Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ถึง คุณ กรณ์  จาติกวณิช (อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ที่ตัวสูงที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีรัฐมนตรีฯ มา)
ประโยคข้างต้นผมนั่งเทียนเขียนครับ เหมือนที่คุณกรณ์ นั่งเทียนเขียนเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชนว่าเหมือน Les Miserables

ผมเชื่อว่า คุณกรณ์ตัวสูงที่สุด ทั้งที่ผมไม่ได้ค้นคว้า ไม่ทำการบ้าน และอาจไม่มีประสบการณ์ได้เคยเห็นรัฐมนตรีฯ ที่ตัวสูงกว่าคุณกรณ์ เหมือนที่คุณกรณ์ อาจไม่ได้ค้นคว้า ไม่ได้ทำการบ้าน และอาจไม่ได้เข้าใจ Les Miserables อย่างที่มันควรจะเป็น หรืออย่างที่ผมและคนอีกจำนวนมากเคยเข้าใจ

อย่างที่น้อยที่สุด การเคลื่อนไหวของ กปปส. ไม่ใช่การเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมการเมือง แต่เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อขัดฝืนการเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมือง พูดให้ถึงที่สุด วันนี้ มวลมหาประชาชน กำลังทำตาม จินตนาการของกำนันสุเทพด้วยการก้าวข้าม ประเด็นใจกลางการเคลื่อนไหวแต่แรก ไปสู้การล้มประชาธิปไตย

คุณกรณ์ เลือกเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชน กับ Les Miserables ซึ่งผมคิดว่า ขบวนการของกำนันสุเทพ และคุณกรณ์ ห่างไกลเหลือเกินจากการเคลื่อนไหวนั้น โดยเฉพาะในเชิงจุดประสงค์ อย่างไรก็ตาม ผมไม่อาจก้าวล่วงจินตนาการอันเหลือล้ำของคุณกรณ์ได้ ในห้วงยามที่ คุณกรณ์ และพวกของคุณกรณ์ ต่างจินตนาการและหยิบยื่นจินตนาการชุดใหญ่ที่ไม่หลักทางวิชาการใดๆ รองรับ มานำเสนอสังคมไทยอย่างถี่ยิบ ตั้งแต่ นายกฯ ลาออกรักษาการ ขัดขวางการเลือกตั้ง รับเอาสภาประชาชน เป็นสรณะในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง

ทั้งนี้ โดยที่คุณกรณ์และพวกของคุณกรณ์ ไม่เคยถามความต้องการของ มวลมหาประชาชน ทั้งประเทศ ซึ่งอาจมีจำนวนมากกว่า มวลมหาประชาชน (ราชดำเนิน)

พวกของคุณกรณ์ ซึ่งมีจำนวนมากในสายตาของคุณกรณ์ แต่อาจมีจำนวนน้อยในสายตาของผม และคนอีกมาก ดึงดันจะเอาอย่างที่ต้องการเท่านั้น โดยไม่สนใจเสียงส่วนใหญ่ และความเห็นอื่นๆ ที่ปรากฏเรียงรายในสังคมการเมือง เสมือนประเทศนี้ไม่ได้ชื่อประเทศไทย และปกครองโดยคนไทยคนอื่นๆ ร่วมกัน แต่เป็นเหมือนประเทศสุเทพที่มีสุเทพและมวลมหาประชาชนของคุณสุเทพเท่านั้นที่เป็น “ประชาชน” และพึงได้รับการยอมรับ ซึ่งขัดแย้งกับการเคลื่อนไหวใน  Les Miserables ที่การเคลื่อนไหวของพวกเขา เป็นเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน เพื่อล้มการปกครองที่พวกเขาไม่พึงปรารถนา

แล้วการเคลื่อนไหวของ กปปส. จะเหมือนละครเวทีเรื่องอะไรหล่ะ ถ้าไม่ใช่ Les Miserables ?

ผมคิดว่า คุณกรณ์ คงเคยดู สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล ฉบับของถกลเกียรติ  วีรวรรณ นักการละครคนสำคัญของประเทศไทย ซึ่งจัดแสดงที่รัชดาลัยกว่า 100 รอบ และที่สำคัญ สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ก็ได้เสด็จไปทอดพระเนตรด้วย พร้อมกับตรัสชมการแสดงดังกล่าว

แล้วการเคลื่อนไหวของ กปปส.เหมือน ละครเวที สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล ตรงไหน ?

ผมพบว่า “สุเทพฯ” เหมือน “แม่พลอย” หลายอย่าง โดยเฉพาะ ความต้องการของทั้งคู่ที่โหยหา เรียกร้อง กระวนกระวาย อยากกลับไปใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ ผมคงคิดไม่ผิดไป หากพิจารณาข้อเสนอของคุณสุเทพตลอดมา โดยเฉพาะ การขอนายกพระราชทาน มาตรา 7 และอื่นๆ อีกมายมายทั้งในเชิงวิธีการและเป้าหมายเพื่อล้มประชาธิปไตย

ในสี่แผ่นดิน ตัวละครตัวหนึ่งชื่อ “อ้น” ซึ่งเป็นลูกของ “พลอย” พยายามนำประเทศเปลี่ยนระบอบไปสู่การปกครองแบบมีประชาธิปไตย โดยการปฏิวัติ 2475 และนำเอากษัตริย์มาอยู่ใต้ รธน. อย่างไรก็ตาม พลอยผิดหวังกับ อ้นมาก และเธอก็พูดกับ “อ้น” ว่า “แม่ไม่คิดว่า ลูกของแม่ จะทำร้ายคนที่แม่รัก”

คนที่แม่รัก คือ ในหลวง รัชกาลที่ 7  และในตอบจบของเรื่อง คึกฤทธิ์ก็เขียนให้ “อ้น” สำนึกผิดว่า “เขาไม่ควรเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศมาเป็นประชาธิปไตย การใช้ชีวิตในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ เป็นสิ่งสมบูรณ์พูนสุขแล้ว เขาไม่ต้องการนักการเมืองเลวมาปกครองประเทศ”

สำนึกของอ้นก็คือ สำนึกของมวลมหาประชาชน พูดให้ถึงที่สุด มวลมหาประชาชนทั้งหลาย สำนึกแล้วว่า ไม่มีอะไรดีไปกว่ากลับไปปกครองแบบไม่เอาประชาธิปไตย เพราะถ้าเอาประชาธิปไตยแต่มีการนักการเมืองเลว พวกเขาก็ไม่เอา

วิธีคิดของแม่พลอย ก็คือ วิธีคิดแบบสุเทพและมวลมหาประชาชน เป็นวิธีคิดเดียวกันที่โหยหาระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ และไม่ชอบประชาธิปไตย รวมความคือ พวกเขาไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงเพราะการเปลี่ยนแปลงไม่ให้ผลประโยชน์ใดๆ กับพวกเขา ขณะเดียวกันพวกเขาก็เลือกแล้ว ที่จะเดินหน้าขัดฝืนการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ในสังคม

พวกเขาเลือกแล้วที่จะเดินหน้าล้มประชาธิปไตย

เส้นทางเดินของสี่แผ่นดิน ตลอดเรื่องทำให้เราเห็นว่า แม่พลอยไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง เธอไม่ชิน/ไม่คุ้นกับการเปลี่ยนแปลงสมัยใหม่ เช่น ใส่หมวก เปลี่ยนการปกครอง เธอไม่ชอบการเมือง เธอบ่นตลอดว่าการเมืองทำให้ครอบครัวของเธอแตกแยก

แน่นอนครับ เธอไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง เพราะการเปลี่ยนไม่เคยให้ผลดีกับครอบครัวของเธอ เหมือนที่สุเทพไม่ชอบ ประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยให้ผลประโยชน์สุเทพน้อยมาก อย่างน้อยที่สุด ดูได้จาก ประชาธิปัตย์และสุเทพไม่เคยชนะในระบอบนี้เลย

อย่างไรก็ตาม พวกเขาอาจลืมใคร่ครวญไปว่า มีคนอีกจำนวนมากในประเทศนี้ที่ชอบการเปลี่ยนแปลง และได้ผลประโยชน์มากมายจากการเปลี่ยนแปลงนี้

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า ผมเข้าใจ แม่พลอย เพราะเรารู้ว่า ทำไมแม่พลอยจึงโหยหาระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ เพราะทั้งชีวิตเธอได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากเจ้าตลอดมา เธอดำรงชีวิตอย่างมีค่าและความหมาย เพราะยึดเอาสถาบันกษัตริย์เป็นใจกลางของชีวิต มิพักต้องเอ่ยว่า เธอใช้ชีวิตในสังคมที่มีความหลากหลายของความต้องการน้อย

แต่ สุเทพไม่ใช่ ? สุเทพอยู่และเกิดในสมัยที่ประเทศไทยเผชิญหน้ากับความหลากหลาย และหลากหลายเกินกว่า จะพาพวกเราทั้งประเทศ กลับไปกก/ฝังตัว อยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์

ในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลายเช่นนี้ คำตอบไม่ใช่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ แต่เป็นประชาธิปไตยที่จะช่วยเรา หาความต้องการร่วมของผู้คน และอยู่ร่วมกันกับคนที่แตกต่างหลากหลายไปจากเรา

ในสี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล บทร้องจบของเรื่องคือ “เรียนรู้บทเรียนที่ผ่านเลยไป พรุ่งนี้จะต้องสดใส ดั่งมีแสงทองส่องมา”  บทเรียนในสี่แผ่นดินคือ อย่าไปเปลี่ยนของสำคัญในบ้านเมือง อย่าไปยุ่งกับของสำคัญในบ้านเมือง หรือทางที่ดีอย่าไปเปลี่ยนอะไรมากเลยให้กับบ้านเมือง แม้กระทั่งเปลี่ยนการปกครอง เมืองไทยเป็นแบบนี้ก็ดีอยู่แล้ว ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์นี่หล่ะที่เป็นคำตอบ อยู่ห่างประชาธิปไตยเข้าไว้จะดี จะได้ไม่วุ่นวาย

อย่างไรก็ตาม ถ้าเรา จะลอง (อ่าน/ทำความเข้าใจ) บทละครให้เข้ากับบริบทในสถานการณ์ปัจจุบัน เราจะอ่านมันอย่างไร ? บทเรียนใหม่ของเราก็คือ ทุกคนฝืนการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ สังคมไทยเดินทางมาไกลเกินกว่าจะปิดตาที่สว่างแล้วของผู้คน

ระบอบการปกครองในวันที่ประเทศมีความแตกต่างหลากหลายเช่นนี้ หนีไม่พ้น ประชาธิปไตย

ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่สุเทพ และใครๆ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ในทางการเมือง

ในแง่นี้ จุดหมายปลายทางของ กปปส. จึงเหมือนสี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล  แต่ขัดกับจุดหมายปลายทางใน Les  Miserables อย่างสิ้นเชิง

คุณกรณ์จึงไม่ควรใช้ตัวอย่าง Les  Miserables เพื่อจะเปรียบเทียบกับการชุมนุมของ กปปส. แต่ควรใช้ สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล เป็นตัวอย่างจะดีกว่า เพราะตรงไปตรงมากว่า

ยกเว้นคุณกรณ์จะอยู่ในโลกของจินตนาการ เกินกว่าจะกลับมาอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปัจจุบันเจนวิทย์ เชื้อสาวะถี ศึกษาอยู่คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net