Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การรับรู้สถานการณ์การเมืองในเมืองไทยที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้ บทบาทของสื่อต่างประเทศนับว่ามีส่วนสำคัญ อย่างยิ่งในการส่งสาส์นหรือข่าวสาร รวมถึงความคิดเห็นต่างๆให้คนรับสื่อที่ไม่ใช่คนไทยทราบ โดยเฉพาะ คนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศที่ได้รับอานิสงฆ์จากข่าวสารเหล่านี้ ซึ่งไม่เพียงแต่อานิสงฆ์ ดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ยังส่งถึงหน่วยงานหรือองค์กรของรัฐบาลในต่างประเทศด้วย

เช่น หากจะพูดถึงในส่วนของอเมริกา นอกเหนือจากคนอเมริกันทั่วไปจะได้รับอานิสงฆ์จากข่าวสารของสื่อต่างประเทศที่รายงานตรงไปจากเมืองไทยมาสู่สหรัฐฯแล้ว หน่วยงานด้านต่างประเทศและหน่วยงานความมั่นคงของอเมริกันยังพลอยได้รับอานิสงฆ์ไปด้วย

ขณะที่อุณหภูมิการเมืองของไทยกำลังเดือดพล่าน พร้อมกับการเสนอข่าวสารวิจารณ์เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยของสื่อต่างประเทศที่เข้ามาปักหลักรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่องนั้น สื่อต่างประเทศได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากคนไทยกลุ่มหนึ่งว่า ไม่รู้เรื่องเมืองไทยดีเท่าคนไทย ด้วยกันเอง ซึ่งท่าทีของคนไทยกลุ่มเดียวกันนี้แสดงออกถึงการคัดค้านความเห็นของสื่อต่างประเทศ หลายสำนักที่เข้าไปรายงานสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังดำเนินไปในขณะนี้ ด้วยเหตุที่สื่อนอกเหล่านี้ส่วนมาก วิจารณ์เชิงลบต่อการชุมนุมประท้วงรัฐบาลไทยของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.)

ตัวอย่างของข้อวิจารณ์ดังกล่าว เช่น  สื่อต่างประเทศบางสำนักมองว่าการประท้วงของกลุ่มกปปส. กำลังนำประชาธิปไตยในประเทศไทยเดินถอยหลัง เนื่องจากเป็นการเรียกร้องที่ที่ไม่มีจุดอ้างอิงตามหลัก ประชาธิปไตย ซึ่งก็คือเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้ยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้กับ ประชาชนไปแล้ว แต่กลุ่มผู้ประท้วงที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอมรับกระบวนการที่มีอยู่ในกฎหมาย รัฐธรรมนูญไทย หากยังคงตั้งหน้าตั้งตาบีบให้รัฐบาลต้องลาออกทั้งคณะเพื่อให้เป็นสูญญากาศทางการ เมือง พร้อมๆกับการเสนอให้มีการจัดตั้งสภาประชาชน ซึ่งสภาดังกล่าวเป็นสภาของเสียงข้างน้อย และยังไม่มีรายละเอียดมากนัก สื่อต่างประเทศส่วนหนึ่งมีมุมมองว่า เป็นเพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคย ชนะการเลือกตั้งในรอบหลายปีที่ผ่านมา  เช่นเดียวการบอยคอตไม่ลงรับสมัครเลือกตั้งของพรรคเดียวกันนี้ในการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์  2557  ลึกๆแล้วมีเหตุจากความกังวลว่าผลการเลือกตั้งที่ออกมาจะเป็นแบบเดิม  คือ แพ้พรรคเพื่อไทย

พรรคประชาธิปัตย์ ในสายตาของสื่อต่างประเทศจำนวนหนึ่ง จึงกลายเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมที่มี นโยบายเดินย้อนอดีต เพราะปฏิเสธการเลือกตั้งแบบหนึ่งคนหนึ่งเสียงตามข้อเสนอของนักวิชาการในเครือข่ายของพรรคบางคน  แม้พรรคจะอ้างถึงความไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรมของการเมืองไทย เช่น การซื้อเสียง แต่เป็นการอ้างในช่วงที่พรรคทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ไม่มีการกล่าวถึงพฤติกรรมคราวการเลือกตั้งในอดีตของพรรค

นอกจากนี้สื่อต่างประเทศ ที่เป็นสื่อกระแสหลัก เช่น New York Times,  BBC,   CNN, Reuters  และ Al Jazeera   ยังได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุความขัดแย้งในประเทศไทยว่า เป็นเพราะการพยายามยื้ออำนาจในการปกครองของชนชั้นนำและชนชั้นกลางเก่า โดยเฉพาะชนที่อยู่ในกรุงเทพ ขณะสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการศึกษาในต่างจังหวัดเปลี่ยนแปลงไป มากด้วยอิทธิพลของนโยบายกระจายทุนในช่วงของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

“พวกชนชั้นนำและชนชั้นกลางเก่าในกรุงเทพยังคิดว่า คนต่างจังหวัดยังคงไร้การศึกษา และไร้ความคิดเหมือนเมื่อ 20  ปีที่แล้ว แม้ว่าคนต่างจังหวัดซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ จะมีความคิดก้าวหน้ากว่าชนชั้นนำและชนชั้นกลางเก่าเชิงการสนับสนุนประชาธิปไตย โดยข้อตำหนิของชนชั้นนำเดิมมุ่งไปที่ความเลวร้ายของทุนและการซื้อเสียง ซึ่งนับเป็นความคิดที่ล้าหลังราวๆ 10-20 ปี”

นี่เป็นส่วนหนึ่งของความเห็นของสื่อต่างประเทศ ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันเพื่อนคนไทยของผมคนหนึ่งนำเสนอปัญหานี้ให้เราได้ถกกันกรณีปัญหาความลึก ความละเอียด ของการนำเสนอข่าวสารและบทความของสื่อต่างประเทศ โดยเธอเห็นว่าการนำเสนอของสื่อต่างประเทศไม่น่าจะลึกซึ้งเท่ากับการนำเสนอของสื่อไทย ด้วยเหตุว่าสื่อไทยรู้ภาษาไทยมากกว่าสื่อต่างประเทศ หรืออีกนัยหนึ่งสื่อต่างประเทศในความเห็นของเธอมีข้อจำกัดทางด้าน(วัฒนธรรม)ภาษา นอกเหนือไปจากข้อจำกัดด้านวัฒนธรรมอื่นๆ พูดง่ายๆ คือ เธอมองว่า ฝรั่งจะไปรู้เรื่องคนไทยดีเท่าคนไทยได้อย่างไร

หากมองจากสถานณ์การเมืองไทยในวันนี้ เพื่อนของผมคนนี้น่าจะเป็นตัวแทนของคนไทยอีก หลายคนที่มีความคิดทำนองเดียวกันนี้  ซึ่งในกรณีของการนำเสนอข้อมูลเชิงข่าวและวิเคราะห์ของสื่อต่างประเทศในไทย รวมถึงการนำเสนอข้อมูลเชิงข่าวและวิเคราะห์เกี่ยวกับเมืองไทยของสื่อในต่างประเทศนั้น ผมมีข้อสังเกต ดังนี้

1.สื่อต่างประเทศมักฝังตัวในเมืองไทยมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ก่อนที่จะมีการรายงานหรือ วิเคราะห์สถานการณ์ผ่านสื่อออกไป ทำให้อย่างน้อยสื่อเหล่านี้คุ้นเคยกับวัฒนธรรมไทย รู้แหล่งข่าว รู้สถานที่ในไทย แม้ว่าสื่อต่างประเทศบางคนอาจไม่รู้ภาษาไทยดีเท่าคนไทยแต่สื่อพวกนี้สามารถอาศัยเครื่องอย่างอื่น เช่น ล่าม ในการทำหน้าที่แปล เพื่อให้ทราบข้อมูลที่พวกเขาต้องการทราบ(ต้องไม่ลืมว่าสื่อต่างประเทศจำนวนไม่น้อยสื่อสารภาษาไทยได้ด้วย)

2.สื่อต่างประเทศมักลงพื้นที่ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด เพื่อหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้น หาข้อมูลทั้งจากชนชั้นนำในกรุงเทพ นักวิชาการ นักการเมือง นักธุรกิจ และผู้คนในสาขาอาชีพต่างๆ ตลอดถึงชาวบ้านในชนบทต่างๆจังหวัด อย่างหลากหลายรอบด้าน ขณะที่ต้องยอมรับว่าสื่อไทยเองเสียด้วยซ้ำ ที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการนำเสนอความคิดเห็น(ทางการเมือง)ของชาวบ้าน สื่อไทยมักให้ความสำคัฐกับความเห็นของนักวิชาการ นักการเมือง นักธุรกิจในกรุงเทพมากกว่าประชาชนในต่างจังหวัด ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ สะท้อนถึงอุปนิสัยเชิงอคติของสื่อไทยได้อีกส่วนหนึ่งด้วย

3.สื่อต่างประเทศสามารถมีมุมมอง 2 ด้านในเวลาเดียวกัน หมายถึง สื่อต่างประเทศสามารถมอง เปรียบเทียบหรือวิเคราะห์สถานการณ์ได้รอบด้านกว่าสื่อไทยใน 2 เงื่อนไข ได้แก่ เงื่อนไขแรก คือสื่อต่างประเทศมีมุมมองเชิงเปรียบเทียบวัฒนธรรมการเมืองแบบตะวันตกกับวัฒนธรรมการเมืองแบบตะวันออก(ไทย)ได้ดีกว่าสื่อไทยจากประสบการณ์ของตัวสื่อมวลชนเอง และเงื่อนไขที่สอง คือ สื่อต่างประเทศส่วนใหญ่ที่มารายงานข่าวในเมืองไทย ผ่านความหลากหลายของรูปแบบสถานการณ์ทางการเมืองมามากกว่าสื่อไทย(ประสบการณ์ในเวทีสากลโชกโชนมากกว่าสื่อไทย)

4. สื่อต่างประเทศอิงกับระบบอุปถัมภ์เชิงผลประโยชน์ต่างตอบแทนน้อยกว่าสื่อไทย ขณะระบบอุปถัมภ์ เส้นสาย พรรคพวก  ฝ่ายและค่าย มีผลต่อการนำเสนอข่าวสารและบทวิเคราะห์ของสื่อไทยส่วนใหญ่ที่มีอคติหรือเลือกข้างกันไปเรียบร้อยแล้ว

5.สื่อต่างประเทศเข้าถึงข้อมูลทั้งสองด้านมากกว่าสื่อไทย หมายถึงข้อมูลทั้งฝั่งไทยและข้อมูลฝั่ง ต่างประเทศ ขณะที่สื่อไทยส่วนใหญ่ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ข้อมูลในประเทศเท่านั้น

6.สื่อต่างประเทศอาศัยข้อมูลเชิงลึกจากฐานงานวิจัยในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะฐานข้อมูลงานวิจัยที่ได้มาตรฐานในต่างประเทศ ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้ ส่วนหนึ่งมาจากนักเรียนไทยและนักวิชาการไทยที่กำลังศึกษาและจบการศึกษาจากสถาบันการศึกษาในประเทศตะวันตก

7.สื่อต่างประเทศส่วนหนึ่งลงทุนสร้างงานวิจัยเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆประเทศไทยเป็นของตัวเอง

8.สื่อต่างประเทศได้ข้อมูลเชิงลึกจากสถานทูต สถานกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ คองเกรส และหน่วยงานความมั่นคงของประเทศต่างๆ  รวมถึงองค์กรเอกชนนานาชาติมากกว่าการสืบค้นของสื่อไทย ขณะที่องค์กรเหล่านี้มีการทำรายงานและวิจัยเชิงลึกเพื่อให้มาซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยอยู่ก่อนแล้ว ทั้งบางหน่วยงานก็กำลังทำอยู่

ดังนั้น การปิดประตูไม่รับฟังความคิดเห็นของสื่อต่างประเทศโดยอ้างว่า สื่อต่างประเทศไม่รู้ภาษาไทย ไม่รู้เรื่องเมืองไทย เป็นเหตุผลที่ฟังยากอยู่สักหน่อย

ประเด็นที่อยากย้ำสำหรับบทบาทของการนำเสนอของสื่อไทย โดยเฉพาะในส่วนของการรายงาน สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง คือ ความหลากหลายของการนำเสนอข้อคิดเห็นในภาคส่วนต่างๆ  เพราะหากสังเกตดู มุมมองของแหล่งข่าวส่วนใหญ่ยังเป็นแหล่งข่าวเดิมๆ เพียงไม่กี่คน โดยเฉพาะสื่อไทยมักเน้นการนำเสนอข้อมูล เช่น ข้อมูลจากการสัมภาษณ์แหล่งข่าวในกรุงเทพ มากกว่าการนำเสนอมุมมองของแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องในต่างจังหวัด ขณะที่สื่อต่างประเทศในไทย นำข้อมูลและความคิดเห็นของคนไทยในต่างจังหวัดมานำเสนอในสัดส่วนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับการนำเสนอของสื่อไทย

แค่วิธีการแสวงหาข้อมูล แบบแผนในการเข้าถึงแหล่งข้อมูล ของสื่อต่างประเทศกับสื่อไทยก็ต่างกันแล้ว หากผลของมุมมอง (view)หรือการวิเคราะห์ (analize) ออกมาเหมือนกันกับสื่อไทยก็แปลกแล้วครับ

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net