Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

Performance ในที่นี้ กำลังพูดถึง การแสดง ซึ่งหมายถึง การนำเสนอตัวตน แสดงออก ให้คนอื่นเห็นว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ เหตุใด Performance จึงมีความสัมพันธ์กับการชุมนุมทางการเมือง นักการเมืองกำลังเล่นละครตบตาพวกกเราอยู่หรือ? หรือคนในม็อบเป็นแค่พวกนักแสดงที่เล่นบทว่าห่วงใยประเทศ และต่อสู้กับความอยุติธรรม?

อันดับแรกเราต้องเข้าใจ การแสดง ในบริบทสังคมก่อน ซึ่งไม่ใช่เป็นการแสดงบนเวที ในทีวี หรือภาพยนตร์ แต่เป็นการเข้าใจการแสดงในฐานะส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ทฤษฎีทางสังคมวิทยา Erving Goffman ได้อธิบาย การกระทำของมนุษย์ในชีวิตประจำวันผ่านหลักของการแสดงละครไว้ใน Presentation of Self in Everyday Life (1959) สรุปประเด็นสำคัญสั้นๆคือ มนุษย์มีพื้นที่สองส่วนคือ หลังเวที (Back) และหน้าเวที (Front) ในพื้นที่หลังเวที คือพื้นที่ที่เรามีความเป็นส่วนตัวสูง อยู่คนเดียว อาจเป็นห้องน้อนของเรา ห้องทำงานที่บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เราจะทำอะไรก็ได้ แคะขี้มูก นอนเกาพุง น้ำลายไหล ในขณะที่ หน้าเวที คือพื้นที่สาธราณะที่เราต้องติดต่อกับคนอื่นๆนอกจากตัวเราเอง เราต้องใส่เสื้อผ้า (Costume) เลือก Props เลือกบทสนทนา ท่าทาง การกระทำ และ “ภาพลักษณ์บางส่วน” ที่เราอยากให้คนเห็นและเข้าใจว่าเรามีตัวตนอย่างไร แน่นอน ตัวเราในตลาดนัดข้างบ้าน กับ ตัวเราในซุปเปอร์มาเก็ตในห้างสรรพสินค้า ก็ไม่เหมือนกันแล้ว จะอธิบายหลักการแสดงให้ชัดขึ้นในโลกวันนี้ Facebook เป็นอีกตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดในฐานะพื้นที่ “หน้าเวที” ในขณะที่เรานั่งชันเข่าเกาหัวอยู่ในห้องนอนหน้าคอมมพิวเตอร์ เรากำลัง “Perform” ตัวเราเอง ผ่านฟีเจอร์ของ Facebook โดย ”เลือก” ว่า ตัวเราแบบไหนดีที่อยากให้สาธารณชนรู้จัก เริ่มจากเลือกรูปประจำตัว การศึกษา บ้านเกิด รสนิยม เพลงโปรด กิจกรรมยามว่าง หรือกระทั่งรสนิยมทางการเมือง ซึ่งสิ่งที่เราเลือกออกมานี้ไม่ได้แปลว่าเราโกหก หรือ เราพูดจริง แต่ Performance ที่เกิดขึ้นนี้คือ “ความจริง” ชุดหนึ่งที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อจูงใจให้คนรับรู้ ในความเป็นเราแบบนี้

กลับมาที่เรื่องการเมือง ตกลงมันเกี่ยวยังไงกับการชุมนุมทางการเมือง?

แน่นอนว่าการศึกษาการเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทางสังคมศาสตร์ โครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเงื่อนไขทางสังคมเหล่านี้มักเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคม หรือการชุมนุมทางการเมือง คือถ้าไม่เดือดร้อน ก็ไม่ออกมา แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นและขาดไม่ได้ นั่นก็คือ การรวมตัวกันของคนกลุ่มหนึ่ง ที่มีอุดมการณ์ ความเชื่อ มีเป้าหมายสูงสุดตรงกัน และมีความไม่พอใจอะไรบางอย่างในสังคมไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการรวมตัว เป็นเหตุว่า ทำไม เสื้อเหลือง กับ เสื้อแดง อยู่ม๊อบเดียวกันไม่ได้ ทั้งๆที่คนจำนวนไม่น้อยทั้งเหลืองและแดงมีความเห็นตรงกันในบางเรื่อง แต่เป้าหมายสูงสุดของแต่ละฝ่ายเป็นคนละเรื่อง นั่นส่งผลให้วันที่คนจำนวนมากออกมาโต้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พร้อมกับนกหวีด และมีคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ. นี้ แต่ปฏิเสธที่จะไปร่วมในพื้นที่เดียวกันกลับคนอีกกลุ่ม ซึ่งแกนนำและมวลชนมีรากฐานมาจากการสนับสนุนรัฐประหาร หรือชูเพียงประเด็นว่าไม่เอาทักษิณกลับมา และมองข้ามบทบาทการสลายการชุมนุมของอภสิทธิ์ปี 53 ซึ่งขัดกับเป้าหมายสูงสุดของเขา และในการเคลื่อนไหวที่มีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ต้องมีการติดต่อสื่อสารกัน เงื่อนไขทางสังคมอาจเป็นตัวยึดเหนี่ยวพวกเขา แต่สิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลยคือการสื่อสารทางอารมณ์และความรู้สึกร่วม เปรียบเสมือนกาวที่ทำให้ตัวต่อยึดติดกันแน่นขึ้น และขับเคลื่อนไปข้างหน้าพร้อมกันอย่างแน่นแฟ้น ซึ่งการศึกษา Performance นี่แหละ ที่เป็นตัวกระตุ้นอารมณ์และความรู้สึกผ่านสัญลักษณ์ บทปราศรัย เพื่อยึดโยงมวลชนไว้ด้วยกัน

ถึงจุดนี้แล้วหน้าที่ของ Performance ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองคืออะไร?

สรุปสั้นๆก็คือ การทำอย่างไร ที่จะแสดงให้สาธารณชนเห็นว่า “เราคือพวกเดียวกัน” เลือกนำความจริงชุดหนึ่งออกมานำเสนอเป็นภาพ เสียง สัญลักษณ์ เป็นคำพูด เพื่อให้เกิดการยึดโยงทางอารมณ์ เช่น การใช้นกหวีด มือตบ ตีนตบ หน้ากากขาว ใส่เสื้อเหลือง เสื้อแดง Costumes และ Props เหล่านี้จะไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง หากมีเพียงคนเดียวในม็อบนำมาใช้ การที่เรามีข้อตกลงร่วมกัน ในการจะ Perform หรือ แสดง โดยทำการกระทำอย่างหนึ่งที่เราไม่ได้ทำเป็นปกติในชีวิตประจำวัน นั่นเป็นกลวิธีหนึ่งในการสร้างพลังให้กับมวลชน เพื่อแสดงจุดร่มเดียวกันผ่านสัญลักษณ์เหล่านี้ เมื่อเราตกลงกันว่า เราจะคาดผ้าธงชาติ เป่านกหวีด และไปชุมนุมที่ราชดำเนิน นั่นหมายความว่า เราต้องการแสดงออกให้สาธารณชนเห็นว่า เรารักชาติ และต่อต้านคอร์รัปชั่น ซึ่งจากที่อธิบายไว้ในย่อหน้าแรก นั่นไม่จำเป็นว่าเราต้องเชื่อจริงๆว่าเรารักชาติและต่อต้านคอร์รัปชั่น เราอาจจะมีเหตุผลสำเร็จในใจอยู่แล้วว่าเราออกไปทำไม แต่นี่คือสิ่งที่เราต้องการให้คนเห็นและเข้าใจเราในแบบนี้

แล้วรู้ไปมีประโยชน์อะไร?

การสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สร้างอารมณ์รู้สึกร่วมกันย่อมส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนมวลชน แต่ที่สำคัญกว่านั้นการที่เราเข้าใจหลัก Performance ช่วยทำให้เรามองออกและแยกส่วนได้ว่าอะไรคือแก่นของการเคลื่อนไหว ตัวอย่างเช่น Performance ของแกนนำ หรือผู้นำม๊อบ เราต้องเข้าใจว่ามันเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่ง ซึ่งจุดประสงค์ของการขับเคลื่อนและปลุกระดมคือการทำให้มวลชนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากที่สุด ดังนั้นคำปราศรัย และสำนวนโวหารที่ใช้บนเวที จึงเป็นสิ่งที่พวกเขาเลือกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น สุเทพ หรือ ณัฐวุฒิ พวกเขาเลือกพูดในสิ่งที่มวลชนของพวกเขาพร้อมจะตบมือและสนับสนุน มันไม่ใช่ว่าเขากำลังโกหกหรือพูดจริง ไม่ใช่ข้อเท็จจริง (fact) แต่เป็นความจริง (truth) ที่เขาเลือกมาเพื่อมวลชนของเขา และแน่นอนว่า บทปราศรัยของณัฐวุฒิ บนเวทีเสื้อแดงคงไม่เข้าหูมวลมหาประชาชนที่ราชดำเนิน เช่นกัน คำปลุกระดมของกำนันสุเทพ ก็คงไร้สาระในมุมมองของคนเสื้อแดง

ถ้าเช่นนั้น เราเป็นพวกโง่ ไร้สมอง โดนพวกนักการเมืองชั่ว ล้างสมองอยู่หรือ?  

เป็นอีกวาทะกรรมหนึ่งซึ่งชนชั้นล่างมักโดนเล่นงานอยู่เสมอ แต่ไม่ใช่เลย ไม่ว่าคนกลุ่มไหน ชนชั้นใดก็ตาม ในวิถีทางของประชาธิปไตย เป็นอย่างที่มวลมหาประชาชนย้ำเสมอ ว่าอำนาจเป็นของประชาชน แต่ต้องขอย้ำต่ออีกทีว่า อำนาจเป็นของประชาชนทุกคน ถ้าเรายังอยู่ในระบบประชาธิปไตยที่ทุกคนมี 1 สิทธิ์ 1 เสียงเท่ากันนี้ นักการเมืองหาใช่นักแสดงที่จะมากำหนดความคิดของเรา แต่หากเป็นประชาชนที่เป็นคนกำหนด Performance ของนักการเมือง รวมถึงพรรรคการเมือง ประชาชนมีสิทธิ์ในการที่จะไม่สนับสนุนเขาในการเลือกตั้งครั้งต่อไป หาก Performance ไม่เป็นที่พอใจ นักการเมืองจึงต้องทำให้ดีที่สุดในการที่จะเอาใจมวลชนของเขา การศึกษาการละครและการแสดงในบริบทสังคมและการเมืองระบอบประชาธิปไตย จึงแตกต่างจากรูปแบบการทำงานของละครเวทีในเชิงสร้างสรรค์ที่ผู้กำกับมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการเลือกนักแสดงและกำกับการแสดงให้เป็นไปในทิศทางที่ตนต้องการ แต่สำหรับสังคมประชาธิปไตยแล้วผู้กำกับไม่ได้มีเพียงคนเดียวแต่หากคือทุกคนที่มีสิทธิ์ในการตัดสินใจ  แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ ในขณะที่เรามีอำนาจในการกำหนด Performance ของนักการเมืองอยู่ทุกวันนี้ คนกลุ่มหนึ่งกำลังจะหยิบยื่นอำนาจของตัวเองให้กับนักการเมืองหรือคนกลุ่มหนึ่งที่ตนไว้ใจ จะแสดงตลกปาหี่อะไรก็ได้ โดยที่ไม่ต้องสนใจความต้องการของมวลชนอีกแล้ว

แล้วไง? ไม่ต้องไปไหน? ทนกับความไม่ยุติธรรม?

ไปเลย มันเป็นสิทธิ์ของคุณ และเป็นวิถีทางทางประชาธิปไตย ในการชุมนุมอยู่ภายใต้กรอบกฏหมาย ไม่ว่าม๊อบไหน การเข้าใจ Performance ในฐานะการขับเคลื่อนมวลชนในการชุมนุม เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้เราวิเคราะห์ตัวเอง วิเคราะห์สถานการณ์ได้ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นบนเวทีในขณะที่มีการชุมนุม การปราศรัย ล้วนถูกคัดสรรค์และสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของมวลชน ณ จุดนั้น  ซึ่งไม่ได้แปลว่าดีหรือเลว แต่เป็นยุทธศาสตร์ทางสากลในการขับเคลื่อนมวลชน แต่อาจไม่ใช่ Fact ทั้งหมด ยังมีข้อเท็จจริงอีกมากมายที่ไม่ได้อยู่แค่บนเวที วิเคราะห์ตัวเองให้ออก ถ้าวันหนึ่งเราไม่รู้สึกอยากปรบมือ หรือ เฮ กับข้อเสนอของแกนนำในที่ชุมนุมแล้ว นั่นก็แสดงว่าจุดยืนและเป้าหมายของเรากับเขาไม่ตรงกัน ก็แค่เดินออกมา แสดงพลังว่า ถ้าคุณแสดงแย่ ผมก็มีสิทธิ์ที่จะไม่เอาคุณ อย่ากลัวที่จะต้องยอมรับว่าเราเคยเห็นด้วยกับเขา เพราะนี่คือการแสดงอำนาจของประชาชนที่แท้จริง  

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน:

รับขวัญ ธรรมบุษดี

MA Performance, Culture and Context
School of Performance and Cultural Studies
University of Leeds, UK

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net