สุรพศ ทวีศักดิ์: ศีลธรรมอภิสิทธิชน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์เขียนไว้ในบทความ “ยุคเปลี่ยนผ่านวรรณกรรมไทย วรรณกรรมไทยยุคเปลี่ยนผ่าน” (ใน “สยามยาม (ไม่) เปลี่ยนผ่าน” น.93-94) ตอนหนึ่งว่า

การสังหารหมู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เกิดขึ้นอย่างโหดเหี้ยม รุนแรง เฉียบขาด แต่ก็จบลง อย่างรวดเร็วภายในเวลา 24 ชั่วโมง คือตั้งแต่เช้ามืดของวันที่ 6 ถึงก่อนพลบค่ำในวันเดียวกัน  แต่การไล่ล่าและเข่นฆ่าผู้ชุมนุมที่ราชดำเนินและราชประสงค์นั้นเป็นไปอย่างยืดเยื้อและ เลือดเย็น เกิดการปะทะย่อยๆ ในหลายจุด หลายครั้งหลายครา ในแต่ละชั่วโมง แต่ละวันที่ผ่าน ไป มีผู้ชุมนุม นักข่าว และผู้สังเกตการณ์ถูกยิงจากกองกำลังทหารที่โอบล้อมโดยรอบที่ชุมนุม จนล้มตายและบาดเจ็บทีละคนสองคน ยังไม่นับการลอบยิงด้วยทหารแม่นปืนเพื่อเด็ดชีพผู้ชุมนุม รายแล้วรายเล่า ทั้งหมดนี้ได้รับการแพร่ภาพถ่ายทอดไปทั่วโลก ท่ามกลางเสียงโห่ร้องยืนดีของ คนเมืองบางกลุ่ม และการนิ่งดูดายของบรรดาผู้อวดอ้างตนเองมาตลอดว่ารักสันติ ต่อต้านความ รุนแรง รักประชาชน และต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ความอำมหิตของเมษา-พฤษภา 2553 คือ  ความโหดเหี้ยมในการฆ่าของฝ่ายรัฐ และความเลือดเย็นของคนเมืองที่ปล่อยให้การเข่นฆ่า ดำเนินไปโดยไม่รู้ร้อนรู้หนาว


ที่มา : ประมวลภาพทหารเข้าสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง 10 เมษา
 

นอกจากนี้ชูศักดิ์ยังสะท้อนมุมมองต่อการสังหารโหดดังกล่าวผ่านบกวีของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เช่นว่า

ไม่ใช่ชนชั้นไพร่ไล่อำมาตย์
หากเป็นความพินาศแห่งยุคสมัย
เถื่อนอธรรมย่ำยีบีฑาไทย
อันอุกอาจอุบัติในใจกลางเมือง

และในอีกบทกวีหนึ่งที่เขาเรียกร้องให้คนไทยลุกขึ้นมาจัดการกับผู้ชุมนุม เพราะเชื่อว่าบุคคลเหล่านี้เป็นพวก "เถื่อนอธรรม" และ "ถ่อยอธรรม"

จงไททุกใจหาญ
เข้าเหิมท้าทุกเถื่อนอธรรม
...........................
ชูธงพระธรณิน
ขึ้นโต้ต้านทุกถ่อยอธรรม

ผมคิดว่าเนาวรัตน์มองเหตุการณ์ 6 ตุลา ผ่าน "แว่นเสรีภาพ ความเสมอภาค มนุษยธรรม" แต่เขามองเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 ผ่าน "แว่นศีลธรรมขาว-ดำ ธรรม-อธรรม" อันเป็นทรรศนะทางศีลธรรมที่เป็นฐานในการใช้ตัดสินถูก ผิดของฝ่ายจารีตนิยมที่ไม่ได้อยู่บนฐาน “ความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์” ซึ่งเป็นระบบความเชื่อทางศีลธรรมพุทธศาสนามรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ยังคงมีอิทธิพลครอบงำสังคมไทยอย่างทรงพลังยิ่ง

ระบบความเชื่อทางศีลธรรมดังกล่าวเกิดจากชนชั้นปกครองและพระสงฆ์ตีความพุทธศาสนาสนับสนุนความสูง-ต่ำทางชนชั้นตามลำดับความสูง-ต่ำของบุญบารมีที่ทำมาแต่ชาติปางก่อนไม่เท่ากัน ซึ่งเห็นได้จาก “ไตรภูมิพระร่วง” และทฤษฎี “ปกครองแผ่นดินโดยธรรม” ที่ปรับปรุงขึ้นโดยรัชกาลที่ 4 ที่ใช้มาจนปัจจุบันโดยเน้นการประชาสัมพันธ์ผ่านการเทศนาของพระสงฆ์ พิธีกรรมทางศาสนา ระบบการศึกษา สื่อมวลชน ฯลฯ ว่าพระมหากษัตริย์ทรงเปี่ยมด้วยทศพิธราชธรรมพร้อมๆ กับยอมรับสถานะที่อยู่เหนือการวิจารณ์ตรวจสอบ และยังสร้างประเพณีการยกย่องความดีของกษัตริย์เปรียบเทียบให้เห็นความเลวของนักการเมือง

เมื่อใช้ “แว่นศีลธรรมขาว-ดำ ธรรม-อธรรม” จึงทำให้มองคุณค่าของชีวิตมนุษย์ไม่เท่ากัน ฉะนั้น “กวีธรรม” อย่างเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อังคาร กัลยาณพงศ์ และนักศีลธรรมอื่นๆ ในบ้านเราจึงมองคนเสื้อแดงเป็นพวก “ถ่อยอธรรม” หรือ “เถื่อนอธรรม” เพราะเป็นขี้ข้าระบอบทักษิณและเป็นฝ่ายที่ไม่จงรักภักดี เป็นขบวนการล้มเจ้า พวกกวีธรรมและนักศีลธรรม คนดี กระทั่งนักสันติวิธีบางกลุ่มในบ้านเราจึงทั้งเชียร์ เงียบงำ นิ่งเฉยต่อการสังหารโหดในปี 2553 ปรากฏการณ์ที่มวลชนเสื้อแดงออกมาเรียกร้อง “การเลือกตั้ง” แต่ถูกสลายการชุมนุมด้วย “กระสุนจริง” อย่างโหดเหี้ยม กับปรากฏการณ์ที่มวลชน กปปส.ปฏิเสธการเลือกตั้งแต่ต้องการ “ยึดอำนาจรัฐ” หรือพยายามทำรัฐประหาร แต่รัฐบาล ตำรวจ และกองทัพต้องถอยให้จนสุดซอย จึงสะท้อนชัดเจนว่า “ค่าของชีวิตคนไม่เท่ากัน”  และ “เสียงของประชาชนไม่เท่ากัน”
 


ที่มา : ประมวลภาพมวลมหาประชาชน 09 ธ.ค.
 

นี่คือผลแห่งการต่อสู้ทางการเมืองบนมายาคติของการอ้าง “ศีลธรรมขาว-ดำ ธรรม-อธรรม” ซึงเป็น “ศีลธรรมอภิสิทธิชน” ที่งอกออกมาจากการยอมรับ “ความไม่เท่าเทียมในความเป็นคน” อันเป็นการตีความศีลธรรมอย่างขัดแย้งกับพุทธศาสนายุคแรกเริ่มที่ปฏิเสธระบบชนชั้น ยืนยันเสรีภาพและความเสมอภาคในความเป็นคน

แนวคิดทางศีลธรรมในโลกสมัยใหม่ของตะวันตกต่างถือว่าศีลธรรมงอกงามขึ้นมาได้จากการยอมรับ “ความเท่าเทียมในความเป็นคน” นักปรัชญาสมัยใหม่นิยามพระเจ้าไปในทางสนับสนุนสิทธิที่เท่าเทียม เช่น “สิทธิตามธรรมชาติเป็นสิ่งที่พระเจ้าให้มาแก่เราทุกคนอย่างเท่าเทียม” หรือ “มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันในสายตาของพระเจ้า” เป็นต้น

นับเป็นเรื่องน่าเศร้าที่แม้ในศตวรรษที่ 21 แล้ว พุทธศาสนาที่เคยมีวิญญาณขบถต่อจารีตระบบชนชั้น ยังคงถูกบิดเบือนใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อปกป้องความเป็นอภิสิทธิชนของสถาบันกษัตริย์ และอภิสิทธิชนของ “เสียงที่ดังกว่า” ซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อยในสังคม แม้กระทั่งบรรดาคนที่เคยต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมแก่คนข้างล่างของสังคม แต่พอเห็นบรรดาคนข้างล่างลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยตนเอง พวกเขากลับมองไม่เห็น “ความเป็นคน” ของคนข้างล่างเหล่านั้นเลย

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในโลกวันนี้วันสุข (21-27 ธ.ค.2556)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท