Skip to main content
sharethis
จิตรา คชเดช นักสหภาพแรงงานและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่มีบทบาทมาอย่างยาวนาน วันนี้นอกจากบทบาทนักเคลื่อนไหวที่ยังทำอยู่ เธอยังมีอีกบทบาทหนึ่งคือ ผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่สองของพรรคพลังประชาธิปไตย  (เบอร์ 8) `ที่ร่วมก่อตั้งกับประแสง มงคลสิริ อดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักดีในหมู่ชาวยโสธร 
 
พรรคพลังประชาธิปไตย ส่งผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์เจ็ดคน และผู้สมัคร ส.ส. เขต 36 คนในจังหวัด เชียงใหม่ ลำพูน อุบลราชธานี ยโสธร ปราจีนบุรี สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ และสตูล ในการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์นี้  
 
ประชาไทคุยกับจิตราถึงพรรคการเมืองแกะกล่องนี้ ที่เธอบอกว่า พรรคพรรคนี้จะไม่มีใครเป็นเจ้าของพรรค และจะไม่มีการออกคำสั่งพรรคแบบบนลงล่าง ที่จะขอมาเป็นตัวเลือกให้กับคนเสื้อแดงที่อาจผิดหวังกับพรรคเพื่อไทย จากกรณีร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง
 
 
จิตรา คชเดช ให้สัมภาษณ์กับประชาไท
 
 
ถาม : ใครคือผู้มีสิทธิออกเสียงกลุ่มเป้าหมาย
 
พรรคที่ตั้งขึ้นมาหัวหน้าพรรค (สุรชาติ เวชกามา) เป็นแกนนำเสื้อแดง ยโสธร ผู้ก่อตั้งพรรคพลังประชาธิปไตยรวมถึงประธานที่ปรึกษา ดร. ประแสง รวมถึงดิฉันเองส่วนหนึ่งเป็นที่รู้จักของคนเสื้อแดง ส่วนของดิฉันก็รู้จักกับคนงานด้วย ก็เป็นคน 2 กลุ่ม คือ คนเสื้อแดงและผู้ใช้แรงงาน และคิดว่าจะมีนโยบายเกี่ยวกับผู้ใช้แรงงานเป็นหลักด้วย
 
ถาม: เน้นที่คนเสื้อแดงกลุ่มไหนและทำไมกลุ่มนี้ถึงจะลงคะแนนให้พรรคเราแทนที่จะเป็นพรรคเพื่อไทย
 
ปัญหาความขัดแย้งที่ ดร.ประแสงคิดตอนตั้งพรรค ก็คือเกิดจาก พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเหมาเข่ง เราคิดว่าเราเองไม่นิรโทษกรรมให้กับฆาตกรและคิดว่าเรื่องการฆ่าพี่น้องเสื้อแดงปี 2553 มันน่าจะมีการสืบค้นความจริงก่อน อันนี้ที่เราคิดว่าคนเสื้อแดงและคนกลุ่มหนึ่งที่เกี่ยวข้องจะสนับสนุนพวกเราด้วยเรื่องเหล่านี้ 
 
ถาม : หวังจะได้คะแนนเสียงจากคนที่ผิดหวังจากเพื่อไทยในนโยบายเรื่องนิรโทษกรรมด้วยหรือเปล่า
 
ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ว่านอกนั้นจากนั้นพวกเราเสนอการทำพรรคการเมืองที่ต่างจากพรรคการเมืองอื่นๆ ที่มีอยู่ เราคิดว่าพรรคการเมืองไม่ควรจะเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ควรจะเป็นพรรคการเมืองที่มีนายทุนมาออกคำสั่งว่าใครจะต้องทำยังไง เราคิดว่าพรรคการเมืองจะเป็นพรรคการเมืองที่สมาชิกจะมีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย เลยอยากเสนอเป็นทางเลือกให้กับคนที่เบื่อการเมืองว่า ทำไมเวลาเราเสนอนโยบายแบบนี้ หรือเวลาที่เราเสนอตัวแทนของพวกเราลง ส.ส.เขตนี้  ก็ไม่ได้เป็นไปตามความต้องการ แต่เราก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะมีคนมาเลือกเรามากมายนัก เราแค่อยากจะเสนอความคิดว่ามีพรรคการเมืองแบบนี้ ถ้ามีการตอบรับดี คนเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย เขาคงจะเลือกเรา
 
ถาม : มีนโยบายเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างไรบ้าง
 
นโยบายเรื่อง 112 หลายคนชอบถามว่าทำไมพรรคไม่เสนอไปเลยว่าจะมีการแก้กฎหมายมาตรา 112 คือเราคิดว่าเรื่อง 112 จะให้คนที่เป็นสมาชิกพรรคมาเสนอนโยบายเกี่ยวกับ 112  อยากจะเห็นนโยบายจากล่างสู่บนจริงๆ ซึ่งตัวกรรมการบริหารพรรคก็คิดว่า มันเป็นประเด็นที่ทุกคนอยากเห็นการแก้ไขอยู่แล้ว แต่เพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น เราก็อยากให้สมาชิกเป็นคนเสนอ รวมถึงนโยบายอื่นๆ ด้วย เราก็อยากให้สมาชิกพรรคเป็นคนเสนอเข้ามาเป็นประเด็นปลีกย่อยว่าอยากจะทำเรื่องอะไรบ้าง
 
แต่ว่าเรื่อง 112 คิดว่า ถ้าเราเข้าไปเป็นตัวแทน หมายถึงว่าถ้าได้เป็น ส.ส. คิดว่าเรื่องนี้สำคัญเราก็จะเสนอให้มีการแก้ไข เราใช้หลักเหมือนกับที่ คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก. 112). ซึ่งทางดิฉันเองก็เคยเป็นทีมงาน เคยเสนอ เป็นพวกกฎหมายที่เสนอไปแล้วถูกปัดตก เราก็จะหยิบขึ้นแล้วคล้ายๆ กับช่วยผลักดันกฎหมายเหล่านี้
 
ถาม : แปลว่า ตอนนี้นโยบายต่างๆ ยังไม่มีการตัดสินใจขั้นสุดท้าย เพื่อต้องการรอให้มีการประชุมระหว่างสมาชิกพรรคก่อนใช่หรือไม่
 
ตอนแรกก็อยากให้เป็นแบบนั้น แต่ด้วยสถานการณ์ ที่พรรคมันเพิ่งเกิดขึ้นได้แค่เดือนกว่าเอง เพิ่งจดทะเบียนตอนเดือนพฤศจิกายน แล้วมีการยุบสภาเกิดขึ้น ก็เลยคุยกันว่าจะต้องเสนอตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ ก็เลยเขียนเป็นนโยบายกว้างๆ ไว้ก่อน 5 นโยบาย คือ 1. รัฐสวัสดิการ 2. กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น 3. ปฏิรูปทรัพยากร 4. แก้กฎหมายรัฐธรรมนูญและการนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง 5.การปราบปรามคอรัปชั่น
 
ถาม : ช่วยขยายความการปฏิรูปทรัพยากรได้ไหม
 
ตอบ : ปฏิรูปทรัพยากรก็คือดิน น้ำ ลม ไฟ ทั้งหมด ทั้งที่ดิน สัญญาณทางอากาศ น้ำ ทั้งหมดที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องก็จะเข้าไปดู ต้องการปฏิรูปเพื่อให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น คือทุกเรื่องให้ประชาชนมีส่วนร่วม คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ อย่างเรื่องน้ำมันที่อาจจะเป็นข้อกังขาของคนทั้งประเทศ มีทั้งคนบอกว่าเรามีบ่อน้ำมันเยอะ ก็จะต้องเอาข้อเท็จจริงออกมาให้คนได้เห็น ทุกอย่างมันต้องเปิดเผย
 
ถาม : อะไรบอกว่า เราต้องลุกขึ้นมาตั้งพรรคได้แล้ว คนเสื้อแดงต้องมีพรรคของตัวเองที่แยกออกมาจากเพื่อไทย 
 
ถ้าส่วนตัวดิฉัน ดิฉันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเพื่อไทยเลย ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยและไม่เคยทำพรรคการเมือง ที่คุยกับ ดร. ประแสง ก็คือว่า ทาง ดร.ประแสงอยู่ร่วมกับพรรคเพื่อไทยมาตั้งแต่แรกเป็นสมาชิกพรรคด้วย แล้วก็มีจุดเปลี่ยนเพราะ ดร.ประแสงไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมเหมาเข่ง ก็ออกมาคัดค้าน ซึ่งพอออกมาคัดค้านแล้ว ดร.ประแสงก็มีตำแหน่งทางการเมืองเหมือนเป็นเลขารัฐมนตรีกระทรวงหนึ่ง ก็มีมติ ครม. ให้ดร.ประแสงพ้นจากตำแหน่งนี้ ซึ่งสาเหตุมาจากการที่ ดร.ประแสงไปคัดค้านไม่เอา พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง ตอนนั้นก็มีผู้บริหารพรรค ทางน้องสาวคุณทักษิณ เจ๊แดง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าใครไม่เห็นด้วยกับเหมาแข่ง ทางพรรคก็จะมีมติลงโทษ คิดว่าเรื่องเป็นเรื่องเดียวกัน 
 
เลยคุยกันว่าถ้าทำพรรค ก็ต้องให้อิสระ นอกจากการให้อิสระแล้วก็ต้องมีเหตุผล คือต้องฟังกระแสของคนส่วนใหญ่ด้วยว่าจะต้องการให้เป็นอย่างไร ก็เลยอยากจะมาทำพรรคที่สมาชิกหรือประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ไม่ใช่พรรคการเมืองที่มีเจ้าของ คราวนี้พอเริ่มทำกันแล้วกลายเป็นว่ามันเร็วมาก เราก็ไม่คิดว่ารัฐบาลจะยุบสภา พอรัฐบาลยุบสภาก็เลยลองส่งผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์กับเขตดู คราวนี้เราก็เป็นพรรคที่ไม่มีเงิน เราก็เลยคิดว่าจะระดมทุนโดยขอจากสมาชิก ก็คือขอให้จ่ายเงินค่าบำรุง ซึ่งตอนนี้ก็เพิ่งเริ่มมีคนมาสมัครสมาชิก ซึ่งก็ยังไม่ได้มีเงินเข้ามา
 
 
โปสเตอร์หาเสียงของพรรคพลังประชาธิปไตย ระบบปาร์ตี้ลิสต์
 
 
ถาม : ตอนนี้พรรคมีสมาชิกกี่คนแล้ว
 
ยังไม่ได้ตรวจสอบจำนวน เพราะตอนที่เราเปิดตัวพรรคก็เป็นช่วงที่เราต้องเตรียมเอกสารสมัคร ส.ส. กัน เรื่องสมาชิกพรรคก็เลยให้เจ้าหน้าที่ดูแล เราไม่ได้เข้าไปดู 
 
ถาม : แก่นความคิดหลักของพรรคคืออะไร
 
คนที่คิดจะตั้งพรรค เขาคิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่น่าจะเป็นพรรคของพวกเราเอง คือพรรคที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ มากกว่าที่จะเป็นพรรคการเมืองที่มีคำสั่งจากเจ้าของพรรค คือการมีส่วนร่วม การแสดงความคิดเห็น การคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. ลงปาร์ตี้ลิสต์ คือมันไม่ต้องมามีใครคนใดคนหนึ่งมาบอกว่าคนนี้ต้องลงเบอร์ 1 เบอร์ 2 เบอร์ 3 อันนี้จะมีคณะกรรมการเลือก
 
ถาม : จะใช้วิธีการหาเสียงแบบใดบ้าง 
 
ที่คุยกันไว้ก็คือว่า เราคงไม่มีรถแห่เหมือนกับพรรคการเมืองใหญ่ๆ เราอาจจะใช้วิธีการเปิดเป็นห้องประชุมเล็กๆ แล้วก็พูดนโยบายไปเรื่อยๆ ก็คือประสานเอาคนกลุ่มหนึ่งมานั่งฟัง แล้วเราก็จะเสนอนโยบาย เป็นการเจาะกลุ่มคนเล็กๆ แล้วก็อาจจะใช้วิธีการแจกเอกสารตามรถไฟฟ้าหรือหน้านิคมอุตสาหกรรม คิดว่าจะทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น แล้วยังเปิดโอกาสให้คนสักถามเราได้โดยตรงอีกด้วย ถ้าเขาเสนอให้เราทำกลุ่มอื่นๆ ต่อไปก็จะได้นัดกันมาเรื่อยๆ แต่เราคงไม่ใช้วิธีการแห่รถ เพราะเราคิดว่าอันนั้นอาจะใช้ได้สำหรับพรรคใหญ่ที่คนรู้จักทั่วแล้ว แต่พรรคเล็กก็ต้องใช้วิธีการแบบนี้
 
 
ถาม: เป็นพรรคที่เน้นขายความคิดเป็นหลักใช่ไหม
 
ใช่คะ แต่เราก็ไม่ได้ขายความคิดเราอย่างเดียว เราก็จะไปขอคำแนะนำจากองค์กรต่างๆ  อีกด้วย เช่น iLaw เครือข่ายภาคประชาชนในขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) และ องค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ทำงานด้านเคลื่อนไหวด้านแรงงาน องค์กรต่างๆ ที่ทำงานเคลื่อนไหว และมีประเด็นอยู่แล้ว ไปขอคำแนะนำว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่อยากจะให้พรรคเราช่วยผลักดัน 
 
ถาม : คาดหวังว่าจะได้รับการเลือกกี่ที่นั่ง
 
ไม่ได้คาดหวังเท่าไหร่ แต่ได้ลองคำนวณดูแล้วว่าการได้ผู้แทนจากปาร์ตี้ลิสต์เจ็ดที่นั่ง จะต้องมีคนเลือกประมาณเกือบสองล้านคน เราก็อยากจะให้มันได้ครบทุกคนนะ แต่ว่าถึงไม่ได้เลยก็ไม่เป็นไร เพราะเราคิดว่าเราเสนอวิธีการที่มีพรรคการเมืองที่ทุกคนมีส่วนร่วมไป วันนี้สถานการณ์การเมืองอาจยังไม่ตอบโจทย์แบบนี้ แต่ในอนาคตพรรคการเมืองมันต้องเป็นแบบนี้แน่นอน จะมาเป็นเจ้าของพรรคไม่ได้อีกแล้ว นอกจากหาเสียง เราก็ถือว่าช่วยรณรงค์ให้คนออกมาเลือกตั้งนั้นแหละ เพราะว่าเราอยากให้มีการเลือกตั้ง แล้วเราจะได้ ส.ส.หรือเปล่าอันนั้นก็ไม่เป็นไร เพราะว่ามันก็ใหม่มากสำหรับพรรคการเมืองที่อายุยังน้อยแค่เดือนกว่า
 
ถาม :  จิตรามองว่า สถานการณ์การเมืองที่แบ่งเป็นสองขั้วในตอนนี้ เป็นอุปสรรคหรือโอกาสสำหรับพรรคเล็กๆ 
 
เท่าที่รู้จริงๆ พรรคการเมืองมีตั้ง 70 กว่าพรรค แต่ว่ามีทั้งพรรคที่ส่งตัวแทนและไม่ส่งตัวแทน แต่ครั้งนี้เหมือนจะส่งเยอะตั้งเกือบ 60 พรรค แต่มันมีพรรคใหญ่อย่างประชาธิปัตย์ไม่ส่ง คือตอนนี้กระแสสังคมเป็น 2 ขั้วอยู่แล้ว คือขั้วพรรคประชาธิปัตย์กับขั้วเพื่อไทย เราก็ดูจากปรากฏการณ์ที่เห็น เช่น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเคยต่อสู้ทางการเมืองร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาตั้งพรรคการเมืองใหม่ ตอนนั้นทุกคนก็คิดว่าพรรคการเมืองใหม่เป็นทางเลือกที่สำหรับคนเคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ แต่พรรคการเมืองใหม่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทางกลุ่มพวกดิฉันก็คิดว่ามันเป็นโอกาสแหละที่จะได้เสนอความคิด แต่ว่าจะได้ที่นั่งไหม อันนี้ไม่คิด 
 
เราคิดว่ามันก็ยากอยู่ แต่ว่าการลงสมัครรับเลือกตั้งนี้ อย่างน้อยมันก็เป็นโอกาสที่พรรคการเมืองเล็กๆ จะได้ไปเสนอแนวคิดที่มันต่างจากพรรคการเมืองใหญ่ ที่มีอยู่  อย่างน้อยเราได้เสนอวิธีการทำพรรคแบบที่เราอยากจะเห็น
 
ถาม : คิดว่าเพราะเหตุใด พรรคทางเลือกเชิงนโยบายจึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการเมืองไทย? 
 
เพราะสังคมยังไม่ตอบรับโจทย์แบบนี้ แต่ในอนาคตคนจะเห็นพรรคแบบนี้มีประโยชน์ หรือไม่ พรรคการเมืองใหญ่อาจจะเห็นว่าวิธีการทำพรรคแบบนี้มีประโยชน์ และนำมาปรับใช้เอง เพราะมันทำให้คนมีส่วนร่วมมากขึ้น นอกจากการปฏิรูปโครงสร้างการเมืองของประเทศแล้ว ก็ควรมีการปฏิรูปโครงสร้างพรรคการเมืองใหญ่ด้วย
 
ถาม: ในฐานะที่เราเป็นตัวเลือกหนึ่งของคนเสื้อแดงที่เป็นฐานของพรรคเพื่อไทย คิดว่าพรรคเพื่อไทยมีจุดอ่อนอะไรที่พรรคพลังประชาธิปไตยจะหลีกเลี่ยง
 
เห็นชัดเลยคือการที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้เปิดให้ ส.ส. หรือสมาชิกพรรคได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหรือมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ สมาชิกต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เรายังไม่เห็นมีพรรคการเมืองในประเทศไทยที่ใช้ระบบแบบสหภาพแรงงาน คือการที่สหภาพแรงงานจะเปลี่ยนหรือทำมติอะไรจะต้องมาจากความเห็นของสมาชิกสหภาพ แต่พรรคการเมืองเราไม่เคยเห็น มันกลายเป็นว่าพรรคการเมืองที่มีอยู่ปัจจุบัน ก็มีโครงสร้างของนโยบายสำเร็จรูปแล้ว ไปเสนอให้ผู้มีสิทธิออกเสียง แล้วใครชอบก็ไปเลือกพรรคนั้น โดยที่นโยบายเหล่านั้นไม่ได้มาจากความเห็นของสมาชิก ว่าต้องการอะไร การเลือกตั้งปัจจุบันคือการที่เราไปเลือกสิ่งที่เขาเสนอมา ไม่ใช่ที่สิ่งเราเสนอไป พรรคการเมืองที่มีอยู่คิดและตัดสินใจจากบนลงล่างไง เราอยากจะทำพรรคเราให้เป็นการคิดและตัดสินใจจากล่างสู่บน 
 
สองคือเรื่องการระดมทุน นอกจากประชาชนจะมีส่วนร่วมในการเสนอนโยบายแล้ว ก็ต้องมีส่วนร่วมในการให้ทุนสนับสนุนด้วย ตอนนี้กฎหมายไทยเขียนไว้ว่าพรรคการเมืองต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน  ถ้าเราคิดฐานรายได้วันละ 300 บาท ถ้าเราเก็บเงินค่าบำรุงสมาชิกคนละร้อยละห้า จาก 5,000 คน ก็ล้านกว่าบาทต่อเดือนแล้วนะ ถ้าเราเก็บค่าสมาชิกแบบนี้ได้ เดือนละล้านกว่ามันก็เพียงพอที่พรรคการเมืองจะอยู่ได้ แล้วถ้าเรามีสมาชิกมากกว่า 5,000 คน เป็นหมื่นคน สองหมื่น สามหมื่นคน เราก็มีรายได้พอจะทำพรรคการเมืองแบบมีประสิทธิภาพโดยที่ไม่ต้องหวังพึ่งใครเอาเงินมาบริจาคที่อาจหวังมาควบคุมพรรค มาสั่งให้คนทำแบบนั้นแบบนี้ ถ้าพื้นฐานพรรคการเมืองมันไม่เป็นประชาธิปไตยแล้ว แล้วมันจะไปสู่ระบบประชาธิปไตยได้อย่างไร นี่เป็นวิธีเดียวกันกับที่สหภาพแรงงานเก็บเงินบำรุงจากสมาชิกใช่ไหม คือการเก็บค่าสมาชิกของสหภาพกำหนดเป็นรายเดือน เดือนละ 30 หรือ 50 บาท หรือในต่างประเทศก็มีการเก็บในอัตราก้าวหน้าตามรายได้ ร้อยละห้า หรือร้อยละ 10 ของรายได้ ในทางกลับกันถ้าเรามีรายได้ดี คนมีรายได้สูงขึ้น ศักยภาพในการจ่ายค่าบำรุงก็สูงขึ้น ถ้าเกิดเราคิดร้อยละห้า หรือร้อยละสาม ถ้าเขามีรายได้เดือนละ 10,000 บาท ร้อยละสาม ก็ 300 บาท ถ้าเขามี 20,000 เขาก็จ่ายเดือนละ 600 บาท คือถ้าคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เงินค่าบำรุงพรรคก็จะมากขึ้น
 
อีกอย่างหนึ่งคือ ส.ส. เขต ควรจะให้คนในพื้นที่เป็นเสนอว่าเขาอยากจะเลือกใคร เพราะปัญหาที่เราเห็นปัจจุบันนี้คือพรรคการเมืองเลือกคนของตัวเองลงไป ชาวบ้านจะชอบหรือไม่ชอบไม่รู้ ก็เหมือนกับที่เขาบอกว่าส่งเสาไฟฟ้ามาก็ต้องเลือก มันไม่ควรมีคำพูดแบบนี้ ควรให้มีการแข่งขันกันเองระหว่างผู้สมัครก่อน แล้วก็สมาชิกคัดเลือกว่าจะให้ใครลงสมัครรับเลือกตั้ง แล้วพรรคก็ค่อยส่งคนนี้ลงไปในสนามใหญ่ มันจะได้ไม่กลายเป็นปัญหา ระบบที่เป็นอยู่ทำให้เกิดความลักลั่น คนที่ลงสมัคร ส.ส. เขตถูกส่งโดยพรรค ที่ประชาชนเลือกเขา เพราะจริงๆ แล้วประชาชนเลือกพรรคเขา สิ่งที่เขาแคร์ จึงไม่ได้แคร์ประชาชน เขาแคร์พรรค เขาถือว่าพรรคส่งเขามา เวลามีประเด็นอะไร เขาก็ต้องฟังเสียงพรรคมากกว่าเสียงประชาชน แต่ในขณะเดียวกันถ้าเกิดพรรคมีความเป็นประชาธิปไตย โดยให้สมาชิกมีส่วนร่วม มันก็ถูกแล้วที่จะฟังเสียงพรรค แต่ทุกวันนี้พรรคใหญ่ นายทุนเป็นเจ้าของพรรค สมาชิกไม่ได้มีส่วนร่วม 
 
 
แกนนำพรรคเดินสายหาเสียงที่จังหวัดเชียงใหม่ (ภาพจาก เฟซบุ๊กส่วนตัวของ จิตรา คชเดช)
 
 
ถาม : พรรคนี้จะไม่มีนายทุนเป็นเจ้าของ
 
ใช่ 
 
ถาม : ทำไมส่วนตัวจิตราเองเปลี่ยนบทบาทจากนักเคลื่อนไหวมาทำงานการเมือง
 
 คือพูดมาตลอดว่าจริงๆ เราอยากมีพรรคการเมืองที่เป็นของคนยากคนจน เป็นของกรรมกรเอง แต่การพูดมาตลอดก็ไม่เคยคิดว่าจะทำพรรคการเมืองจริงๆ เพราะตอนคิดจะทำพรรคการเมืองก็คิดจะทำกับเพื่อนๆ ที่เป็นผู้ใช้แรงงานด้วยกัน เป็นพรรคที่นำเสนอนโยบายเรื่องผู้แรงงานเป็นหลัก เคยคิดไว้อย่างนั้น แล้วก็คิดไว้ว่าคงอีกนานคงไม่ใช่เดี๋ยวนี้ แต่ ดร.ประแสงก็ชวนว่ามาทำพรรคการเมืองไหม เราเป็นพรรคการเมืองแบบนี้ เราจะเน้นการมีส่วนร่วม แล้วเราจะฟังเสียงกันและกัน ดิฉันก็เสนอนโยบายด้านรัฐสวัสดิการ ดร. ประแสงก็เห็นด้วย ก็เลยตกลงใจทำพรคคด้วยกัน การทำครั้งนี้ก็มันก็ไม่ต่างกับเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหรอก เพียงแต่ว่าสังคมไทยมันแบ่งแยกเองว่าพวกนี้เป็นนักการเมือง คือภาพลักษณ์ของนักการเมืองมันถูกทำให้ต่างออกไปจากนักกิจกรรมการสังคม ซึ่งจริงๆ แล้วสำหรับดิฉันมันไม่ควรต่าง มันไม่มีอะไรที่ควรต่างกัน มันน่าจะเป็นประเด็นเดียวกัน ทำไปได้ด้วยกันมากกว่า หลายคนมาบอกกับจิตราว่า เดี๋ยวนี้เป็นนักการเมืองแล้วจะมาพูดแบบนี้ไม่ได้ จะมาเขียนแบบนี้ไม่ได้ จะมาแต่งตัวแบบนี้ไม่ได้ ดิฉันมองว่ามันไม่ต้องแบ่งแยกอย่างนั้น เป็นเพราะนักการเมืองประเทศไทยที่ผ่านมาที่พยายามสร้างตัวเองแตกต่างจากคนธรรมดาหรือเปล่าก็ไม่รู้ ก็เลยเป็นแบบนั้น แต่ดิฉันไม่เป็น จะไม่สนใจประเด็นเหล่านี้ด้วย เราก็จะสู้ในความเป็นนักการเมืองแบบคนทั่วๆ ไป ให้เห็นว่า นักการเมืองไม่ต้องไปมีความแตกต่างจากประชาชนทั่วๆ ไป
 
ถาม: ถ้าได้รับการเลือกตั้งเข้าไปในสภาและพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล พรรคพลังประชาธิปไตยจะเข้าไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาลไหมหรือจะเป็นพรรคฝ่ายค้าน
 
 ถ้าโดยส่วนตัวดิฉัน โดยทั่วไปคิดว่าการเมืองที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ จะต้องมีพรรคฝ่ายค้านที่มีประสิทธิภาพ จะได้เกิดการคานอำนาจและการตรวจสอบอย่างแท้จริง ซึ่งส่วนตัวดิฉันคิดว่า ถ้าเราไม่ได้เสี่ยงมาก เราก็อยากไปนั่งเป็นฝ่ายค้านที่มีประสิทธิภาพ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นกับสถานการณ์ ว่าในภาวะที่จะต้องแก้ปัญหา ต้องปฏิรูปการเมือง ถ้าเป็นฝ่ายรัฐบาลแล้วมันนำไปสู่การแก้ปัญหาได้เยอะกว่าก็คิดว่าน่าจะเลือกด้านนั้น อันนี้ก็แล้วสถานการณ์อีกที 
 
แต่ถ้าสถานการณ์ปกติก็อยากเป็นฝ่ายค้าน เพราะเราเห็นฝ่ายค้านที่ไม่มีประสิทธิภาพทุกวันนี้ ทำให้การเมืองแย่มาก ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบหรือคานอำนาจรัฐบาลได้เลย กลายเป็นสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาล ซึ่งบางเรื่องรัฐบาลก็มีปัญหาเรื่องการทุจริต ซึ่งเรายอมรับว่ามันมันมีจริง 
 
ในภาวะที่หลายฝ่ายอยากให้มีการปฏิรูปการเมือง ดิฉันคิดว่าน่าจะเลือกพรรคเล็กๆ ที่มีความหลากหลายเข้าไปให้มากที่สุดเพื่อจะนำไปสู่การปฏิรูปที่มีประสิทธิภาพมากกว่าที่จะเอาพรรคใหญ่ๆ เข้าไปอย่างเดียว ไม่เช่นนั้นก็จะไม่นำสู่การเปลี่ยนแปลงอะไร ถ้ามีแต่พรรคใหญ่นั่งอยู่เหมือนเดิม
 
ถาม: ตอนนี้มีกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองเป็นอย่างมาก จิตราคิดว่าถ้าจะปฏิรูปควรปฏิรูปอะไรเป็นอันดับแรก
 
ต้องไปแก้ที่รัฐธรรมนูญ อันดันแรกเลยคือ แก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องเงื่อนไขการมีพรรคการเมืองที่ไม่ควรตีกรอบพรรคการเมือง ปัจจุบันพรรคพลังประชาธิปไตยเป็นพรรคการเมืองที่ติดอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญเก่า เราไม่สามารถไปเขียนหรือไปเสนอยกเลิกอะไรได้ เราต้องอยู่ในกรอบ อันนี้คือสิ่งที่ต้องไปแก้ไข
 
ถาม: แก้ไขอย่างไร?
 
เช่น มาตราที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพในการพูดการแสดงออก ในรัฐธรรมนูญ หรือว่าสิทธิเสรีภาพหลายๆ อย่าง เรื่องระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยตั้งหลายอย่างที่เราไม่สามารถจะไปแก้ไขอะไรได้ แต่ถ้าเราไปแก้รัฐธรรมนูญแล้วเปิดอิสระให้พรรคการเมืองเขียนนโยบายที่มันหลุดจากกรอบแล้วนำนโยบายนี้ไปสู่ความเป็นจริงได้ อันนี้มันก็จะทำให้เรามีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น การที่เรามีสิทธิเสรีภาพได้พูดได้แสดงออก มันก็จะทำให้สังคมไม่ต้องอยู่ในสภาพที่ต้องนินทา พูดลับหลัง หรือไม่สามารถตรวจสอบได้อีกต่อไป
 
ถาม : อยากให้จิตรพูดว่า ทำไมถึงควรจะเลือกพรรคพลังประชาธิปไตย 
 
จริงๆ เราอยากจะได้สัก 20 ที่นั่งด้วยซ้ำ เพราะถ้า 20 ที่นั่งมันจะเข้ากรอบที่จะยื่นแก้กฎหมายได้ การยื่นแก้กฎหมายได้มันก็จะเป็นประโยชน์มาก กฎหมายอะไรที่มันติดค้างอยู่จากคราวที่แล้ว พรรคเราก็จะเอากฎหมายที่มันตกเข้าไปยื่นให้ใหม่ นอกจากนี้เรามีเสียง 20 เสียง ที่จะเข้าไปโต้เถียงสร้างประเด็นต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าที่จะยื่นไปเฉยๆ แล้วไม่มีการพูดว่าเราจะสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ยังไงในรัฐสภา อยากจะทำตรงนี้มากกว่า 
 
ส่วนนโยบายที่เขียนไว้ ถ้าเราเข้าไปได้แค่สองสามเสียง นโยบายเราก็แทบจะไม่มีความหมายอะไร แต่ถ้าเกิดบังเอิญเกิดได้ไปร่วมรัฐบาลแล้วก็ได้ไปนั่งกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง อาจจะเอาประเด็นของตัวเองไปใส่ในกระทรวงนั้นๆ ก็มีความเป็นไปได้ แต่ในระบบรัฐสภาปัจจุบันมันแทบจะเอานโยบายตัวเองไปใส่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นขอ 20 เสียงเพื่อนำไปสู่การต่อสู้เรื่องกฎหมายต่างๆ น่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่า
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net