Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เป็นเวลากว่า 8 ปี ที่ประเทศไทยตกอยู่ในความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงต่อเนื่องระยะยาวแสดงออกผ่านการรวมตัวของกลุ่มพลังต่าง ๆ เพื่อต่อต้านกลุ่มพลังทางการเมืองฟากตรงข้าม นับตั้งแต่ พธม. ต้านรัฐบาลทักษิณ พ.ศ. 2548 นปก. ต้านรัฐบาลสุรยุทธ์ พ.ศ. 2550 พธม. ต้านรัฐบาลสมัคร-สมชาย พ.ศ. 2551 นปช. ต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ พ.ศ. 2552 และ 2553 จนกระทั่ง กปปส. ต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในปีนี้

ความขัดแย้งทางการเมืองนี้ถูกประมวลสรุปไว้หลากมุมมองแต่ล้วนชัดเจนและเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง เช่น ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำและคนชั้นกลางในเมืองกับคนชนบทและคนชั้นล่างในเมือง หรือเป็นความขัดแย้งระหว่างเสรีนิยมกับประชาธิปไตย เป็นต้น

มโนทัศน์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ได้รับการยอมรับช่วยสร้างกรอบให้เพ่งเห็นประเด็นปัญหาชัดเจนและนำไปสู่ความพยายามแก้ไขปัญหาตามแนวทางที่พบเห็นด้วยมโนทัศน์ดังกล่าว เป็นต้นว่า การมองความขัดแย้งในประเด็นชนชั้นนำไปสู่ความพยายามแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ การจัดความขัดแย้งเป็นคู่ตรงข้ามระหว่างเสรีนิยมกับประชาธิปไตยก็มุ่งแสวงหาทางออกด้วยการจัดสมดุลระหว่างพลังอำนาจทั้งสองขั้ว

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อตอบสนองสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระยะยาวดังกล่าว แต่จะให้น้ำหนักกับบริบทสถานการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบัน คือสถานการณ์การชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และจะจัดประเภทความขัดแย้งนี้จากข้อสรุปที่มีอยู่แล้วในอีกมุมมองหนึ่ง เพื่อตอบปัญหาสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นคือ ความพยายามแยกประชาธิปไตยออกจากประชาชน หรือการที่ประชาชนจำนวนมากกำลังแยกตัวเองออกไปจากประชาธิปไตย 

กระแสสังคมที่ตอบรับ กปปส. และนักวิชาการที่สนับสนุน กปปส. ไม่ว่าจะมีปริมาณเท่าใด เป็นกลุ่มพลังที่มีอยู่จริงและมีผลทางการเมือง คือ กลุ่มประชาชนที่ยึดมายาคติว่าผลการเลือกตั้งชี้ขาดด้วยอำนาจเงิน มีประสบการณ์เกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นและผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมือง กลุ่มธุรกิจผูกขาดที่เรียกกันว่าทุนสามานย์ครอบงำประเทศที่ล้วนมาจากการเลือกตั้ง ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การบริหารประเทศของรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลเครือข่ายทักษิณนับแต่ปี พ.ศ. 2544 เว้นช่วง รัฐบาลสุรยุทธ์และรัฐบาลอภิสิทธิ์และมาต่อด้วยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ไม่สามารถแก้ไขภาพลักษณ์และข้อเท็จจริงของอำนาจทุนที่กำกับควบคุมการเมือง ดังนั้น สำหรับผู้แนวร่วม กปปส. แล้ว ประชาธิปไตยคือ ปัญหา ไม่ใช่ทางออก

ในขณะที่ฝ่ายผู้ต่อต้านหรืออย่างน้อยไม่เห็นด้วยกับแนวทางของ กปปส. คือ กลุ่มประชาชนที่มีประสบการณ์ถูกอำนาจรัฐละเลยเพิกเฉยกระทั่งกดขี่ทำร้ายเป็นระยะเวลายาวนานหลายชั่วคน ตัวอย่างมีตั้งแต่ เหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 เหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 การพัฒนาแบบไม่เท่าเทียมที่เสียสละคนชนบทพัฒนาอุตสาหกรรมใช้อำนาจรัฐปราบประชาชนผู้เดือดร้อนเพื่อสามารถดำเนินนโยบายตามแนวทางเชิงเทคนิคของเทคโนแครตได้อย่างราบรื่น จนกระทั่งล่าสุดคือการที่กลุ่ม นปช. ถูกรัฐบาลพลเรือนของนายอภิสิทธิสลายการชุมนุมเป็นผลให้มีผู้เสียชีวิต 92 รายและบาดเจ็บประมาณ 1,000 ราย และอาจรวมถึงการจับกุมดำเนินคดีผู้ต้องหาในคดีกฎหมายหมิ่นฯ จำนวนหลายพันคนในระยะเวลาที่ความขัดแย้งทางการเมืองนี้ดำเนินอยู่ด้วย สำหรับคนกลุ่มนี้ ประชาธิปไตยให้โอกาสและความเป็นไปได้สำหรับการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของพวกเขา 

หากตัดความยึดโยงระหว่างชนชั้นนำหัวขบวนกับแนวร่วมแล้วจะพบว่าประชาชนทั้งสองกลุ่มนี้แท้จริงแล้วประสบปัญหาเดียวกันคือ การถูกอำนาจทุน/รัฐข่มเหงรังแก พวกเขาคือ กลุ่มพลังทางการเมืองที่เคลื่อนไหวเพื่อจำกัด/กำกับอำนาจทุนและ/หรืออำนาจรัฐ สิ่งที่ทำให้พวกเขาแตกต่างกันและเผชิญหน้ากันคือ โลกทัศน์และประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ทำให้พวกเขาเห็นปัญหาหนึ่งไม่เห็นอีกปัญหาหนึ่งหรือเลือกที่จะแก้ไขปัญหาประการหนึ่งก่อนปัญหาอีกประการหนึ่ง

ฝ่ายแนวร่วม กปปส. มีความพยายามจำกัดอำนาจทุนด้วยการออกแบบสถาบันทางการเมืองให้องค์กรที่ยึดโยงกับประชาชนขาดเสถียรภาพ มีอำนาจน้อยลง ได้แก่ การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้ยุบพรรคการเมืองได้ง่าย ฝ่ายบริหารมีอำนาจน้อยลง ฝ่ายนิติบัญญัติถูกแทรกแซงจากฝ่ายตุลาการได้มากขึ้น และการสนับสนุนกระบวนการนอกระบอบประชาธิปไตย ทั้งการรัฐประหาร นายกฯ ม. 7 ไปจนถึงข้อเสนอเรื่อง “สภาประชาชน” การติดตั้งกลไกการทำงานของรัฐให้เข้มแข็งมากขึ้นเพื่อถ่วงทานอำนาจทุนในการเมือง เป็นต้นว่า การดึงกองทัพเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองมากขึ้น การเพิ่มอำนาจสถาบันตุลาการ ทำให้เกิดการล่วงล้ำก้ำเกินสิทธิและเสรีภาพของบุคคลกระทั่งในบางครั้งขัดขวางหรือทำลายเจตนารมณ์ของประชาชน มีผลให้กองทัพที่ถอยกลับเข้ากรมกองหลังพฤษภาทมิฬ 2535 กลับมามีอิทธิพลทางการเมืองมากขึ้นอีกครั้ง สถาบันตุลาการเสื่อมความน่าเชื่อถือ ผลพวงสำคัญที่เกิดขึ้นคือ การกระทำดังกล่าวทำให้กลไกการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติของระบอบประชาธิปไตยทำงานไม่ได้ตามปกติ

ถ้าถามว่าทั้งหมดนี้ทำให้สามารถจำกัดอำนาจทุนได้หรือไม่? คำตอบคือไม่ได้

เหตุผลมีอย่างน้อยสองประการ คือ

ประการแรก รัฐไทยที่ดำเนินระบบเศรษฐกิจทุนนิยมตกอยู่ในการครอบงำของกลุ่มทุนและวิธีคิดแบบทุนนิยมอยู่แล้ว อย่างน้อยตั้งแต่พุทธทศวรรษที่ 2520  ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กลุ่มทหารยังเติร์กผลักดันกลุ่มทุนเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกว่าร้อยละ 50 (เปรม 1) มีกลุ่มทุนอยู่ในรัฐบาลเปรม 4 และเปรม 5 ร้อยละ 41.8 และ ร้อยละ 51.1 ตามลำดับ แม้ในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน หลังรัฐประหาร รสช. พ.ศ. 2534 จะมีโครงสร้างคณะรัฐมนตรีที่มีภูมิหลังอาชีพพ่อค้านักธุรกิจเพียงร้อยละ 16.2 และมีกลุ่มขุนนางข้าราชการสูงถึงร้อยละ 81.1 แต่รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ก็สรุปว่าโดยเนื้อแท้แล้วเป็นรัฐบาลตัวแทนกลุ่มทุน เพราะกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจเกือบทุกกระทรวงในรัฐบาลอานันท์ถูกยึดกุมโดยกลุ่มทุนและเทคโนแครตที่สัมพันธ์กับกลุ่มทุน เช่น อมเรศ ศิลาอ่อน (รมต. พาณิชย์) ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล (รมช. พาณิชย์) อาชว์ เตาลานนท์ (รมช. เกษตร) อานันท์ ปันยารชุน (นายกรัฐมนตรี) เสนาะ อูนากูล (รองนายกรัฐมนตรี) อาณัติ อาภาภิรมย์ (รมต. เกษตร) ไพจิตร เอื้อทวีกุล (รมต. สำนักนายกฯ) โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ (รมช. เกษตร) วีรพงษ์ รามางกูร (รมช. การคลัง) ฯลฯ (รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, 2536, น. 211-212) นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทุนที่ไม่เข้าสู่การเลือกตั้งและการเมืองด้วยตนเองแต่มีสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจทางการเมืองและเคยถูกเรื่องร้องเรียนพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม เช่น ตระกูลสิริวัฒนภักดีและเตชะไพบูลย์ และบริษัทในเครือปูนซีเมนต์ไทยเป็นต้น (“การผูกขาดทางธุรกิจกับการเมือง,” มติชน, (8 ธ.ค. 2549), น. 20)

ทั้งหมดนี้หมายความว่ากลุ่มทุนสามารถแฝงฝังเข้ามาอยู่ในรัฐได้ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือไม่ก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น หากข้อสังเกตของรังสรรค์เป็นจริง แปลว่ามีข้าราชการและเทคโนแครตจำนวนมากมีฉากหน้าที่ดูเหมือนไม่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจ หรือกิจกรรมทางธุรกิจที่ผิดจริยธรรมใด ๆ แต่ข้อเท็จจริงนั้นตรงกันข้าม

ประการที่สอง ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ได้ก้าวล่วงเข้ามามีส่วนแบ่งในอธิปไตยของรัฐแล้ว ในบางปริมณฑลโดยเฉพาะพื้นที่ทางเศรษฐกิจรัฐถูกกำกับด้วยระเบียบของทุนโลกาภิวัตน์โดยตรง ทั้งในเชิงโครงสร้าง เช่น โครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศที่ยึดโยงและขึ้นต่อตลาดต่างประเทศ การทำข้อตกลงทางการค้าและการเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศ และในทางเทคนิค เช่น การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้โดยสถาบันจัดอันดับต่าง ๆ ที่สามารถส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ ลักษณะเช่นนี้เห็นได้จากการที่รัฐบาลสุรยุทธ์ อันเป็นรัฐบาลหลังรัฐประหาร ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รัฐบุรุษให้การรับรองว่าเป็นคนดี ไม่สามารถจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของไทยให้แตกต่างไปจากรัฐบาลทักษิณก่อนหน้านั้นได้ ภารกิจแรก ๆ ภายหลังการได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.เอก คือการเดินทางไปลงนามในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นที่ริเริ่มและดำเนินการในสมัยรัฐบาลทักษิณ

ความพยายามจำกัดอำนาจทุนด้วยการปฏิเสธประชาธิปไตยและสร้างรัฐอาญาสิทธิ์จึงเท่ากับการมอบอำนาจอาญาสิทธิ์นั้นให้แก่ทุนท้องถิ่นที่แนบอยู่กับรัฐไทยและทุนโลกาภิวัตน์ที่กำกับรัฐไทยไปด้วย

เมื่อกระบวนการกำหนดนโยบายจำกัดอยู่ในชนชั้นนำจำนวนน้อย การต่อรองผลประโยชน์ภายในวงแคบหรือการแทรกแซงจากภายนอกรัฐสามารถกระทำได้โดยง่าย สำหรับประชาชนจึงไม่มีหลักประกันว่าอำนาจทุนจะไม่ใช้อำนาจรัฐเด็ดขาดในมือข่มเหงรังแก

สำหรับฝ่ายต่อต้าน กปปส. เป็นกลุ่มประชาชนหวังดัดแปลงรัฐให้กระจายผลประโยชน์-ลดการกดขี่รังแกกลุ่มของตนเองด้วยการร่วมมือ-ใช้อำนาจทุนเป็นตัวแทนเข้าไปกุมอำนาจการเมือง แม้จะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งจากการเปลี่ยนอำนาจในการลงคะแนนเสียงเป็นนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง แต่ก็พบกับความเป็นจริงที่ว่าทุนนิยมเป็นระบบที่มีเส้นทางเดินของตนเอง คือ ต้องขยายตัวอยู่ตลอดเวลา ธรรมชาติของทุนเมื่อแสดงออกในรัฐที่มีข้อจำกัดเรื่องทรัพยากร จึงหลีกเลี่ยงความขัดแย้งรุนแรงเรื่องทรัพยากรไม่ได้ ความคาดหวังของประชาชนที่จะใช้อำนาจทุนจำกัดอำนาจรัฐมิให้กระทำการละเมิดสิทธิตลอดจนเรียกร้องให้รัฐทุนนิยมจัดสรรสวัสดิการดูแลประชาชนในวงกว้างจึงปรากฏเป็นจริงได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราวในบางประเด็นบางพื้นที่เท่านั้น

ข้อเท็จจริงจึงปรากฏว่า รัฐบาลทักษิณได้กระทำการละเมิดชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนหลายครั้งหลายครา เป็นต้นว่า การใช้ชุดปฏิบัติการกว่า 2,000 คนเข้าสลายการชุมนุมของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเพื่อคนจนที่กระบี่ ในปี พ.ศ. 2546 การใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 กองร้อยเข้าขับไล่พ่อค้าแม่ค้าริมถนนกลางตลาดนครปฐมตามนโยบายผู้ว่า CEO ในปีเดียวกัน หรือในประเด็นการเมือง มีการเสียชีวิตของประชาชนไทยมุสลิมกว่าร้อยชีวิตในเหตุการณ์ล้อมปราบที่มัสยิดกรือเซะและกรณีสลายกลุ่มผู้ชุมนุมที่ตากใบ ในปี พ.ศ. 2547 นโยบายประกาศสงครามยาเสพติดที่รัฐตั้งตนศาลเตี้ยพิพากษาประหารประชาชนที่ถูกสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการค้ายาเสพติดโดยไม่ผ่านขั้นตอนตามกฎหมายกว่า 2,000 ราย โดยไม่ต้องเอ่ยถึงกรณีการคอร์รัปชั่นและทุจริตทางนโยบายจำนวนมาก

ปัญหาของการหวังอำนาจทุนจำกัดอำนาจรัฐแสดงออกชัดเจนในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ข้อเสนอและผลประโยชน์ของกลุ่มประชาชนผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยถูกเพิกเฉยและละเลยจากรัฐบาลหลายครั้งหลายหน โดยเฉพาะในกรณีของการเสนอแก้ไขกฎหมายหมิ่นฯ และการผ่านร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยอันเป็นที่มาของวิกฤตการเมืองไทยล่าสุด

บทเรียนจากการเคลื่อนไหวของประชาชนทั้งสองกลุ่มสรุปได้ว่า ทุนและรัฐมีชีวิตของตนเอง เคลื่อนไหวกระทำการตามกฎเกณฑ์ของตนเอง การปล่อยให้ทุนเคลื่อนไหวได้อย่างเสรี หรือมอบอำนาจอาญาสิทธิ์ให้รัฐมักจะลงเอยด้วยความเสียหายถาวรของประชาชนกลุ่มหนึ่งเสมอ ข้อเท็จจริงที่สำคัญคือ ทุนและรัฐอยู่ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันได้

ดังนั้น ไม่ว่าจะขยายอำนาจรัฐจำกัดอำนาจทุน หรือหนุนอำนาจทุนกุมอำนาจรัฐ ในบั้นปลายทุนและรัฐจะรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ผู้ที่อยู่นอกวงอำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจที่ใช้โดยรัฐหรือโดยทุนเป็นหลัก จะมีความเสี่ยงที่จะถูกกระทำความรุนแรงจากรัฐเสมอ

ทางออกของประชาชนจึงอยู่ที่ การใช้ประชาธิปไตยจำกัดอำนาจรัฐและอำนาจทุน และต้องดำเนินการไปพร้อมกันทั้งสองด้าน ไม่อาจดำเนินการด้านหนึ่งก่อนแล้วคาดหวังว่าจะเกิดผลอีกด้านหนึ่งตามมา ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือเดียวที่จะทำให้สังคมสามารถกำกับทั้งรัฐและทุนได้ ไม่ใช่อย่างอื่น นอกเหนือจากประชาธิปไตยที่ให้อำนาจสูงสุดอยู่ที่ประชาชนแล้ว

ไม่มีหลักประกันอื่นสามารถประกันสวัสดิภาพที่ดีของประชาชนภายใต้อำนาจรัฐและอำนาจทุนได้
เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ของประชาชนทั้งสองกลุ่ม ต้องรักษาประชาธิปไตย ใช้ประชาธิปไตยและทำให้ประชาธิปไตยอยู่เหนือรัฐและทุน

อย่าทำลายประชาธิปไตยหรือแยกประชาธิปไตยไปจากประชาชน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net