Skip to main content
sharethis

รวมคดีนักโทษการเมืองหลังสลายการชุมนุม พ.ค.53 ที่พลาดหวังจากพ.ร.บ.นิรโทษกรรม และรายละเอียดคดีมาตรา 112 ในรอบปี 2556

========

ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ปกติจะมีการจัดอันดับสุดยอดด้านต่างๆ โดยสื่อหลากสำนัก และประชาไทได้พยายามหาประเด็นมานำเสนอทุกๆ ปี อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ กองบรรณาธิการเห็นว่า ในรอบหลายปีที่ผ่านมา หลายสิ่งหลายอย่างในประเทศไทยมีเพียงประเด็นวนเวียนและย่ำเท้าอยู่กับที่ จึงได้ทำการคัดเลือกประเด็นย่ำอยู่กับที่-วนลูป ของชาติมานำเสนอทดแทนการจัดอันดับพิเศษ

ประเด็นที่สองที่จะนำเสนอต่อจากประเด็นแรกคือ นักโทษการเมืองและนักโทษทางความคิด (112)

ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมาเรื่องนี้ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ แม้มีช่วง “เกือบเปลี่ยน” ตอนรัฐสภาผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่ก็ต้องมีอันถอยกรูดจนเรียกได้ว่า “อวสานนิรโทษกรรม”เพราะไม่รู้แอบต่อรองกันอีกท่าไหนถึงมีกรณีอื่นๆ นอกเหนือไปจาก “ประชาชนทั่วไป” ใส่เข้าไปในนาทีท้ายๆ ของการพิจารณากฎหมาย จนกลายเป็นประเด็นขัดแย้งทางการเมืองลุกลามบานปลาย ผู้คนจำนวนมากออกมาบนท้องถนน ส่งเสียงด่า “ระบบอบทักษิณ” กันระงม และไม่มีใครเอ่ยถึงนักโทษการเมืองที่ยังอยู่ในเรือนจำแม้เพียงกระผีกเดียว

หน่วยงานที่นับว่ามีคุณูปการต่อนักโทษการเมืองมากที่สุด เห็นจะเป็น คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (คอป.) เพราะตลอดอายุ 2 ปี และงบประมาณ 77 ล้าน แม้จะไม่สามารถสร้างความ “สมานฉันท์” ได้ หรือกระทั่งค้นหา “ความจริง” ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ แต่คอป.ก็มีข้อเสนอในการย้ายเรือนจำให้นักโทษในคดีการเมืองมาอยู่ด้วยกันที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน หรือที่เรียกกันติดปากว่า เรือนจำหลักสี่ และนิยามนักโทษการเมืองเสียใหม่ว่า พวกเขาไม่ใช่อาชญากรในความหมายทั่วไป หากแต่มีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างและมีแรงผลักดันทางการเมืองในการกระทำผิด

อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้านี้ยังไม่ครอบคลุมไปถึงนักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112ตลอดมามีการเรียกร้องให้กรมราชทัณฑ์ทำการย้ายผู้ต้องขังกลุ่มนี้ แต่ก็ราชทัณฑ์ก็ไม่กล้าดำเนินการเพราะไม่มีความเห็น คอป.รองรับชัดๆ นอกจากนี้ คอป.ยังมีข้อเสนอเรื่องการประกันตัว ซึ่งหน่วยงานอย่างกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ให้ความช่วยเหลืออยู่แล้วก็ยิ่งมีความชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้นักโทษการเมืองจำนวนหนึ่งได้รับการประกันตัว แต่อีกไม่น้อยก็ยังไม่สามารถประกันตัวได้เช่นเดิม

หากจะเท้าความกันสักหน่อย นักโทษการเมืองเหล่านี้เกิดขึ้นนับตั้งแต่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองหนักๆ และปรากฏให้เห็นชัดเจนในช่วงปี 2553 โดยเฉพาะช่วงหลังสลายการชุมนุม มีประชาชนทั่วไปจำนวนมากที่ถูกจับกุมคุมขัง กระทั่งถูกตัดสินลงโทษจำคุก โดยเฉลี่ยแล้วตั้งแต่ 6 เดือนถึงปีครึ่ง ด้วยข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะประกาศใช้ในระหว่างการสลายการชุมนุม

ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค.2553 (ศปช.) ระบุหลังสลายการชุมนุมจนถึงเดือน เม.ย.2555 พบว่า ประชาชนที่ถูกจับกุมมีราว1,857 คน ซึ่งบางคนไม่ได้ร่วมชุมนุมด้วยซ้ำ ทั้งหมดนี้ถูกดำเนินคดี 1,763 คน โดยกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีคดีมากที่สุด รองลงมาคือภาคอีสาน โดยแยกลักษณะการฟ้องได้ 3 ลักษณะ คือ คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ซึ่งมีจำนวนมากที่สุด, คดีอาญาทั่วไปที่ไม่ได้ฟ้องด้วย พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และการฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินร่วมกับความผิดอาญาฐานอื่น

ในการดำเนินคดีมีการรวบรัดขั้นตอน มีหลายคดีที่เกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ตัดสินคดีโดยลงโทษจำคุก 1 ปี แล้วจำเลยอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ยกฟ้องเพราะการดำเนินคดีในศาลชั้นต้นผิดระเบียบ ศาลอุทธรณ์เชื่อว่าไม่ได้แจ้งสิทธิให้จำเลย คำพิพากษาไม่ชอบก็ต้องกลับมาดำเนินคดีใหม่

เวลาผ่านมาแล้ว 3 ปี ผู้ที่ถูกคุมขังส่วนใหญ่ได้รับการปล่อยตัวจนเกือบหมด คงเหลือเพียงคดีอาญาสำคัญๆ ใหญ่ๆ ที่ยังติดค้างอยู่ เช่น เผาศาลากลาง อาวุธ เป็นต้น รวมถึงคดีใหม่ๆ ที่เพิ่งตัดสินเข้ามา

ปัจจุบัน นักโทษการเมืองที่อยู่ที่เรือนจำหลักสี่ มีอยู่ราว 23 คน เป็นหญิง 2ชาย 21 คน (ดูตารางตอนท้าย) หลายคดีมีโทษหนัก เช่น คดีเผาศาลากลางอุบลราชธานี มีจำเลยถูกตัดสินชั้นอุทธรณ์ให้จำคุก 33 ปี 12 เดือน ถึง 4 คน หากอ้างอิงตามศปช.ซึ่งติดตามคดีเหล่านี้อย่างค่อนข้างใกล้ชิด จะพบว่ากระบวนการยุติธรรมสำหรับคดีการเมืองนั้นมีข้อสงสัย น่ากังวลตั้งแต่ชั้นจับกุมซึ่งมักมีการขู่บังคับและทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพ ชั้นพิจารณาคดีหลายคดก็มีหลักฐานที่ ศปช.มองว่า “ค่อนข้างอ่อน” แต่ก็สามารถลงโทษจำเลยได้ เช่น คดีเผาศาลากลางอุบลฯ นั้น มีเพียงรูปภาพว่าจำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุเท่านั้น เป็นต้น

สำหรับคดี 112   นั้น เท่าที่เป็นข่าวและสามารถติดตามได้ในปัจจุบัน พบว่า มี 3 รายได้รับพระราชทานอภัยโทษไปเมื่อกลางปีเป็นต้นมา ได้แก่ วันชัย แซ่ตัน สัญชาติสิงคโปร์ ถูกส่งตัวกลับสิงคโปร์ทันที, ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล และสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์

มี 3รายที่ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง คือ ยุทธภูมิ มาตรนอก ศาลยกฟ้องเมื่อ 13 ก.ย.2556 ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำหลังถูกคุมขังนาน 1 ปี, อัศวิน (สงวนนามสกุล) นักธุรกิจที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่รายนี้สามารถประกันตัวได้ตั้งแต่ชั้นสอบสวน,ส่วน สุรภักดิ์ ภูไชยแสง นั้นศาลชั้นต้นยกฟ้องไปตั้งแต่ปลายปี 255 แต่อัยการอุทธรณ์เมื่อต้นเดือนมกราคม 2556(เขาได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำหลังถูกคุมขังนานปีกว่า)

มี 2 รายที่ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาเป็นลงโทษจำเลย นั่นคือ สนธิ ลิ้มทองกุล หลังศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง กรณีนำคำปราศรัยของดา ตอร์ปิโด มาพูดต่อในเวทีพันธมิตรฯ โดยให้เหตุผลว่าจำเลยไม่มี “เจตนา” หมิ่นสถาบัน ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำคุก 2 ปี โดยระบุว่า “จำเลยไม่มีความจำเป็นต้องเอาเนื้อหามาถ่ายทอดพูดซ้ำในที่สาธารณะ เพราะประชาชนบางส่วนไม่ทราบว่า ดารณีพูดอย่างไร ก็มาทราบจากการที่จำเลยพูด ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ส่งผลกระทบต่อสถาบัน อันเป็นการกระทำที่ไม่ระวังระวังอย่างเพียงพอ” อย่างไรก็ดี สนธิได้รับการประกันตัวไปด้วยวงเงิน 5 แสนบาท

อีกรายหนึ่งคือ คดีของ นพวรรณ (สงวนนามสกุล) ผู้ถูกกล่าวหาใช้นามแฝง เบนโตะ โพสต์ข้อความในเว็บบอร์ดประชาไทเมื่อปลายปี 2551 ซึ่งคดีนี้เป็นกรรมหนึ่งในจำนวน 10 กรรมที่จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการและผู้ดูแลเว็บบอร์ดประชาไทถูกฟ้องด้วยพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2551  คดีของนพวรรณศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ลงโทษจำคุกจำเลย 5ปี และจำเลยได้รับการประกันตัว

สำหรับผู้ที่ยังถูกคุมขังนั้น พบว่า ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีผู้ต้องขัง4 ราย ได้แก่ สมยศ พฤกษาเกษมสุข , เอกชัย (สงวนนามสกุล), อับราบฮิม (สงวนนามสกุล) และกิตติธน (สงวนนามสกุล) ผู้ใช้นามแฝงในอินเตอร์เน็ตว่า เคนจิ ส่วนผู้ต้องขังหญิงนั้นมี 2 รายได้แก่ ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือดา ตอร์ปิโด ถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพฯ และ ปภัสชนัญญ์ ฉิ่งอินทร์  หรือ เจ๊แดง ถูกคุมขังที่ เรือนจำกลางนครราชสีมา

หากไล่เรียงรายละเอียด จะพบว่า

สมยศ พฤกษาเกษมสุข คดีอยู่ในชั้นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 10 ปี จากกรณีเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งลงบทความเข้าข่ายหมิ่นฯ 2 บทความ เขียนโดย “จิตร พลจันทร์” เขายื่นคำร้องขอประกันตัวแล้ว 15 ครั้ง แต่ได้รับการปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า คดีร้ายแรง เกรงจะหลบหนี  นอกจากนี้สมยศยังเคยยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตีความด้วยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 29 และมาตรา 45 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า มาตรา 112 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

ที่ผ่านมามีผู้คนไม่น้อยที่หว่านล้อมให้เขารับสารภาพเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ยังคงไม่ประสบผล

“ผมไม่ผิด จะให้รับสารภาพว่าอะไร .. ผมยังเชื่อในกระบวนการยุติธรรม ผมถึงยังต่อสู้คดีอยู่จนทุกวันนี้” เขากล่าวขณะถูกคุมขัง

เอกชัย (สงวนนามสุกล) อาชีพขายหวยออนไลน์ คดีอยู่ในชั้นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 3 ปี 4 เดือน ปรับ 66,666 บาท (28 มี.ค.56) จากกรณีนำซีดีสารคดีการเมืองไทยของสำนักข่าว ABC ประเทศออสเตรเลีย รวมถึงเอกสารวิกิลีกส์แปลไทย ไปขายในที่ชุมนุม ในระหว่างต่อสู้คดี ทนายความจำเลย ยื่นขอหมายเรียก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา และนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งถูกระบุถึงในเอกสารวิกิลีกส์มาเบิกความเป็นพยาน แต่ศาลไม่ออกหมายเรียกให้ จึงทำให้ฝ่ายจำเลยต้องเปลี่ยนแนวทางต่อสู้คดี หลังศาลมีคำพิพากษา เขายื่นคำร้องขอประกันตัวมาแล้วประมาณ 4ครั้ง แต่ได้รับการปฏิเสธเช่นกัน

สิ่งที่เอกชัยยืนยันตลอดมา คือ เขาไม่ได้ตั้งใจกระทำความผิด “สื่อก็เลือกข้างไปหมดแล้ว ผมแค่อยากให้คนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารกลางๆ จากมุมต่างประเทศ”

อิบราฮิม (สงวนนามสกุล) เป็นผู้ต้องขังชาวซาอุดิอาระเบียที่ถูกศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุก 2 ปี (จำเลยตัดสินใจไม่ฏีกา) จากกรณีโพสต์ข้อความที่ได้มาจากข่าวต่างประเทศเรื่องอาการพระประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในช่วงเดือนส.ค.2553 ลงในกระดานสนทนาของบริษัทโบรคเกอร์รายหนึ่ง

หากใครจำได้ช่วงนั้นมีข่าว(ลือ)ที่ทำให้ตลาดหุ้นของไทยร่วงอย่างหนักและมีผู้ตกเป็นผู้ต้องหาอีกหลายคนสืบเนื่องจากกรณีนี้ เพราะรับข่าวสารการวิเคราะห์จากสำนักข่าวต่างประเทศแล้วนำมาโพสต์ในประเทศไทย

ข้อมูลจากเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพโดยไอลอว์ ระบุว่า อิบราฮิมเป็นชาวซาอุดิอาระเบียที่อยู่เมืองไทยหลายปี ก่อนถูกจับกุมทำงานซื้อขายหุ้นอยู่กับบริษัทแห่งหนึ่ง โดยอาศัยอยู่กินฉันสามีภรรยากับหญิงชาวไทยที่จังหวัดพะเยา เขาถูกจับกุมตัวเมื่อ 6 ต.ค.2553 และถูกฟ้องทั้งมาตรา 112 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2551หลังจากถูกคุมขังราวเดือนกว่าก็ได้รับการประกันตัว เขาต่อสู้คดีจนถูกคุมขังอีกครั้งหลังศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ลงโทษจำคุก 2 ปี เมื่อเดือนส.ค.2556จนถึงปัจจุบัน

“ภรรยาของอิบราฮิมให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีว่า อิบราฮิมเป็นคนต่างชาติ ไม่เข้าใจภาษาไทย เมื่อทราบข่าวเกี่ยวกับอาการพระประชวรและข่าวลือในทางที่ไม่ดีก็เพียงแต่โพสต์บนเว็บไซด์เพื่อแจ้งข่าวเพราะเข้าใจว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวจริงและเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้น โดยที่ไม่ได้มีเจตนาจะกระทำการละเมิดกฎหมายอาญามาตรา112แต่อย่างใด

เมื่ออิบราฮิมทราบว่าสิ่งที่โพสต์ไปเป็นเพียงข่าวลือ ก็รีบโพสต์ข้อความขอโทษและชี้แจงความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้น แต่ก็ถูกฟ้องร้องและถูกดำเนินคดีจนต้องประสบความยากลำบากอยู่ในปัจจุบัน ภรรยาของอิบราฮิมยืนยันว่าอิบราฮิมมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ในช่วงวันเฉลิมพระชนม์พรรษาของทั้งในหลวงและพระราชินี อิบราฮิมมักส่งไปรษณีย์บัตรไปร่วมถวายพระพรด้วย” เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลกฎหมายฯ ระบุ 

กิตติธนหรือผู้ใช้นามแฝงว่า เคนจิ อายุ 51 ปีมีอาชีพเปิดร้านขายส่งสินค้าอุปโภคบริโภค เขาถูกเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  (ปอท.) กว่า 20 นายบุกจับกุมที่บ้านพักเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2556 และถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จนปัจจุบัน

ในคำฟ้องระบุว่า จำเลยโพสต์ข้อความเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในเว็บไซต์ www.dangdd.com ใช้ชื่อล็อกอินว่าเคนจิ เมื่อวันที่ 1 และ 2 ส.ค.2556 นอกจากนี้ยัง “ตระเตรียมการและพยายามที่จะกระทำความผิด” ต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวด 1 โดยมีเจตนาที่จะหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท โดยพบว่าจำเลยมีภาพและข้อความต่างๆ อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สามารถใช้ติดต่อเผยแพร่สื่อสารเข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ตเพื่อเผยแพร่ภาพและข้อความดังกล่าวได้

ท้ายที่สุดศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยจากการโพสต์ข้อความ 2 ครั้ง และเตรียมโพสต์อีก 1 ครั้ง รวมแล้วเป็นเวลา 13   ปี 4 เดือน แต่จำเลยให้การรับสารภาพจึงได้ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือประมาณ 6 ปี 8 เดือน (5 ปี 20 เดือน)

“ผมอยากออกให้เร็วที่สุดเพราะเป็นห่วงลูกเล็กๆ สองคน” เขากล่าวระหว่างถูกคุมขัง

ปภัสชนัญญ์ หรือ เจ๊แดง วัย 64 ปีแกนนำเสื้อแดงโคราช ถูกศาลฏีกาพิพากษาจำคุก 3 ปี จากกรณีที่เป็นแกนนำจัดกิจกรรมเมื่อ 7 เม.ย.2552  ที่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี  โดยมีคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งร่วมการประท้วงด้วยการเผาโลงศพจำลอง ติดรูปนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พร้อมเขียนข้อความประท้วงบนโลงศพ โดยจำเลยระบุว่าเป็นการล้อเลียนกรณีที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรียก พล.อ.เปรมว่า "พระองค์ท่าน" ซึ่งพูดออกอากาศในสถานีโทรทัศน์ ASTV เมื่อคืนวันที่ 3 เม.ย. ว่า "เสื้อเหลืองออกมาปกป้อง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในฐานะที่พระองค์ท่านเป็นประธานองคมนตรี" (คลิปการพูดออกอากาศของนายสนธิ) แต่ศาลพิพากษาว่า คำว่า “พระองค์ท่าน” ดังกล่าวหมายถึงพระมหากษัตริย์

ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด ถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 13 ปี จากการปราศรัยต่อต้านรัฐประหารที่เวทีเล็กสนามหลวงเมื่อปี 2551 ตั้งแต่ยังไม่เกิดขบวนการคนเสื้อแดงและ นปช. คดีนี้เป็นเรื่องใหญ่โดยการสนับสนุนของสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งนำคำปราศรัยจากเวทีเล็กดังกล่าวไปขยายผลบนเวทีพันธมิตรฯ เพื่อกดดันให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการและตัวเขาเองก็โดนคดีไปด้วย อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งให้คดีของดารณีพิจารณาโดยปิดลับ เนื่องจากเป็นประเด็นความมั่นคง ดารณียื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการสั่งพิจารณาคดีปิดลับขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ (อ่านที่นี่) ดารณีนับเป็นผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ที่ถูกคุมขังยาวนานที่สุด ตั้งแต่ ก.ค.2551 จนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันดารณีตัดสินใจถอนฏีกา ยุติการต่อสู้คดีแล้ว

 

ผู้ต้องขังในเรือนจำหลักสี่ (พ.ย.2556)

ลำดับ ชื่อ-นามสกุล ข้อหา สถานะทางคดี อัตราโทษ
1 นายเพชร แสงมณีหรือเฮ่น มณีเพชร มั่วสุมตั้งแต่10 คนขึ้นไป,วางเพลิงเผาทรัพย์(ธ.กรุงเทพฯสาขาพระโขนง),พรบ.คนเข้าเมือง, พรก. คดีเด็ดขาด จำเลยไม่ฏีกา 6 ปี 6 เดือน
2 นายคำหล้า ชมชื่น ร่วมกันปล้นทรัพย์ของกรมทหารราบที่ 1 รอ. ศาลอุทธรณ์ 10 ปี
3 นายประสงค์ มณีอินทร์ พรบ.อาวุธปืนฯ, พรบ.วิทยุคมนาคม, พรก., ลักทรัพย์, พาอาวุธไปในเมือง ศาลอุทธรณ์ (ระหว่างฏีกา) 11 ปี 8 เดือน
4 นายโกวิทย์ แย้มประเสริฐ ศาลอุทธรณ์ (ระหว่างฎีกา) 11 ปี 8 เดือน
5 สต.บัณฑิต สิทธิทุม ก่อการร้าย,มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน,พาอาวุธไปในเมือง ศาลอุทธรณ์ (อัยการฏีกา) 38 ปี
6 จ.ส.ต.ปริญญา มณีโคตม์ พรบ.อาวุธปืน,เครื่องกระสุนปืนฯ ศาลชั้นต้น 10 ปี
7 นางสาวปัทมา มูลมิล พรก.,ก่อความวุ่นวาย,ร่วมกันบุกรุก,วางเพลิงเผาศาลากลาง,ทำให้เสียทรัพย์ ศาลอุทธรณ์ (ระหว่างฎีกา) 33 ปี 12 เดือน
8 นายธีรวัฒน์ สัจสุวรรณ พรก.,ก่อความวุ่นวาย,ร่วมกันบุกรุก,วางเพลิงเผาศาลากลาง,ทำให้เสียทรัพย์ ศาลอุทธรณ์ (ระหว่างฎีกา) 33 ปี 12 เดือน
9 นายสนอง เกตุสุวรรณ์ พรก.,ก่อความวุ่นวาย,ร่วมกันบุกรุก,วางเพลิงเผาศาลากลาง,ทำให้เสียทรัพย์ ศาลอุทธรณ์ (ระหว่างฏีกา) 33 ปี 12 เดือน
10 นายสมศักดิ์ ประสานทรัพย์ พรก.,ก่อความวุ่นวาย,ร่วมกันบุกรุก,วางเพลิงเผาศาลากลาง,ทำให้เสียทรัพย์ ศาลอุทธรณ์ (ระหว่างฎีกา) 33 ปี 12 เดือน
11 นายพรชัย (ไม่ระบุนามสกุล) จ้างวานปาระเบิดเพลิงธนาคารกรุงเทพ ศาลอุทธรณ์ (ระหว่างฏีกา) 4 ปี 1 เดือน 15 วัน
12 สุริยา (ไม่ระบุนามสกุล)  จ้างวานปาระเบิดเพลิงธนาคารกรุงเทพ (ระหว่างฎีกา) 4 ปี 1 เดือน 15 วัน
13 สกันต์ (ไม่ระบุนามสกุล)  จ้างวานปาระเบิดเพลิงธนาคารกรุงเทพ (ระหว่างฏีกา) 4 ปี 1 เดือน 15 วัน
14 นางวรนุช ศรีกันทา ก่อความวุ่นวาย ขัดขวางเจ้าหน้าที่ ศาลฎีกา 1 ปี
15 นายเอกชัย มูลเกษ พรบ.อาวุธปืนฯ ศาลอุทธรณ์ (จำเลยไม่ฏีกา)  5 ปี 4 เดือน
16 นายเอนก สิงขุนทด พรบ.อาวุธปืน, พาอาวุธไปในเมือง ศาลอุทธรณ์ (อัยการฏีกา)  5 ปี
17 นายชาตรี ศรีจินดา ชิงทรัพย์ ศาลอุทธรณ์ (ระหว่างฏีกา)  15 ปี
18 นายจีระวัฒน์ จันทร์เพ็ง คดีวางระเบิด ศาลชั้นต้น ระหว่างอุทธรณ์  9 ปี
19 ณัทกร ชัยธรดำรงสุข มีระเบิดขวด ประทัดยักษ์ คดีเด็ดขาด จำเลยไม่ฎีกา  6 เดือน
20 อุไร  (ไม่ระบุนามสกุล) พ.ร.บ.อาวุธปืน คดีเด็ดขาด จำเลยไม่ฎีกา 1 ปี 4  เดือน
21 เดชพล พุทธจง จ้างวานวางระเบิดหน้าพรรคภูมิใจไทย ศาลชั้นต้น (ระหว่างอุทธรณ์) 6 ปี 8 เดือน
22 กำพล คำคง  จ้างวานวางระเบิดหน้าพรรคภูมิใจไทย ศาลชั้นต้น (ระหว่างอุทธรณ์) 6 ปี 8 เดือน
23 กอบชัย บุญปลอด จ้างวานวางระเบิดหน้าพรรคภูมิใจไทย ศาลชั้นต้น (ระหว่างอุทธรณ์) 6 ปี 8 เดือน
24 เรณู (ไม่ระบุนามสกุล) ละเมิดอำนาจศาล (วันพิพากษาวาสนา เพิ่มลาภ) ศาลฏีกา 1 เดือน
25 ฐิติรัตน์ (ไม่ระบุนามสกุล) ละเมิดอำนาจศาล (วันพิพากษาวาสนา เพิ่มลาภ) ศาลฎีกา 1 เดือน

 

หมายเหตุ ลำดับที่ 24-25 ครบกำหนดคุมขังแล้ว 

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล และศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net