Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อฉันยังเล็กจนกระทั่งถึงช่วงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ส่วนด้านหน้าชั้นล่างของบ้านเปิดเป็นร้านขายของชำในหมู่บ้าน ฉันชอบช่วยแม่ขายของ หรือไม่ก็เตรียมสินค้าเพื่อให้ง่ายต่อการแบ่งขาย อย่างเช่นชั่งน้ำตาลทราย-ถั่วเขียว เป็นถุงเล็ก ถุงละครึ่งกิโลกรัม สามขีด หรือ สองขีด ฯลฯ ไว้เพื่อแบ่งขายและช่วยให้ขายของได้ทันใจลูกค้าที่เร่งรีบ หรือมาพร้อมกันหลายคนในช่วงเดียวกัน

ผ้าอนามัยเป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่ไม่ได้จัดแบ่งไว้ก่อนขาย แต่ที่ร้านก็แบ่งขายโดยแกะออกจากกล่องและห่อเมื่อลูกค้าต้องการซื้อในจำนวนไม่กี่ชิ้น เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน รถบรรทุกหกล้อของตัวแทนจำหน่ายสิ้นค้าจากส่วนกลางมาลงสินค้าประเภทผ้าอนามัยซึ่งมีเพียงสองยี่ห้อให้ถึงที่ร้านคือ โกเต็กซ์ กับ โมเดส แม่มักรับของเป็นจำนวนมากเพราะนานนับเดือนกว่าของจะมาส่ง จนบางครั้งเลยรอบที่กำหนด กระทั่งของขาดจริงๆ แม่จึงสั่งให้พ่อซื้อแบบขายส่งที่ร้านโกฮวดตรงบานซ่าน[1]

นานครั้งที่ลูกค้าผู้ชายมาซื้อผ้าอนามัยที่ร้านให้ภรรยาหรือคนอื่นในบ้านที่เป็นผู้หญิง ที่ร้านไม่มีลูกจ้าง ลูกๆ ทุกคนของแม่ช่วยหยิบจับขายของเป็นกันทั้งนั้น รวมทั้งพ่อก็ต้องขาย “โกเต็กซ์” ด้วย แต่ลูกค้าผู้หญิงมักเลี่ยงการบอกตามตรงว่ามาซื้อ “โกเต็กซ์” หากลูกสาวและแม่ไม่อยู่หน้าร้าน พวกเขาจึงถามหาหรือซักถามเสียก่อนว่าแม่หรือพวกเราไม่อยู่หรือไร เพราะนั่นเสมือนการส่งสัญญาณว่าต้องการซื้อสินค้าผู้หญิงแบบส่วนตัว ถ้าลูกค้าซื้อเป็นกล่องหรือห่อใหญ่ พวกเราต้องห่อกระดาษหนังสือพิมพ์เสียก่อน หากซื้อเป็นชิ้นก็จะประกบผ้าอนามัยด้านหน้าเข้าหากันก่อนห่อกับกระดาษ โดยเชื่อตามๆ กันมาว่าคนที่พบเห็นจะได้แลดูไม่รู้ว่ากำลังหอบหิ้วหรือซื้อของสิ่งใด หากเดินถือกล่อง “โกเต็กซ์” ให้สาธารณะชนรับรู้ถือว่าเป็นการกระทำอันน่าอับอาย

“โกเต็กซ์” ถูกใช้เรียกแทนผ้าอนามัยไม่ว่ายี่ห้อใด แม่เคยเล่าว่าผ้าอนามัยยี่ห้อดังกล่าวมีขายก่อนยี่ห้ออื่นๆ ชาวบ้านจึงเรียกกันจนติดปากจากยี่ห้อสินค้ามากกว่าลักษณะหรือชื่อเรียกของมัน แม่เริ่มใช้ “โกเต็กซ์” แบบห่วงเมื่อตอนมีลูก แต่ก็ใช้อย่างประหยัด เพราะถือว่าเป็นสินค้าใช้บ่อย ใช้ครั้งเดียวทิ้งที่มีราคาแพง เดิมทีแม่ใช้ผ้าซับเลือดหรือผ้าซับระดูที่ทำใช้กันเองในกลุ่มญาติผู้หญิง โดยนำกาบมะพร้าวทุบมาเป็นที่ซับเลือดประจำเดือน แล้วใช้เศษผ้าพับเป็นแนวยาวพันรอบกาบมะพร้าว ใช้เชือกกล้วยหรือผ้าที่ฉีกหรือเย็บเป็นสายยาวผูกเอวยึดไว้ คล้ายการนุ่งผ้าเตี่ยว บางครั้งหากาบมะพร้าวไม่ทันก็พับผ้าเข้าหลายๆ ทบใส่กันเลือดประจำเดือนเปื้อนแข้งขาและบ้านไปก่อน

กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติศาสนกิจบางอย่าง เช่น การละหมาดและการถือศีลอด ได้รับการยกเว้นสำหรับผู้หญิงเมื่อเธออยู่ในช่วงมีประจำเดือน ฉะนั้น คนในบ้านและเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่มัสยิดมักสังเกต คาดเดา และทราบว่าใครอยู่ในช่วงมีประจำเดือนบ้าง เนื่องจากพิธีกรรมและกิจกรรมหลายอย่างของมุสลิมกระทำกันเป็นหมู่คณะและในพื้นที่สาธารณะ เช่นที่โรงเรียนสอนศาสนาขั้นพื้นฐานซึ่งตั้งอยู่บริเวณมัสยิดของชุมชน กำหนดชั้นเรียนตอนกลางคืนสลับกันไปมาระหว่างชั้นเรียนพระคัมภีร์ กับวิชาการด้านศาสนาและการปฏิบัติพื้นฐานสำหรับเยาวชนมุสลิม ถ้าครูผู้หญิงอยู่ในช่วงมีประจำเดือนก็จะฝากชั้นเรียนให้ครูท่านอื่นช่วยดูแลแทน[2]

ฉัน พี่สาว และหลายๆ คน เกิดมาในยุคที่มี “โกเต็กซ์” หลากยี่ห้อ แบบ และขนาดให้ใส่กันเปื้อนเลือดประจำเดือน พวกเราไม่ถือเป็นเรื่องน่าอายหากเดินเลือกซื้อผ้าอนามัยตามห้างร้าน พ่อค้าแม่ขายร้านชำใกล้บ้านก็ไม่ได้ห่อกระดาษเพื่อแก้เขิน และถือเป็นความน่าอับอายเหมือนแต่ก่อน ทั้งเดี๋ยวนี้มีโฆษณาขายผ้าอนามัยที่ผูกโยงกับความสะอาดและแลดูเหมาะกับยุคสมัย ภาพของความสกปรกจากเลือดที่ครั้งหนึ่งเคยถูกบอกว่าเป็นเลือดเสีย สกปรก เป็นโรคของผู้หญิงจึงค่อยๆ หมดไป

ข้อถกเถียงที่น่าสนใจในแวดวงนักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศมุ่งไปที่ประเด็นการเมืองเชิงวัฒนธรรมทางเพศ ถึงแม้ “โกเต็กซ์” หรือผ้าอนามัยซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อผู้หญิงไม่ได้ถูกกล่าวถึงโดยตรง หากแต่สัมพันธ์กับสถานะของการมีประจำเดือนที่จัดวางผู้หญิงแยกออกไปจากสังคมและชุมชน เฉกเช่นการห้ามมิให้ผู้หญิงเข้าไปในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือปฏิบัติศาสนกิจบางอย่าง ครั้นเมื่อเธอหมดสิ้นสภาวะของ “ความไม่สบายกาย” แล้วเธอจึงสามารถกลับเข้าสู่การพัฒนาจิตวิญญาณได้เป็น “ปกติ” ในขณะที่ทัศนะที่แตกต่างตีความในทางกลับกันว่าขนบบางประการมีเพื่อพิทักษ์สิทธิและคุ้มครองผู้หญิง ซึ่งกรณีข้างต้นก็เพื่อไม่ต้องการให้ผู้หญิงซึ่งหลายรายมีความไม่สบายกายมากเนื่องจากอาการปวดประจำเดือนต้องห่วงกังวลกับการปฏิบัติศาสนกิจประจำวัน

กล่าวถึงตรงนี้ ฉันหวนนึกถึงครั้งที่รวมกลุ่มกับเพื่อนชาวต่างชาติเพื่อร่วมวงละศีลอดตามมัสยิดต่างๆ ช่วงเดือนรอมาฎอน (ถือศีลอด) ในเมืองแฟรงค์เฟริท เพื่อนผู้หญิงมุสลิมหลายคนเดินเข้า-ออก แวะพัก นั่งฟังการบรรยายธรรม-อ่านตำราทางศาสนา ฯลฯ ในมัสยิดแม้ขณะมีประจำเดือนโดยไม่คิดว่าระดูคือสิ่งปิดกั้นการทำกิจกรรมทางศาสนาและการเข้าไปยังพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์มิได้ถูกสงวนให้เป็นอาณาเขตพิเศษ เพื่อนหลายคนอ้างอิงกรณีที่ศาสดามุฮำมัดนอนหนุนตักภรรยา (นางอาอิชะห์) เช่นปกติแม้ในช่วงที่นางมีประจำเดือนพร้อมกับอ่านคัมภีร์อัลกุรอานให้นางฟัง โดยเพื่อนๆ ถือเอาว่าการปฏิบัติที่ให้เกียรติต่อกันระหว่างเพศแม้ช่วงที่นางมีประจำเดือนแสดงให้เห็นว่าการมีประจำเดือนเป็นเรื่องปกติของหญิงวัยเจริญพันธุ์ ประจำเดือนจึงไม่ใช่สิ่งชั่วร้ายหรือต้องหลีกห่างอย่างน่ารังเกียจ จนเลยเถิดไปถึงขั้นเกลียดกลัวผู้หญิง

เรื่องเพศที่หมายรวมถึงเพศสภาวะอันผูกโยงกับวิถีชีวิตคนในสังคมที่มีการจัดการควบคุมโดยหลากกลไกให้ดำเนินไปในทิศทางต่างๆ จึงเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม ตลอดจนเลือดประจำเดือนและการเมืองเรื่อง “โกเต็กซ์” ที่กล่าวกันในวงกว้างเป็นประเด็นร้อนของรัฐประชาชาติเมื่อเร็ววันนี้ โดยเฉพาะการปราศรัยบนเวทีชุมนุม กปปส. โดย ผศ.นพ.ประเสริฐ วศินานุกร ที่มีเนื้อหาและภาษาเหยียดเพศอย่างชัดเจน[3] แม้หลายคนไม่มองว่าเป็นประเด็นการเหยียดเพศหญิงก็ตาม โดยเห็นว่า (1) คำปราศรัยกล่าวพาดพิงถึงรักษาการนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพียงคนเดียวไม่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงคนอื่น (2) เป็นเรื่องปกติของการดึงประเด็นส่วนตัวเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือผู้ที่ถูกถือว่าเป็นศัตรู/พรรคพวกของศัตรู/ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในเวทีชุมนุมทางการเมือง (3) ภาษาและท่าทีที่ใช้ในการปราศรัยประเด็นดังกล่าว มวลชนยอมรับได้และเห็นชอบด้วย โดยประเมินจากเสียงปรบมือ โห่ร้อง และเสียงนกหวีด (4) คำพูดจาปราศรัยเพียงแค่แลดูไม่สุภาพ ใช้คำไม่เหมาะสมกับสถานะทางสังคมของผู้พูดในฐานะผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ และนายแพทย์ผู้มีความสามารถเฉพาะทางเท่านั้น

จากข้อถกเถียงข้างต้น ฉันรวบรวมไว้เพียงคร่าวๆ เท่านั้นโดยติดตามการแสดงความเห็นทางการเมืองของพรรคพวกเพื่อนฝูงในโลกออนไลน์และออฟไลน์ที่มีทัศนะในทำนองที่ว่าเป็นสิ่งที่ “ปกติ” “พอยอมรับได้” “น่าแปลกใจที่คนอย่างหมออาวุโสหาญกล้าพูด” หรือ “เป็นเรื่องการเมืองที่เจาะจงไปที่คนๆ เดียวเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการทำลายศักดิ์ศรีและเกียรติของมนุษย์ผู้หญิง” ที่เศร้ายิ่งไปกว่านั้นก็ตรงที่พี่น้องในชุมชนของฉันมองว่า (1) ความไม่ฉลาดของรักษาการนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์โดนกล่าวในทำนองนี้เสียบ้าง เธอจะได้ตื่นรู้ว่าได้นำรัฐนาวาสู่ความตกต่ำเพียงไร  (2) พิสูจน์ให้เห็นถึงความผิดพลาดของคนที่เลือกผู้หญิงซึ่งควรเป็นนางในบ้านมากกว่าเข้ามาเป็นผู้นำประเทศ ซึ่งสุดท้ายเธอก็ต้องถูกกระทำเยี่ยงนี้ ย่อมมีแต่วันพ่ายแพ้ และนี่คือสัญญาณสำคัญอย่างหนึ่งของการใกล้ถึงวันสิ้นโลก

“โกเต็กซ์” เรือนร่าง ความสาว และประจำเดือน ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิง เหตุแห่งเพศสภาพของความเป็นหญิงถูกนำมาโจมตีและซ้อนทับอยู่บนความขัดแย้งของโลกทัศน์ทางการเมือง กระทั่งเกิดการล่วงละเมิดทางศีลธรรมและวาจาต่อผู้หญิงได้อย่างออกรสครั้งแล้วครั้งเล่าและในหลายเวที การมองผู้หญิงในสถานะเพียงสิ่งของหรือวัตถุทางเพศ ตลอดจนการลดทอนคุณค่าของผู้หญิงไว้เพียงสิ่งอภิรมย์ทางเพศเท่านั้น ไม่คู่ควรกับการออกมาขับเคี่ยวทางการเมืองซึ่งมีลักษณะทางวัฒนธรรมการทำงานแบบชาย และเป็นพื้นที่ของผู้ชาย ดังกล่าวนี้สะท้อนความไร้วุฒิภาวะทางการเมืองที่ต้องห้ำหั่นผ่านเรื่องเพศและเครื่องเพศของฝ่ายตรงข้าม จนกลายเป็นสภาวะที่ชอบธรรมต่อการนำมากล่าวเป็นคำปราศรัยที่ได้รับการยอมรับจากมวลชน

แต่อย่างน้อยในเวลานี้ ฉันเห็นมีหลายคนรวมทั้งมวลชนเองที่เห็นต่างจากการปราศรัยของ ผศ.นพ.ประเสริฐ วศินานุกร รวมกลุ่มกันเพื่อต่อต้านการเหยียดเพศ ตลอดจนประณามการใช้ประเด็นทางเพศเป็นเครื่องมือโจมตีทางการเมือง คลับคล้ายคลับคลากับกรณีที่ผู้เข้าร่วมงานประชุมผู้หญิงโลกเมื่อปี ค.ศ. 2005 ที่กรุงโซลส่วนหนึ่งลุกขึ้นยืนประท้วงและกล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการแสดงโชว์แฟชั่นและเครื่องประดับราคาแพงของผู้หญิงในงานเลี้ยงสำหรับผู้เข้าร่วมงานประชุมฯ ซึ่งในงานนั้นหลายคนมองว่าการแสดงชุดนั้นในค่ำคืนดังกล่าวเป็นนาฏกรรมลวงโลกที่คอยกดขี่เพื่อนมนุษย์ผู้หญิงผ่านเรือนร่างของผู้หญิง ร่างกายของผู้หญิงถูกทำให้เป็นสินค้า และถูกครอบงำโดยระบบที่หากินบนชีวิตและเลือดเนื้อของคน.  

   

 

 




[1] บานซ่าน เป็นภาษาท้องถิ่นภูเก็ต ใช้เรียกตลาด (Bazaar)

[2] การเรียนวิชาการศาสนาและฝึกสอนภาคปฏิบัติของเยาวชนมุสลิมในหลายชุมชนมีการจัดการเรียนการสอนที่มัสยิด ช่วงเวลาหลังเลิกเรียน หรือช่วงกลางคืนระหว่างสองเวลาของการละหมาดหลังตะวันตกดินประมาณหนึ่งชั่วโมง หรือช่วงวันหยุดเรียนวันเสาร์-อาทิตย์ และช่วงปิดภาคการศึกษา

[3] มติชนออนไลน์ (15 มกราคม 2557). รมว.สธ. อับอาย หมออาวุโสขึ้นเวทีโจมตีนายกฯ สุดหยาบ นักวิชาการทำ จม. เปิดผนึกถึงแพทยสภา (มีคลิป). เรียกใช้เมื่อ 16 มกราคม 2557. จาก http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1389763142&grpid=00&catid=&subcatid=.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net