เมื่อเงาปิศาจเริ่มปรากฎ: บทวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทยในสายตาสื่อนอก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่ออำนาจเก่าไม่ยอมที่จะตาย ขณะที่อำนาจใหม่กำลังพยายามให้กำเนิด เมื่อนั้นฝูงปิศาจย่อมปรากฎ
เหตุการณ์ความรุนที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองในเมืองไทยถูกเผยแพร่โดยสื่ออเมริกันจำนวนไม่น้อย ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อโทรทัศน์ ถามว่าอเมริกันให้ความสนใจเหตุการณ์ที่เกิดในเมืองไทยมากน้อยขนาด ไหน คงต้องบอกจากการประเมินด้วยสายตาและประสบการณ์ของผมเองว่า คนอเมริกันส่วนใหญ่ ให้ความสนใจต่อเหตุการณ์ความรุนแรงในเมืองไทยน้อย  เพราะยังมีเรื่องอื่นที่พวกเขาสนใจมากกว่า โดยเฉพาะเรื่องที่ กระทบต่อความเป็นอยู่ของพวกเขา

อเมริกันส่วนใหญ่อาจมองไม่ออกว่าการเมืองประเทศไทยเป็นอย่างไร เท่ากับการเมืองของพม่า การเมืองของลาว  การเมืองของเวียดนามและการเมืองของกัมพูชา ซึ่งอเมริกันรู้จักมากกว่าการเมืองของ ประเทศไทยเพราะประเทศเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับอเมริกันในเชิงความขัดแย้งด้านอุดมการณ์และแม้กระทั่งเคยเป็นคู่สงครามกันมาก่อน อย่างเช่น เวียดนาม เป็นต้น ที่สำคัญอเมริกาเป็นประเทศที่สาม ที่รับผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้านของไทยเหล่านี้

อย่างไรก็ตามในบรรดาหน่วยงานอเมริกันที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ คงไม่มีหน่วยงานใด ไม่รู้จักเมืองไทย  เพราะเมืองไทยเป็นสถานที่ที่ถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางด้านความมั่นคงของอเมริกัน ประเทศหนึ่งในภูมิภาค เป็นที่ตั้งของหน่วยงานอเมริกันและองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กร

เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองล่าสุดที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทางการอเมริกันได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เป็นเหตุให้กระทรวงการต่างประเทศของอเมริกันต้องออกคำเตือนให้ นักท่องเที่ยวอเมริกันหรือผู้ที่ไปติดต่อธุระกิจที่เมืองไทย พึงใช้ความระมัดระวัง ไม่ต่างจากหน่วยงานของกระทรวงการต่างประเทศของอีกหลายประเทศ ที่ออกคำเตือนคนของประเทศตนเช่นเดียวกัน

การรายงานของสื่ออเมริกัน โดยเฉพาะการวิเคราะห์สถานการณ์ในเมืองไทยนั้น เป็นไปตามข้อมูล และประสบการณ์ของสื่อส่วนหนึ่ง ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายที่ไม่พอใจสื่อต่างประเทศในประเทศไทยว่า สื่ออเมริกันเหล่านี้ ไม่รู้เรื่องเมืองไทยดีเท่าสื่อไทย  สื่อนอกจึงอาจเชื่อถือไม่ได้

ขณะที่ในเมืองไทยสื่อของไทยเป็นส่วนมากถูกแยกข้าง ให้เป็นส่วนหนึ่งของคู่ขัดแย้งทางสังคม  จนกระทั่งคนไทยจำนวนไม่น้อย เชื่อว่าสื่อไทยเชื่อถือไม่ได้ เพราะกลายเป็นสื่อเลือกข้างกันแทบทั้งหมด การณ์จึงกลับกลายเป็นว่าหากต้องการแสวงหาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองคราวล่าสุด สื่อต่างประเทศกลับมีความสำคัญในฐานะต้นขั้วของการค้นหาว่าอะไรเกิดขึ้นในประเทศที่มีความขัด แย้งทางการเมืองโดยประชาชนแบ่งออกเป็นสองฝักสองฝ่ายมาอย่างยาวนานค่อนทศวรรษ

สื่ออเมริกันและสื่อต่างประเทศต่างพยายามค้นหาความจริงของเหตุการณ์การเมืองของไทย โดยการวิเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้น โดยเฉพาะความเชื่อมโยงความขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างฝ่าย กลุ่มอำนาจเดิมกับฝ่ายกลุ่มอำนาจใหม่ภายหลังการฟอร์มตัวของรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ก่อนที่รัฐบาลทักษิณ จะโดนทำการรัฐประหารโดยคณะทหารในปี 2006  ซึ่งความขัดแย้ง ดังกล่าวเป็นสาเหตุของการต่อสู้ทางการเมืองในประเทศไทย  แสดงให้เห็นถึงบทบาทของกองทัพต่อการเมืองไทย โดยมองว่ากองทัพมีส่วนต่อชะตากรรมการเมืองของไทย ด้วยการวางสถานภาพของกองทัพเอง ขณะที่การวางตัวของผู้นำกองทัพได้รับการจับตาขัดแย้งทั้งสองกลุ่มแม้ว่าในการความขัดแย้งครั้งล่าสุดกองทัพจะอ้างถึงการวางตัวเป็นคนกลางก็ตาม

Michael Peel แห่งไฟแนนเชียลไทม์ วิเคราะห์ว่า สำหรับเมืองไทยไม่แน่ว่าอาจมีการกระทำ รัฐประหารขึ้นได้ตลอดเวลาแต่ทางกองทัพคงพยายามเลี่ยง เนื่องจากมีประสบการณ์ในปี 2006 มาแล้ว และในปัจจุบันสถานการณ์หลายอย่างเปลี่ยนไป แต่กระนั้นก็ยังมีความคิดนี้ในบรรดานายทหารบางคน โดยเฉพาะความต้องการให้มีการรัฐประหารของคู่ขัดแย้งของรัฐบาลหรือฝ่ายไม่เอารัฐบาลยิ่งลักษณ์

หากกองทัพตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มคนดังกล่าว (ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอำนาจเก่า) สามารถนำไปสู่ “ความเสี่ยง” จากการนองเลือดครั้งใหม่หรือเกิดความขัดแย้งครั้งใหม่กับกลุ่มผู้ สนับสนุนรัฐบาลได้

สื่ออเมริกันจำนวนหนึ่งได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย โดยเชื่อมโยงเหตุการณ์รัฐ ประหารในปี 2006  ที่คณะผู้ทำการรัฐประหารที่นำโดยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน รัฐประหารรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งในเวลานั้นกำลังขัดแย้งกับกลุ่มผู้ประท้วงที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มพันธมิตร แต่แล้วการรัฐประหาร นั้นก็นำมาซึ่งความแตกแยกของกลุ่มผู้สนับสนุนทักษิณกับฝ่ายอำนาจเก่า ( Old elite) หลังจากที่ฝ่ายทักษิณประสบชัยชนะในการเลือกตั้ง  แม้ว่าทักษิณจะไม่ได้อยู่ในเมืองไทยก็ตาม 

ภายใต้กลไกรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาโดยกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับคณะรัฐประหารในปี 2007 มีการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ได้ตัวนายกรัฐมนตีคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ จนกระทั่งเกิดการประท้วงโดยกลุ่มเสื้อแดงในปี 2010 ทำให้กองทัพภายใต้การบัญชาการของรัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องออกปราบปรามประชาชนผู้ประท้วง เป็นเหตุให้มีผู้เสีย ชีวิตประมาณ 90  บาดเจ็บราว 2,000 คน   (Charlie Campbell : Time Wold)

ความขัดแย้งยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นน้องสาวของทักษิณ  โดยเฉพาะประเด็นที่การที่สส.ฝ่ายรัฐบาล(พรรคเพื่อไทย) พยายามเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายบางหัวข้อ เช่น ให้ สมาชิกวุฒิสภา(สว.)ที่แต่เดิมมาจากการแต่งตั้ง ประมาณครึ่งหนึ่ง มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด  แต่การแก้ไขดังกล่าวกลับไม่ได้รับการอนุมัติจากศาล รัฐธรรมนูญ  ซึ่งฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลระบุว่า เป็นสถาบันที่เป็นตัวแทนของกลุ่มอำนาจเก่า และมาจากเจตนารมณ์ของคณะผู้ก่อการรัฐประหารเมื่อปี 2006 โดยเรียกว่า เป็นระบบการรัฐประหารโดยคณะตุลาการ  หรือ Judicial coup  (Michael Peel : Financial Times)

Thomas Fuller แห่ง New York Times มองถึงสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองไทยว่า มีที่มาจากการกระจายผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลทักษิณ ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์  โดยเฉพาะการผลักดันนโยบายที่โดนกล่าวหาจากฝ่ายตรงข้ามว่า ประชานิยม แต่ผลของนโยบายนี้กลับสร้างความพอใจให้กับคนในภาคชนบท ซึ่งไม่ค่อยได้รับการเหลียวแลอย่างจริงจังจากรัฐบาลชนชั้นนำกรุงเทพ(Bangkok elite) ที่หมายถึงพรรคประชาธิปัตย์

Fuller ให้ความสำคัญกับการมองปัญหาความขัดแย้งในเมืองไทยแง่ แบ่งสรรปันส่วนอำนาจ ทางเศรษฐกิจ  โดยอ้างการวิเคราะห์ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ว่า ชนชั้นกลางชั้นนำเก่า(อำนาจเก่า) อดรนทนไม่ได้กับการมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นของคนในต่างจังหวัด ซึ่งพวกเขามองว่า คุกคามต่อสถานะความเป็นชนชั้นนำ(อำนาจเก่า)ที่เคยมีมาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งของการเข้าร่วมชุมนุมกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เป็นแกนนำการชุมนุม เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการทำงาน และที่สำคัญ คือ นายสุเทพ เสนอระบบให้ปฏิเสธเลือกตั้ง (abandon its electoral system) และจัดตั้งสภาประชาชน (People’s Council) ซึ่งการอธิบายรูปแบบของสภาดังกล่าว กลับไม่ชัดเจนแต่อย่างใด

Fuller ยังระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์พ่ายการเลือกตั้งทุกครั้งตั้งแต่ปี 1992 เนื่องจากล้มเหลวในการได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยอ้างการวิจัยของนักวิชาการอเมริกัน Charles Keyes ที่ระบุว่า คนไทยภาคอิสานและภาคเหนือมีอิทธิพลในการกำหนดการตั้งมั่นหรือเสถียรภาพของรัฐบาลไทยมากขึ้น เพราะฐานเสียงสนับสนุนสส.ส่วนใหญ่มาจากภาคนี้ เชื่อมกับนโยบายของรัฐบาลที่นำการช่วยเหลือลงไปสู่ภูมิภาคนี้มากขึ้น

ขณะที่อีกด้านหนึ่งกลุ่มชนชั้นนำของไทยที่เป็นเสียงข้างน้อยเริ่มไม่พอใจมากขึ้น จนถึงกระทั่งเมื่อ อ้างเสียงส่วนใหญ่ไม่ได้ ก็มีการอ้างถึง  “ความเป็นคนดี” ที่จะต้องต่อสู้กับสิ่งชั่วร้าย (good people fighting evil.) แทน นอกเหนือไปจากข้อกล่าวหาว่า คนต่างจังหวัด(เหนือ-อิสาน)  ซึ่งเป็นคนมีรายได้น้อยไม่รู้เรื่องการเมือง ชนชั้นกลางเมืองเท่านั้นที่รู้ ดังนั้นชนชั้นนำหรือชนชั้นกลางเก่าจึงคาดว่า คนจนเหล่านี้จะต้องเลือกนักการเมืองที่ให้เงินกับพวกเขา (The poor don’t know anything. They elect the people who give them money.)

ขณะเดียวกัน  Fuller เห็นว่าจากประวัติศาสตร์ กองทัพไทยอยู่ข้างชนชั้นนำกรุงเทพ(Bangkok elite) โดยเฉพาะเหตุการณ์ภายหลังยึดอำนาจทักษิณในปี  2006 ที่กองทัพเข้าไปมีส่วนโดยตรงกับการแต่ง ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งต่อมาอำนาจของกองทัพดังกล่าวได้โยงไปถึงการแต่งสว. ที่ส่งผ่านไปถึงฝ่ายองค์กรศาล(รัฐธรรมนูญ) และข้าราชการระดับสูง (Thomas Fuller : New York Times)

Benedict Anderson ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยคอร์แนล อ้างวาทะของนักคิด Antonio Gramsci  เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในเมืองไทย ภายใต้สภาวะแห่งความน่าพรั่นพรึงขณะนี้ว่า

“เมื่ออำนาจเก่าไม่ยอมที่จะตาย ขณะที่อำนาจใหม่กำลังพยายามให้กำเนิด เมื่อนั้นฝูงปิศาจย่อมปรากฎ"
(When the old refuses to die, and the new is struggling to be born, monsters appear.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท