Skip to main content
sharethis

เตือนแรงงานไทย ไปทำงานมาเลเซีย ถูกปลอมใบอนุญาต

วันที่ 13 มกราคม นายสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซีย เรื่องการเดินทางเข้าไปทำงานในประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะแรงงานที่ถูกชักชวนโดยเอเยนต์ หรือกรณีที่นายจ้างให้ผู้อื่นไปติดต่อขอใบอนุญาตทำงาน เนื่องจากพบว่า มีแรงงานไทย รวมถึงนายจ้างในมาเลเซียบางราย ถูกเอเยนต์หลอกทำใบอนุญาตทำงานปลอมแล้วหลายราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานก่อสร้าง แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม และแรงงานตำแหน่งแม่บ้าน จึงขอเตือนให้คนไทยระมัดระวังให้มากในการเดินทางเข้าทำงานในมาเลเซีย ผ่านเอเยนต์หรือนายจ้างให้ผู้อื่นไปติดต่อขอใบอนุญาตทำงาน

นายสุเมธกล่าวว่า การตรวจสอบใบอนุญาตทำงานว่า เป็นของจริงหรือของปลอมนั้น เบื้องต้นให้สังเกตในใบอนุญาตทำงานหรือ Visit Pass (Temporary Employment) ว่าระบุสถานที่ทำงานตรงกับสถานที่ทำงานจริงหรือไม่ และในส่วนของค่าธรรมเนียมวีซ่าของคนไทยจะต้องระบุว่าเป็น Gratis ยกเว้นในส่วนของขั้นตอนที่ถูกต้องของการขอใบอนุญาตทำงานจากสำนักงานตรวจคน เข้าเมืองมาเลเซีย คือ คนงานจะต้องได้รับ Calling Visa จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซีย และจะต้องผ่านการตรวจโรคกับคลินิกที่อยู่ในสังกัดของหน่วยงานตรวจสุขภาพคน งานต่างชาติก่อน จึงจะสามารถดำเนินการติดสติ๊กเกอร์ใบอนุญาตทำงานในหนังสือเดินทางได้

(มติชนออนไลน์, 15-1-2557)

เยอรมนีเปิดทางแรงงานไทยที่ผ่านเกณฑ์เข้าทำงานในประเทศ

(15 ม.ค.)  นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) เปิดเผยว่า สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงแรงงาน ได้รับการประสานจากสำนักแรงงานไทย ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งได้รายงานสถานการณ์ด้านแรงงานเกี่ยวกับประเด็นที่ประเทศเยอรมนีได้ออกกฎ ระเบียบว่าด้วยการจ้างงานฉบับใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา ทั้งนี้การออกกฎระเบียบว่าด้วยการจ้างงานฉบับดังกล่าวเพื่อเปิดโอกาสให้แรง งานฝีมือจากนอกสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นพลเมืองจากประเทศที่สาม ที่สำเร็จการฝึกอบรมวิชาชีพสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานเยอรมันตามแนวทางการจ้าง งานของเยอรมันที่ใช้ความต้องการแรงงานเป็นตัวกำหนด โดยแรงงานที่ประสงค์จะเข้าทำงานในประเทศเยอรมนีจะต้องมีขั้นตอนดำเนินการ คือ ก่อนการเดินทางเข้าไปในประเทศเยอรมนี ต้องทำการตรวจสอบว่าคุณวุฒิทางวิชาชีพที่ตนได้รับนั้นเทียบเท่ากับคุณวุฒิ ของเยอรมนี ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการรับรองคุณวุฒิหรือไม่ นอกจากนี้จะต้องได้รับข้อเสนอให้เข้าไปทำงาน และอาชีพที่ประสงค์จะเข้าทำงานนั้นอยู่ในรายการอาชีพที่ได้รับอนุญาตให้ต่าง ชาติเข้าไปทำงานเนื่องจากขาดแคลนแรงงาน
      
ปลัด รง.กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสำนักงานจัดหางานแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้จัดพิมพ์รายการ อาชีพที่อนุญาตให้ต่างชาติเข้าไปทำงานเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2556 รวมทั้งสิ้น 18 อาชีพจากกลุ่มงานต่างๆ อาทิ สุขภาพและการรักษาพยาบาล แมคคาทรอนิกส์และอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมโยธาด้านบริหารจัดการระบบอาคารและซัปพลายเอนจิเนียริ่ง  ตลอดจนการขนส่งและโลจิสติกส์ ทั้งนี้จะมีการปรับรายการอาชีพเป็นระยะๆ เพื่อให้สอดคล้องกับพัฒนาการด้านตลาดแรงงานในต่างประเทศเยอรมนี อย่างไรก็ตามหากแรงงานมีคุณวุฒิตามที่กำหนดจะได้รับการอนุมัติจากหน่วยงาน ที่ดูแลการจ้างงานของเยอรมนี โดยไม่ต้องผ่านหลักการตรวจสอบจัดลำดับความสำคัญ แต่สภาพการจ้างงานจะต้องเท่าเทียมกันกับแรงงานเยอรมนี และงานที่เสนอมานั้นจะต้องเคยลงประกาศในเว็บไซต์หางานของหน่วยงานที่ดูแลการ จ้างงานของเยอรมนี ส่วนวิชาชีพการพยาบาล จะไม่อนุญาตให้คัดเลือกผู้มีฝีมือจากประเทศ ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนวิชาชีพด้านสุขภาพ โดยให้เป็นไปตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด
      
ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.anerkennung-in-deutschland.de และ www.anerkennung-in-deutschland.de/html/de/downloads.php

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 15-1-2557)

“สยามโภชนา” สุดทนนายจ้างเบี้ยวเจรจาโบนัส หือปิดถนนกดดันพบผู้ว่าฯ

เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 16 มกราคม 2557 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้มีกลุ่มม็อบแรงงาน ของ บริษัท สยามโภชนากร จำกัด ตั่งอยู่ย่าน ถ.สายลวด ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ประมาณ 400 คนใช้รถยนต์กระบะติดเครื่องขยายเสียง มารวมตัวชุมนุมปิดถนนบริเวณสามแยกหอนาฬิกา พร้อมกับนำโลงศพมาตั้งประท้วง กลางถนนสุขุมวิท หน้าศาลากลางจังหวัดเป็นเหตุให้การจราจรทั้งขาเข้าและขาออกตลอดแนวถนน สุขุมวิทแออัดรถติดยาวหลายสิบกิโลเมตร

นายอนุชิต แก้วตัน เลขาธิการสภาแรงงานแห่งประเทศไทยตัวแทนพนักงาน บริษัท สยามโภชนากร จำกัด กล่าวว่า โรงงานประกอบธุรกิจบรรจุอาหารทะเลแช่แข็งส่งนอกในปีนี้บริษัทมีผลผลิตกำไร กว่า 43 ล้านพนักงานจึงได้เรียกร้องขอเงินโบนัส จำนวน 10 วัน แต่ทางนายจ้างกับปฏิเสธโดยขอลดเงินโบนัสให้กับพนักงานจำนวน 3 วันของเงินค่าจ้างรายวัน ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย จึงได้ออกมารวมตัวกันประท้วงกระทั้งวันที่ 28 ธ.ค.56 นายจ้างกลับนำป้ายประกาศให้พนักงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานห้ามเข้าภายใน บริษัท และยังไม่ยอมจ่ายเงินค่าแรงให้ด้วย จึงทำให้พนักงานที่เป็นสมาชิกสหภาพกว่า600 คน ถูกลอยแพร ไม่ได้รับค่าแรงที่จะไปจุนเจือครอบครัวจึงได้ออกมารวมตัวกันเพื่อกดดันให้ นายจ้างออกมาเจรจากับทางผู้ว่าราชการจังหวัด

กระทั่งเวลา 16.00น.นายพงษ์ศักดิ์ พัฒนศักดิ์ภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ได้ให้แกนนำขึ้นไปเจรจาโดยมามีนายจ้างเดินทางมาด้วยแต่อย่างใดพร้อมกับ กล่าวว่า ขณะนี้ทางจังหวัดไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้พยายามติดต่อเจรจากับนายจ้างมาหลายครั้งแต่ก็ยังไม่เป็นผล ซึ่งตนก็ไม่มีอำนาจจะไปบังคับอะไรได้ เป็นเพียงคนกลางเท่านั้น จึงอยากให้ทั้งสองฝ่ายใจเย็นและหันหน้าคุยกันด้วยเหตุผลซึ่งเป็นทางเดียวที่ จะช่วยได้ทั้งนี้ภายหลังจากแกนนำได้ขึ้นไปพูดคุยกับ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนานกว่า 1ชม.ก่อนที่จะเดินทางกลับ โดยจะเดินทางมาปิดถนนอีกครั้งถ้านายจ้างไม่ยอมออกมา.

(ไทยรัฐ, 16-1-2557)

ไกล่เกลี่ยไทยเรยอนยุติ บริษัทตกลงจ่ายโบนัส

ข้อพิพาทระหว่างแรงงาน - นายจ้างบ.ไทยเรยอนได้ข้อยุติ ฝ่ายนายจ้างพร้อมจ่ายโบนัสให้ตามอายุงาน นัดทำข้อตกลงเป็นทางการ 20 ม.ค.

จากกรณีที่พนักงานของสหภาพแรงงานไทยเรยอนกว่า 500 คน  พากันปิดล้อมสำนักงานประกันสังคมจังหวัดอ่างทอง เพื่อกดดันการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานระหว่างตัวแทนบริษัท ไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) และตัวแทนสหภาพแรงงานไทยเรยอน ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่และ ตัวแทนบริษัทออกไปโดยในการเจรจามีนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง นายบุญลือ ศาตรเพ็ชร สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดอ่างทอง พร้อมพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเข้าร่วม การไกล่เกลี่ย ซึ่งการเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ กระทั่ง  02.00 น. วันที่  16 ม.ค. ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันในเรื่องของเงินโบนัส

โดยในปี 2556 พนักงานจะได้รับเงินโบนัสตามเงื่อนไข คือ อายุงาน 180 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้รับเงินโบนัสตามสัดส่วนของอายุงาน, อายุงาน 1 ปี แต่ไม่ครบ 2 ปี จะได้รับโบนัส 70 วัน, อายุงาน 2 ปี แต่ไม่ครบ 4 ปี ได้รับเงินโบนัส 75 วัน ,ส่วนอายุงานครบ 4 ปีขึ้นไปจะได้รับโบนัส 90 วัน และในปี 2557 และ 2558 พนักงานที่อายุงาน 180 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้โบนัสตามสัดส่วนของอายุงาน อายุงาน 1 ปี แต่ไม่ครบ 2 ปีได้รับเงินโบนัส 50 วัน อายุงาน 2 ปี แต่ไม่ครบ 4 ปี ได้รับเงินโบนัส 55 วัน อายุงานครบ 4 ปี ขึ้นไปได้รับเงินโบนัส 65 วัน และในเรื่องการปรับค่าจ้างประจำปีทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้คือในมี 2557 ปรับเงินค่าจ้างประจำปีตามเกรดสูงสุด 9.5% ต่ำสุด 6.5% ส่วนในปี 255-2559 ปรับเงินค่าจ้างประจำปีตามเกรดสูงสุด 9% และต่ำสุด 6% รวมถึงในเรื่องอื่น ๆ ทั้งหมด โดยทั้งสองฝ่ายนัดทำข้อตกลงกันอีกครั้งในวันที่ 20 ม.ค. ณ ห้องประชุมบริษัท ไทยเรยอน จำกัด (มหาชน)

สำหรับข้อพิพาทแรงงานของบริษัท ไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) กับสหภาพแรงงานไทยเรยอนนั้น ได้เกิดขึ้นมาจนทางสหภาพได้นัดหยุดงานมาแล้ว 4 เดือน  มีการเจรจากันรวม 49 ครั้ง จึงสามารถตกลงกันได้

(เนชั่นทันข่าว, 16-1-2557)

สปสช.จับมือ สปส.นำร่องตรวจมะเร็งปากมดลูกแรงงานสตรีไทย

19 ม.ค. 57 - นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.ได้ให้สิทธิ์ส่งเสริมป้องกันโรคครอบคลุมการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ในสตรีทุกสิทธิ์การรักษามาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว แต่สตรีส่วนใหญ่ไม่ค่อยมาใช้สิทธิ์ ทั้งที่ไม่ทราบว่าตรวจฟรี และที่รู้แต่ไม่ตรวจเพราะอาย ทำให้อัตราการป่วยมะเร็งปากมดลูกเป็นเหตุให้สตรีไทยเสียชีวิตวันละ 14 คน และมีอัตราเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สปสช.จึงร่วมกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จัดโครงการลดอัตราการป่วยเสียชีวิตของแรงงานสตรีจากมะเร็งปากมดลูก ออกตรวจคัดกรองเชิงรุกถึงโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อไม่ให้เสียเวลาการทำงานและลด ความอายเมื่อมีเพื่อนตรวจจำนวนมาก นอกจากนั้นยังพัฒนาการส่งต่อรักษาแบบไร้รอยต่อ จากเดิมที่ตรวจฟรีโดย สปสช. แต่เมื่อตรวจพบต้องเข้าสู่ระบบตรวจละเอียด และรักษาโดยสิทธิประกันสังคม ซึ่งในโรงงานเดียวกันอาจต้องรักษากันคนละ รพ.เพราะสิทธิ์ รพ.ต้นสังกัดต่างกัน ทำให้เกิดความคิดในการรักษาแบบกลุ่มก้อน คือเมื่อตรวจเซลมะเร็งระยะเยื้องต้นจะส่งตรวจรักษาใน รพ.ที่มีความพร้อมที่สุดของจังหวัด รักษาทั้งหมดพร้อมกันโดยไม่ต้องส่งตัวไปยัง รพ.ต้นสังกัด ซึ่งได้เริ่มนำร่องจังหวัดแรกคือสมุทรปราการ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มี GDP สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ เพราะมีโรงงานอุตสาหกรรมและแรงงานสตรีจำนวนมาก โดยมี รพ.เปาโลเมโมเรียล สมุทรปราการ เป็นศูนย์กลางการรักษาของจังหวัด ซึ่งหลังทำการรักษาแบบกลุ่มก้อนทำให้สตรีที่ตรวจเจอมะเร็งปากมดลูกในระยะ เริ่มต้นได้รับการรักษาทันทีจนหายขาดทั้งหมด
      
“จากความสำเร็จนี้ สปสช.และ สปส.จึงเตรียมขยายการคัดกรองเชิงรุกและการรักษาแบบกลุ่มก้อนนี้ออกไปยัง จังหวัดอุตสาหกรรมปริมณฑล อาทิ จ.พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี และชลบุรี ก่อนขยายต่อไปยังทั่วประเทศต่อไป” รองเลขาธิการ สปสช.กล่าว
      
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการ สปส. กล่าวว่า ในการดำเนินการนั้น หลังจาก สปสช.ทำหน้าที่ตรวจคัดกรองแล้ว สปส.จะได้เชิญ รพ.ต้นสังกัดทั้งหมดมาหาหนทางออกร่วมกันในการปรับวิธีการขจัดโรคมะเร็งระยะ เริ่มต้นนี้ให้หมดไปอย่างรวดเร็ว มีมาตรฐานการรักษาที่ดี เพื่อนำไปสู่ความเชื่อมั่นของการตรวจคัดกรองมะเร็ง และการรักษาต่อเนื่องแบบไร้รอยต่อ ได้ข้อสรุปว่าจะมีการรักษาแบบเป็นกลุ่มให้กับแรงงานสตรีกลุ่มนี้ โดยครั้งแรกนี้ได้ รพ.เปาโลเมมโมเรียล สมุทรปราการ เป็น รพ.ต้นแบบที่พัฒนาการรักษามะเร็งแบบเป็นกลุ่มก้อน ใช้เวลาในการตรวจรักษาประมาณ 15 นาทีต่อราย พักฟื้นสังเกตอาการ 2 ชั่วโมง แล้วสามารถกลับไปทำงานต่อได้ โดยอาจนับได้ว่าเป็นการตรวจรักษามะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มต้นจำนวนมากที่สุด ในวันเดียว ของประเทศไทย ทั้งนี้ รพ.ในระบบจะทำเรื่องเบิกจ่ายระหว่างกันในอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ตกลงกันไว้ นับเป็นก้าวใหม่ของประกันสังคม ที่รักษาโดยเอาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นตัวตั้ง และจะได้หมุนเวียนไปทำเช่นนี้กับ รพ.ต่างๆในเขต เพื่อยกมาตรฐานงานบริการเรื่องมะเร็งทั้งระบบให้ดีขึ้น เน้นการรักษาให้หายขาด

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 19-1-2557)

ปี 56 แรงงานเข้าฝึกอาชีพภาคบริการมากสุด ผลสำรวจแนะพัฒนาหลักสูตร-เครื่องจักร

(20 ม.ค.) นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า กพร.มีนโยบายพัฒนาแรงงานไทยสาขาต่างๆ ให้มีทักษะฝีมือสูงขึ้น เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (เอซี) ในปี พ.ศ.2558 โดยผลสรุปการดำเนินการในปีงบประมาณ 2556 พบว่าสาขาที่มีแรงงานเข้ารับการฝึกอบรมมากที่สุดไดแก่ สาขาอาชีพภาคบริการ เช่น การบริหารและการจัดการเชิงธุรกิจ ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร การใช้ภาษา รวมทั้งหมด 179,369 คน รองลงมาคือ สาขาอาชีพช่างอุตสาหกรรมศิลป์ เช่น ช่างหัตศิลป์ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งสิ้น 48,577 คน สาขาอาชีพช่างเครื่องกล เช่น ช่างยนต์ พนักงานควบคุมยานยนต์ รวมทั้งหมด 23,966 คน สาขาอาชีพช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เช่น ช่างไฟฟ้า ช่างคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งสิ้น 23,299 คน สาขาอาชีพช่างก่อสร้าง เช่น ช่างไม้และก่อสร้าง ช่างปูนก่อสร้าง ช่างเครื่องเรือน รวมทั้งสิ้น 18,439 คน และสาขาอาชีพช่างอุตสาหการ เช่น ช่างเชื่อม ช่างกลโรงงาน รวมทั้งหมด 15,596 คน
      
อธิบดี กพร.กล่าวอีกว่า ส่วนการพัฒนาทักษะด้านภาษาพบว่า แรงงานไทยนิยมเข้ารับการอบรมภาษาอังกฤษมากที่สุด รองลงมาเป็นภาษาเกาหลี จีน ญี่ปุ่น ส่วนภาษาในกลุ่มประเทศเอซีก็ยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่องและต้องการให้ ฝึกอบรมภาษาอื่นๆ เช่น เยอรมัน รัสเซีย นอกจากนี้ กพร.ยังได้สำรวจความต้องการในการพัฒนาทักษะฝีมือและภาษาให้แก่แรงงานทั้งใน ส่วนของผู้ประกอบการและแรงงานไทยโดยภาพรวมได้มีข้อเสนอแนะให้ กพร.จัดทำหลักสูตรทั้งด้านพัฒนาภาษาและทักษะฝีมือให้มีความหลากหลาย การสร้างเสริมลักษณะนิสัยที่ดีในการทำงานและความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับ ลูกจ้าง มีการเพิ่มเติมหลักสูตรภาษาอังกฤษสำหรับผู้ให้บริการด้านนวดและสปาเพื่อรอง รับเอซี
      
ขณะเดียวกันยังได้เสนอให้ปรับปรุงเครื่องจักรในการฝึกอบรมให้มีความทัน สมัย จัดวิทยากรภาคเอกชนและเจ้าของภาษาจริงๆ มาให้ความรู้ อีกทั้งควรเพิ่มเติมการให้เรียนรู้นอกสถานที่ให้มากยิ่งขึ้นและเพิ่มงบ ประมาณการฝึกอบรม เนื่องจากบางสาขาขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ และควรพัฒนาให้แรงงานให้สามารถเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระได้ด้วย
      
“กพร.จะนำข้อเสนอแนะข้างต้นมาปรับปรุงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือ และภาษาให้แก่แรงงานไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยมุ่งเน้นคุณภาพ มากกว่าปริมาณ จะสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาฝีมือแรงงานกับหน่วยงานภาครัฐและ เอกชน รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานในสถานประกอบการในพื้นที่อย่างจริงจัง และให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมแก่สถานประกอบการที่สนับสนุนและดำเนินกิจกรรม พัฒนาฝีมือแรงงานอย่างต่อเนื่อง” นายนคร กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 20-1-2557)

แรงงานสยามโภชนากรร้องขอความเป็นธรรม นายจ้างใช้สิทธิปิดงาน ตกงานระนาว

21 ม.ค. 2557 - แรงงาน “สยามโภชนากร” กว่า 500 คน สุดทน บุกร้องขอความเป็นธรรมที่ช่อง 3  หลังโดนนายจ้างสั่งปิดงาน ทำให้ต้องตกงานกันระนาว เหตุประท้วงขอขึ้นโบนัสจาก 3 วัน เป็น 10 วัน ขณะที่ลูกจ้างที่ไม่ได้เรียกร้องโบนัสเพิ่มกลับได้ทำงานต่อ และขึ้นโบนัสให้จาก 3 วัน เป็น 4 วัน

(ครอบครัวข่าว, 21-1-2556)

ก.วัฒนธรรมมีมติขึ้นเงินเดือนพนักงานลูกจ้าง-ส่วนกลางภูมิภาค มีผล 1 ก.พ.

นายปรีชา กันธิยะ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เผยความคืบหน้าการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงวัฒนธรรม หลังพบปัญหาว่าเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของกระทรวง ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ในสังกัดสำนักปลัดกระทรวงวัฒนธรรมไม่ได้มีการปรับขึ้นเงินเดือนมานานแล้ว ดังนั้นเพื่อเป็นความเป็นธรรม และสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติราชการ จึงสั่งปรับเพิ่มเงินเดือนตามความเหมาะสม

โดยเฉพาะในหลายสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด(สวจ.) ตนจึงได้มอบหมายให้สำนักบริหารกลาง ดำเนินการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2557 เพื่อปรับขึ้นอัตราค่าจ้างเหมาลูกจ้างในส่วนภูมิภาคที่ประจำอยู่สำนักงาน วัฒนธรรมจังหวัด โดยจะมีการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างให้สอดคล้องกับกฎหมายแรงงานทั้งหมด 4 ตำแหน่ง คือ

1.พนักงานขับรถ จาก 9,000 บาท เป็น 9,600 บาท แต่ถ้ามีประสบการณ์ตั้งแต่ 2-5 ปีขึ้นไปปรับเป็น 10,200 บาท และมากกว่า 5 ปี เป็น 10,800 บาท

2.พนักงานรักษาความปลอดภัย จาก 7,500 บาท เป็น 9,000 บาท

3.พนักงานทำความสะอาด จาก 7,500 บาท เป็น 9,000 บาท

4.เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล จาก 8,000 บาท เป็น 15,000 บาท แต่ต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรี

การปรับเงินเดือนทั้งหมดจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 25547 เป็นต้นไป

(ประชาชาติธุรกิจ, 21-1-2557)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net