จับตามองเกษตรโซนนิ่ง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

นโยบายเกษตรโซนนิ่ง เริ่มเป็นที่รับรู้ในสังคมไทย เมื่อนายกรัฐมนตรีประกาศผ่านทางรายการนายกยิ่งลักษณ์พบประชาชน เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยประกาศว่าต้องการแก้ไขปัญหาภาคการเกษตรในระยะยาว เช่น ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำและล้นตลาด โดยใช้แนวคิดการทำโซนนิ่งปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งนโยบายนี้กำลังถูกจับตามองจากสังคมเป็นอย่างมากว่าจะมีการดำเนินนโยบายเช่นไร  มีที่มาอย่างไร และสามารถนำมาปฏิบัติได้จริงหรือไม่? เกษตรโซนนิ่งจะเป็นยาแก้โรคร้ายของภาคการเกษตรไทย หรือจะเป็นยาขมที่เกษตรกรต้องกล้ำกลืน? ในขณะที่ภาครัฐกล่าวว่าเกษตรโซนนิ่งจะเป็นตัวพลิกฟื้นภาคเกษตรของไทยในวงกว้าง ปรับเปลี่ยนพื้นที่การปลูกพืช สร้างตลาดรองรับผลผลิต ในทางกลับกันสิ่งเหล่านี้ก็ยังเป็นข้อกังขาของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร นักวิชาการภาคการเกษตร ปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่หลายๆแห่ง พวกเขาเหล่านี้กำลังจับตามองว่าเกษตรโซนนิ่งจะเป็นยาดีหรือยาร้ายต่อภาคการเกษตรไทยอย่างไร?

หากศึกษา “กระบวนการนโยบาย” จะพบว่าแนวคิดเรื่องเกษตรโซนนิ่งถูกประกาศโดยนายกรัฐมนตรี ผ่านทางรายการนายกยิ่งลักษณ์พบประชาชน เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เป็นนโยบายที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเป็นผู้คิดและริเริ่มที่จะทำอย่างจริงจังในประเทศไทย โดยมีการมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้รับผิดชอบ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมที่ดินมีหน้าที่สำรวจพื้นที่ทางการเกษตรว่าพื้นที่บริเวณนั้นควรปลูกพืชชนิดใด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีหน้าที่ จัดการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมในโครงการและขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดผลสำเร็จ โดยมีงบประมาณในการดำเนินงานทั้งสิ้น 3,149.7 ล้านบาท[1] ซึ่งในขณะนี้การดำเนินนโยบายของรัฐบาลคืบหน้าไปมาก โดยแต่ละพื้นที่ในแต่ละจังหวัดมีการกำหนดโซนนิ่งเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าแต่ละอำเภอ ตำบล เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมกับการปลูกพืชชนิดใด แต่ในบางพื้นที่ประชาชนยังไม่รับทราบถึงแนวนโยบายว่าพื้นที่ของตนเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมกับการปลูกพืชชนิดใด นั่นคือแนวนโยบายยังอยู่ในระดับส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ส่วนภาคปฏิบัติคือประชาชนยังไม่ทราบถึงแนวทางการปฏิบัติ รู้แต่เพียงว่านโยบายนี้จะเกี่ยวข้องกับตน

นโยบายการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม หรือ “เกษตรโซนนิ่ง” (Agricultural/Crop Zoning) เป็นนโยบายที่รัฐบาลประกาศว่ามีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาหลายๆอย่างในภาคการเกษตรไทย เช่น แก้ไขปัญหาราคาพืชผลตกต่ำและล้นตลาด โดยการใช้แนวทางการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรด้วยการพิจารณาถึงความเหมาะสมของสภาพพื้นที่กับชนิดของพืชผลทางการเกษตรที่จะปลูกว่าสอดคล้องเหมาะสมกันหรือไม่ โดยเริ่มแรกรัฐบาลได้กำหนดเขตสำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีการนำปัจจัยเรื่องกลไกราคามาเป็นเครื่องมือที่สำคัญเพื่อใช้จูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมในโครงการ หากเกษตรกรเข้าร่วมจัดโซนนิ่งจะได้รับการประกันราคาพืชผลจากรัฐบาล แต่หากเกษตรกรไม่เข้าร่วมการจัดโซนนิ่งรัฐบาลจะไม่ประกันราคาให้ ซึ่งนโยบายนี้รัฐบาลกล่าวว่าเป็นนโยบายที่ไม่บังคับว่าเกษตรกรจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมแล้วแต่ความสมัครใจ แต่ในความเป็นจริงแล้วนโยบายนี้เป็นเหมือนการบังคับโดยทางอ้อมให้เกษตรกรเข้าร่วม เนื่องจากการใช้หลัก “การตลาดนำการผลิต” โดยทั่วไปเกษตรกรมักปลูกพืชตามราคาตลาด ยิ่งราคาสูง การปลูกก็จะมาก ซึ่งการเข้าร่วมจัดโซนนิ่งกับรัฐบาล มีการประกันราคาที่แน่ชัด หากผลผลิตล้นตลาดก็ยังได้ราคาที่รัฐบาลประกันจึงทำให้เกษตรกรมีแนวโน้มจะเข้าร่วมมากขึ้นหากได้รับการประกันราคาจริง แต่หากมองอีกด้านหนึ่งสำหรับเกษตรกรที่ปลูกพืชชนิดเดียวกันแต่อยู่นอกพื้นที่โซนนิ่ง ทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ก็ถือว่าเป็นความไม่เท่าเทียมสำหรับเกษตรกรกลุ่มนี้  นี่ยังเป็นข้อกังขาสำหรับเกษตรกร หากพวกเขาจะไม่เข้าจัดโซนนิ่ง รัฐควรจะมีมาตรการออกมาสำหรับเกษตรกรกลุ่มนี้ด้วย

ปัจจุบัน มีการนำร่องเกษตรโซนนิ่งแห่งแรกที่จังหวัดกำแพงเพชร  เปลี่ยนพื้นที่จากปลูกข้าวมาเป็นปลูกอ้อยโรงงาน เหตุผลในการเปลี่ยนเนื่องมาจากจะมีโรงงานน้ำตาลเกิดใหม่ในจังหวัดกำแพงเพชรเพิ่มอีก 1 แห่ง รวมเป็น 3 โรงงาน โดยโรงงานน้ำตาลทั้ง 3 แห่ง ต้องการอ้อยจำนวน 9.5 ล้านตันต่อปี แต่ขณะนี้อ้อยในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร มีเพียง 7 ล้านตันต่อปีเท่านั้น จึงต้องการพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นอีก 530,000 ไร่ จึงจะเพียงพอต่อความต้องการของโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ ดังนั้นจึงต้องจัดการปรับเปลี่ยนโซนนิ่งจากการทำนามาสู่การทำไร่อ้อยแทน โดยใช้พื้นที่นาซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ดอน สามารถทำนาได้ปีละครั้ง  พื้นที่แห้งแล้งซ้ำซาก และพื้นที่ถูกน้ำท่วมซึ่งได้รับความเสียหายบ่อยๆ มาปรับเปลี่ยนเป็นการปลูกอ้อย[2] จะเห็นได้ว่าการนำร่องที่เกิดขึ้นมีประเด็นที่น่าตั้งข้อสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่าการปรับเปลี่ยนการทำเกษตรให้สอดคล้องกับที่ตั้งของโรงงานน้ำตาล ซึ่งสอดคล้องคำบอกเล่าของนักวิชาการการเกษตรที่บอกว่า การทำ

โซนนิ่งของรัฐบาลมักมีนายทุนอยู่เบื้องหลัง การจัดทำเขตโซนนิ่งมักจะสอดคล้องกับการมีโรงงานและโรงสีที่มีนายทุนผู้สนับสนุนรัฐบาลเป็นเจ้าของ สิ่งเหล่านี้รัฐบาลจะตอบคำถามกับประชาชนได้อย่างไร?

หากลองมาเปรียบเทียบกับกรณีศึกษาการทำเกษตรโซนนิ่งในประเทศอื่นๆ พบว่ามีเป้าหมายที่หลากหลาย ในด้านที่มาของแนวคิด เช่น  ในรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกามีการทำเกษตรโซนนิ่งเพื่อป้องกันการรุกล้ำพื้นที่ทางการเกษตรจากการขยายตัวของที่อยู่อาศัยหรือโรงงานอุตสาหกรรมไม่ให้เข้ามายังพื้นที่เกษตร เพื่อรักษาพื้นที่การเกษตรเอาไว้ไม่ให้ลดน้อยถอยลงจากการบุกรุกของภาคอุตสาหกรรม[3] สำหรับประเทศไทยภายใต้รัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ การทำเกษตรโซนนิ่งเป็นการทำการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่การเพาะปลูก สภาวะดินฟ้าอากาศ รวมถึงเส้นทางคมนาคม เพืุ่อให้ผลผลิตออกมาอย่างมีคุณภาพ ลดปัญหาผลผลิตล้นตลาด หรือลดการขาดแคลนผลผลิตในบางช่วง[4] จะเห็นได้ว่าแนวคิดของไทยกับสหรัฐอเมริกานั้นพัฒนามาจากฐานคิดที่แตกต่างกัน  ไทยไม่ได้มองว่าพื้นที่เกษตรจะลดน้อยลงจากการเข้ามาของภาคอุตสาหกรรม มิหนำซ้ำยังเป็นการชักนำให้ภาคอุตสาหกรรมเข้ามาในพื้นที่ทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นโรงสี หรือโรงงานน้ำตาล อย่างที่เกิดขึ้นในจังหวัดกำแพงเพชร ในอนาคตเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าพื้นที่ทางการเกษตรจะไม่ลดลงจาการเข้ามาบุกรุกของภาคอุตสาหกรรม

ถ้าถามว่านโยบายนี้จะสามารถปฏิบัติได้จริงหรือไม่ เกษตรกรจะเข้าร่วมมากน้อยแค่ไหน ยังเป็นสิ่งที่ตอบไม่ได้อย่างชัดเจน เพราะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเกษตรกร จากการสอบถามเกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่จังหวัดตราดซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรโซนนิ่งพืชผลไม้ เกษตรกรจะเข้าร่วมโครงการหากรัฐมีความจริงใจต่อการประกันราคา โดยเกษตรกรได้เสนอแนะว่าการทำเกษตรโซนนิ่งว่าเหมาะสมกับพืชที่ให้ผลผลิตในช่วงสั้นๆ 3-4 เดือนครั้ง เช่น ข้าว อ้อย แต่การทำเกษตรโซนนิ่งจะไม่เหมาะสมกับพืชที่ให้ผลผลิตช้า ปีละครั้ง เช่น สวนผลไม้ เงาะ ทุเรียน และไม่เหมาะสมกับพืชที่ใช้เวลานานในการปลูกกว่าจะได้ผลผลิต เช่น ยางพารา และปาล์มน้ำมัน เนื่องจากการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชนั้นมีต้นทุนในการเปลี่ยนที่สูง ไม่ว่าจะต้นทุนการผลิตและต้นทุนทางความรู้ ซึ่งเกษตรกรต้องเรียนรู้การปลูกพืชชนิดใหม่ที่ไม่คุ้นเคย สิ่งเหล่านี้รัฐควรจะเข้ามาปรึกษาหารือและรับฟังเสียงของเกษตรกรด้วย เนื่องจากผู้ปฏิบัติ คือเกษตรกร เขาจะมีความรู้ความชำนาญในพื้นที่ รู้ว่าสภาพดิน สภาวะภูมิอากาศในพื้นที่เป็นเช่นไร ปลูกพืชชนิดใดได้ผลหรือไม่ได้ผล ดังนั้นรัฐควรฟังเสียงเกษตรกรในพื้นที่ด้วย มิใช่ยัดเยียดหลักวิชาการที่มองว่าดีให้เขา

การที่จะทำให้นโยบายนี้ประสบความสำเร็จได้นั้น รัฐควรจะต้องเรียนรู้ถึงผลกระทบที่เข้าไปแทรกแซงราคาในระบบตลาด สิ่งเหล่านี้ดูได้จากบทเรียนของการจำนำข้าวที่รัฐต้องขาดทุนหลายแสนล้านบาท หรือปัญหาการเรียกร้องราคายางพาราในพื้นที่ภาคใต้ที่ผ่านมา ปัญหาเกิดมาจากรัฐเข้าไปแทรกแซงกลไกราคาในตลาด สิ่งเหล่านี้จะเป็นบทเรียนให้กับรัฐบาลได้เรียนรู้ว่า “เกษตรโซนนิ่ง”ที่มีแนวคิดการแทรกแซงราคาในระบบตลาดจะไม่เกิดปัญหาซ้ำรอย และในปัจจุบันนี้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร นักวิชาการ หรือประชาชนทั่วไป จับตามองนโยบายเกษตรโซนนิ่งของรัฐบาลอยู่ว่าจะขับเคลื่อนไปแนวทางไหน และจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงไร สิ่งเหล่านี้รัฐบาลต้องพิสูจน์ให้สังคมได้รับรู้อย่างแน่ชัด เกษตรโซนนิ่งจะเป็นยาดีหรือยาร้ายของภาคการเกษตรไทยขึ้นอยู่กับรัฐบาล

 

 

 

 

[1] ลดาวัลย์ คำภา. “การจัดทำโซนนิ่งพื้นที่เกษตรกรรม.” 2556.

[2] ฐิติวรดา ปุยอรุณ. สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์. 2556. http://thainews.prd.go.th/centerweb/News/NewsDetail?NT01_NewsID=TNOHT5607120010029.

[3]Kruft, David. Agricultural Zoning. Pennsylvania, 2001.

[4]กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. "เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว มันสำประหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์." 2556.

 

 

หมายเหตุ: ปัจจุบัน ธิดา จิราสิต ศึกษาอยู่ที่ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท