให้คนอื่นร่วมเสพสุขในความคลั่งไคล้อันน่าสมเพชของพวกเขาด้วย

เป็นที่ถกเถียงได้ว่า การเมืองที่ยึดติดกับตัวบุคคลของผู้สนับสนุนทักษิณหลาย ๆ คนอาจทำให้พวกเขาตกเป็นทาสในอีกมุมมองหนึ่ง แต่อย่างน้อยมุมมองนี้ก็เรียกร้องให้ยอมรับเสียงประชาชนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงถึงความมั่งคั่ง ชนชั้น หรือแม้แต่ตำแหน่งทางวิชาการ มุมมองเช่นนี้ฉายภาพให้เห็นนครอีกแบบหนึ่ง เป็นนครที่ประชาชนจะได้รับการันตีว่ามีสิทธิและเสรีภาพในการกำหนดชีวิตของพวกเขาเอง นครที่ทุกคนสามารถจะได้รับการเคารพและยอมรับว่าเป็นประชาชน ไม่ใช่เพียงเบี้ยล่างของใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ของพลเมืองที่อ้างตัวว่าเป็นคนดีมีคุณธรรม

โดยสรุปแล้ว สิ่งที่เรากำลังเป็นประจักษ์พยานกันอยู่นี้ จึงไม่ใช่ทั้งการต่อสู้ระหว่างแดงกับเหลือง  ทักษิณกับผู้ต่อต้านทักษิณ หรือคนชนบทกับคนเมือง แต่เป็นการต่อสู้กันระหว่างความฝันสองแบบที่แบ่งแยกอย่างฝังรากลึกระหว่างสองนครา นั่นคือ นครที่วางอยู่บนหลักการต่าง ๆ ของอัตตาธิปไตย และนครที่วางอยู่บนหลักการต่าง ๆ ของประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรทึกทักไปก่อนว่า คุณธรรมเป็นสิ่งที่เกินความจำเป็นสำหรับประชาธิปไตย เพียงแต่ว่าการเริ่มต้นถกเถียงทางการเมืองด้วยเรื่องคุณธรรมมักจะทำให้เราหลงทาง บ่อยครั้ง มันมักหลอกลวงเราให้เชื่อว่าตัวตน การกระทำ และฝักฝ่ายของเราดีกว่าของฝั่งตรงข้าม ยิ่งไปกว่านั้น ยังจะทำให้เราติดกับดักมายาคติลวงตาของความดี และพาเราหลีกหนีไปจากการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของความชั่วร้ายในตัวเราเอง

สองนคราที่กล่าวถึงนี้ยังคงอยู่ระหว่างการก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราเห็นตอนนี้ อาจเป็นความไม่ลงรอยขั้นมูลฐานที่กำลังดำเนินต่อเนื่องไปอีกหลายปี

–––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––––

หมายเหตุ:

ภาคิน นิมมานนรวงศ์ กำลังศึกษาปริญญาโทสาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ธรรมชาติ กรีอักษร กำลังศึกษาอยู่ปริญญาตรี ชั้นที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อ้างอิง:

AnekLaothamatas. 1995. Song NakaraPrachathiptai [A Tale of Two Democracies]. Bangkok: Matichon Press.
Bowie, K. 2008, “Vote Buying and Village Outrage in an Election in Northern Thailand: Recent Legal Reforms in Historical Context,” The Journal of Asian Studies 67, 2, pp.469–511.
Callahan, W. A. 2005 ‘‘The Discourse of Vote Buying and Political Reform in Thailand,’’ Pacific Affairs, 78, 1, pp.95-114.
Thongchai Winichakul. 2008 “Toppling democracy,” Journal of Contemporary Asia. 38, 1,  pp.11–37.
Walker, A.2008 “The Rural Constitution and the Everyday Politics of Elections in Northern Thailand,’’ Journal of Contemporary Asia, 38, 1, pp.84-105.

 

ที่มา: บทความชิ้นนี้แปลจาก A tale of two cities, again? โดย  PHAKIN NIMMANNORRAWONG   
เว็บไซต์ New Mandala

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท