Skip to main content
sharethis

ศาลสั่งการตาย ‘มานะ แสนประเสริฐศรี’ อาสาปอเต็กตึ๊ง 'พรสวรรค์ นาคะไชย' และ ‘สมชาย พระสุพรรณ’ เหยื่อกระสุนสลายการชุมนุมแดง พ.ค. 53 ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือยิง

27 ธ.ค.2556 เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอ่านคำสั่งคดีหมายเลขดำที่ ช.4/2556 ที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายสมชาย พระสุพรรณ อายุ 43 ปี อาชีพช่างซ่อมรองเท้า ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตบริเวณเชิงสะพานลอยคนข้าม ปากซอยปลูกจิต ใกล้ปั๊มน้ำมัน ปตท. ถ.พระราม 4 กทม. 16 พ.ค. 2553

ศาลอ่านคำสั่งการไต่สวนการตายสรุปได้ว่า ระหว่างวันที่ 12 มี.ค. - 19 พ.ค. 2553 มีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ที่ถนนราชดำเนิน  เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาและจัดเลือกตั้งใหม่ แต่นายกฯ ปฏิเสธ จากนั้นวันที่ 7 เม.ย. 2553 รัฐบาลออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพ และอีกหลายพื้นที่ นายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งที่ พิเศษ 1/2553 จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เป็นผู้อำนวยการ และออกคำสั่งที่ พิเศษ 2/2553 แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และศอฉ.ประกาศข้อกำหนด ห้ามชุมนุม ยุยงให้เกิดความไม่สงบ ประกาศห้ามใช้เส้นทางคมนาคมและยานพาหนะ รวมทั้งตัดน้ำ ตัดไฟ ลดการใช้เรือโดยสารสาธารณะ รถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดิน

ต่อมาในวันที่ 14 พ.ค. 2553 ศอฉ. มีคำสั่งให้กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) เข้าปิดล้อมและสกัดกั้นกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ตามแนวถนนพระราม 4 โดยมีทหารจากกองพันทหารม้าที่ 5 รักษาพระองค์ ร่วมปฏิบัติการด้วย โดยวางกำลังบนถนนพระราม 4 หน้าสนามมวยลุมพินีและหน้าศูนย์รถยนต์วอลโว่ ซึ่งขณะนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมถอยไปอยู่บริเวณใต้ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ด่วนพระราม 4)

ในวันที่ 16 พ.ค. เวลากลางวัน  ขณะที่เจ้าพนักงานของ ศอฉ. เข้ากำลังดำเนินการเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณก่อนถึงสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ใกล้สนามมวยลุมพินี และใต้สะพานไทย-เบลเยียม ถนนพระราม 4 นายสมชาย พระสุพรรณ ผู้ตาย ซึ่งเป็นประชาชนเดินอยู่บริเวณปากซอยปลูกจิต ถนนพระราม 4 ถูกยิงด้วยกระสุน ปืนที่บริเวณศีรษะ ได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายที่ รพ.เลิดสิน

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าเหตุและพฤติการณ์แห่งการตายของผู้ตายเป็นอย่างไร เห็นว่าพยานสองปากที่ร่วมชุมนุมอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุขณะผู้ตายถูกยิง เบิกความว่าได้ยินเสียงปืนดังมาจากฝั่งของเจ้าหน้าที่พนักงาน พยานจึงเชื่อว่าเจ้าพนักงานเป็นผู้ยิงปืน หลังเกิดเหตุมีผู้เชี่ยวชาญออกตรวจสถานที่เกิดเหตุบริเวณถนนพระราม 4 ตั้งแต่สะพานไทย-เบลเยียม ถึงใต้ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ด่วนพระราม 4)  ทั้งสองฝั่ง พบรอยกระสุนปืนตามประตู อาคารบ้านเรือน ป้ายแขวนหน้าร้านค้า ราวสะพานลอย ป้ายบอกทาง ต้นไม้ เสาไฟฟ้า และตู้โทรศัพท์สาธารณะประมาณ 50 รอย เป็นรอยกระสุนปืนขนาด .223 และกระสุนลูกปราย มีแนววิถีกระสุนมาจากด้านสะพานไทย-เบลเยียม และแยกวิทยุไปทางด้านใต้ทางด่วนพระราม 4 และพบรอยกระสุนปืนที่มีวิถีกระสุนมาจากด้านใต้ทางด่วนพระราม 4  หรือด้านคลองเตย ยิงไปทางแยกวิทยุเช่นกัน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าบริเวณที่เกิดเหตุมีแนววิถีกระสุนปืนยิงมาจากทั้งสองฝั่งดังกล่าว

มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่าผู้ตายถูกยิงด้วยกระสุนปืนชนิดและขนาดใด มีแนววิถีกระสุนปืนอย่างไรและใครเป็นผู้กระทำ ได้ความจากแพทย์ผู้ตรวจรักษาว่าผู้ตายมีแบาดแผลถูกยิงที่ศีรษะ กระสุนฝังใน สาเหตุการตายเนื่องจากกระสุนปืนทำลายเนื้อสมองรุนแรง และเนื่องจากแพทย์ไม่ได้ผ่าตัดนำกระสุนปืนออกมาตรวจพิสูจน์ จึงไม่อาจฟังยุติได้ว่าผู้ตายถูกยิงด้วยกระสุนปืนชนิดและขนาดใด ส่วนแนววิถีกระสุนปืนนั้นได้ความจากพยานในที่เกิดเหตุว่า ได้ยินเสียงปืนดังมาจากทิศทางที่เจ้าพนักงานวางกำลังอยู่ พยานเชื่อว่ากระสุนปืนที่ยิงถูกผู้ตายมีทิศทางมาจากฝั่งเจ้าพนักงาน เนื่องจากในบริเวณดังกล่าวมีแต่ฝ่ายเจ้าพนักงานเท่านั้นที่มีอาวุธ แต่พยานผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ที่ออกตรวจสถานที่เกิดเหตุ เบิกความว่าไม่สามารถยืนยันได้ว่าวิถีกระสุนปืนที่ยิงถูกผู้ตายมาจากทิศทางใดเนื่องจากไม่ทราบตำแหน่งที่แน่นอนของผู้ตาย และแพทย์ผู้ตรวจรักษาเบิกความว่า เมื่อดูจากบาดแผลแล้วไม่สามารถยืนยันได้ว่าวิถีกระสุนปืนที่ยิงถูกผู้ตายยิงมาจากทิศทางใด

ศาลวินิจฉัยมาแล้วข้างต้นว่า ในที่เกิดเหตุมีแนววิถีกระสุนปืนจากทางด้านสะพานไทย-เบลเยียมและแยกวิทยุ ยิงไปทางด้านใต้ทางด่วนพระราม 4 และมีแนววิถีกระสุนปืนจากใต้ทางด่วนพระราม 4 หรือด้านคลองเตย ยิงไปทางสะพานไทย-เบลเยียมและแยกวิทยุเช่นกัน เมื่อไม่ปรากฎข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลักษณะท่าทางและตำแหน่งที่แน่นอนของผู้ตายขณะถูกยิง ดังนั้น ลำพังคำเบิกความของพยานในที่เกิดเหตุว่าได้ยินเสียงปืนดังมาจากทิศทางที่เจ้าพนักงานวางกำลังอยู่ จึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะเชื่อได้ว่ากระสุนปืนที่ยิงถูกผู้ตายถูกยิงมาจากด้านที่เจ้าพนักงานวางกำลังอยู่หรือด้านสะพานไทย-เบลเยียม

สำหรับรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งตรวจบริเวณตึกแถว 4 ชั้น ระหว่างปากซอยปลูกจิตจนถึงบริเวณหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ ปากซอยปลูกจิต 1 ริมถนนพระราม 4 ฝั่งมุ่งหน้าทางด่วนพระราม 4 พบรอยกระสุนปืนหลายแห่งโดยเป็นบริเวณเดียวกันกับที่ผู้ตายถูกยิงหน้าปากซอยปลูกจิต แม้ตามรายงานดังกล่าวจะระบุว่า รอยกระสุนปืนดังกล่าวถูกยิงมาจากฝั่งแยกวิทยุมุ่งหน้าใต้ทางพิเศษเฉลิมมหานครก็ตาม แต่ก็ยืนยันไม่ได้ว่ารอยกระสุนปืนดังกล่าวถูกยิงมาในคราวเดียวกันกับที่ยิงถูกผู้ตาย ข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนยังไม่อาจฟังเป็นที่ยุติได้ว่ากระสุนปืนที่ยิงถูกผู้ตายมีแนววิถีกระสุนอย่างไร

ส่วนปัญหาว่าใครเป็นผู้กระทำนั้น ได้ความจากพยานที่อยู่ในที่เกิดเหตุ ว่าพยานทั้งสองไม่เห็นคนยิงผู้ตาย คงได้ยินเพียงเสียงปืนดังมาจากทิศทางซึ่งเจ้าพนักงานวางกำลังอยู่ และพยานเชื่อว่าผู้ตายถูกกระสุนปืนของเจ้าพนักงาน เนื่องจากในบริเวณดังกล่าวมีแต่เจ้าพนักงานเท่านั้นที่มีอาวุธ นั่นก็เป็นความเชื่อของพยานทั้งสอง แต่จะรับฟังเป็นจริงได้ต้องมีหลักฐานอื่นประกอบ ส่วนที่ภริยาผู้ตายเบิกความว่าเห็นเจ้าพนักงาน 3-4 คน ยืนอยู่บริเวณหน้าสนามมวยลุมพินี ในมือถืออาวุธปืน หลังจากนั้นได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 3-4 นัด ก็ไม่ใช่เหตุการณ์ขณะที่ผู้ตายถูกยิงแต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง เมื่อไม่มีหลักฐานอื่นมาประกอบหรือสนับสนุนคำเบิกความของพยานดังกล่าว จึงยังไม่อาจฟังได้ว่าผู้ตายถูกกระสุนปืนของเจ้าพนักงานดังที่พยานทั้งสามเข้าใจ ส่วนแผ่นวีดีทัศน์บันทึกภาพอันเป็นวัตถุพยาน ภาพที่ปรากฏก็ไม่อาจยืนยันได้ว่าใครเป็นคนยิงผู้ตาย อีกทั้งศาลได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นว่าไม่ปรากฎแน่ชัดว่ากระสุนปืนที่ยิงถูกผู้ตายมีแนววิถีกระสุนอย่างไร ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนจึงไม่อาจรับฟังเป็นยุติได้ว่าใครเป็นผู้ยิงผู้ตาย จากข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงรับฟังได้ว่า ผู้ตายถูกยิงด้วยกระสุนปืนไม่ทราบชนิดและขนาด โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีแนววิถีกระสุนอย่างไรและใครเป็นผู้กระทำ

จึงมีคำสั่งว่าผู้ตาย คือ นายสมชาย พระสุพรรณ ถึงแก่ความตายที่ รพ.เลิดสิน แขวงสีลม เขตบางรัก กทม. เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2553 เวลา 09.30 น. เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายเนื่องจากถูกยิงด้วยกระสุนปืนไม่ทราบชนิดและขนาดที่บริเวณศีรษะ กระสุนปืนทำลายสมองรุนแรง ขณะอยู่ที่ปากซอยปลูกจิต ถนนพระราม 4 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กทม. ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการชุมนุมทางการเมือง โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ


ศาลสั่งอาสาปอเต็กตึ๊งกับผู้บาดเจ็บที่บ่อนไก่ เสียชีวิตด้วยกระสุนปืนร้ายแรง-ความเร็วสูง แต่ไม่รู้ใครยิง

วันเดียวกัน เวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอ่านคำสั่งคดีหมายเลขดำที่ ช.1/2556  ที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายมานะ แสนประเสริฐศรี ผู้ตายที่ 1 และนายพรสวรรค์ นาคะไชย ผู้ตายที่ 2 ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณปากซอยงามดูพลี ถนนพระราม 4 ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553

ศาลอ่านคำสั่งการไต่สวนการตายสรุปได้ว่า ระหว่างวันที่ 12 มี.ค. - 19 พ.ค. 2553 มีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ที่ถนนราชดำเนิน  เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาและจัดเลือกตั้งใหม่ แต่นายกฯ ปฏิเสธ จากนั้นวันที่ 7 เม.ย. 2553 รัฐบาลออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพ และอีกหลายพื้นที่ นายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งที่ พิเศษ 1/2553 จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เป็นผู้อำนวยการ และออกคำสั่งที่ พิเศษ 2/2553 แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และศอฉ.ประกาศข้อกำหนดห้ามกระทำการต่างๆ

ต่อมาวันที่ 14 พ.ค. 2553 เวลาประมาณ 17.00 น. ฝ่ายตรงข้ามกับทหารมีการยิงปืนมาจากที่สูงโดยใช้เครื่องยิงลูกระเบิดชนิดเอ็ม 79 และอาวุธปืนเอเค 47 หรืออาก้า มาทางกลุ่มทหารอย่างต่อเนื่องจนเป็นเหตุให้ทหารได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดเอ็ม 79 กระทั่งเวลาประมาณเที่ยงคืน กลุ่ม นปช. มีการเผารถขยะและยางรถยนต์บนถนนพระราม 4

วันที่ 15 พ.ค.2553 ขณะที่ทหารกองพันทหารม้าที่ 5 รักษาพระองค์ กำลังดำเนินการผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. เพื่อขอคืนพื้นที่บริเวณสะพานลอยไทย-เบลเยียม ถนนพระราม 4 เกิดการปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม และกลุ่มผู้ชุมนุมได้ยิงพลุและอาวุธใส่เจ้าพนักงาน เจ้าพนักงานจึงใช้อาวุธปืนเล็กยาวเอ็ม 16 และอาวุธปืนลูกซองยิงตอบโต้ไปยังกลุ่มผู้ชุมนุม  โดยใช้กระสุนซ้อมรบและกระสุนยาง

ในขณะนั้นนายมานะ แสนประเสริฐศรี อาสาสมัครกู้ภัยมูลนิธิปอเต็กตึ้งได้ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บคนอื่น รวมทั้งนายพรสวรรค์ นาคะไชย ซึ่งถูกกระสุนปืนที่ชายโครงขวาทะลุหลังด้านขวา บริเวณปากซอยงามดูพลี ถนนพระราม 4 เพื่อส่งโรงพยาบาล ขณะนายมานะ และนายอัฐชัย ทัพจีน เจ้าหน้าที่มูลนิธิปอเต็กตึ้งอีกคนหนึ่งกำลังช่วยเหลือผู้บาดเจ็บรวมทั้งนายพรสวรรค์ ระหว่างนั้นนายมานะ ถูกกระสุนปืนยิงเข้าที่ศีรษะจนถึงแก่ความตาย เมื่อนำนายพรสวรรค์ส่งโรงพยาบาลแล้ว ต่อมานายพรสวรรค์ได้ถึงแก่ความตาย

มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าเหตุและพฤติกรรมแห่งการตายเป็นอย่างไร เห็นว่าพยานผู้ร้องทุกปากต่างไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้ตายทั้งสองถูกยิงด้วยปืนและกระสุนปืนชนิดและขนาดใด เมื่อพิจารณาจากความรุนแรงและความเร็วของหัวกระสุนปืนที่สามารถทะลุผ่านหมวกนิรภัย ประกอบกับบาดแผลที่หัวกระสุนทะลุผ่านและบาดแผลของนายพรสวรรค์แล้ว เชื่อว่าอาวุธปืนและกระสุนที่ใช้ยิงผู้ตายทั้งสองเป็นอาวุธปืนและกระสุนปืนชนิดร้ายแรงและมีความเร็วสูง แต่ไม่ทราบว่าเป็นชนิดและขนาดใด

ส่วนพฤติการณ์แห่งการตายของผู้ตายทั้งสองเป็นอย่างไรนั้นเห็นว่า ขณะเกิดเหตุมีการเผารถขยะ เผายางรถยนต์ทั้งปรากฏว่าไฟที่ไหม้ได้ลามไปยังเสาไฟฟ้าหม้อแปลงจนเกิดการระเบิดอย่างรุนแรงและลามไปไหม้ที่ทำการธนาคารกสิกรไทย สาขาพระราม 4 มีควันสีดำลอยอยู่ในบริเวณดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

ประกอบกับได้ความจากนายนิติพันธ์ สุขอรุณ ซึ่งเป็นสื่อมวลชนและเป็นพยานคนกลางเบิกความว่า เวลาหลังบ่าย 2 เริ่มมีเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะๆ แต่จับไม่ได้ว่าดังมาจากฝั่งไหน และไม่เห็นว่าบริเวณปากซอยงามดูพลีมีคนยืนอยู่หรือไม่ เพราะควันไฟบังไว้ ดังนั้น เชื่อว่าผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้งสองฝั่งไม่สามารถมองเห็นเหตุการณ์ได้ชัดเจน จึงไม่สามารถยืนยันได้ว่าใครเป็นคนยิงผู้ตายทั้งสอง ส่วนสาเหตุที่ทหารมีการใช้อาวุธปืนยิงกลุ่ม นปช. ได้ความว่า ปรากฏจากภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า วิถีกระสุนปืนถูกยิงมาจากถนนพระราม 4 ด้านคลองเตย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่กลุ่ม นปช. ประจำอยู่ มายังสี่แยกวิทยุ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เจ้าพนักงานทหารประจำการอยู่หลายรอย โดยมีวิถีกระสุนปืนเฉียงลงในลักษณะถูกยิงมาจากที่สูง ปรากฏตามภาพจำลองวิถีกระสุน เชื่อว่ามีบุคคลฝ่ายตรงข้ามกับทหารปะปนอยู่ในกลุ่ม นปช. ใช้อาวุธชนิดร้ายแรงและความเร็วสูงยิงมาจากที่สูงเช่นเดียวกับเจ้าพนักงานทหาร

ส่วนเทปบันทึกภาพที่ปรากฏภาพทหาร 2 คน กำลังยิงปืนนั้น ก็ไม่มีพยานผู้พบเห็นเหตุการณ์ปากใดยืนยันได้แน่ชัดว่าทหารคนดังกล่าวเป็นผู้ใช้ปืนยิงผู้ตายทั้งสอง ทั้งนายนิติพันธ์ ซึ่งเป็นพยานคนกลางและเป็นผู้บันทึกเทปดังกล่าวก็ไม่ได้ยืนยันว่า คนที่ถูกทหารยิงและล้มลง คือนายมานะ หรือนายพรสวรรค์ และยังไม่ได้ความแน่ชัดอีกว่า ขณะที่ทหารใช้อาวุธปืนยิงไปยังกลุ่ม นปช. เป็นเวลาเดียวกันกับเวลาที่นายมานะ หรือนายพรสวรรค์ถูกยิง ข้อเท็จจริงจึงยังไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้ตายทั้งสองถูกยิงจากฝ่ายใด และบุคคลใดเป็นผู้กระทำให้ผู้ตายทั้งสองถึงแก่ความตาย

จึงมีคำสั่งว่า นายมานะ แสนประเสริฐศรี ถึงแก่ความตายบริเวณใกล้ปากซอยงามดูพลี ถนนพระราม 4 เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553 เวลาประมาณ 16.00 น. เหตุและพฤติการแห่งการตาย สืบเนื่องจากบาดแผลกระสุนทำลายสมอง ส่วนนายพรสวรรค์ นาคะไชย ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลเลิดสิน เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553 เวลา 19.45 น. เหตุและพฤติการณ์แห่งการตาย สืบเนื่องจากบาดแผลกระสุนปืนเข้าช่องท้อง ตับฉีกขาด เสียเลือดมาก โดยผู้ตายทั้งสองถึงแก่ความตาย เพราะถูกยิงด้วยกระสุนปืนชนิดร้ายแรงและมีความเร็วสูง ขณะอยู่บริเวณใกล้ปากซอยงามดูพลี ถนนพระราม 4 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net