Skip to main content
sharethis

เจษฎา เผยจะล้มรัฐบาลด้วยการไปกากบาท ชี้การเมืองถ้ายังเป็นแบบนี้ไม่พ้นเมษาสงครามกลางเมืองแน่ เครือข่ายจุฬาเชิดชูคุณธรรม ระบุเมื่อได้ข้อมูลไม่รอบด้าน การเลือกตั้งแม้จะ 1 คนกา 1 เสียง มันก็ไม่เท่าเทียม

6 ม.ค.2557 เมื่อเวลา 17.26 น.  รายการสรยุทธเจาะข่าวเด่น ทางช่อง 3 ได้เผยแพร่ใน ประเด็น “2 มุมมองการเมืองจากนักวิชาการจุฬาฯ” โดยมีผู้ร่วมรายการคือ อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล  อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในนามเครือข่ายจุฬาเชิดชูคุณธรรม ซึ่งขึ้นเวที กปปส. ที่ราชดำเนินมาเป็นครั้งคราวแล้ว กับ รศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีวะวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งล่าสุดโพสต์ข้อความชาวจุฬาฯ เสียงส่วนน้อย ที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมที่จะนำไปสู่ความรุนแรง โดยตลอดรายการประมาณ 20 นาที เป็นการสนทนาการในประเด็นสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน การเลือกตั้ง  ก.พ.นี้ การปิดกรุงเทพของ กปปส. สงครามการเมือง เป็นต้น

0000

อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล(ซ้าย) และ เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์(ขวา)

พอเห็นต่างก็ถูกผลักไปอีกฝั่ง

เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ กล่าวว่า หลายคนอาจคุ้นเคยว่าผมออกมาพูดเรื่องเครื่องตรวจระเบิด GT200 และอีกหลายๆเรื่องที่เป็นเชิงวิทยาศาสตร์ เรื่องนาซ่า เรื่องสำรวจประเทศไทย เรื่องบางเรื่องผูกพันกับการเมือง แต่โดนส่วนตัวผมสนใจเรื่องการเมือง ผมเป็นคนที่ผ่านยุคพฤษพาทมิฬ ผมเรียนปริญญาตรีปี 3 ผมเคยไปวิ่งหลบกระสุนมาแล้วจึงรู้ว่าเหตุการณ์มันเป็นอย่างไร

ผมสนใจการเมืองมาโดยตลอดไม่ว่าม็อบเสื้อเหลือง ม็อบเสื้อแดง รวมถึงม็อบปัจจุบันก็ตาม ไม่ใช่ไม่ได้สนใจการเมือง ผมสนใจมาโดยตลอด

ปัญหาคือผมเองก็ได้เสนอความเห็นของผมบ้างผ่านเฟซบุ๊ก ในที่ต่างๆ บ้าง แล้วเวลาผมเสนอความเห็นออกไป มักจะโดนผลักออกไปอีกด้านหนึ่ง เช่น ผมมาเตือนเพื่อนๆเรื่องการใช้แก๊สน้ำตา ต้องระวังตัวอย่างไรบ้าง ก็ถูกผลักทันทีเลยว่าฝ่ายผู้ชุมนุมใช่ไหม ตอมาผมพูดเรื่องเกี่ยวกับการเป่านกหวีดว่ามันทำลายเซลประสาทหูก็ถูกผลักว่าเป็นฝ่ายรัฐบาลใช่ไหม ต่อมาผมก็พูดว่าไม่เห็นด้วยกับการปะทะกัน ไม่เห็นด้วยกับการใช้คำพูดรุนแรง หรือการให้ hate speech การทำให้คนเกลียดชังกัน เขาก็บอกว่าผมอยู่อีกฝาก

วันนี้ผมรู้สึกว่าผมอึดอัดมาก พบว่าผมโพสต์แต่ละครั้งลงไปในเฟซบุ๊กนี่ โดยการที่บอกว่าผมจะใช้ความเป็นคนสงบสันติ ผมชอบสันติภาพ ชอบประชาธิปไตย ผมชอบการไปเลือกตั้ง คิดว่านั้นเป็นทางออกของประเทศที่เจริญและพัฒนาแล้ว ผมก็เลยบอกว่าผมอยากทำอย่างนี้ด้วย ผมเคยโพสต์ไว้ก่อนจะปีใหม่ ว่าถ้าวันหนึ่งมีคนบอกว่าจะไปเดินขบวนกัน หรือนำออกมาว่าไปเลือกตั้งกันไหม ผมก็จะไปด้วย

ผมจะล้มรัฐบาลด้วยการไปกากบาท

เจษฎา กล่าวว่า หลังจากปีใหม่เมื่อเปิดทีวีพบกลุ่ม “พอกันที” ที่มีการชุมนุมเรียกร้องขอความสงบสันติจุดเทียนกันวันศุกร์ ซึ่งไม่เคยทราบกิจกรรมเขามาก่อนเลย แต่เมื่อเห็นก็ตรงจริตผม ผมรู้สึกเลยว่าที่ผมทนมานาน ซึ่งเคยโพสต์ใน “ไทยอดทน” ด้วยว่าอดทนรอการเลือกตั้ง ผมคิดว่านี่เป็นจริตผมจึงจะไปร่วมกับกลุ่มพอกันทีวันศุกร์ที่จะถึงนี้ และล่าสุดที่ผมโพสต์ผมบอกว่าผมเป็นกลุ่มขั้วที่ 3 ที่รักสงบ สันติ และประชาธิปไตย แปลว่าใครก็ได้ที่คิดอยากต่อสู้ทางการเมืองด้วยความรู้สึกที่ว่าใช้หลักการประชาธิปไตย เช่น การเลือกตั้ง เป็นต้น เป็นทางออกหนึ่ง และไม่อยากเห็นสงครามเกิดขึ้นในบ้านเมืองไทย ผมว่าคนกลุ่มนี้จะคล้ายๆผม ผมเองผมพูดตรงๆเลยผมไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล วันที่มีการออกไปเดินเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สุดซอย ผมก็ไปด้วย ผมเป่านกหวีดด้วย ผมคิดว่าคน 80% ของประเทศไทยเห็นพ้องกันว่ามันเกินไปแล้ว มันต้องหยุด และผมพอใจที่เขาหยุด และผมพอใจที่เขาถอนออกไป แต่ผมไม่คิดว่ามันต้องต่อเนื่องมาถึงวันนี้

ดังนั้นเมื่อผมคิดว่าผมต้องต่อสู้เพื่อจะล้มรัฐบาลนี้ ผมอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่ผมจะล้มด้วยการไปกากบาท ผมใช้วิธีสันติในการไปเลือกตั้ง ส่วนใครก็ตามที่คิดว่าตัวเองเชียร์รัฐบาล แล้วก็อยากไปเลือกตั้งเหมือนกัน เป็นฝ่ายที่เชียร์รัฐบาลแต่ไม่อยากใช้ความรุนแรง ผมก็นับเป็นกลุ่มขั้วที่ 3 เหมือนกัน

ถ้ายังเป็นแบบนี้ไม่พ้นเมษายนนี้สงครามกลางเมืองแน่ๆ

เจษฎา กล่าวต่อว่า ฉะนั้น กลุ่มขั้วที่ 3 ของเราอาจจะเสียงค่อนข้างน้อย ในจุฬาฯ ที่คณะผมผมเป็นเสียงส่วนน้อยแน่ๆ  ดังนั้นผมจึงโพสต์ไปว่าผมเป็นเสียงส่วนน้อย ต่ผมเป็นขั้วที่ 3 ที่ต้องการความสงบสันติและอยากเห็นบรรยากาศการเดินหน้าไปด้วยการใช้กระบวนการทางประชาธิปไตย แม้จริงๆแล้วใจอยากให้ 2 ฝ่ายมานั่งโต๊ะเจรจากัน ไม่อยากให้ทะเราะกัน ตอนนี้ไม่รู้จะใช้วิธีใดแล้วนอกจากเรียกร้องให้ไปกากบาทเลือกตั้งได้ไหม

ต้องหาวิธีที่สงบสันติ เพราะสิ่งที่ผมเห็นขณะนี้ มันย้อนภาพสมัยพฤษภาทมิฬได้ เรากำลังเดินไปหาสงครามกลางเมือง วันนี้ถ้าหากกลุ่มใดสามารถไล่ล้มรัฐบาลได้ ปีหน้าอีกกลุ่มก็จะมาไล่รัฐบาลเช่นกัน ผมพึ่งกลับจากเกาหลี ผมเห็นภาพระเทศ 2 ประเทศซึ่งเคยเป็นญาติกัน และผมไปเที่ยวตรงเส้นเขตแดน แล้วมันเห็นภาพคน 2 ชาติต้องแบ่งเป็นเหนือใต้ ล้วมันน่าเศร้า ผมจะพูดว่าประเทศไทยถ้าเราเป็นแบบนี้ต่อไป มื่อเช้าก็ทะเราะกันแล้วที่เชียงใหม่ บังคาเทศก็มียิงกันตาย ถ้ายังเป็นแบบนี้ไม่พ้นเมษายนนี้สงครามกลางเมืองแน่ๆ และผมไม่อยากให้ลูกหลานเกิดมาใน ศตวรรษที่ 21 ที่จะต้องมาเจอสงครามกลางเมืองเช่นนั้น

การเลือกตั้งจะทำให้วงจรของประเทศไทยกลับมาสู่วงจรเดิม

อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล  กล่าวถึงสาเหตุที่ต้องปฏิรูปการเมืองการการเลือกตั้ง ว่า การเลือกตั้งจะทำให้วงจรของประเทศไทยกลับมาสู่วงจรเดิมๆ คือได้รัฐบาลมาแล้วเกิดกลุ่มที่มาขับไล่รัฐบาลเรื่อยไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลปัจจุบันชูนโยบายเดิมด้วยซ้ำไป ว่าเดินหน้าสานต่อนโยบายเดิมของรัฐบาล เท่ากับว่านโยบายรัฐบาลนั้นไม่เปลี่ยน เหตุการที่ผ่านมาที่คนจำนวนมาก มากกว่า 1 ล้านคนที่พากันออกมาเดินขบวนตามท้องถนนในเมืงหลวง ออกมาคัดค้านรัฐบาล รัฐบาลกลับไม่ได้มาฉุดคิดเลยว่านโยบายของตัวเองนั้นสมควรต้องเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนแม้แต่น้อย ยังคงเดินหน้าเหมือนเดิมทุกประการ

ถ้าเราเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง ผมคิว่าการเลือกตั้งตรงนั้น รัฐบาลย่อมได้เสียงข้างมากมา เขาก็จะมีความชอบธรรม แล้วก็สานต่อนโยบายที่จะเป็นโทษกับประเทศมากกว่าที่เป็นอยู่

ถ้าถามว่าการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ถูกไหม การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ถูกเป็นสิ่งที่ชอบธรรมในกระบนการประชาธิปไตย แต่ปัญหาของรัฐบาลนี้คือ ไม่ใช่ปัญหาของที่มา แต่ปัญหาของการดำรงอยู่ในตำแหน่ง แล้วทำให้รัฐบาลมีความชอบธรรมต่อไป รัฐบาลขึ้นมาบริหารประเทศแล้วกลับเลือกที่จะดำเนินนโยบายเพื่อคนบางส่วน ตอนที่หาเสียงนั้นพรรคการเมืองสามารถที่จะหาเสียงกับคนบางส่วนได้ แต่เมื่อแปลออกมาเป็นนโยบายสาธารณะบริหารประเทศแล้ว จำเป็นต้องเป็นนโยบายที่เอื้อประโยชน์กับคนทุกคนในประเทศ ไม่ใช่เลือกกับคนเพียงแค่คนที่เป็นฐานเสียงของตัวเอง และแน่นอนคนเหล่านั้นก็จะเป็นฐานเสียงให้กับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แล้วก็จะเสพติดกับนโยบายที่เอื้อประโยชน์กับตัวเอง โดยที่ไม่ได้คำนึงถึง ผลเสียหายโดยรวมที่จะเกิดขึ้นกับประเทศในระยะยาว ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดก็คือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคม 2 ล้านล้าน ถามว่าทางเลือกอื่นมีไหม พรรคฝ่ายค้านเองก็เสนอว่าทางเลือกอื่นมีโดยที่ไม่จำเป็นต้องออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงินพิเศษออกมา สามารถที่จะกู้อยู่ในระบบงบประมาณปกติของประเทศ แล้วทำให้ไม่จำเป็นต้องแบกภาระดอกเบี้ยมากมายขนาดนั้น ทางเอกอื่นก็มี

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการเมือง เพื่อทำให้ระบบการเลือกตั้งมันบริสุทธิยุติธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ ทำให้รัฐบาลหรือใครก็ตามไม่สามารถที่จะเข้าไปแทรกแซงองค์กรอิสระหรือกระบวนการเลือกตั้ง ทำให้กระบวนการซื้อเสียงมันลดลงหรือว่าหมดไป การเลือกตั้งควรจะขยับออกไป

ถ้าเราต้องการที่ใช้กำลังมวลชนหมู่มาก ทาง กปปส. ทำตั้งแต่ครั้งแรกแล้ว

สำรับเหตุผลที่ต้องปิดกรุงเทพนั้น อนันต์ มองว่าการคัดค้านรัฐบาลเป็นเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง เป็นเสรีภาพในทางปรัชาการเมืองทางรัฐศาสตร์ที่ทำได้ นักปรัชญาเมธีทางด้านประชาธิปไตย ก็พูดเอาไว้คนแล้วคนเล่า ไม่ว่าจะเป็นจอห์นล็อคก็ดี ไม่ว่าจะเป็นฌอง ฌาก รุสโซ ก็ดี ล้วนแล้วแต่พูดเหมือนกันว่าอำนาจเป็นของประชาชน ถ้ารัฐบาลหมดความชอบธรรมประชาชนมีสิทธิที่จะเรียกร้องอำนาจ มีสิทธิที่จะออกมาคัดค้านมีสิทธิที่จะเรียกร้องอำนาจนี้คืนมา

ถามว่าผมห่วงเรื่องสงครามกลางเมืองไหม ผมก็เป็นห่วง เพราะฉะนั้นในเวที กปปส. เวทีที่ราชดำเนินเองก็เป็นห่วงเรื่องสงครามกลางเมือง จะสังเกตุได้ว่าในเวทีที่ราชดำเนินนั้น จะพูดอยู่ตลอดเวลาว่าเราจะต้องใช้วิธีที่ปราศจากอาวุธ ใช้วิธีที่เท่าที่เราจะทำได้ โดยที่ไม่ได้ใช้กำลังไปสู้รบห้ำหั่น ถ้าเราต้องการที่ใช้กำลังมวลชนหมู่มากนี่เพื่อที่จะหักเอาจากรัฐบาล ผมคิดว่าทาง กปปส. ทำตั้งแต่ครั้งแรกแล้ว

ตัดสินกันในการเลือกตั้ง นั่นคือประเทศที่พัฒนาแล้ว

เจษฎา กล่าววว่า ผมคิดว่าประเทศไทยเรานี่จะเดินทางเส้นไหนดี เรามีทางเลือกหลายเส้นทางเราจะไปในเส้นที่ที่ประเทศพัฒนาแล้วไหม อย่างยุโรป อเมริกา หรือจะเป็นประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศด้อยพัฒนา ประเทศที่พัฒนาแล้ว เรากำลังเดิน เช่น รัฐบธรรมนูญ 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาให้เรามี 2 พรรคใหญ่ พรรคเล็กตายหมดเลย ดังนั้น 2 พรรคใหญ่เราต้องเรียกรู้ว่าต้องมีพรรคหนึ่ชนะแน่ๆล่ะ มีพรรคหนึ่งต้องแพ้แน่ๆ เราจะเห็นว่าในอเมริกามี “Democrat” กับ “Republican” เราไม่เป็นภาพว่า Democrat ชนะแล้ว Republican มาไล่ หรือกลับกันเราจะเห็น บุช ทำเรื่องเลวร้ายไว้มาก ก็ไม่มีการล้มล้างไล่กัน ก็ก็รวบรวมๆ แล้ว 4 ปีข้างหน้าเลือกตั้งใหม่ ไปตัดสินกันในการเลือกตั้ง นั่นคือประเทศที่พัฒนาแล้ว แล้วถ้าเขาเลือกตั้งแพ้ชนะกันแต่ 1 คะแนน เขาก็ต้องยอมรับผลนั้น 4 ปี แต่เขาจะตรวจสอบ ตรวจสอบ ตลอด 4 ปี นั้น แล้วหวังว่าใน 4 ปีห้นาจะเปลี่ยนแปลงใหม่ เพราะว่าเขาแข่งที่นโยบาย ไม่ได้แข่งที่ความเชื่อว่าใครมีหน้าตาดีกว่าใครใครเป็นคนอย่างไร แต่ดูที่นโยบาย 2 พรรค

ถ้าเป็นประเทศกำลังพัฒนาสูงสุดที่เกิดขึ้นที่ทำได้คือไปเดินขบวนแล้วบอกว่ายุบสภาเถอะ แล้วเลือกตั้งใหม่ คืนอำนาจให้กับประชาชน ตัดสินกันใหม่ว่าประชาชนเป็นอย่างไรบ้าง บ้านเราเกือบได้ทำตรงนี้แล้ว วันที่มี พรบ.นิรโทษกรรม ผมเชื่อว่าถ้าวันนั้นประชาธิปัตย์ ฝ่ายค้าน หรือใครก็ตามเรียกร้องให้ยุบสภา แล้วเคลียร์กันใหม่เลย เสียงของฝ่ายค้านไทยจะเข้มแข้งขึ้น ณ วันนี้ฝ่ายค้านไทยไม่เข้มแข็งเพราะเสียงมันห่างเยอะ แต่ตอนนั้นฝ่ายค้านจะเข้มแข็งขึ้น หรืออาจจะชนะกลับขั้วด้วยซ้ำ ถ้าหยุดอยู่แค่นั้นแล้วไปเลือกตั้งมันจะสวยมากเลย ฝ่ายค้านเสียงอาจสูสีมากขึ้นหรืออาจจะชนะด้วยซ้ำ

แต่เรากำลังเลือกเตินทางที่ 3 ของประเทศด้อยพัฒนา ประเทศเราเจริญด้านวัฒถุสูงมาก แต่รัฐบาลของประเทศหรือประเทศที่มีการไล่ผู้นำนี่คือประเทศที่ยังด้อยพัฒนามาก ดังนั้นจึงต่อสู้ด้วยการไล่ และสังเกตุไหมครับว่าเขาไม่จบง่ายๆ เขาก็จะสู้กันอีกกลุ่มหนึ่งชนะ อีกกลุ่มก็จะมาไล่ใหม่ ชนะไล่ใหม่ สงครามกลางเมืองก็จะตามมา อเมริกา อังกฤษ ยุโรป เขาผ่านเรื่องนี้มา 100 ปีแล้ว เขาเรียนรู้มาแล้ว

ฉะนั้นสิ่งที่เป็นปัญหาคือ 2475 เป็นช่วงที่เราเปลี่ยนแปลงการปกครอง แล้วคนไทยยังไม่พร้อมจะรับประชาธิปไตย 2540 คือการเปลี่ยนแปลงการปกคริงที่เรายังไม่คุ้นเคยว่าเราจะมี 2 พรรค ใหญ่เกิดขึ้น วันนี้เราจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าเขาแข่งกัน  2 พรรค วันนี้มีแนวโน้มจะแพ้ วันนี้มีแนวโน้มจะชนะ เราต้องอยู่ให้ได้

การซื้อเสียงเป็นวาทะกรรม งานวิจัยบอกแล้วว่ามันไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น

เจษฎา กล่าวด้วยว่า ไม่คิดว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 จะเป็นทางออก ผมอยากเห็นทั้ง 2 ขั้ว เอาตัวที่ค่อนข้างจะคุยกันรู้เรื่อง มาคุยกันหน่อยเถอะว่าถ้าเราคุยกันนะ แล้วเราเลือกตั้งให้เสร็จไปก่อน แล้วเรามีช่วงเวลา 1 ปี ก.พ.58 รับปากกันเลยว่าจะเลือกตั้งใหม่ 1 ปีนี้จะแก้อะไรบ้าง ปัญหาตอนนี้คือ ประชาชนเอง พวกผม ขั้วที่ 3 นี่ ผมดูไม่ออกเลยว่าจะปฏิรูปอะไร ผมถามลูกศิษย์ผมในชั้นเรียนผม เลือกันว่าปฏิรูปกับเลือกตั้งจะเอาอะไรก่อน ทุกคนยกมือหมดเอาปฏิรูป ผมถามว่าเป็นคนดีกับเลือกตั้งเอาอะไรก่อน ทุกคนยกมือเลือกเป็นคนดี ผมถามว่าปฏิวัติกับเลือกตั้วเอาอะไรก่อน คนตอบเอาเลือกตั้งไม่เอาปฏิวัติ ผมถามว่ามันต่างกันอย่างไร มันเป็นแค่คำ มันเป็นแค่วาทะกรรม เป็นคำสวยๆ แต่เราไม่รู้ว่าเราจะเอาอะไรบ้าง เช่น ผมตั้งการเวลา 1 ปี ทั้ง 2 ฝ่ายเลือกตั้งให้เสร็จก่อน ซึ่งจริงๆแล้วถ้าประชาธิปัตย์ลงเลือกตั้งคราวนี้มันจะสวยมาก ผมเลือกคุณชูวิทย์ อยู่แล้ว ผมต้องการฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง ผมประกาศกราวมานานว่าผมเลือกคุณชูวิทย์มาตลอด ผมต้องการฝายค้านที่เข้มแข็ง แล้วมาวางว่าใน 1 ปีจะแก้กฏหมายกี่ข้อบ้าง แล้ว ก.พ.58 ไปเลือกตั้งใหม่ ว่าไม่พอใจอะไร

แต่โดยส่วนตัวผม ผมคิดว่ากฏหมาย เลือกตั้งตัวนี้ใช้ได้แล้วนะ ไม่ได้เลวร้ายอะไร การซื้อเสียงเป็นวาทะกรรม ตอนนี้การซื้อเสียงทุกการวิจัยบอกแล้วว่ามันไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น  

เมื่อได้ข้อมูลไม่รอบด้าน การเลือกตั้งแม้จะ 1 คนกา 1 เสียง มันก็ไม่เท่าเทียม

อนันต์ กล่าวว่า ความแตกต่างระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาหรือด้วยพัฒนามันไม่ได้ต่างอยู่แค่ว่ายอมรับรัฐบาลแล้วก็ใช้กระบวนการเลือกตั้งเอาชนะกันเท่านั้น แต่มันต้องลงลึกไปถึงรายละเอียด มากไปกว่าตรงนั้นคือ ผู้ที่ไปเลือกตั้ง หรือประชาชน ประชาชนในประเทศสหรัฐอเมริกาก็ดี อังกฤษหรือฝรั่งเศสก็ดี ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นแม่แบบของประชาธิปไตย การศึกษาเขามีคุณภาพมาก คนที่ไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาสูง ก็มีความคิด แล้วก็มีทัศนะทาการเมืองที่ค่อนข้างที่จะแน่ชัด โดยที่ไม่ถูกชักจูงไปได้ง่ายๆ อีกอย่างประเทศทั้ง 3 ประเทศเหล่านั้น มีระยะเวลาในการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างยาวนานมาก

ประชาธิปไตยของเรา 80 ปี เหมือนกับเป็นคนแก้ถ้าเทียบอายุของคน แต่ถ้าดูของพัฒนาการประชาธิปไตยเทียบกับประเทศของตะวันตกแล้ว เรายังอายุน้อยกว่ามาก แล้วคุณภาพการศึกษาของสังคมไทยยังค่อนข้างน้อย การรับรู้ข่าวสาร ยังค่อนข้างต่ำ

และนอกจากนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ รัฐบาลยังกุมสื่อในมือ อย่างน้อยรัฐบาลมีสื่อ 2 ช่อง อยู่ในมือ และยังมีสื่อดาวเทียมอีก 2 ช่องเป็นอย่างต่ำ และยังคุมทางด้านวิทยุชุมชน รัฐบาลนั้นให้ข้อมูลด้านเดียว คนได้ข้อมูลที่ไม่รอบด้าน เมื่อได้ข้อมูลที่ไม่รอบด้านเหล่านี้ การเลือกตั้งถึงแม้จะ 1 คนกา 1 เสียง มันก็ไม่เท่าเทียม คุณภาพการศึกษาของคนไทยยังพัฒนาไม่ไปถึงขั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net