Skip to main content
sharethis

29 ธ.ค.2556  เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา กลุ่ม iPeace ซึ่งระบุตัวตนเป็นเครือข่ายสามัญชนที่ปรารถนาจะเห็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างสันติวิธี ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 และเชิญชวนประชาชนทั่วไปเข้าร่วมลงชื่อในเฟซบุ๊ก (คลิ๊กที่นี่)  เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุข้อเสนอต่อส่วนต่าง อาทิ ผู้ชุมนุม กปปส. รัฐบาล ตำรวจ สื่อมวลชน ประชาชนทั่วไป

รายละเอียดแถลงการณ์มีดังนี้

 

แถลงการณ์กลุ่ม iPeace ฉบับที่ 1

กลุ่ม iPeace เป็นเครือข่ายสามัญชนที่ปรารถนาจะเห็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างสันติวิธี และปฏิเสธการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองของตน เราเห็นว่าการบ่มเพาะ “ความเกลียดชัง” ไม่อาจนำไปสู่การแก้ปัญหาใดๆ หากสถานการณ์ยังคงดำเนินไปในทิศทางที่เป็นอยู่ เราก็กำลังก้าวเข้าสู่สภาวะสงครามกลางเมืองในไม่ช้า 

เราเห็นว่า เรายังคงมีความหวังแม้อาจจะยังดูริบหรี่ ว่าเราจะก้าวไปสู่สังคมประชาธิปไตยโดยไม่ใช้ความรุนแรงได้ ด้วยความเชื่อมั่นในการจัดการความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง และใส่ใจต่อชีวิตทุกชีวิตที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสังคมประชาธิปไตย เรามีความเห็นและข้อเสนอต่อกลุ่มต่างๆ เพื่อจะผ่านภาวะตึงเครียดอันอาจนำไปสู่สงครามกลางเมืองครั้งนี้ไปด้วยกัน 

ข้อเสนอต่อผู้ชุมนุม กปปส. และเครือข่าย 
หากผู้ชุมนุมยืนยันที่จะใช้สันติวิธีในการเคลื่อนไหวต่อไป 

1. ไม่สนับสนุนกลุ่มที่เคลื่อนไหวด้วยความรุนแรงและใช้อาวุธ และมีมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดต่อผู้ชุมนุมกลุ่มที่ไม่ยึดมั่นในแนวทางสันติอหิงสา 

2. ใช้วิจารณญาณในการติดตามข่าวสาร ตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงสม่ำเสมอ เพื่อรักษาระดับคุณภาพการชุมนุมของกลุ่มตนเองไว้ 

3. ออกจากพื้นที่แห่งความเกลียดชังที่บ่มเพาะโดยแกนนำ มีสติในการเข้าร่วมชุมนุม ไม่ปล่อยให้อารมณ์เกลียดชังเข้าครอบงำจนมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของคนที่เห็นต่าง

4. ส่งสารถึงแกนนำและคนอื่นๆ ว่า เราไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการก่อความรุนแรงไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เราไม่ต้องการสนับสนุนการเคลื่อนไหวที่ใช้หรือมีแนวโน้มยั่วยุฝ่ายตรงข้ามให้ใช้ความรุนแรง

5. ไม่นำเด็กมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง กลุ่ม iPeace รู้สึกกังวลต่อการที่ผู้ปกครองนำเด็กไปชุมนุมด้วยเป็นนิจ หรือการให้เด็กกล่าวปราศรัย หรือร้องเพลงบนเวทีปราศรัย

6. งดใช้ hate speech หรือถ้อยคำที่กระตุ้นให้เกิดการกระทำความรุนแรงต่อผู้คิดต่างในทุกกรณี
 

ข้อเสนอต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ/ผบช. 

1. ขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้น้อยที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างอดทนอดกลั้น กลุ่ม iPeace ขอเสนอต่อผู้บัญชาการตำรวจว่า ควรสับเปลี่ยนกำลังเจ้าหน้าที่ที่ยังไม่บอบช้ำจากการทำงานในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา มาปฏิบัติการ และควรเปลี่ยนกำลังเจ้าหน้าที่ให้บ่อยขึ้นเพื่อป้องกัน"การหลุด" จากวินัยโดยไม่ตั้งใจ

2. ในประเทศประชาธิปไตย เมื่อผู้ชุมนุมบุกพื้นที่ที่ตกลงกันแล้วว่าห้ามล่วงล้ำ (protest permit) ถือว่าผิดกฎหมาย และเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติตามขั้นตอนควบคุมผู้ชุมนุมได้ ตั้งแต่เจรจา ใช้เสียงรบกวน ฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา หรือสารเคมีที่ทำให้แสบตา สำหรับกระสุนยางนั้น ยังเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันอยู่ แต่ถือว่ามีใช้กัน เจ้าหน้าที่ควบคุมผู้ชุมนุมอาจมีกระบอกหรือปืนไฟฟ้าช็อต (Taser) จากสถานการณ์ที่ปรากฏ กลุ่ม iPeace เห็นว่าการใช้แก๊สน้ำตาของเจ้าหน้าที่ถือว่ายังอยู่ในมาตรฐานสากล ตราบเท่าที่ปืนที่ยิงแก๊สน้ำตาได้มาตรฐานและไม่ทำให้คนตาย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ใช้แก๊สน้ำตาผ่านการฝึกและมีอุปกรณ์ป้องกันตัวในการควบคุมการชุมนุมที่ได้มาตรฐาน

3. แม้การใช้กระสุนยางจะมีการใช้กันเป็นขั้นตอนการสลายการชุมนุมตามหลักสากล (ขั้นสูงสุด) แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน การใช้กระสุนยางจะยิ่งส่งสัญญาณให้ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงโต้ตอบ กลุ่ม iPeace เห็นว่าเจ้าหน้าที่ควรกลับไปที่การใช้แก๊สน้ำตา แต่ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และถี่กว่าเดิม
 

ข้อเสนอต่อ กทม.

1. กทม. ควรให้ความร่วมมือในการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนในกรุงเทพฯ ดังระบุอยู่ในอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร
 

ข้อเสนอต่อรัฐบาล

1. ศอ.รส. ในฐานะผู้ดูแลสถานการณ์ของรัฐบาล จะต้องไม่โหมกระพือความโกรธแค้นของคู่ขัดแย้ง โดยจะต้องยืนยันหลักการประชาธิปไตย การควบคุมฝูงชนตามหลักการสากล และมีมาตรการเพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับปฏิบัติการและผู้ชุมนุม

2. ทำความจริงให้ปรากฏ ดำเนินการตรวจสอบเหตุการณ์บาดเจ็บล้มตายที่เกิดขึ้นอย่างเป็นกลาง ทั้งกรณีเหตุการณ์ที่รามคำแหงเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2556 เหตุการณ์ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดงสถานที่สมัครรับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. และล่าสุดวันที่ 28 ธ.ค. ที่สะพานชมัยมรุเชษฐ์ กลุ่ม iPeace เสนอว่าควรมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนหาความจริง (inquiry committee) ควบคู่กับกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต ถือเป็น “คู่กรณี” จึงต้องมีกระบวนการสอบสวนควบคู่กับกระบวนการยุติธรรมตามปรกติ และจะต้องเปิดเผยผลการตรวจสอบโดยเร็วหรือตามกรอบเวลาที่กำหนด


ข้อเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

1. ควรปฏิบัติหน้าที่โดยยึดถือหลักการประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนสากลเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งในสังคม
 

ข้อเสนอต่อสื่อมวลชน

1. นำเสนอข่าวสารโดยตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างระมัดระวัง มีจริยธรรมในการทำข่าว ไม่เป็นส่วนหนึ่งของการโหมกระพือความขัดแย้งอันจะนำไปสู่ความรุนแรง


ข้อเสนอต่อพี่น้องประชาชนกลุ่มอื่นๆ 

1. อดกลั้นต่อพฤติกรรมของผู้ชุมนุม กปปส. และเครือข่าย กลุ่ม iPeace เห็นว่าการโหมกระพือความเกลียดชังใส่กันรังแต่จะทำให้สถานการณ์แย่ลง เราควรเปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมก้าวออกมาจากการสนับสนุนการเคลื่อนไหวที่ใช้ความรุนแรง มากกว่าผลักเขาให้รวมกลุ่มกันอย่างแน่นหนาขึ้น 

2. การ "เอาคืน" ด้วยความรุนแรง จะนำพาให้สถานการณ์สับสนวุ่นวาย และทำให้รัฐบาลรักษาการเผชิญความยากลำบากในการดูแลสถานการณ์มากขึ้น อนึ่ง รัฐบาลรักษาการยังมีหน้าที่ในการดูแลสวัสดิภาพทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทุกฝ่าย ทั้งผู้ที่มาร่วมชุมนุม และประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม

3. กลุ่ม iPeace เห็นว่าทางออกในเวลานี้ คือการยืนยันการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ขอเสนอให้ร่วมกันสร้างระบบกลไกเครือข่ายภาคประชาชนในทุกจังหวัด เพื่อตรวจสอบและเฝ้าระวังทั้งการเลือกตั้งและการบริหารประเทศของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ให้มีความโปร่งใส ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งในเชิงระบบและเชิงนโยบา

4. แสดงตัวว่าเราต้องการปกป้องประชาธิปไตยด้วยการไม่ใช้ความรุนแรง ไม่สนับสนุนการสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง ไม่ว่าจะจากฝ่ายไหน ไม่สนับสนุนให้มีการเผชิญหน้าในทุกกรณี

กลุ่ม iPeace ยินดีเปิดรับความคิดเห็นจากเพื่อนพี่น้องประชาชนทุกท่าน ในการเสนอแนวทางเพื่อหยุดความรุนแรง เพื่อนำเสนอต่อสังคมต่อไป
 

ด้วยเคารพในทุกชีวิตผู้สูญเสียในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง

29 ธันวาคม 2556

กลุ่ม iPeace

1. กิตติชัย งามชัยพิสิฐ
2. จันจิรา สมบัติพูนศิริ
3. ชาญชัย ชัยสุขโกศล
4. พัชรี อังกูรทัศนียรัตน์
5. พิภพ อุดมอิทธิพงศ์
6. พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ
7. ภัควดี วีระภาสพงษ์
8. วิจักขณ์ พานิช
9. วิรพา อังกูรทัศนียรัตน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net