Skip to main content
sharethis

เสื้อแดงเปิดตัวพรรคพลังประชาธิปไตย ประแสงยันไม่ใช่พรรคสำรองพรรคใหญ่ เผย กกต.ไม่รับจดชื่อพรรค ‘คนเสื้อแดง’ และคำว่า“แห่งชาติ” จิตราชี้สร้างพรรคมวลชนไม่ใช่พรรคของบางคน ดันนโยบายแรงงาน

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีการจัดแถลงข่าวเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ของคนเสื้อแดงชื่อ “พรรคพลังประชาธิปไตย” (Democratic Force Party – DFP)ที่โรงแรม เค รีสอร์ท เลียบทางด่วนรามอินทรา นำโดย ประแสง มงคลศิริ ประธานที่ปรึกษาพรรค จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาพรรค และ สุรชาติ เวชกามา แกนนำ นปช.ยโสธร ในฐานะหัวหน้าพรรค ชู 4 นโยบายเบื้องต้น คือ สร้างรัฐสวัสดิการ ต่อต้านคอรัปชั่นอย่างเข้มข้น จัดสรรทรัพยากรของประเทศใหม่และการกระจายอำนาจการปกครอง โดยสร้างพรรคให้เป็นพรรคมวลชน มีการจัดเก็บค่าบำรงสมาชิกในอัตราก้าวหน้าตามรายได้ พร้อมลงเลือกตั้ง 2 ก.พ.นี้

ประแสง มงคลศิริ 

ประแสงยันไม่ใช่พรรคสำรองพรรคใหญ่

ประแสง มงคลศิริ กล่าวว่า พรรคที่ตั้งนี้ไม่ใช่พรรคสำรองของพรรคเพื่อไทยเนื่องจากเขามีพรรคสำรองอยู่แล้ว คือ พรรคเพื่อธรรม โดยพรรคมี 4 กรอบนโยบายเบื้องต้นคือ จะสร้างรัฐสวัสดิการที่แท้จริงให้กับประเทศนี้ จะต่อต้านการคอรัปชั่นอย่างเข้มข้น จะจัดสรรทรัพยากรของประเทศใหม่และจะกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นต้น

เผย กกต.ไม่รับจดทะเบียนชื่อพรรค “คนเสื้อแดง” และคำว่า “แห่งชาติ”

ประแสงกล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ตนกับหัวหน้าพรรคที่เป็นแกนนำ นปช.ยโสธร ได้คุยกันแล้วต้องการมีพรรคที่เป็นของมวลชนจริงๆ โดยแกนนำนปช.ยโสธรไปตั้ง “พรรคพลังคนเสื้อแดง” ขณะที่ตนเองไปตั้ง “พรรคคนเสื้อแดง” แต่ถูกปฏิเสธจาก กกต. ไม่ให้จัดตั้ง โดยแจ้งว่าเมื่อ ปี 2554 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขอจัดตั้งพรรคชื่อ “พันธมิตร” แต่ กกต.มีมติไม่อนุญาต จึงเปลี่ยนเป็นพรรคการเมืองใหม่ ทำให้ต้องนำมาตรฐานนั้นมาใช้กับฝ่ายเสื้อแดงด้วย จึงต้องเปลี่ยนชื่อ

ประแสง กล่าวในครั้งแรกจะเปลี่ยนมาตั้งชื่อ “พรรคพลังประชาธิปไตยแห่งชาติ” แต่กลับถูก กกต.ปฏิเสธไม่ให้ใช้คำว่า “แห่งชาติ” โดยอ้างว่าขัดกับระเบียบของ กกต. จึงได้ตัดคำดังกล่าวออกไป

ประแสงกล่าวด้วยว่า ตนเองยอมรับสิ่งที่นำเสนอวันนี้อาจมีขอบเขตแนวทางที่อยู่ในพื้นที่จำกัด และพร้อมที่จะรับข้อเสนอใหม่ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวกับแนวนโยบายของพรรค

จิตรา คชเดช

จิตรา ชี้สร้างพรรคมวลชนไม่ใช่พรรคของบางคน

จิตรา คชเดช กล่าวถึงความสำคัญของระบบรัฐสภาว่าปัจจุบันการต่อสู้เรียกร้องสู้เรียกร้องต่างๆนั้นมาก็ต้องเข้ามาสู่การระบบรัฐสภาและการตรากฏหมาย แต่เวลาผู้สมัคร ส.ส. มาหาเสียงกับคนงานกับชาวบ้านนั้นจะเห็นข้อเสนอมากมาย หลังจากเลือกตั้งแล้วเมื่อมีปัญหาจริงๆนั้นกลับพบกับ ส.ส. ยาก เพราะประชาชนถูกทำให้ไม่มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของพรรคการเมือง และ ส.ส. มักอ้างเรื่องให้ฟังมติพรรค แต่พรรคเองก็ไม่ฟังสมาชิกกลับฟังเจ้าของพรรคที่เป้นนายทุนพรรคเป็นหลัก จึงเกิดปัญหาความไม่สอดคล้องกันระหว่าง ส.ส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชนกับมติพรรคที่เป็นของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลบางกลุ่มเท่านั้น ด้วยเหตุนี้พรรคที่จะสร้างจึงต้องการให้เป็นพรรคของมวลชน

เก็บค่าสมาชิกในอัตราก้าวหน้า

จิตรา คชเดช นักสหาพแรงงาน กล่าวว่า 4 แนวนโยบายข้างต้นเป็นเพียงเค้าโครงเท่านั้น แต่พรรคจะสร้างนโยบายออกมาจากสมาชิกพรรคที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดนโยบายของพรรคอีกครั้ง รวมถึงจะมีการจัดระบบให้สมาชิกมีความเป็นเจ้าของพรรคอย่างแท้จริง เช่น การระดมทุนร่วมกัน  

จิตรายกตัวอย่างระบบสหภาพแรงงานที่ใช้การจ่ายค่าสมาชิกเป็นรายเดือน โดยมีระบบการการจ่ายค่าบำรุงในอัตราก้าวหน้าเป็นจำนวนเปอร์เซ็นต์ต่อเงินเดือน ทำให้ไม่มีเจ้าของพรรคหรือสหภาพเพียงลำพังคนเดียว

เธอกล่าวว่า ระบบรัฐสภาไทยที่ผ่านมาจะเห็นว่าหลายกลุ่มเสนอร่างกฏหมายไป แต่กลับถูก ส.ส.ปัดตก เช่น คนงานเสนอ ร่างพ.ร.บ. ประกันสังคม หรือคนรักเรื่องเสรีภาพเสนอ แก้ ม.112 ก็ถูกสภาปัดตกไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นพรรคพลังประชาธิปไตยจะเน้นการฟังเสียงคนจากล่างสู่บน ไม่ใช่จากบนลงล่าง รวมทั้งจะสร้างระบบการโหวตตัวแทนลงเลือกตั้งและระบบที่สามารถโหวต ส.ส. หรือตัวแทน ที่ไม่ทำตามความต้องการของสมาชิกออกจากตำแหน่งด้วย

อย่ากลัวแบ่งเสียงพรรคใหญ่ เพราะประชาชนไม่ใช่ของใคร

จิตรากล่าวถึงข้อกังวลของฝ่ายประชาธิปไตยและผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยที่มองว่าการตั้งพรรคใหม่จะเป็นการแบ่งคะแนนเสียงเลือกตั้งว่า ต้องถามประชาชนว่าจะถูกแย่งคะแนนหรือไม่ เพราะเราเสนอให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมเป็นสมาชิกพรรค และแสดงตัวชัดเจนว่าจะนำไปสู่อะไร คนที่เลือกเราเขามองเห็นว่าจะเลือกอะไร การมองว่าประชาชนถูกแบ่งคะแนนได้นั้น ไม่ต่างจากความคิดอีกฝ่ายที่มองว่าประชาชนถูกซื้อเสียงได้ การมองแบบนี้นเป็นการมองประชาชนไม่มีตัวตน เป็นการมองว่าประชาชนเป็นของของใครคนใดคนหนึ่ง  

ดันนโยบานแรงงาน รับรองอนุสัญญา ILO 87,98 เลือกตั้งในสถานประกอบการ

จิตรา กล่าวถึงนโยบายส่วนตัวที่จะผลักดันในพรรค คือนโยบายแรงงาน ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักที่เข้ามาทำพรรคการเมืองนี้ ทั้งคนงานในแรงงานอุตสาหกรรมและภาคบริการ รวมทั้งคนงานในภาคเกษตรกรรมที่ยังไม่มีการรวมตัว ด้วยเหตุนี้จึงจะส่งเสริมให้มีการรวมตัวต่อรองของคนงาน และให้พรรคมีนโยบายรับรองอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม หรือ ILO 89, 98

นอกจากนี้จะผลักดันให้มีนโยบายการเลือกตั้งในสถานประกอบการ เนื่องจากทุกวันนี้คนงานส่วนใหญ่เป็นคนงานย้านถิ่น ดังนั้นเมื่อถึงเวลาเลือกตั้งก็ต้องกลับไปเลือกตั้งในจังหวัดบ้านเกิด ซึ่งไม่สามารถปฏิสัมพันธ์กับ ส.ส.ได้  รวมทั้งในพื้นที่ทำงานและหอพักในเมืองก็ไม่สามารถมีอำนาจต่อกับ ส.ส.ในพื้นที่นั้นได้ เพราะไม่ใช่ฐานเสียงโดนตรง จิตราเสนอว่าอาจใช้อ้างอิงสิทธิเลือกตั้งตามบัญชีในระบบประกันสังคมเพื่อให้คนงานเหล่านั้นมีสิทธิในการเลือกตั้งที่แท้จริงในที่ที่เขาอยู่ ไม่ใช่ให้เป็นเพียงพลเมืองที่ไม่มีตัวตนเท่านั้น รวมทั้งจะผลักดันให้มีนโยบานขจัดสิ่งที่เป็นอุปสรรค์ในการสร้างประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิ่งที่สมาชิกจะเสนอเข้ามาต่อไปด้วย

การตั้งพรรคเพื่อส่งเสียงว่าเราต้องการการเลือกตั้ง

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันที่กลุ่ม กปปส. ผลักดันเพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้งในเร็ววันนี้ จิตรากล่าว่า การที่เรามีพรรคการเมืองมันจะนำไปสู่การพูดเรื่องสิทธิการเลือกตั้งได้มากกว่าคนธรรดา ดังนั้นการตั้งพรรคนี้ขึ้นมาสิ่งหนึ่งก็เพื่อส่งเสียงว่าพวกเราต้องให้มีการเลือกตั้งด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net