Skip to main content
sharethis

โจนาธาน เฮด จากสำนักข่าวบีบีซีวิเคราะห์เหตุความรุนแรงจากการประท้วงการจับฉลากหมายเลขผู้สมัครเลือกตั้ง ขณะที่รายงานข่าวระบุมีหลักฐานชี้ว่าผู้ชุมนุมบางคนมีอาวุธปืน ด้านองค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งต่างประเทศเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมยอมรับให้มีการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ปีหน้า

26 ธ.ค. 2556 สำนักข่าวบีบีซีรายงานเสถานการณ์ในประเทศไทยที่ผู้ประท้วงส่วนหนึ่งได้ใช้ความรุนแรงจนเป็นเหตุให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต พร้อมการแสดงความคิดเห็นของโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า เหตุเกิดในวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่มีการประท้วงในครั้งล่าสุด มีกลุ่มผู้ชุมนุมสุดขั้ว (hardcore) ขว้างปาก้อนหินใส่ตำรวจและมีหลักฐานว่าบางคนในกลุ่มนั้นมีอาวุธปืน พวกเขาพยายามลุกฝ่าเข้าไปในสนามกีฬาที่มีการจดทะเบียนพรรคการเมืองอยู่

โจนาธาน เฮด กล่าวถึงเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นว่า "ถ้าเป็นในประเทศอื่นที่ผู้ประท้วงโจมตีพื้นที่ทางการเกี่ยวกับการเลือกตั้งด้วยหนังสติ๊กและระเบิดทำมือ แต่กลับมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตจากกระสุนปืน จะเป็นการกระตุ้นให้ทางการโต้ตอบกลับอย่างจริงจัง อาจถึงขั้นประกาศภาวะฉุกเฉินหรือมีการวางกำลังในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่นในปี 2553"

"แต่สิ่งที่ว่ามาก็ไม่ได้เกิดในเมืองไทยตอนนี้" เฮดกล่าว "ผู้ชุมนุมพากันทำตามอำเภอใจด้วยการปิดถนน ยึดกระทรวงต่างๆ และบุกโจมตีสนามกีฬาที่กำลังมีพรรคการเมืองหลายพรรคเตรียมตัวกับการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย ซึ่งเรื่องนี้ชี้ให้เห็นชัดมากถึงสภาพการแบ่งขั้วของประเทศไทย"

ผู้สื่อข่าวบีบีซีกล่าวอีกว่าตำรวจไทยทำผลงานไม่ค่อยน่าพอใจเท่าไหร่ในการควบคุมฝูงชนและพวกเขาก็อยู่ภายใต้คำสั่งในการหลีกเลี่ยงไม่ให้มีความเสียหายต่อชีวิต เฮดกล่าวอีกว่าตำรวจยังเหนื่อยและเสียกำลังใจหลังจากถูกผู้ชุมนุมบีบคั้นมาหลายสัปดาห์ ตำรวจยังถูกผู้ชุมนุมมองว่าเป็นคนผู้ที่อยู่ข้างเดียวกับรัฐบาลและไม่ได้รับความเคารพ

เฮดกล่าวอีกว่ามีทหารอยู่ที่สนามกีฬานั้นด้วย แต่พวกเขาก็ยืนอยู่เฉยๆ และให้ตำรวจจัดการกับฝูงชน ซึ่งตรงจุดนี้เฮดมองว่ารัฐบาลไม่สามารถแสดงให้เห็นการสนับสนุนจากกองทัพซึ่งเป็นหนึ่งใน 'ผู้เล่น' ของการเมืองไทย

"รัฐบาลนี้แสดงให้เห็นว่าพวกเขาสามารถเอาชนะการเลือกตั้งได้ แต่ไม่สามารถสั่งการสถาบันที่มีอำนาจมากที่สุดในประเทศ (กองทัพ) ได้ และนั่นทำให้พวกเขามีทางเลือกน้อยลง" เฮดกล่าว

ทางด้านนิวยอร์กไทม์รายงานเรื่องกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งประเทศไทย (กกต.) เรียกร้องให้มีการเลื่อนเวลาการเลือกตั้งออกไป ขณะที่พรรคเพื่อไทยปฏิเสธและเรียกร้องให้ กกต.ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งนิวยอร์กไทม์ระบุอีกว่าการเลื่อนเวลาการเลือกตั้งออกไปอาจถือเป็นชัยชนะของผู้ชุมนุมที่ไม่ยอมรับการเลือกตั้ง

อิชาล สุปรียาดี ผู้อำนวยการเครือข่ายชาวเอเชียเพื่อการเลือกตั้งที่โปร่งใส (Asian Network for Free Elections หรือ ANFREL) ซึ่งเป็นองค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งกล่าวถึงกรณีนี้ว่า ในประเทศอื่นก็มีกรณีของคนที่ต่อต้านการเลือกตั้งเช่นกันซึ่งบางครั้งก็เป็นเรื่องความมั่นคง แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เขาเห็นว่ามีกลุ่มการเคลื่อนไหวโดยประชาชนที่ต่อต้านการเลือกตั้ง

อิชาลได้กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า การเลือกตั้งมีบทบาทเฉพาะที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตย และเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมปล่อยให้มีการเลือกตั้งตามกระบวนการ อิชาลซึ่งเป็นชาวอินโดนีเซียกล่าวอีกว่าในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยได้แสดงให้เห็น 'ความเป็นมืออาชีพ' ในด้านการจัดการเลือกตั้ง

"พวกเราไม่ได้เลือกข้าง แต่พวกเราเชื่อว่าการเลือกตั้งเป็นกลไกเดียวที่ทำให้บุคคลทุกคนในประเทศไทยได้มีสิทธิ์" อิชาลกล่าว

 


เรียบเรียงจาก

Thailand protests: Yingluck government rejects election delay, BBC, 26-12-2013
http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-25519328

Thai Election Body Urges Delay in Polls Amid Violence, New York Times, 26-12-2013
http://www.nytimes.com/2013/12/27/world/asia/thailand.html?hp

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net