Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภายใต้วิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ร้อนระอุในปัจจุบันซึ่งต่างฝ่ายต่างอ้างว่าทำเพื่อประชาธิปไตยนั้นแท้จริงแล้วการตีความระบอบการปกครองที่เรียกว่าประชาธิปไตยของแต่ละฝ่ายน่าจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อย่างไรก็ตามในทางตำรานั้นเราเข้าใจกันดีว่าประชาธิปไตยนั้นคือ ระบอบการปกครองของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน แต่โดยวิธีการใดเล่าที่จะตอบสนองต่ออุดมการณ์ของระบอบประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง  สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจในขั้นต้นก่อนนั้นคือ ระบอบประชาธิปไตยนั้น คืออะไรกันแน่และมีภูมิหลังอย่างไร

การปกครองที่เรียกว่าประชาธิปไตยนั้นหากเริ่มค้นหาอย่างจริงจังที่พอจะมีหลักฐานได้นั้นคงจะมาจากอารยธรรมของกรีกโบราณโดยเริ่มจากผู้ปกครองเบื้องบนหลีกทางให้   “ในกรณีของกรีกผู้สร้างประชาธิปไตยคนแรกคือ Cleisthenes ผู้โค่นอำนาจของทรราช Isagoras (ที่พยายามควบคุมเอเธนส์โดยอาศัยกำลังทหารของสปาร์ตา) ลงโดยความช่วยเหลือของประชาชน และเมื่อ Cleisthenes ได้เห็น "พลัง" ของประชาชน จึงตัดสินใจ "เอาประชาชนมาเป็นพาร์ทเนอร์" ในการปกครองประเทศ สร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้นเป็นครั้งแรกในตะวันตก โดยทำการแก้ไขกฎหมายให้เป็นธรรมมากขึ้น” นอกจากนี้ Cleisthenes เรียก การปฏิรูปการปกครองนี้ว่า "Isonomia" (แปลว่า "ความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย") ซึ่งทำให้การปฏิรูปกฎหมายกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์สืบมาจนยุคปัจจุบัน และเป็นที่มาของคำว่า "Equal justice under the law"[1]

จะเห็นได้ว่าประชาธิปไตยของกรีกโบราณนั้นเน้นที่ความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้อาศัยในกรุงเอเธนส์ทุกคนจะมีสิทธิทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน เพราะในยุคนั้นก็ยังมีการแบ่งชั้นของบุคคลอยู่ เช่นทาสไม่มีสิทธิออกเสียง เป็นต้น

ในทางตำรานั้นระบอบประชาธิปไตยอาจแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะอันได้แก่ 1.ประชาธิปไตยทางตรง, 2.ประชาธิปไตยแบบทางอ้อมหรือแบบมีผู้แทน และ 3.ประชาธิปไตยแบบกึ่งทางตรงที่ถูกนำเสนอเพื่อลบข้อด้อยของระบบผู้แทน แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่าทั้ง3ลักษณะของประชาธิปไตยนั้นเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ?

ประชาธิปไตยทางตรงที่เปิดโอกาสให้ “พลเมือง” ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมนั้นถูกทอนคุณค่าลงไปให้กลายเป็นเพียงการปกครองในอุดมคติเพราะไม่อาจเกิดขึ้นและใช้ได้จริงในสภาพสังคมปัจจุบันอันเนื่องมาจากปัจจัยที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นด้านจำนวนประชากรหรือเรื่องความต้องการที่แตกต่างมากขึ้น ระบบผู้แทนจึงเข้ามาแทนที่เพื่อทำให้กลไกบางอย่างของระบอบประชาธิปไตยสามารถดำเนินต่อไปได้ ระบบผู้แทนในสังคมสมัยใหม่ถูกประดิษฐ์ขึ้นจากแนวคิดของ รุสโซ โดยนำมาจากทฤษฎีเรื่องสัญญาประชาคม อย่างไรก็ตามการมีผู้แทนนั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยทฤษฎีของ รุสโซ เพียงอย่างเดียว ในการปกครองรูปเบบเก่า (ancien régime) เคยมีการจัดตั้งสภาผู้แทนของแต่ละฐานันดรขึ้นเพื่อเป็นองค์กรในการรักษาผลประโยชน์ของแต่ละฐานันดร แต่ระบบผู้แทนในระบอบเก่านั้นไม่เปิดโอกาสให้มีการมีส่วนร่วมจึงเป็นการคัดเลือกกันเองภายในเพียงอย่างเดียว

การเป็นผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งจึงเป็นคำตอบที่อาจจะดีที่สุด(แต่ไม่อาจละเลยกระบวนการมีส่วนร่วมอื่นได้เช่นกัน)ในการตอบสนองต่อความกระหายของประชาธิปไตยในสังคมสมัยใหม่ที่มีความซับซ้อนยุ่งเหยิงของผลประโยชน์ของกลุ่มพลเมืองที่มีความหลากหลาย แต่ระบบการเลือกตั้งผู้แทนนั้นเป็น “ประชาธิปไตย” จริงหรือไม่

ข้อถกเถียงสำคัญต่อระบบผู้แทน(ที่มาจากการเลือกตั้ง)ภายใต้ร่มของระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบันคือ ประชาธิปไตยแบบผู้แทนนั้นเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงหรือไม่ ? Jacques Rancière ได้เสนอสมมุติฐานที่น่าสนใจว่าแท้จริงแล้วนั้นระบบผู้แทนไม่ใช่ส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยหากแต่เป็นส่วนหนึ่งของระบบคณาธิปไตย(oligarchie) Rancière ยังเสนอต่อไปอีกว่าแท้จริงแล้วระบบการปกครองต่างๆในทุกรัฐล้วนแล้วแต่เป็นระบบคณาธิปไตย แต่จะสะท้อนออกมาในรูปแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่ระบบคณาธิปไตยเปิดให้[2] หากเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากก็อาจเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตยในทางกลับกันถ้าเปิดพิ้นที่ให้น้อยหรือปิดพื้นที่ในการมีส่วนร่วมก็อาจสะท้อนออกมาในรูปแบบของระบบเผด็จการ เป็นต้น

ในข้อสันนิษฐานเบื้องต้น เราอาจอนุมานได้ว่าระบบผู้แทน(จากการเลือกตั้ง)นั้นเป็นตัวชี้วัดความเป็นประชาธิปไตย ในขณะเดียวกันระบบผู้แทนนี้เองที่เป็นตัวกลางที่คอยประณีประนอมระหว่างผู้ปกครองกับผู้อื่น[3] ภายใต้ข้อสันนิษฐานนนี้ Rancière ได้เสนอเกณฑ์ขั้นต่ำในการจำแนกระบบผู้แทนว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ดังต่อไปนี้ ในระบบผู้แทนนั้นจะต้องมีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งกำกับไว้เสมอและควรเป็นระยะเวลาที่สั้นและต้องมีระบบป้องกันการผูกขาดอำนาจโดยการตรากฎหมายห้ามข้ารัฐการเข้ามาเป็นผู้แทนของประชาชนนอกจากนั้นจะต้องมีการจำกัดงบประมานของแต่ละนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงเพื่อป้องกันการใช้จ่ายงบประมานตามอำเภอใจ[4] แต่ข้อสันนิษฐานดังกล่าวไม่ใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาดของความเป็นประชาธิปไตยเพราะความซับซ้อนของระบบผู้แทนนั้นประกอบไปด้วยกลุ่มคณาธิปไตยที่ใช้อำนาจรัฐและกลุ่มคณาธิปไตยที่ควบคุมเศรษฐกิจ ซึ่งคนทั้งสองกลุ่มนี้ต่างมีผลประโยชน์ที่แลกเปลี่ยนกันได้เสมอเช่นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์อันเกิดจากโครงการของรัฐเป็นต้น และเป็นเป็นคนเดียวกันนี้เองที่คอยครอบงำผู้อยู่ใต้การปกครองโดยวิธีการที่แยบยลเช่นการเสนอผู้แทนให้ประชาชนเลือกแบบที่ประชาชนไม่มีสิทธิ์ในการเลือกผู้แทนของตนเองอย่างแท้จริง แต่ต้องเลือกคนที่พรรคการเมืองสรรหามาให้เท่านั้นโดยที่ประชาชนจะถูกครอบงำโดยนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองที่เสนอมาจึงทำให้ไม่สามารถแสดงเจตนารมณ์ที่แท้จริงออกมาได้ผ่านการเลือกตั้ง นอกจากนี้ตัวแทนทั้งหลายยังมีสถานะและความสามารถดั้งเดิมที่แตกต่างจากประชากรคนอื่นเช่น การศึกษา ฐานะทางสังคม หรือชาติกำเนิดเป็นต้น การครอบงำด้วยวิธีการที่แยบยลนั้นสะท้อนออกมาในรูปแบบของการตรากฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติของการเป็นผู้แทนในระดับต่างๆ

อย่างไรก็ตามประชนชนในแต่ละรัฐก็ยังมีภูมิคุ้มกันจากการใช้อำนาจของบรรดาคณาธิปไตยนั่นคือการที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดถึงความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและการคุ้มครองเสรีภาพของปัจเจกชน นอกจากนี้การรับรองสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสมาคมและเสรีภาพในการชุมนุมต่างก็เป็นมาตรการสำคัญในการแสดงออกซึ่งประชาธิปไตยที่แท้จริงดังจะเห็นได้จากกรณีของอาหรับสปริง และการ ออคคิวพาย วอลสตรีท เป็นต้น มากไปกว่านั้นเสรีภาพในการชุมนุมยังเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยกลับมามีชีวิตชีวาได้ดังเดิม

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นคือแนวคิดของ Rancière ที่มีต่อระบบผู้แทน จะเห็นได้ว่า แม้ Rancière จะไม่เห็นด้วยกับระบบผู้แทนแต่ไม่เคยปฏิเสธระบบประชาธิปไตยแบบแท้จริงหรือทางตรง ย้อนกลับมาดูวิกฤตในประเทศไทย เมื่อต่างฝ่ายต่างมีอุดมการณ์ที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วภายใต้ร่มของประชาธิปไตยนั้น แนวคิดของใครที่มีความใกล้เคียงกับประชาธิปไตยที่แท้จริงกันแน่ ? เมื่อฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างความเป็นประชาธิปไตยภายใต้ระบบของการคัดเลือก(sélectionner) ที่มีแกนกลางอยู่ที่เลขาธิการของ กปปส.และกลุ่มชนชั้นกลางในเมือง กับอีกขั้วหนึ่งที่พยามเน้นย้ำความจำเป็นที่ต้องเลือกผู้แทน(voter) สมมุติฐานแรกคงปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งสองขั้วที่แตกต่างนั้น “เคย” แสดงออกให้เห็นถึงประชาธิปไตยที่แท้จริงมาแล้วจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า “มวลชน” ของทั้งสองขั้วนั้นต้องการประชาธิปไตย สมมุติฐานประการที่สองคือกับดักของความเป็นประชาธิปไตยที่ทั้งสองขั้วต่างกล่าวอ้างเมื่อขั้วหนึ่งต้องการการแต่งตั้งผู้แทนมาเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐกับอีกขั้วที่มองแต่การเลือกตั้ง ปัญหาคือใครเป็นประชาธิปไตยมากกว่ากัน หากอาศัยแนวคิดเรื่องผู้แทนที่กล่าวมาข้างต้นคงต้องตอบว่าไม่มีข้อเสนอใดที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงแต่อย่างน้อยการเลือกตั้งนั้นยังคงเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแม้จะเป็นการมีส่วนร่วมในลักษณะที่ไม่สามารถเลือกได้ตามเจตจำนงค์ของตนเองก็ตาม

สิ่งสำคัญที่สุดในการไปให้ถึงประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นไม่ใช่การเลือกตั้งหรือการแต่งตั้งหากแต่เป็นการหาวิธีปลดแอกจากพันธนาการที่รัดตรึงประชาชนไว้โดยวิธีที่แยบยลจากการครอบงำโดยวาทะกรรมต่างๆที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยกลุ่มคณาธิปไตยและไปให้ถึงความเป็น solidarity    
 




[1]        เมธยา ศิริจิตร, ประชาธิปไตยในอารยธรรมกรีก เผยแพร่ใน facebook.com/notes/methaya-sirichit

[2]     RANCIÈRE Jacques, La haine de la démocratie, édition La fabrique, Paris, 2013, p.79-80.

[3]       bibliobs.nouvelobs.com/tranches-de-campagne/jacques-ranciere-l-election-ce-n-est-pas-la-democratiel เข้าถึงเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2557.

[4]     RANCIÈRE Jacques, อ้างแล้ว หน้า 80.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net