Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ธงนำทางการเมืองที่สำคัญที่สุดของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ก็คือ “ปฏิรูปประเทศ” ซึ่งใช้ดึงดูดมวลชนชั้นกลางที่มีการศึกษาจำนวนหนึ่งให้เข้าร่วมขบวน นี่คือ “วาทกรรมพิษ” เพราะ “การปฏิรูป” ของ กปปส. เป็นเพียง “คำหวาน” ที่ใช้ปิดบังเป้าหมายที่แท้จริงของพวกเขา ซึ่งก็คือ การล้มล้างระบอบรัฐสภาและการเลือกตั้ง แล้วแทนที่ด้วยระบอบเผด็จการ

แนวคิด “ปฏิรูป” มีมาตั้งแต่ปลายสมัยนายกรัฐมนตรีพล อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้รับความนิยมในหมู่ปัญญาชนและคนชั้นกลางที่มีการศึกษา เป็นแนวคิดที่สืบเนื่องมาจากวาทกรรมทางการเมืองที่แพร่หลายในหมู่คนชั้นกลางขณะนั้น ซึ่งก็คือวาทกรรม “นักการเมืองเลว”

พวกจารีตนิยมไทยที่สืบทอดอำนาจกันด้วยชาติตระกูล เครือญาติ และตำแหน่งในระบอบรัฐไทยนั้น มุ่งบั่นทอนระบบการเมืองแบบเลือกตั้งมาโดยตลอดนับแต่สูญเสียอำนาจไปในปี 2475 ระบอบรัฐสภาและการเลือกตั้งที่สถาปนาขึ้นโดยคณะราษฎรได้เปิดโอกาสเป็นครั้งแรกให้สามัญชนที่มีความสามารถ (และหลายคนมีโภคทรัพย์) แต่ไร้ชาติตระกูลและสถานะในระบอบรัฐไทยได้มีช่องทางเข้ามาร่วมแบ่งปันอำนาจทางการเมืองได้ นี่นับเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจและสถานะตามประเพณีที่พวกจารีตนิยมผูกขาดไว้ตลอดมา

พวกจารีตนิยมจึงได้สร้างวาทกรรมขึ้นมาเพื่อโจมตีคณะราษฎร โดยกล่าวหาว่า คณะราษฎรยึดอำนาจไปจากพระมหากษัตริย์ แล้วก็ผูกขาดอำนาจ แสวงหาประโยชน์เฉพาะในกลุ่มตน นี่คือ วาทกรรม “นักการเมืองเลว” ฉบับแรกของประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะโจมตีคณะราษฎรแล้ว ยังยกเอาคุณงามความดีทั้งหมดไปให้กลุ่มจารีตนิยมว่า เป็นต้นธารแห่งความดีงาม สุจริต และความเจริญก้าวหน้าทั้งปวงของประเทศสยามอีกด้วย

เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ระบอบรัฐสภาครึ่งใบในสมัยนายกรัฐมนตรีพล อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีวุฒิสภาแต่งตั้งและสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ยังเล็กและอ่อนแอ ประกอบด้วยพ่อค้านายทุนภูธรที่อาศัยฐานเสียงในท้องถิ่น เข้ามาสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีในการเมืองระดับชาติ แต่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรียังคงอยู่ในมือพวกจารีตนิยม พรรคการเมืองแต่ละพรรคไม่มีเสียงข้างมากในสภา คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยพรรคเล็กมากถึง 5-6 พรรค ไม่สามารถกำกับนโยบายในกระทรวงทบวงกรม เกิดการทุจริตคอรัปชั่น ซื้อสิทธิ์ขายเสียงทั้งในและนอกสภาโดยรัฐมนตรีและสส. สภาพดังกล่าวจึงสมประโยชน์แก่พวกจารีตนิยมที่ต้องการให้ระบอบรัฐสภาไทยเหลวแหลก ไร้ประสิทธิผล ไม่ชอบธรรม ไม่อาจเป็นความหวังของประชาชนในการแก้ปัญหาของประเทศได้ และให้ประชาชนฝากความหวังไว้แต่กับพวกจารีตนิยมที่ถูกโฆษณาชวนเชื่อให้เป็นแหล่งผูกขาดความดี คุณธรรมจริยธรรม ความชอบธรรมและการพัฒนาประเทศ

วาทกรรม “นักการเมืองเลว” จึงได้พัฒนาขึ้นจากความเหลวแหลกของระบอบรัฐสภาไทยในขณะนั้น ได้ถูกเผยแพร่และตอกย้ำผ่านสื่อมวลชนกระแสหลักและระบบการศึกษาที่เป็นเครื่องมือของจารีตนิยมต่อเนื่องนับสิบปี ในฤดูเลือกตั้งก็ประโคมเรื่อง “ซื้อสิทธิ์ขายเสียง” และนอกฤดูเลือกตั้ง ก็ประโคมเรื่อง “รัฐมนตรีทุจริต สส.ขายตัว” ทำให้วาทกรรมนี้หยั่งรากลึกลงในจิตสำนึกของหมู่คนที่อยู่กับระบบการศึกษาและเสพย์สื่อกระแสหลักมากที่สุด ซึ่งก็คือปัญญาชนและคนชั้นกลางในเมือง กลายเป็น “อุดมการณ์ทางการเมือง” ชนิดหนึ่งคือ อุดมการณ์ที่เกลียดการเลือกตั้งและขยะแขยงนักการเมือง เห็น “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” เป็นต้นกำเนิดของความชั่วร้ายทั้งปวงในสังคมไทย โดยมีความคิดเรื่อง “คนดี คุณธรรมจริยธรรม” และอุดมการณนิยมกษัตริย์เป็นด้านตรงข้ามที่ควบคู่กัน

ผลต่อเนื่องของวาทกรรม “นักการเมืองเลว” ก็คือทัศนะดูหมิ่นเหยียดหยามชาวบ้านว่า โง่ ไร้การศึกษา เห็นแก่ตัว ขายเสียง เลือกนักการเมืองเลวเข้ามาทุจริตคอรัปชั่น ผลต่อเนื่องอีกประการคือ เกิดวาทกรรม “ปฏิรูปการเมือง” ขึ้นมา ทั้งหมดนี้ ประกอบขึ้นเป็น “สามเหลี่ยมวาทกรรม” คือ “นักการเมืองเลว” “ประชาชนโง่” และ “ปฏิรูปการเมือง”

แนวคิด “ปฏิรูปการเมือง” ถูกผลิตซ้ำและส่งเสริมโดยปัญญาชนกลุ่มกษัตริย์นิยมและองค์กรพัฒนาเอกชน คนพวกนี้พัฒนา “ธุรกิจปฏิรูปการเมือง” ขึ้นมา ประกอบด้วยปัญญาชนกลุ่มหนึ่งที่เป็นนักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชน แต่มีอาชีพทำมาหากินอยู่กับวาทกรรม “ปฏิรูป” คอยเสนอหน้าออกมาวินิจฉัยอาการโรคของระบอบรัฐสภาไทยว่า มีต้นเหตุมาจาก “นักการเมืองเลว” และ “ประชาชนไม่รู้วิธีเลือกนักการเมืองอย่างถูกต้อง”

แล้วคนพวกนี้ก็เสนอวิธีการรักษาโรคด้วยการ “ปฏิรูปการเมือง” โดยมีพวกเขาเองเป็น “ผู้เชี่ยวชาญการปฏิรูป” เพราะว่า นักการเมืองเป็นต้นเหตุของโรค จะให้คนไข้รักษาตัวเองไม่ได้ ต้องให้ “ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นแพทย์” มารักษา ซึ่งก็คือพวกเขานั่นแหละที่อ้างตนว่า เป็น “คนกลางที่ไม่มีผลประโยชน์”

คนพวกนี้ทำให้วาทกรรม “ปฏิรูป” กลายเป็นธุรกิจชนิดหนึ่ง ที่พวกเขารับเชิญเป็นวิทยากร องค์ปาฐก เป็นกรรมการ ประธาน รองประธาน นักวิจัย ในคณะทำงาน คณะวิจัย กลุ่มศึกษา ไปจนถึงคณะกรรมการปฏิรูปที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลบางชุด พร้อมด้วยตำแหน่ง ยศ งบประมาณของรัฐและของสถาบันหรือมหาวิทยาลัย

ในเมื่อนักการเมืองคือต้นเหตุของโรค นักธุรกิจปฏิรูปพวกนี้จึงสรุปว่า “การปฏิรูปการเมือง” ต้องมุ่งที่จะ “ตรวจสอบและจำกัดอำนาจนักการเมือง เพื่อขจัดทุจริตคอรัปชั่น” แต่เนื้อแท้ของ “การปฏิรูป” ของคนพวกนี้ก็คือ จำกัดอำนาจรัฐสภาและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สร้างกฎหมายและกลไกต่าง ๆ ที่คอยมัดมือมัดเท้า เป็นโซ่ล่ามคอนักการเมืองที่เข้าสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง ทำให้รัฐบาลและระบอบรัฐสภาอ่อนแอ

ความคิด “ปฏิรูป” ถูกทำให้เป็นระบบโดยศาสตราจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ มีเป้าหมายอย่างเปิดเผยที่จะทำให้ระบบการเมืองแบบเลือกตั้งและพรรคการเมืองอ่อนแอ แต่เสริมสร้าง “พระราชอำนาจ” ของสถาบันกษัตริย์ ปัจจุบัน ได้ถูกขยายเป็น “การปฏิรูปประเทศ” โดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีเนื้อหาครอบคลุมมิติด้านสังคมและเศรษฐกิจ แล้วรับไม้ต่อโดยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาพร้อมงบประมาณหลายร้อยล้านบาท ประกอบด้วยกลุ่มปัญญาชน นักวิชาการ และเอ็นจีโอหน้าเดิมที่หากินอยู่กับ “ธุรกิจปฏิรูป” มายาวนาน

ธง “ปฏิรูปประเทศ” ที่ชูโดย กปปส.ในปัจจุบันเป็นการรับเหมามาจากแนวคิดของกลุ่มพันธมิตรฯ และได้ถูกยกระดับจากการ “ขจัดนักการเมืองเลว” เป็นการทั่วไป กลายเป็นวาทกรรมเจาะจงไปที่ “นักการเมืองทุจริตคอรัปชั่นจากตระกูลชินวัตรและเครือข่าย” เท่านั้น และเป้าหมายก็คือ การทำลายระบบการเมืองแบบเลือกตั้งที่มีตระกูลชินวัตรและพรรคเพื่อไทยครอบงำอยู่นั่นเอง โดยมีผลด้านกลับคือ การสถาปนาระบอบเผด็จการเต็มรูปของพวกจารีตนิยม

วาทกรรม “ปฏิรูป” ของ กปปส. จึงเป็นวาทกรรมที่ต่อต้านประชาธิปไตยและการเมืองแบบเลือกตั้ง แต่ก็มีอิทธิพลต่อปัญญาชนและคนชั้นกลางที่มีการศึกษาจำนวนมาก ฝ่ายประชาธิปไตยจึงมิอาจละเลยได้ และจะต้อง “ต่อสู้ทางวาทกรรม” อย่างอดทนและจริงจัง โดยชี้ให้เห็นว่า การปฏิรูปประเทศที่แท้จริงคือ การพัฒนาระบอบรัฐสภาของไทยไปในทิศทางของประชาธิปไตยเสรีนิยม เฉกเช่นเดียวกับประเทศที่เป็นอารยะ ให้มีพรรคการเมือง รัฐสภาและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่เข้มแข็ง ที่สามารถกำกับระบบราชการให้ดำเนินนโยบายที่ได้หาเสียงไว้อย่างมีประสิทธิผล ยึดหลักการแบ่งแยกอำนาจ ตรวจสอบและถ่วงดุลกันของอำนาจอธิปไตยทั้งสาม ขจัดการแทรกแซงของอำนาจจารีตนิยมที่คอยบ่อนทำลายประชาธิปไตยตลอดมา
 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข” ฉบับวันศุกร์ที่ 17 มกราคม 2557

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net