วัลลภ พิธีพรม (1): จำเลยเสื้อแดงคดี M79 จากคนขายเสื้อมือสองสู่ 'ผู้ก่อการร้าย No.1'

 

ย้อนกลับไปในช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 53 กระแสข่าวที่สื่อกระแสหลักและสื่อเลือกข้างต่างโหมประโคมอย่างแทบไม่เว้นแต่ละวันเรื่องการใช้อาวุธสงครามโดยเฉพาะการยิงระเบิดชนิด M79 นั้น สร้างความตื่นตระหนกต่อประชาชนและวาดภาพฮาร์ดคอร์ให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงได้อย่างดียิ่ง ความพยายามของฝ่ายรัฐบาลในขณะนั้นคือมุ่งเชื่อมโยงเรื่องเหล่านี้เข้ากับปฏิบัติการชายชุดดำ โดยเฉพาะในเหตุการณ์คืนวันที่ 10 เมษายน 2553 ทำให้คนเสื้อแดงทั้งหมดตกเป็นจำเลยสาธารณะในทันที ถ้อยคำ "ผู้ก่อการร้าย" "เผาบ้านเผาเมือง" ถูกผลิตซ้ำอย่างหนักหน่วงต่อเนื่อง เป็นสูตรสำเร็จให้ฝ่ายตรงข้ามกับนปช.และพรรคเพื่อไทยฉวยใช้มาโจมตีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าข้อกล่าวหายอดนิยม "ล้มเจ้า (ไม่จงรักภักดี)" "ควายแดง (โง่)" และ "รับเงินทักษิณ (จ้างมาชุมนุม)"

ในขณะที่การค้นหาความจริงอย่างเป็นทางการผ่านกระบวนการไต่สวนการตายของศาลยุติธรรมดำเนินไปอย่างล่าช้า แม้ในส่วนคดีที่เสร็จสิ้นไปบ้างแล้ว ศาลจะเริ่มทยอยมีคำสั่งลงมาในหลายคดีว่าทิศทางกระสุนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ แต่จนทุกวันนี้คำสั่งศาลเช่นว่านั้นก็ยังไม่อาจกลบลบข้อกล่าวหาต่างๆ ข้างต้นได้ อาจเป็นเพราะการไต่สวนการตายนั้นกระทำอย่างเงียบเชียบ ทั้งบางกรณีศาลยังห้ามมิให้สื่อมวลชนจดบันทึกเพื่อการรายงานข่าว (http://prachatai.com/journal/2013/04/46190) อีกทั้งสื่อมวลชนน้อยรายนักที่จะใส่ใจนำเสนอข่าวซึ่งอาจเป็นคุณต่อฝ่ายคนเสื้อแดง กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้วที่สื่อเลือกข้าง (หรือแม้แต่สื่อที่โฆษณาตัวเองว่าเป็นกลาง) ย่อมจะละเลยหลักการ ขณะเดียวกันสื่อที่เลือกข้างฝั่งแดงเองก็ยังคงกังวลในการติดตามนำเสนอข่าวในส่วนที่เป็นข้อมูลประเภท “ฮาร์ดคอร์” เพราะเกรงว่า “จะเข้าทางฝ่ายตรงข้าม” แม้รัฐบาลจะเปลี่ยนขั้วมากว่าสองปีแล้วก็ตาม

ชื่อของ วัลลภ พิธีพรม ถูกปล่อยออกมาผ่านสื่อต่างๆ ครั้งแรกๆ ในช่วงเวลาแห่งการไล่ล่าชายชุดดำเพื่อเติมเต็มข้อกล่าวหาอันเกี่ยวเนื่องมากจากการใช้ความรุนแรงของฝ่ายคนเสื้อแดง เหมือนว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามจะช่วยหนุนคำกล่าวอ้างที่ว่า “คนเสื้อแดงยิงกันเอง” ที่มาจากรัฐบาลนายอสิสิทธิ์ เวชชาชีวะให้ได้ ทางการระบุว่าเขาเป็นมือยิง M79 ผู้ก่อเหตุสะเทือนขวัญหลายครั้ง ในที่สุดตำรวจสามารถจับกุมตัววัลลภได้และนำมาแถลงข่าวเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 นำโดย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร ในขณะนั้น ได้แถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหาการ์ดเสื้อแดง 5 รายต่อสื่อมวลชน (ประกอบด้วยวัลลภ พิธีพรม สมคิด มากวงศ์ วันชัย ซังข้าว อนันต์ มีรอด และชัชชัย โภคานุภาพ) พร้อมของกลางเป็นอาวุธสงครามและเครื่องกระสุนจำนวนมาก ทั้งยังได้นำตัวผู้ต้องหาไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ณ ที่เกิดเหตุในหลายท้องที่ อีกทั้งตำรวจ ศอฉ. และนักการเมืองฝั่งรัฐบาลขณะนั้น ยังออกมาหน้าสื่อพยายามสืบสาวไปหา “ผู้บงการ” เป็นรายวันในเวลาต่อมา นับเป็นหนึ่งในข่าวใหญ่ที่ถูกหลายฝ่ายนำไปผูกโยงกับ “ชายชุดดำ” ในเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553 (จับผู้ต้องหายิงเอ็ม 79 – ระบุทำตามอุดมการณ์)

แม้จะผ่านการแถลงข่าวว่าก่อเหตุมาหลายครั้งหลายท้องที่ แต่จนแล้วจนรอด วัลลภซึ่งถูกขังในทันทีโดยไม่ได้ประกันก็ถูกฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่เป็นคดีหมายเลขดำที่ 348/2554 เพียงคดีเดียว จากเหตุเมื่อคืนวันที่ 12 กันยายน 2553 กรณียิง M79 ใส่บริษัทเชียงใหม่คอนสตรัคชั่นของพ่อเลี้ยงคะแนน สุภา หรือพ่อตาของนายเนวิน ชิดชอบ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2555 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้พิพากษายกฟ้องด้วยเหตุที่โจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เป็นที่ประจักษ์ต่อศาลเนื่องจากพยานหลักฐานไร้น้ำหนัก ไม่มีของกลางเป็นอาวุธตามที่ฟ้องมา หลังจากส่งหลายประเด็นไปสืบนอกพื้นที่ในศาลอื่นๆ โดยที่ทำให้วัลลภต้องตระเวนไปยังเรือนจำต่างๆ กว่าสิบแห่งในหลายจังหวัด และเกือบทุกแห่งตีตรวนเขาตลอดเวลาด้วยมาตรการควบคุมพิเศษที่ใช้กับนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ นี่คือคนที่สื่อต่างๆ พร้อมใจกันเชื่อว่าเป็นแกนนำในการก่อเหตุรุนแรงทั้งหลาย รุนแรงถึงขั้นกล่าวหาว่าเขาคือหัวหน้าชายชุดดำตัวจริง! อาจเพราะด้วยเหตุนี้เขาจึงถูกศาลสั่งขังระหว่างรอคำอุทธรณ์จากพนักงานอัยการไปอีกเกือบ 3 เดือนกว่าที่พนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่อุทธรณ์

เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อถูกปล่อยตัวจากเรือนจำกลางเชียงใหม่ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2555 เขายังถูกอายัดตัวไปที่เรือนจำจังหวัดอุตรดิตถ์ทันทีด้วยคดีตามหมายจับเก่ากรณีที่มีการยิง M79 ใส่สำนักงานสมาคมกู้ภัยอุตรดิตถ์สงเคราะห์ โดยข่าวในขณะนั้นเริ่มทิ้งประเด็นว่าเป็นฝีมือของการ์ดนปช.คนหนึ่ง (http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9530000064252)

เราได้โอกาสพูดคุยกับวัลลภ พิธีพรม หรือ “ป้อม” ในวันที่เขาอายุ 29 ปีและถูกปล่อยตัวมาได้เกือบหนึ่งปีแล้ว (ก่อนหน้านี้เขาระแวงการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเนื่องจากมีประสบการณ์เลวร้ายกับการตกเป็นข่าว) และได้รับเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในฐานะนักโทษคดีการเมืองมาเป็นเงินจำนวน 1 ล้าน 7 แสนบาท เขากลับมาประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ติดจานดาวเทียม และขายเสื้อผ้ามือสองเหมือนเดิมที่เคยทำมาก่อนหน้าจะถูกจับกุม ส่วนเนื้อคดีเขาเล่าคร่าวๆ ว่าทุกคดีไม่มีพยานหลักฐาน ไม่มีอาวุธของกลาง เรานัดกับวัลลภที่บ้านหลังใหม่ที่เพิ่งใช้เงินเยียวยาซื้อมาในย่านชานเมืองเชียงใหม่เพื่อรื้อฟื้นทบทวนเรื่องราวและเปิดอกคุยกับชายผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ก่อการร้ายหมายเลขหนึ่ง เดิมเพียงหวังจะเผยแพร่บทสัมภาษณ์นี้ในช่วงครบรอบหนึ่งปีอิสรภาพของเขา แต่ไม่มีจังหวะเบียดกระแสข่าวที่กำลังกระพือโหมประเด็นการชุมนุมต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในขณะนั้น

ในวันนั้น (19 พฤศจิกายน 2556) เขายังพูดถึงเรื่องนิรโทษกรรม ว่า ".. ผมมีหน้าที่แค่ดูแลประชาชนไม่ให้ใครมาทำร้ายได้แค่นั้นเอง ผมไม่ได้สนใจว่าเขาจะนิรโทษกรรมหรือไม่ เพราะจริงๆ แล้วตัวผมเองมีคดีอยู่ผมก็ไม่ได้หวังอยู่แล้วว่าจะต้องมีการนิรโทษกรรม ไม่ได้อานิสงส์ คดีผมยกฟ้องไปแล้ว"

จนเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมานี้ ศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกเขาตลอดชีวิตตามคดีหมายเลขแดงที่ 2205/2556 จากกรณีเหตุลอบยิงอาวุธสงคราม M79 ใส่สำนักงานสมาคมกู้ภัยอุตรดิตถ์สงเคราะห์ บริเวณศาลหลวงปู่ไต้ฮงกง จ.อุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 9 พ.ค.53 เป็นผลให้ประตูกระจก ผนังปูน และหลังคา รวมทั้งป้ายชื่อมูลนิธิแตกเสียหาย แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด (http://prachatai.com/journal/2013/12/50569) และไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์เนื่องจาก “เป็นเรื่องร้ายแรง .. เกรงว่าจะหลบหนี” อันเป็นเหตุผลที่ใครก็ตามที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับคดีที่มีคนเสื้อแดงตกเป็นจำเลยย่อมคุ้นเคยเป็นอย่างดี

บทสนทนานี้จึงถูกนำมาอ่านใหม่อีกครั้ง แต่โอกาสที่จะได้คุยกันเพิ่มเติมนั้นหดเหลือน้อยนิดยิ่งนักเนื่องจากการพบปะถามตอบครั้งล่าสุดนี้ (25 ธันวาคม 2556 เรียบเรียงไว้ในตอนท้ายของตอนที่สองของบทสัมภาษณ์ชุดนี้) เราต้องคุยกับเขาผ่านลูกกรงและกระจกในห้องเยี่ยมญาติ

 

 

ถาม : หลังได้รับอิสรภาพ ชีวิตเป็นอย่างไร ครอบครัว อาชีพ ความเป็นอยู่เหมือนเดิมหรือเปล่า

วัลลภ : ผมถูกขัง 738 วัน ตอนอยู่ข้างในก็ท้อ ไม่รู้ว่าจะได้กลับเมื่อไร นึกออกไหมครับ จะได้ปล่อยตัวไหม คดีจะสิ้นสุดเมื่อไร จะติดกี่ปี ผมห่วงเรื่องแถลงข่าวที่มีการรับสารภาพไป ยกฟ้องแล้วแทนที่จะให้โอกาสผมออกมาทำงานหาเลี้ยงครอบครัว แต่กลับเอาผมไปขังไว้ให้เสียเวลาตั้งหลายเดือน (ศาลยกฟ้อง! ‘วัลลภ’ ผู้ต้องหายิง M79 เชียงใหม่ปี 53 , ผู้ต้องหายิง M79 เชียงใหม่ยังถูกขังหลังศาลยกฟ้อง) ผมเชื่อว่าคงมีนักโทษไม่กี่คนหรอกที่ปล่อยตัวตอนตีหนึ่ง หัวสมองของผมคิดเพียงแต่ว่าปล่อยตัวเวลานี้จะกลับบ้านยังไง แต่เมื่อเดินออกนอกประตูเรือนจำ ผมก็ได้พบกับภาพที่น่าจดจำครั้งแรกในรอบ 2 ปีกว่าๆ ผมได้พบกับญาติ และคนเสื้อแดงจำนวนมาก ส่วนครอบครัว แยกย้ายกันไปแล้ว ต่างคนต่างมีใหม่ ตอนนี้ผมมีลูก 3 คน คนโต 11 ขวบ คนกลาง 8 ขวบ คนเล็ก 3 ขวบ ครอบครัวมันแตกแยกกันหมดแล้ว ก็กลายเป็นเหมือนเด็กกำพร้าไป สองคนอยู่กับย่าเขา อีกหนึ่งคนก็อยู่กับแม่เขาที่อุตรดิตถ์ ทุกคนที่เคยถูกขังคุกมาจะทราบดีว่า ไม่มีใครจะรอคอยคนที่อยู่ข้างในได้ ไม่เป็นไร เมื่อมีการต่อสู้ก็ต้องมีการสูญเสีย เป็นของคู่กันทุกยุคทุกสมัยอยู่แล้ว ตอนที่ผมติดคุกใหม่ๆ ลูกสาวผมไปโรงเรียนก็โดนเพื่อนล้อว่ามีพ่อขี้คุกทุกวัน จนไม่อยากไปโรงเรียน

ก่อนจะมีคดีผมก็รับติดจานดาวเทียมอยู่แล้ว เปิดร้านขายเสื้อผ้ามือสอง อาชีพที่ทำอยู่ในทุกวันนี้ รับเหมาก่อสร้าง รับเหมาต่อเติม หลังเกิดเหตุสลายการชุมนุมทุกคนต้องลำบากกัน ผมก็เลยไปรวบรวมพี่น้องนักสู้เสื้อแดงมาทำงานด้วยกัน เหนื่อยมากๆ แต่ผมก็มีความสุขที่ได้ทำงานร่วมกับเพื่อนที่มีความคิดและอุดมการณ์เดียวกัน ตอนนี้มีทั้งหมด 9 คน เรื่องรายได้ถ้าเทียบระหว่างก่อนกับหลังเกิดเหตุการณ์ ในปัจจุบันลำบากกว่าแน่นอน เพราะเมื่อก่อนผมหาได้เท่าไรก็ใช้กันแค่ภายในครอบครัว แต่ตอนนี้ต้องเอามาหาร 9 ตามจำนวนคน

หลังสลายการชุมนุม ผมตามเอาการ์ดที่ไม่มีงานทำมาช่วยกันทำงานขายเสื้อผ้าอยู่ที่ตลาดร่มเกล้า ทุกคนอยู่กันแบบพี่แบบน้อง หาได้เท่าไรก็กินกันเท่านั้น จนผมมาถูกจับกุม ทุกคนก็แยกย้ายกันไป เท่าที่รู้มามีหลายๆ คนที่ยังลำบากมากๆ ในตอนนี้ คนไหนที่ผมสามารถติดต่อได้ผมก็ให้การช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ และก็มีหลายๆ คนที่ผมพามาทำงานด้วยกันที่เชียงใหม่ในเวลานี้ด้วย

ผมพยายามจะยืนอยู่ด้วยตัวเองให้ได้ ต้องหาทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวเองให้ได้ ใครลำบากผมสามารถเอามาดูแลได้ แต่ถ้าสบายแล้วจะไปก็ไป จะอยู่ก็อยู่

ถาม : เงินเยียวยาเป็นอย่างไร คุ้มไหม

วัลลภ : 1ล้าน 7แสน กับสองปีกว่าในคุก ซื้อบ้านกับเอาไปใช้หนี้ที่กู้เอามาเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวสามแสนก็หมดแล้ว ดอกเบี้ยวันละพัน ผมไม่ได้เป็นเสื้อแดงเพราะเงิน ไม่มีใครรู้ว่าติดคุกแล้วจะได้เงิน ไม่มีใครรู้ว่าตายแล้วจะได้เงิน อันนี้ถือว่าเป็นกำไรชีวิตถ้าได้มา แต่ถ้าไม่ได้มาก็ไม่มีผลอะไรอยู่แล้ว เพราะจริงๆ แล้วทำทุกสิ่งทุกอย่างลงไปด้วยอุดมการณ์ทั้งนั้น คือเราไม่อยากเห็นใครมาทำร้ายประชาชน ตัวผมเองผมไม่เคยคิดแล้วก็ไม่เคยรู้ว่าติดคุกแล้วจะมีเงินส่วนนี้มา ไม่เคยหวังว่าในขณะที่ติดคุกอยู่จะต้องมีใครมาดูแลมาช่วยเหลือ

ถาม : ช่วยเล่าถึงช่วงที่ถูกจับกุม ทำไมจึงสารภาพ

วัลลภ : ผมถูกจับแล้วถูกส่งตัวมาสอบปากคำที่เชียงใหม่คืนนั้นเลย เพราะเขากลัวว่าผมจะโทรบอกคนโน้นคนนี้ให้หนีอะไรอย่างนี้ เขาเลยเอาผมมากันไว้ที่เชียงใหม่ก่อน ผมถูกเก็บตัวไว้ในเซฟเฮ้าส์ 3 วัน 3 คืน ผมได้พยายามร้องขอเพื่อติดต่อญาติหรือทนายความ เพราะข้อหาที่ตำรวจแจ้งมานั้นมันเหมือนกับว่าผมเป็นผู้ก่อการร้ายซะอย่างนั้น แต่ผมก็ไม่ได้รับอนุญาต หลังจากนั้นผมจึงถูกสอบปากคำติดต่อกันทั้งวันทั้งคืนไม่หยุด ไม่ได้พักผ่อน จนผ่านไปถึง 4 วัน 4 คืน ประมาณตี 5 ของวันที่ 4 ทางเจ้าหน้าที่ได้เอาเอกสารมาให้ผมเซ็น 4 ปึกใหญ่ๆ เขาบอกว่า ให้เซ็นเอกสารบันทึกการจับกุม และใบริบของกลาง ถ้าเซ็นเสร็จแล้วจะให้ผมพักผ่อน แล้วตอนเช้าจะให้ใช้โทรศัพท์ติดต่อญาติ ทั้งหมดมัน 4 คืนที่ไม่ได้นอน วันที่เซ็นเอกสารคือไม่ไหวแล้ว ไม่ได้กินไม่ได้นอน อยู่ในอาการที่เพลียสุดๆ แล้ว เขาเอาเอกสารมา ตัวผมเองก็หมดสภาพในการอ่านแล้ว เอกสารมันเยอะ ไม่ทันได้อ่านที่เซ็นไป และอีกอย่างก็ไม่คิดว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเอาเอกสารอย่างอื่นมาให้เซ็น และผมก็เซ็นตรงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจชี้ให้ผมเซ็น แต่เมื่อเซ็นเอกสารหมดแล้ว พอวันที่จับพวกที่กรุงเทพได้ตอนเช้าเขาก็เอาผมนั่งเครื่องบินจากเชียงใหม่ไปแถลงข่าวที่กรุงเทพบ่ายเลย แถลงข่าวเสร็จก็ถูกนำตัวกลับทันที พอถึงเชียงใหม่ ผมจึงทวงถามเรื่องการติดต่อญาติ แต่ก็ถูกปฏิเสธ และทางเจ้าหน้าที่บอกว่าให้ไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจังหวัดเชียงใหม่ก่อนแล้วจะให้ติดต่อ เมื่อไปถึงที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ผมจึงไม่ยอมให้ความร่วมมือใดๆ ทั้งสิ้น ผมถูกสอบปากคำที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจังหวัดเชียงใหม่อีก 2 วัน เป็นช่วงหน้าหนาว แอร์มันอยู่บนหัว เปิดแอร์เป่ามาที่ตัวผม แล้วก็ให้ผมรับสารภาพ แล้วก็เอากระดาษมาให้ผมดู ให้ผมเซ็นรับสารภาพว่ารู้จักกับคนนี้ คนนั้นเป็นคนสั่งการ ผมก็ไม่ได้ให้ความร่วมมือ

(อ่านเพิ่มเติมได้จาก : เรื่องเล่าจากคุก: กระบวนการยุติธรรมไทย และชะตากรรมคน 8 คุก , จม.จากคุก: เรื่องของผู้ก่อการร้ายหมายเลข1 คดี M79 เชียงใหม่-กรุงเทพฯ )

ถาม : ข่าวลงสัมภาษณ์คุณว่าที่ทำลงไปเพราะความแค้นส่วนตัว (จับผู้ต้องหายิงเอ็ม 79 – ระบุทำตามอุดมการณ์)

วัลลภ : ไม่เคยมีใครมาสัมภาษณ์ผม วันที่แถลงข่าวมีการต่อรองระหว่างผมกับตำรวจว่า ขอพบทนายกับขอพบญาติก่อน เขาก็บีบให้เรารับสารภาพ ผมก็กลัวว่าถ้าเรารับสารภาพไปมันจะมีผลต่อคนอื่นไหม มีผลต่อ นปช. หรืออะไรไหม ผมเลยบอกไปว่าไม่เกี่ยวอะไรกับใคร ไม่เกี่ยวข้องกับนปช. ไม่ได้เป็นเสื้อแดง ทำไปด้วยอุดมการณ์ส่วนตัว อาวุธจัดหาซื้อเอง คือจริงๆ แล้วมันต้องรับสารภาพแบบนี้เพื่อป้องกันคนอื่นที่เขาอยู่ข้างหลังด้วย ไม่อย่างนั้นคงโดนพรรคประชาธิปัตย์เล่นงานแน่ๆ แต่หลังจากที่รับสารภาพไปแล้วเขาก็ไม่ได้ให้พบญาติ ให้เซ็นเอกสาร แล้วก็พาตัวกลับมาเชียงใหม่อีกครั้ง เอามาขังไว้ในเซฟเฮ้าส์อีกทั้งหมด 11 วัน ถึงจะเอาเข้าเรือนจำ รวมแล้ว 14 วันหลังจากที่ถูกจับ

ถาม : เขาบอกว่าได้อาวุธมาจากสี่คนนี้หรือ (ให้ดูภาพถ่ายจากการแถลงข่าว)

วัลลภ : จริงๆ แล้วผมบอกเขาแล้วว่า อาวุธนี่มันไม่ใช่ของพวกผม ให้เอาลงไป เขาก็บอกว่าไม่เป็นไร เอาวางไว้นี่แหละ จะถ่ายแค่หน้า จริงๆ แล้วไม่เกี่ยว ไม่มี ในสำนวนก็ไม่มีฟ้องมาว่ามีอาวุธ แต่ฟ้องว่าพกพา ยิงลูกระเบิด แต่ไม่มีหลักฐาน ไม่มีของกลาง อีกสี่คนที่โดนคดีครอบครองวัตถุระเบิดก็ออกมาหมดแล้ว

ถาม : วันที่แถลงข่าวมีทำแผนออกข่าวโทรทัศน์ด้วย

วัลลภ : ใช่ครับ มันเป็นการ.. เขาเรียกว่าไงอ่ะ คือตัวผมเองผมบอกว่าไม่ได้ทำ แต่ทางตำรวจเขาบอกว่า “ถ่ายๆ ไปเหอะ จะได้กลับ” ผมก็พูดกับพี่ๆ นักข่าวว่า “ถ้าพี่ถ่ายไว้เนี่ย ผมพูดไว้เลยว่าผมไม่ได้ทำ แต่ทางตำรวจเขาให้ทำ” แล้วให้เขาจัดท่าให้ด้วย ให้ตำรวจบอกว่าจะต้องเล็งไปตรงไหนยังไง

ถาม : ข่าวลงบอกว่าตำรวจจับได้ขณะตั้งวงดื่มเหล้าขาวกับเพื่อนๆ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1290604158&grpid=01&catid=01)

วัลลภ : ผมไม่กินเหล้ากินเบียร์ครับ ผมถูกจับกุมตอนเติมน้ำมันที่ปั๊มแถวสายไหม

ถาม : แล้วสู้คดียังไง

วัลลภ : ในคำฟ้องลงว่าผมรับสารภาพ จริงๆ แล้วผมปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ผมสู้ว่าผมไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ และเอกสารทุกใบผมไม่ได้อ่าน เพราะเป็นวันที่สี่แล้วที่ผมไม่ได้นอน ผมถูกจับได้ไงเหรอ ผมไม่เคยรู้ว่าตัวผมมีหมายจับ ยังใช้ชีวิตอยู่ปกติในเมืองไทยทั่วไป เซลไซต์โทรศัพท์ก็ขึ้นทั่วไป เป็นเส้นทางปกติที่ผมวิ่ง เป็นการวิ่งไปเอาเสื้อผ้าที่ตลาดโรงเกลือแล้วก็กลับมาขายที่นี่

ถาม : วันแรกที่ถูกจับ คิดว่าจะมีคนมาช่วยไหม

วัลลภ : ไม่คิดว่าจะมีใครมาช่วยนะ เพราะผมถูกตั้งข้อหาร้ายแรง จากที่ให้ทนายไปดูในครั้งแรกเขาตั้งว่าเป็นกบฏต่อราชอาณาจักร ผมเลยคิดว่าไม่น่าจะมีใครเข้ามายุ่ง ตอนที่ติดแรกๆ ไม่มีใครมาเยี่ยม ไม่มีจดหมาย ไม่มีอะไรเลย

ถาม : ระหว่างที่ถูกนำตัวย้ายไปขังในหลายๆ เรือนจำทั่วประเทศ เกิดอะไรขึ้นบ้าง

วัลลภ : เรือนจำกลางเชียงใหม่ผมถูกขังในแดนความมั่นคงสูง มีเอาไปฝากขังไว้เป็นคืนๆ เพราะว่าถูกดีเอสไอสอบสวนด้วย แล้วก็ถูก (กองบัญชาการตำรวจ) ภาคห้า (สภ.) ภูพิงค์ แม่ปิง กองเมือง ช้างเผือก เพื่อสอบสวน หลังจากนั้นผมก็ถูกย้ายไปเรือนจำต่างๆ ทั้งกลางพิษณุโลก อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พะเยา เชียงราย พิเศษพัทยา พิเศษกรุงเทพ ปทุมธานี แล้วก็กลับมาที่กลางเชียงใหม่อีก ถ้าเป็นเรือนจำเล็กๆ อย่างพิษณุโลก อุตรดิตถ์ จะให้ผมอยู่ในห้องซอยเดี่ยวบ้างหรือซอยรวมบ้าง ห้องขังเดี่ยวเป็นห้องแคบๆ มืดๆ เพราะคดีมันมีอัตราโทษสูงกว่าเรือนจำจะรับได้ เรือนจำจังหวัดส่วนใหญ่รับได้ที่ 15 ปี แต่อัตราโทษของผมมันตลอดชีวิต ผมถูกตีตรวนตั้งแต่ย้ายไปเรือนจำกลางพิษณุโลก ไม่ได้ถอดตรวนเลย ไม่ว่าจะกินข้าว นอน อาบน้ำ ชีวิตประจำวันผมอยู่กับตรวนตลอด เปลี่ยนเสื้อผ้ามันจะมีวิธีถอดของคนคุกเขา มันสามารถถอดออกได้โดยที่ส่วนหนึ่งยังคาขาอยู่ ผมได้ถอดตรวนจริงๆ ตอนไปเรือนจำพะเยา เรือนจำเชียงราย พอไปลงไปเรือนจำพัทยาก็เอาผมไปตีตรวนอีก ปทุมธานีนี่ผมโดนตีตรวนตลอด สรุปแล้วย้ายไปทั้งหมด 11 คุก จำได้ว่าถอดตรวนแค่ที่เชียงใหม่ พะเยาและเชียงราย

ถาม : แล้วแออัดต่างกันไหม

วัลลภ : เรือนจำจังหวัดส่วนใหญ่จะเป็นคดีเล็ก มีนักโทษพันกว่าคน เป็นคดียาเสพติดเล็กๆ น้อยๆ ถ้าอยู่ในห้องซอยก็จะไม่ได้แออัดกับใครเพราะว่าไม่ได้เจอใคร แต่ถ้าอยู่ในห้องรวมก็ค่อนข้างแออัด ห้องหนึ่งนอนกัน 60-70 คน ผมมีสิทธิพิเศษอยู่แล้วครับพวกใส่ตรวน คนอื่นเขาได้ลงจากห้อง แต่ผมถูกขังอยู่แต่ในห้อง

ถาม : แสดงว่าพวกที่ถูกควบคุมพิเศษนี่หลายอย่างก็สบายว่านักโทษปกติ

วัลลภ : ใช่ครับ พวกแถบแดงควบคุมพิเศษนี่ (หมายถึงชุดออกเยี่ยมหรือออกศาลของนักโทษ ที่จะมีแถบสีที่ปลายแขน บ่งบอกความหนักเบาของโทษ สีแดงเป็นโทษหนักที่สุด : ผู้สัมภาษณ์) สิทธิพิเศษต่างๆ จะเยอะกว่า กินก่อน นอนก่อน อาบน้ำก่อน อะไรพวกนี้ สิทธิทุกสิ่งทุกอย่างจะได้มากกว่าเขา แต่ความรู้สึกมันหดหู่ เวลามีคนออกไปตัดสินทีหนึ่งต่ำๆ เลยก็ 25 ปี ก็จะพากันหดหู่กันหมดทั้งแดน ก็จะเศร้ากันไป ออกไปทีกลับมาตลอดชีวิตงี้ ประหารชีวิตงี้ มันเป็นแดนที่มีโทษสูงอยู่แล้วครับ ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีใครคุยกันเรื่องโทษ ก็ปล่อยใจอิสระไปเลย จะได้คลายเครียดไป เพราะถ้าเรามัวแต่ห่วงเรื่องโทษกันก็จะไม่เป็นอันทำมาหากิน ก็เล่นกีฬาอะไรกันไป แยกออกต่างหากจากนักโทษทั่วไป คดียาขั้นต่ำสองหมื่นเม็ด คดีฆ่า อะไรต่างๆ

ถาม : แล้วเขาอนุญาตให้เยี่ยมไหม

วัลลภ : มันไม่มีคนไปเยี่ยม ไม่ใช่ว่าไม่ได้เยี่ยม พี่เมย์ อียูกับน้องเปิ้ล กริชสุดา คุณะแสน มาดูแลก็เรือนจำที่แปดที่พัทยาแล้ว จากนั้นก็คอยดูแลมาตลอด

ถาม : แล้วเวลาติดต่อทนายล่ะ

วัลลภ : เจอกันที่ศาลอย่างเดียว ไปตอนขึ้นสืบเลย ส่วนใหญ่เจอกันที่ศาล ไม่มีโอกาสได้พบที่ห้องทนาย เพราะแต่ละที่มันไกล ส่วนใหญ่จะได้คุยที่เรือนจำเชียงใหม่อย่างเดียว

ถาม : ความช่วยเหลือระหว่างถูกขังก็เคยเขียนเล่าไว้เองบ้างแล้ว

วัลลภ : จริงๆ แล้ว ผมได้รับความช่วยเหลือตั้งแต่คนภายนอกยันคนภายใน ตอนอยู่พิเศษกรุงเทพช่วงแรกแดนหนึ่งแรกรับก็ต้องคุมพิเศษเหมือนกัน อ.สุรชัย (แซ่ด่าน) แกไปขอไว้ว่าไม่ต้องย้าย ให้อยู่แดนนี้ด้วยกัน เป็นเสื้อแดงเหมือนกัน ผมก็อยู่ที่นั่นจนย้ายเรือนจำ น่าจะสักเดือนสองเดือน จนย้ายไปปทุมธานี อ.สมยศ (พฤกษาเกษมสุข) ก็ให้ความช่วยเหลือมาตลอด และเป็นคนแนะนำให้เขาเขียนเล่าเรื่องของตัวเองผ่านจดหมายฉบับนี้เพื่อสื่อสารกับคนภายนอก http://prachatai.com/journal/2012/04/39931 พี่สุรภักดิ์ ภูไชยแสง เป็นคนที่ไม่เคยห่างเลย ดูแลผมตั้งแต่เรื่องการกินเรื่องการอาบน้ำ แล้วก็ อ.สุรชัยแกจะได้อาหารดีๆ ตลอด แกไม่เคยลืมพี่ลืมน้อง แกเรียกผมตลอดว่าให้เข้ามาเอา ไปนั่งกินข้าวด้วยกัน แรกๆ ก็ไม่อยากจะรบกวนแก แต่หลังๆ แกคะยั้นคะยอว่าต้องเอานะ ต้องกินนะ ของแกเหลือเยอะเกินไปละ อะไรอย่างนี้ ผมก็เลยรับไว้ ก็เอามานั่งกินกันกับพี่สุรภักดิ์ พี่หนุ่ม เรดนนท์นี่ส่วนใหญ่เวลาเดินผ่านห้องเยี่ยมญาติแกก็จะเรียกไปเอาขนมมั่งอะไรมั่ง  เวลาผมย้ายไปในแต่ละเรือนจำผมจะไม่มีของไม่มีเครื่องใช้ไม่มีเงิน จนกว่าจะมีคนตามมาเจอแล้วฝากเงินให้ แม้แต่แปรงสีฟันอันเดียวผมก็ไม่มี

ในส่วนของคนภายนอกก็มีบ้างครับ มีหลายๆ คนที่เข้าไปเยี่ยม มีทั้งมวลชนเชียงใหม่ตามไปเยี่ยมหลายครั้ง ไปฝากตังค์ ไปดูแล ไปเยี่ยม

ถาม : รู้สึกว่ามีบทเรียนให้เราระวังตัวขึ้นไหม

วัลลภ : ใช่ครับ หลายสิ่งหลายอย่างมันสอนเราเกี่ยวกับลักษณะการทำงานอะไรอย่างนี้ ที่ผ่านมาอาจจะดูแลคนไม่ทั่วถึงพวกเราเลยสูญเสียกันมากขนาดนี้ ครั้งหน้าถ้ามีอีกเราก็อาจจะดูแลได้ดีกว่านี้มันเป็นประสบการณ์หนึ่งที่ยากที่จะลืม มีทั้งดีมีทั้งร้าย เราเจอทั้งคนที่ดีและไม่ดีกับเรา แต่ถ้าถามว่าคราวหน้าถ้ามีม็อบอีกจะเข้าร่วมอีกไหม ผมไม่เคยท้อถอยในการเข้าร่วมในการดูแลคน แต่ใครบ้างที่อยากจะกลับไปติดคุกอีก ไม่มีแน่ แต่ไม่มีใครถอยหรอก คนที่เป็นคนเสื้อแดงมาแต่แรกมันไม่ถอยอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเหนื่อยอะไรแค่ไหนเขาก็ทำกันได้ แม้แต่ควักเงินส่วนตัวออกเดินทางไปชุมนุมเขาก็ยังทำกันอยู่

 

“ป้อม” วัลลภ พิธีพรม อายุ 29 ปี

 

อ่านต่อตอนที่สอง เร็วๆ นี้

 

หมายเหตุ ชื่อบทสัมภาษณ์เดิม
บทสัมภาษณ์วัลลภ พิธีพรม จำเลยเสื้อแดงคดี M79 (ตอน 1) : จากคนขายเสื้อมือสองสู่ “ผู้ก่อการร้าย” หมายเลขหนึ่ง ในนามของความ(อ)ยุติธรรม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท