หาทางลงให้ กปปส-รัฐบาล! ‘ศรีสุวรรณ’ชง กสม.ยื่นศาล รธน.วินิจฉัยปมตั้ง ‘สภาประชาชน’

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย-ภาคประชาสังคมยื่นเรื่อง กสม.ชงฟ้องศาล รธน.ปม ‘กปปส.’ ตั้งสภาประชาชน เรียกคืนอำนาจจากรัฐบาลผิดหรือไม่ ด้าน ‘นพ.นิรันดร์’ รับลูกเร่งไต่สวน เรียกผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลศุกร์นี้ ส่วนกรณีหน้ารามเรียกสตช.-สมช.-รัฐแจง 12 ธ.ค.นี้   
 
 
11 ธ.ค.2556 เวลาประมาณ 10.00 น. สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยและเครือข่ายภาคประชาสังคม นำโดยศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และวุฒิพร เดี่ยวพานิช นายกสมาคมสิทธิผู้บริโภคและเครือข่าย เข้ายื่นหนังสือต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผ่าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการ กสม.ขอให้พิจารณาส่งเรื่องพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยว่า 1.การที่ภาคประชาชนและหรือกลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 69 เป็นการดําเนินการโดยชอบ หรือไม่ และ 2.การใช้สิทธิตามมาตรา 3 ว่าด้วยอํานาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย เพื่อสถาปนาสภาประชาชนเป็นการดําเนินการโดยชอบดวยรัฐธรรมนูญ หรือไม่
ศรีสุวรรณ กล่าวถึงการยื่นเรื่องต่อ กสม.ว่า โดยข้อกฎหมายหากมีประเด็นอะไรที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและข้อกฎหมายว่ามีความชอบต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ประชาชนมีสิทธิที่จะร้องให้ กสม.เสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวได้ และเห็นว่า กปปส.หรือมวลมหาประชาชนได้กล่าวอ้างว่าได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 ในเรื่องอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ประกอบมาตรา 7 และสามารถคัดค้านรัฐบาลตามมาตรา 69 เนื่องจากรัฐบาลทำผิดกฎหมายหลายกรรมหลายวาระ และยังปฏิเสธคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วย ขณะที่รัฐบาลเองก็บอกว่าได้ทำถูกต้องแล้ว ในฐานะองค์กรภาคประชาชนเห็นว่าเรื่องนี้ต้องมีข้อสรุปที่เป็นทางออก จึงขอให้ กสม.นำเรื่องนี้ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
 
ทั้งนี้ การฟ้องศาลรัฐธรรมนูญประชาชนไม่สามารถฟ้องด้วยตนเองได้ จะต้องให้องค์กรอิสระเป็นผู้ยื่น แต่หากว่าองค์กรอิสระมีมติว่าไม่ยื่นฟ้องให้ เมื่อนั้นประชาชนจึงมีสิทธิไปยื่นฟ้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ
 
ส่วนกระบวนการต่อไป ศรีสุวรรณ กล่าวว่า นพ.นิรันดร์ให้คำตอบในการรับเรื่องวันนี้ว่าจะรีบเร่งไต่สวนเรื่องนี้ภายในวันศุกร์นี้ โดยจะเรียกหน่วยงานและผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดมาให้ข้อมูลกับ กสม.แล้วสัปดาห์หน้าจะนำเอาข้อสรุปทั้งหมดเสนอให้คณะกรรมการของ กสม.ให้มีมติเพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญภายในสัปดาห์หน้า และเมื่อส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องของศาลว่าจะวินิจฉัยอะไรอย่างไร จะใช้เวลามากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับศาล
 
“ผมคิดว่าเรื่องที่ผมเสนอเป็นทางออกของทั้ง 2 ฝ่ายนะ หนึ่งถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามันทำไม่ได้ ตามมาตรา 3 ประกอบมาตรา 7 มันทำไม่ได้ ผมก็คิดว่ามันเป็นเหตุผลที่ กปปส.จะใช้เป็นบันไดในการลง เพราะว่า กปปส.ยืนยันมาเสมอว่าเคารพนิติรัฐ เคารพศาลรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด และถ้าสมติศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าทำไม่ได้คุณสุเทพต้องลงได้แล้ว จบกันไป แล้วก็ไปอะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าสามารถทำได้ ผมก็คิดว่าเป็นประเด็นที่มีน้ำหนักที่จะทำให้ กปปส.สามารถขับเคลื่อนไป โดยใช้ประเด็นนี้ในการขับเคลื่อน ซึ่งรัฐบาลเองก็ต้องรับฟัง” ศรีสุวรรณ กล่าว พร้อมให้เหตุผลว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 216 วรรค 5 ผูกพันต่อศาลและต่อฝ่ายบริหารทุกองค์กร
 
ต่อคำถามว่า ในฐานะสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย การกระทำของ กปปส.เสมือนเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศรีสุวรรณ กล่าวว่า ในส่วน กปปส.ยืนยันว่าเขาไม่ได้ฉีกรัฐธรรมนูญ เขาบอกว่าเขาใช้อำนาจตามมาตรา 3 ประกอบมาตรา 7 จึงต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน
 
ศรีสุวรรณ ตอบคำถามถึงการที่ผู้เสียหายหรือได้รับผลกระทบต่อกรณีดังกล่าวจะร่วมให้ข้อมูลว่า ประชาชนคนไทยทุกคนมีสิทธิที่จะไปร้องต่อศาลได้เหมือนกันหมด หากคิดว่าตนเองเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือได้รับความเสียหาย ทั้งคนที่อาจเดือดร้อนเสียหายจากการชุมนุมประท้วงของ กปปส. หรือผู้ที่ไปชุมนุมประทวงที่คิดว่าตัวเองเดือดร้อนจากการใช้อำนาจในการดำเนินการของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการใช้แก๊สน้ำตา หรือได้รับบาดเจ็บ มีญาติพี่น้องเสียชีวิตจากการชุมนุมก็สามารถไปฟ้องร้องได้ แต่เนื่องจากเราไปในนามสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยซึ่งมีวัตถุประสงค์โดยตรงในเรื่อรัฐธรรมนูญจึงสามารถทำได้
 
“ทุกคนสามารถใช้สิทธิของตัวเองตามกฎหมายได้หมด เพราะบ้านเมืองเราเป็นนิติรัฐ คุณสามารถใช้กฎหมายได้ทั้งฝ่ายต่อต้านและฝ่ายสนับสนุน” ศรีสุวรรณกล่าว
 
ส่วนจุดยืนของ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ศรีสุวรรณ กล่าวว่า ส่วนตัวยืนหยัดในเรื่องเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่าทุกคนต้องเคารพเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่ว่าการเคารพจะเป็นอย่างไรนั้น คือกฎหมายสามารถตีความได้ทั้ง 2 ด้าน จะบวกหรือลบขึ้นอยู่กับผู้ตีความ แต่การหาข้อสรุปของการตีความ สาระบบในระบบนิติรัฐของเราต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตีความ หากศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าอย่างไรก็ต้องเชื่อไปตามนั้น จะมาขัดแย้ง อ้างเหตุผลต่างๆ ไม่ได้ ไม่เช่นนั้นคนบ้านเมืองก็ทะเลาะกันตาย
 
“กฎหมายไม่ใช่เฉพาะรัฐธรรมนูญ กฎหมายทุกฉบับในประเทศเรามันก็สามารถตีความได้ทั้ง 2 ฝ่าย แต่ว่าคนที่จะตัดสินก็คือผู้พิพากษาหรือตุลาการ จะเป็นผู้ตัดสินว่าสิ่งที่ต่างฝ่ายต่างว่าถูก ตกลงแล้วใครจะเป็นฝ่ายถูก” ศรีสุวรรณ กล่าว
 
 
ศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า ในวันนี้นอกจากมีการยื่นเรื่องต่อ กสม.ยังเดินทางไปยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ยื่นเรื่องไปยังศาลปกครอง ให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในเรื่องความผิดของ ส.ส.ที่เสนอแก้ไขที่มาของ ส.ว. แล้วรัฐบาลนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาขึ้นทูลเกล้าฯ โดยไม่รอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีคำวินิจฉัยว่าไม่สามารถทำได้ และการที่รัฐบาลของมาพูดว่าไม่รับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตรงนี้เป็นหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะนำเรื่องนี้ไปเสนอต่อศาลปกครอง เพื่อให้ศาลปกครองวินิจฉัย เป็นคนละประเด็นกับ กสม.
 
สำหรับการดำเนินการต่อไป ศรีสุวรรณ กล่าวว่า ส่วนตัวที่เป็นนักกฎหมายต้องติดตามสถานการณ์แต่ละวันว่ามีการขัยเคลื่อนอะไรอย่างไร โดยในฐานะนักกฎหมายก็ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายในการมีส่วนร่วมเพื่อดูแลประเทศชาติ
 
ด้านเดลินิวส์รายงาน นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า จากการที่ กสม.ได้ติดตาม และส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สังเกตการณ์ชุมนุมเห็นว่า การชุมนุมยังมีแนวโน้มว่าอาจจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นเหมือนที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง แม้ว่าทั้งฝ่ายรัฐบาลและผู้ชุมนุมจะพยายามรักษากติกาก็ตาม ดังนั้น ในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ เวลา 13.00 น. คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง จะได้มีการประชุมกรณีความรุนแรงที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยจะเชิญผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ และตัวแทนรัฐบาลมาชี้แจง
 
ส่วนกรณีความขัดแย้งการบังคับใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 3 และมาตรา 7 นั้น ในวันที่ 13 ธ.ค. เวลา 10 .00 น. จะมีการเชิญนักกฎหมาย นักสังคม มาหารือ เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอของอนุกรรมการต่อที่ประชุม กสม.คาดว่า กสม.จะได้มีการประชุมและสรุปว่าจะเสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญอย่างไรภายในสัปดาห์หน้า
 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท