Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

1.
รัฐธรรมนูญคือกฎหมายแม่บทของประเทศใดๆ ที่ใช้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย กฎหมายต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญของประเทศนั้นๆ

ปัจจุบันรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นฉบับที่ 18 หลังเกิดขึ้นฉบับแรกเมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งเป็นการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่พระมหากษัตริย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งในครั้งนั้น คณะราษฎรได้ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพุทธศักราช 2475

หลังเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ทางการเมือง รัฐธรรมนูญของประเทศไทยก็ถูกฉีกออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยการกระทำรัฐประหารยึดอำนาจจากกองกำลังทหารเนื่องมาจากเหตุผลต่างกันไป โดยส่วนมากมักเกิดเมื่อมีปัญหาความรุนแรงทางการเมือง ในการร่างรัฐธรรมนูญในแต่ละครั้งส่วนใหญ่เป็นไปเพื่ออุดช่องว่างจากปัญหาการเมืองครั้งก่อนๆ และอีกเหตุผลหนึ่งเพื่อนิรโทษกรรมในตัวเองให้กับคณะรัฐประหาร ซึ่งถือเป็นความผิดอาญาถึงขั้นประหารชีวิต

ปีพุทธศักราช 2549 หลังเกิดปัญหาจากการลงสมัครเลือกตั้งที่พรรคอื่นๆ นอกจากพรรคไทยรักไทยพร้อมใจกันไม่ลงสมัคร รัฐบาลรักษาการณ์โดยการนำของ พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้ถูกยึดอำนาจด้วยการรัฐประหารจากคณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งมี พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ

หลังเกิดเหตุการณ์ ได้มีการแต่งตั้ง พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ในระหว่างนั้นได้จัดให้มี 'สภานิติบัญญัติแห่งชาติ' ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่พร้อมกันไปด้วย หลังจากที่คณะ คปค. ได้ฉีกฉบับเก่าทิ้งไป รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับแรกที่เปิดให้มีการลงประชามติ เพื่อให้ได้ความชอบธรรมในการประกาศใช้

ผลการลงประชามติในภาคใต้และกรุงเทพมหานครรับรองโดยส่วนใหญ่ ในขณะที่บางส่วนของภาคเหนือและภาคอีสานไม่รับรอง โดยสรุป รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 57.81% ต่อ 42.19% และถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 24 สิงหาคม พุทธศักราช 2550


2.
ลักษณะโดยทั่วไปของระบอบประชาธิปไตยคือเป็นระบอบที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และสามารถตรวจสอบการทำงานของผู้แทนที่เข้าไปทำหน้าที่ได้อย่างชอบธรรม ทั้งในระบบสภากระทั่งการเมืองบนท้องถนน ตราบใดที่ยังไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ หรือละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ

เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในสังคมหนึ่ง ความต้องการของคนแต่ละคนย่อมแตกต่างกันออกไป การออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งจึงเป็นกระบวนการแรกสุดเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาความแตกต่างนั้น เสียงของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจได้ถูกส่งผ่านไปให้กับผู้แทนซึ่งพวกเขาได้เลือกเข้าไปเพื่อสนองต่อความต้องการในรูปนโยบายต่างๆ

แม้ว่าจะต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่ แต่เสียงส่วนน้อยก็ยังต้องได้รับความคุ้มครอง ดังนั้นเราจึงจะเห็นภาพของการออกมาประท้วงและชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิ่งที่รัฐบาลไม่สามารถทำตามข้อเรียกร้องอย่างที่สัญญาไว้จากหลายภาคส่วน หรือออกมาเรียกร้องเมื่อรัฐบาลประพฤติในทางมิชอบอยู่เป็นประจำ เช่นอาจจะเป็นผู้ชุมนุมจากต่างจังหวัดที่ได้รับผลกระทบทางเกษตรกรรม หรือที่ปรากฏในช่วงปลายปีที่แล้วอย่างผู้ชุมนุมที่ออกมาคัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นที่รับทราบกันว่าไม่เหมาะสมอย่างชัดเจน

นี่คือความสวยงามของระบอบประชาธิปไตย คือความสวยงามของการที่อำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ลองจินตนาการภาพว่าพวกเรากำลังอาศัยอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือระบอบคอมมิวนิสม์ที่อำนาจการปกครองรวมอยู่ที่กลุ่มคนกลุ่มเดียว

เราจะยังมีสิทธิ์ในการเรียกร้องอย่างนี้หรือ?
3.
รัฐบาลนี้ขี้โกง, รัฐบาลนี้ทำประเทศจะล่มจม, รัฐบาลนี้ไม่ชอบธรรม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราได้ยินอย่างชินชาจากกลุ่มผู้ชุมนุมที่กำลังปิดกรุงเทพฯ อยู่ในขณะนี้ คำถามก็คือ ข้อกล่าวหาเหล่านี้สามารถจัดการได้ในระบบรัฐสภาหรือไม่

จริงอยู่ หากรัฐบาลกุมเสียงในสภาได้เกินกึ่งหนึ่ง พรรคฝ่ายค้านอาจทำอะไรไม่ได้ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มนี้ก็ได้ทำการพิสูจน์แล้วว่าการออกมาของพวกเขาได้ทำให้รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี 'รู้สึกตัว' ว่าพวกเขาไม่อาจทำอะไรตามใจ เสียงและอำนาจของประชาชน ยังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในระบอบประชาธิปไตย

การยอมถอนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมและการยุบสภาของนายกรัฐมนตรีเป็นการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมให้เห็นว่า รัฐบาล 'ยอม' ที่จะคืนอำนาจในการตัดสินใจเลือกผู้แทนของตนให้กับประชาชนชาวไทยทุกคน ขอย้ำว่า 'ทุกคน'

การเลือกตั้งในครั้งนี้จะเป็นกระบวนการที่วัดได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่สุดว่าการกระทำที่สุดแสนจะชั่วช้าของรัฐบาลชุดนี้จะให้ผลสะท้อนกลับเป็นอย่างไร อาจจะได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง หรือเกมอาจจะพลิกให้พวกเขากลายเป็นฝ่ายค้าน (น่าเสียดายที่พรรคใหญ่อีกพรรคกลับไม่ยอมเล่นตามกติกา จนทำให้เราไม่อาจได้เห็นได้ในครั้งนี้)

คำตอบทุกอย่าง พิสูจน์ได้ด้วยการเลือกตั้ง

4.
ข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมในตอนนี้คืออะไร?

หลังการยุบสภาของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงเรียกร้องให้รักษาการนายกรัฐมนตรีและรักษาการคณะรัฐมนตรีลาออกโดยไม่มีเงื่อนไข เปิดทางให้เกิดสุญญากาศ เพื่อหาคนกลางมาปกครองประเทศ ก่อนที่จะปฏิรูปประเทศ แล้วจึงนำไปสู่การเลือกตั้ง

ย้อนกลับมาที่กฎหมายสูงสุดของประเทศ นั่นคือรัฐธรรมนูญ เรามองไม่เห็นทางออกในข้อกฎหมายที่จะทำตามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้

ผู้ชุมนุมบางคนกล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลกระทำการอย่างไม่เคารพรัฐธรรมนูญ มาคราวนี้ทำไมต้องมาเคารพรัฐธรรมนูญ ทำไมต้องอ้างข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญเพื่ออยู่ในตำแหน่งและไม่เปิดทางให้กลุ่มผู้ชุมนุมทำข้อเรียกร้องให้สำเร็จ

ที่ผ่านมาก็ได้เห็นแล้วว่าองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอย่างศาลรัฐธรรมนูญได้ทำการวินิจฉัยการกระทำหลายอย่างของรัฐบาลว่าไม่เหมาะสม (แต่พรรครัฐบาลประกาศไม่ยอมรับ ซึ่งนั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งถกเถียงได้) นั่นคือกระบวนการตรวจสอบในระบบอย่างหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย การไม่เคารพกฎหมายของคณะรัฐบาล สามารถตรวจสอบและลงโทษได้ตามระบบ หากเราปล่อยให้มันเป็นไปตามวิถีทางที่ควรจะเป็น

หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นกฎหมายแม่บทซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ (และอาจอนุมานได้ว่าเป็นส่วนใหญ่ในกลุ่มผู้ชุมนุมตอนนี้) ลงมติยอมรับ จะเป็นเรื่องที่ชอบธรรมหรือไม่ที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะกล่าวว่าไม่จำเป็นต้องยึดถือหลักการและกฎหมายในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และพร้อมจะฉีกกติกาที่ตัวเองเคยกากบาทยอมรับเองเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ

การบอกว่าไม่จำเป็นต้องยึดถือรัฐธรรมนูญและเอาหลักศีลธรรมความดีเป็นหลัก เป็นข้อเรียกร้องที่ดู 'เอาแต่ใจ' ไปหรือเปล่า?

หากบ้านเมืองนี้ยังคงมีกฎหมาย การเรียกร้องที่ขัดกับกฎหมายก็ไม่อาจพูดได้ว่าเป็นสิ่งที่ชอบธรรม การใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผลและหลักการกฎหมาย ไม่เคารพการตัดสินใจของประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่สิ่งที่ประเทศที่เป็นนิติรัฐพึงกระทำ อย่างที่ผู้ชุมนุมกล่าวหารัฐบาลเสมอมา

ที่สำคัญ การที่เราจะกำจัดคนที่เรากล่าวหาว่าเป็นคนเลวเลว เราจำเป็นต้องทำสิ่งที่เลวกว่าเพื่อให้กลายเป็นคนดีหรือไม่ นี่ก็เป็นหนึ่งในคำถามที่น่าสนใจ และผู้ชุมนุมกลุ่มนี้จำเป็นต้องตอบกับสังคมไทย

ที่ไม่ได้มีแค่ 'มวลมหาประชาชน'.

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน เทพพิทักษ์ มณีพงษ์ ปัจจุบันศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net