Skip to main content
sharethis

19 ธ.ค.2556 เนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 18 ธ.ค.ของทุกปี เครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติเชียงใหม่ ออกจดหมายเปิดผนึก ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ สำเนาถึง สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงใหม่ โดยระบุว่า ในฐานะที่เชียงใหม่มีชายแดนติดกับพม่า และมีแรงงานข้ามชาติเข้ามาอาศัยและทำงาน เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม อย่างต่อเนื่อง จึงมีข้อเรียกร้อง ดังนี้

  1. ให้ผู้ว่าฯ เร่งออกระเบียบอย่างเร่งด่วน เพื่อให้แรงงานข้ามชาติทุกกลุ่มในจังหวัดเชียงใหม่สามารถอยู่ทำงานต่อไปได้โดยไม่ต้องเผชิญกับการตรวจจับกุมและการอยู่ทำงานแบบลักลอบ
  2. ให้แรงงานข้ามชาติทุกกลุ่มทั้งแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานภาคเกษตร แรงงานทำงานบ้าน แรงงานในภาคอุตสาหกรรมบันเทิงทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นแรงงานบริการนวด หรือพนักงานร้านคาราโอเกะ เข้าถึงประกันสังคมได้อย่างทั่วถึง
  3. ให้แรงงานข้ามชาติสามารถดำเนินการได้เองเพื่อการมีเอกสารอยู่ทำงานและอยู่อาศัยในประเทศไทยโดยไม่ต้องขึ้นกับนายจ้างหรือนายหน้าเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นการขอทำบัตรประจำตัวประเภทต่างๆ รวมถึงหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ต การทำบัตรอนุญาตทำงานและการขอเปลี่ยนนายจ้าง เป็นต้น โดยเฉพาะกรณีการเปลี่ยนนายจ้างควรกำหนดระยะเวลาให้ยาวนานขึ้นเป็น 3 เดือน เพื่อให้สอดคล้องกับการสามารถเลือกสภาพการทำงานที่ยุติธรรมไม่ถูกเอาเปรียบ
  4. ลดอัตราค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่แรงงานต้องจ่านเพื่อการมีเอกสารอยู่อาศัยและทำงาน ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอย่างสัมพันธ์กับค่าจ้างที่แรงงานได้รับ
  5. กำหนดให้บัตรอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติ ในเงื่อนไขพื้นที่การทำงานให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัดอย่างสอดคล้องกับลักษณะธรรมชาติการทำงาน เช่น แรงงานก่อสร้างต้องย้ายสถานที่ทำงานเป็นประจำ
  6. ให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างเคร่งครัดจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง

อนึ่ง เครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติเชียงใหม่ ประกอบด้วย กลุ่มแรงงานสามัคคี (WSA) สหพันธ์คนงานข้ามชาติ (MWF) กลุ่มพลังเยาวชนไทใหญ่ (Shan Youth Power) เครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ (SWAN) มูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง (EMPOWER) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP) และเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (MMN)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net