Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในปี 2537 ชาวรวันดา จำนวนราวแปดแสนคน หรือประมาณ 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ถูกสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยมจากสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้น สังคมของรวันดาล่มสลาย  ค่าเงินฟรังค์ของรวันดาตกต่ำอย่างหนัก

ปัจจัยในการสังหารหมู่ครั้งนี้ ถูกผลักดันด้วยสื่อวิทยุและสิ่งพิมพ์ของรวันดา ที่สร้างความเกลียดชังจนนำไปสู่การเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์

ปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติในรวันดานั้นไม่ใช่พึ่งเกิดขึ้นในเวลาไม่กี่ปี หากแต่เป็นการสะสมและบ่มเพาะความเกลียดชังมาเป็นเวลานานพอสมควรทีเดียว ตั้งแต่สมัยยุคอาณานิคม โดยในประเทศรวันดานั้น มีชนพื้นเมืองที่สำคัญ 2 ชนเผ่า คือ ฮูตู ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ หรือคิดเป็นประมาณ 84% และ ชาว ทุดซี่ ประมาณ 15% ทั้งสองชนเผ่านี้มีวิถีชีวิตเรียกได้ว่าแทบจะเหมือนๆกันเลยทีเดียวคือ ใช้ภาษาเดียวกัน นับถือศาสนาเดียวกัน อาศัยอยู่ในละแวกเดียวกัน แต่งงานกันข้ามชนเผ่าอย่างปกติ และมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันมาก จนอาจกล่าวได้ว่าพวกเขาได้หลอมรวมกันเป็นหนึ่งแล้วทีเดียว

ในปี 1916 หรือในยุคการล่าอาณานิคม ประเทศรวันดานั้น ตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของเบลเยี่ยม ได้มีการทำบัตรประจำตัว หรือ ID card ให้กับชาวรวันดา โดยแยกตามเชื้อชาติ และด้วยจุดนี้เอง ก็ได้นำไปสู่การแบ่งแยกชนชั้นของชาวรวันดา และสงครามกลางเมืองในอีกหลายปีต่อมา

เจ้าอาณานิคมอย่างเบลเยี่ยม ได้ดำเนินนโยบายการแบ่งเชื้อชาติผลักดันให้เกิดความขัดแย้งภายใน เพื่อเป็นการง่ายต่อการเข้าแทรกแซงและปกครอง(ดั่งเช่นที่อังกฤษทำในอินเดีย)โดยพวกเขาให้ความสำคัญกับชาวทุดซี่เหนือกว่าชาวฮูตูอย่างเห็นได้ชัด ด้วยสิทธิพิเศษในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ เช่นโอกาสในการทำงาน หรือการศึกษา ที่มีมากกว่า แน่นอนว่าชาวทุดซี่ต่างพอใจกับสถานะเหล่านี้ แต่หารู้ไม่ว่าพวกเขากำลังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมอย่างแสนสาหัส ระหว่างคนในประเทศด้วยกันเอง

มีการก่อความไม่สงบโดยชาวฮูตูที่ไม่พอใจอยู่เนืองๆ (ครั้งที่สำคัญคือในปี1959 ชาวทุดซี่ถูกฆ่าตายถึงกว่า 20,000คน) และภายหลังจากการได้รับเอกราชในปี 1962 ชาวฮูตูก็ได้เริ่มมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น จนกระทั่งถึงจุดสูงสุด คือได้เป็นประธานาธิบดี และดำเนินนโยบายแบบเผด็จการดังเช่นประเทศอื่นๆในทวีปแอฟริกา และการกำจัดชาวทุดซี่ก็ได้เริ่มขึ้น

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการกำจัดฝ่ายตรงข้ามที่รัฐบาลฮูตูใช้ คือสื่อทั้งทางหนังสือพิมพ์และวิทยุ สื่อทั้งหลายพยายามออกโฆษณาชวนเชื่อสร้างความเกลียดชัง อีกทั้งนักการเมืองและนักหนังสือพิมพ์หลายคนก็ใช้ปมความขัดแย้งนี้ในการสร้างชื่อให้กับตนเองอย่างไร้จรรยาบรรณ โดยสื่อที่ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่มฮูตูหัวรุนแรงคือ Radio Television Libre des Mille Collines (RTLM) และ นิตยสารอย่าง Kangura สื่อเหล่านี้พยายามฝังความเกลียดชังโดยใช้ข้อมูลเท็จ คำหยาบคายดูถูก มีการเรียกชาวทุดซี่ว่าเป็น “แมลงสาบ”  ไปจนถึงการสร้างความชอบธรรมให้กับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทุ๊ดซี่ว่าเป็น “หน้าที่ที่สมควรกระทำ” และถึงขนาดมีการประกาศรายชื่อและที่หลบซ่อนของผู้ที่สมควรถูกฆ่าเลยทีเดียว

เช่นเดียวกับในประเทศไทย ถึงแม้ว่าความเกลียดชังของคนในประเทศแบ่งตามสีเสื้อ จะไม่ได้ฝังรากลึกเหมือนในรวันดา แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำให้เกิดความแตกแยกจนนำไปสู่ความรุนแรง ก็คือสื่อกระแสหลักและสื่อที่เป็นเครื่องมือของนักการเมืองในการสร้างข้อมูลเท็จเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้าม โดยที่ผู้รับสารหลายคนเห็นได้ชัดว่าใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผลในการรับสารและแชร์กันออกไปโดยที่ไม่คิดไตร่ตรอง หรือตรวจสอบความจริงเท็จของข่าวให้ดีเสียก่อน มีการนำข่าวเก่า มาใส่คำพูดใหม่เพื่อเข้าข้างฝั่งตัวเอง ทั้งที่บางข่าวนั้นเป็นข่าวของฝ่ายตรงข้าม หรือกระทั่งการตัดต่อภาพให้เกิดความสับสน หยิบคำพูดที่เข้าข้างฝั่งตนเองมาใส่กับคนดัง ทั้งที่ไม่มีที่มาของคำพูด ฯลฯ

สื่อเหล่านี้เองนำพาความเกลียดชังให้กับคนที่พร้อมจะเชื่ออย่างไม่มีเหตุผล หน่ออ่อนของสงครามการเมืองที่คล้ายคลึงกับรวันดาก็เริ่มก่อตัวขึ้นจากการดูถูกเหยียดหยามฝ่ายตรงข้าม เห็นได้จากการสัมภาษณ์ของผู้ชุมนุมและสนับสนุนม๊อบของคุณสุเทพฯ ถึงแม้ว่าความคิดและความเชื่อเหล่านี้จะมีให้เห็นอย่างประปรายมานานแล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ พวกเขาในปัจจุบัน “ไม่อาย” ต่อการแสดงออกถึงแนวคิดเหล่านี้แล้ว และพร้อมที่จะประกาศให้โลกรู้อย่างบริสุทธิ์ใจ โดยในการให้สัมภาษณ์โดยนักข่าว BBC เมื่อไม่นานมานี้ และลงเป็นบทความของ Reuters ที่ชื่อว่า “Thai Protesters step up campaign to oust government” มีการให้สัมภาษณ์โดยหนึ่งในผู้ร่วมประท้วงรัฐบาลใจความว่า

“พวกเรารวยและลูกๆของพวกเราเรียนในกรุงเทพ" นนทพันธ์ สุวรรณานนท์ หนึ่งในผู้ประท้วงรัฐบาลกล่าว "พวกเขาจน ไร้การศึกษา และถูกซื้อมาโดยทักษิณและพวก" (ดู: http://www.reuters.com/article/2013/11/26/us-thailand-protest-idUSBRE9AP05B20131126)

หรือการให้สัมภาษณ์ของนางเสาวณีย์ อุษณากรกุล หนึ่งในผู้ร่วมประท้วงและมาจากภาคใต้ของไทย ให้สัมภาษณ์กับ New York Times ในบทความเรื่อง "Economic Realignment Fuels Regional Political Divisions in Thailand" โดยเธอกล่าวว่า "พวกเราเป็นชนชั้นกลาง พวกเราได้รับการศึกษามา และพวกเรารู้ดีที่สุด" "พวกเรารู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด" "แต่พวกคนจนสิไม่รู้อะไรเลย พวกเขาเลือกคนที่ให้เงินพวกเขาน่ะ"(ดู http://www.nytimes.com/2013/12/04/world/asia/thailand-protests-reflect-searing-divisions-of-changing-country.html?_r=0)

ในระดับแกนนำ หรือบรรดาคนดังก็มีให้เห็นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นบทสัมภาษณ์ของ ตั๊น จิตรภัส, เพชร โอสถานุเคราะห์ หรือล่าสุดคือคำปราศรัยของเสรี วงมณฑา (เป็นภาษาอังกฤษ) ใจความว่า “…….หลายคนในประเทศไทยเป็นคนยากจน และพวกเขาเสพย์ติดผลประโยชน์จากนโยบายสาธารณะที่ได้กับตนเอง จนไม่เคารพเรื่องของคุณธรรมและผู้ปกครองที่ดี" (ดู https://www.facebook.com/photo.php?v=10152092089926154&set=vb.627196153&type=2&theater )

หรือปาลาวี บุนนาค นักกฎหมายสาว ภรรยาของวรสิทธิ์ อิสสระ ลูกชายของ ชาญ อิสสระ ได้ให้สัมภาษณ์กับ Reuters ในบทความชื่อ "High society hits the streets as prominent Thais join protests" ว่า “"การให้การศึกษาแก่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ต้องเริ่มที่คนขับรถและแม่บ้านของตัวเองก่อน"  (ดู  http://www.reuters.com/article/2013/12/13/us-thailand-protests-idUSBRE9BC0ZD20131213)

การให้สัมภาษณ์เหล่านี้แสดงถึงการยกตัวเองในฐานะที่สูงกว่าและดูถูกฝ่ายตรงข้ามอย่างเห็นได้ชัด เป็นการมองคนชาติเดียวกันอย่างไม่เท่าเทียม และเป็นการสร้างความเกลียดชัง อันจะนำไปสู่ความแตกแยกและความรุนแรงแน่นอนในอนาคต

สิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ใช่ครั้งแรก เราอาจเห็นได้ก่อนหน้านี้จากสื่ออย่าง “ดาวสยาม” หรือวิทยุยานเกราะในสมัย 6 ตุลาฯ ที่พยายามยัดเยียดข้อหา “ล้มเจ้า” และ “คอมมิวนิสต์” ให้กับนักศึกษา และคนบริสุทธิ์หลายพันคน การให้สัมภาษณ์จากคนดังเพื่อรับรองความชอบธรรมในการ “กำจัด” ผู้ที่เห็นต่าง นำไปสู่การสังหารหมู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เหตุการณ์ทั้งหมดเคยเกิดขึ้นมาแล้ว มันกำลังหวนกลับมาอีกครั้ง และยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จากความเกลียดชังที่อัดอั้น อาจจะนำไปสู่หายนะสงครามกลางเมืองอย่างที่หลายๆประเทศเกิด ได้ทุกเมื่อ หรือดังที่ยกตัวอย่างรวันดามาข้างต้น การมองคนอย่างไม่เท่าเทียม การใช้อภิสิทธิ์เหนือคนอื่น และการไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ไม่ว่าจากฝ่ายไหนก็ตาม ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป ก่อนที่ความเท็จจะกลายเป็นจริง ผู้เขียนมีความประสงค์ที่จะเรียกร้องให้ทุกๆฝ่าย “รับฟังข้อมูลที่กว้างมากขึ้น” ”กลั่นกรองข้อมูลก่อนส่งสารกันต่อๆไป” “ตรวจสอบข้อมูล”ให้มากๆ และ “หยุดสร้างความเกลียดชังจากความเท็จและอคติ”  ก่อนที่ “สงครามกลางเมือง” จะเกิดขึ้นในประเทศไทยดังเช่นที่เกิดขึ้นในรวันดา

 

 

 

แหล่งความรู้และบทความอื่นที่น่าสนใจอื่นๆ

เล่าเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา แบบงดการเมือง:

The Impact of hate media in Rwanda

Rwanda: How the genocide happended

รายงานรวมปรากฎการณ์ “เงิบ” ระแวงสักนิดก่อนคิดจะแชร์

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net