Skip to main content
sharethis

หัวหน้าพรรค ปชป. ระบุเลือกตั้ง 2 ก.พ. ไม่ชอบรัฐธรรมนูญ คนใช้สิทธิน้อย หลายเขตจัดเลือกตั้งไม่ได้ จึงไม่สะท้อนเจตนารมณ์ประชาธิปไตย อัดนายกรัฐมนตรีอาจมีความผิดใช้การเลือกตั้งรักษาอำนาจตัวเอง-ได้อำนาจไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เพราะบังคับจัดเลือกตั้งหวังเปิดสภา

แฟ้มภาพอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในการแถลงข่าว "เปิดพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศไทย: ขจัดคอร์รัปชั่น มุ่งมั่นปฏิรูป" เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (ที่มาของภาพ: เพจอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)

 

อภิสิทธิ์ระบุการเลือกตั้ง 2 ก.พ. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

3 ก.พ. 2557 - เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์รายงานว่าวันนี้ (3 ก.พ. 57) อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการฟ้าวันใหม่ ดำเนินรายการโดย ถนอม อ่อนเกตุพล และวิทเยนทร์ มุตตามระ ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม Blue Sky Channel เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ก.พ. ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบและไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย และตนก็มีจุดยืนเช่นนี้จึงไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง พร้อมยืนยันว่ากำลังเล่นตามกติกา

“เมื่อวานเลือกตั้ง ปรากฎว่าวันนี้เขาบอกไม่ให้เผยแพร่ผล ก็ดูจะเป็นการเลือกตั้งที่แปลกที่สุดที่เราเคยผ่านกันมา ภาพรวมนั้น ประการแรกผมก็คิดว่าหลายคนก็โล่งใจว่าอย่างน้อยความรุนแรงที่เกิดขึ้นวันก่อนหน้าที่หลักสี่ ไม่ได้เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ ก็ทำให้เราผ่านมาโดยไม่มีความรุนแรงแบบที่เรากังวลกัน"

 

มีคนไปใช้สิทธิน้อย หลายเขตจัดเลือกตั้งไม่ได้ จึงไม่สะท้อนเจตนารมณ์ประชาธิปไตย

"แต่ว่าถามว่าในที่สุดแล้วเมื่อวานนี้เลือกตั้งเสร็จแล้ว ผลเป็นอย่างไรนั้น 1. มีประชาชนไปใช้สิทธินั้น ผมประเมินจากรายงานต่างๆ ที่เข้ามา แล้วก็บางคนก็เอาตัวเลขมาที่ผมนั้นไม่ถึงครึ่ง ในบรรดาคนที่ไปใช้สิทธิ์ก็มีจำนวนไม่น้อยเหมือนกันที่ลงคะแนน ไม่ประสงค์จะลงคะแนนให้ใคร รวมทั้งทำบัตรเสียในรูปแบบต่างๆ ด้วย เพราะฉะนั้นข้อเท็จจริงเฉพาะส่วนนี้ ยังไม่นับว่ามี 28 เขต ที่ไม่สามารถเลือกผู้แทนเขต มีอีกหลายสิบเขตที่ในที่สุดยังไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ รวมไปจนถึงที่ตกค้างมา 2 ล้านกว่าเสียงที่ขอใช้สิทธิ์นอกเขต รวมกันแล้วก็ต้องตอบในทางการเมืองก่อนว่า มองไม่เห็นว่ามันเป็นการเลือกตั้งที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร"

"ประการที่ 2 ในแง่ของกฎหมาย ก็วุ่นวายนิดหน่อย เมื่อวานนี้ก็เป็นครั้งแรกที่ต้องถามอยู่ตลอดว่า ตกลงเลือกเสร็จแล้วเขาจะนับคะแนนหรือเปล่า ในที่สุดก็นับ แต่ว่าไม่ให้รวมผล แต่ว่าทั้ง 2 ท่านเคยลงเลือกตั้งนี่ คิดว่าผู้สมัครเขารวมหรือยัง แล้วแถมยังมีรัฐมนตรี ผอ.ศรส. มาเที่ยวบอกเสียอีกว่า พรรคนั้นได้กี่ที่นั่ง พรรคนี้ได้กี่ที่นั่ง แล้ว กกต. เขาบอกว่าไม่ให้รวมคะแนนเพราะว่าจะชี้นำคนที่ไปลงคะแนนที่เหลือ ซึ่งนี่แหละครับ นี่คือเหตุผลว่าทำไมเขาถึงบอกว่าต้องจัดการเลือกตั้งในวันเดียว ยกเว้นมันมีเหตุจำเป็นอย่างน้อย 1 หน่วย 2 หน่วย นั้นสุดวิสัยจริงๆ ก็ว่ากันไป"

การที่ปล่อยให้คนอีกจำนวนหลายล้านคนต้องใช้สิทธิ์โดยที่รู้ผลกันแล้ว อาจจะไม่ได้ประกาศโดย กกต. แต่ว่าบรรดาผู้สมัครพรรคการเมือง แม้กระทั่งอย่างที่บอก รัฐมนตรีมาเที่ยวป่าวประกาศนี้ มีปัญหาแน่นอน ที่จะทำให้การเลือกตั้งนั้นมีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และด้วยกฎหมาย ดังนั้นอย่างที่ฝ่ายกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ไปยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น วันนี้ก็จะคุยกันอีกว่า ในส่วนคำร้องตรงนั้นต้องเพิ่มจากปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากเมื่อวานด้วยหรือไม่”

 

จะยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ม.68 ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย

"เพราะฉะนั้นจากเมื่อวานนี้ ก็อาจจะมีประเด็นเพิ่มเติมที่อาจจะต้องส่งให้กับทางผู้ตรวจการแผ่นดิน แล้วก็ขณะเดียวกันนั้น ฝ่ายกฎหมายก็บอกกับผมว่ากำลังพิจารณาที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 ด้วย ผมคิดว่าวันนี้ หรือพรุ่งนี้ ที่ กกต. จะต้องพบกับรัฐบาลอีกแล้ว แต่ว่าผมเข้าใจ จากรายงานข่าวที่กกต. เขาประชุมกันก่อนหน้านี้ เหมือนกับว่า ประเด็นปัญหา 28 เขตนั้นจะไม่มีทางออก เนื่องจากว่าการที่ กกต. จะไปประกาศเปิดรับสมัครใหม่นั้นมันก็ไม่มีกฎหมายที่ให้อำนาจเขาทำเช่นนั้น จะเปิดรับสมัครใหม่นี้ ก็คงต้องให้รัฐบาลตราพระราชกฤษฎีกามังครับ"

ทีนี้ถ้าตราพระราชกฤษฎีกา แล้วเลือกตั้งเฉพาะ 28 เขต โดยไม่ใช่เป็นการเลือกตั้งซ่อมนั้นมันจะทำได้หรือไม่อย่างไร เพราะฉะนั้นทุกอย่างก็วกกลับมาในจุดที่ว่า ในที่สุดรัฐบาลก็คงหนีไม่พ้นหรอกครับ ว่าจะต้องเผชิญกับคำถามว่า ที่เขาเสนอมาตลอดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มันไปไม่ได้ แล้วก็ควรจะต้องมีการตัดสินใจในการเลื่อนวันเลือกตั้ง แล้วก็ควรจะใช้โอกาสนั้นในการมาพูดคุยกับสังคมว่าจะทำอย่างไรให้เรากลับไปสู่การเลือกตั้งแบบปกติ สุดท้ายก็ย้อนกลับมาอยู่ที่เดิมตรงนี้

 

เสียเงิน 3,000 ล้านจัดเลือกตั้ง แต่ทำไมปล่อยให้มีการปะทะสูญเสีย

"คำถามก็คือว่า เราเสียเงินไป 3,000 กว่าล้านทำไม เราปล่อยให้เกิดการปะทะ ปล่อยให้เกิดความสูญเสียขึ้นทำไม ทั้งๆ ที่ตลอดเวลาที่ผ่านมา หลังจากที่ กกต. เขารายงาน หลังจากศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้ว รัฐบาลอยู่ในฐานะที่จะไม่ให้เกิดความสูญเสียตรงนี้ได้ แล้วก็เสียทั้งเวลา เสียทั้งเงิน เสียทั้งชีวิตคน โดยที่ไม่พยายามที่จะมาหาทางออกให้กับประเทศ”

อภิสิทธิ์กล่าวถึงสาเหตุที่จะยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญด้วยมาตรา 68 ว่า “ก็เป็นการพยายามได้มาซึ่งอำนาจโดยไม่ชอบ เพราะว่าพยายามจัดการเลือกตั้งที่รู้อยู่แล้วว่าไม่เป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม แล้วก็ที่เดินหน้าทำทั้งๆ ที่ กกต. ก็ทักท้วง ก็คิดเป็นอื่นไม่ได้นอกจากว่าพยายามที่จะแสวงหาอำนาจตรงนี้”

ส่วนรัฐบาลจะถูกฟ้องมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่นั้น อภิสิทธิ์ตอบว่า “157 นั้นเดี๋ยวอาจจะต้องเป็นอีกวันนึงมั๊งครับ คือตอนนี้ผมคิดว่าปัญหาก็คือว่า สถานะของการเลือกตั้งครั้งนี้เราจะเสียเงินไปเรื่อยๆ แล้วก็ในที่สุดแก้ปัญหาไม่ได้หรือเปล่า เพราะว่าสภาที่จะต้องเปิดได้นั้น จะต้องมีผู้แทนราษฎรร้อยละ 95 ซึ่งตัด 28 เขตออกไป ตัดกรณีของบัญชีรายชื่อออกไป ก็ยังมองไม่เห็นเลยครับว่า จะทำให้มันเกิดขึ้นได้อย่างไรในเวลาเท่าไหร่ ถ้าทำได้ด้วยซ้ำนะครับ”

 

เชื่อมีช่องให้ศาล รธน. ระงับยับยั้งให้เลือกตั้งเป็นโมฆะ

ส่วนคำถามที่ว่า ที่สุดแล้วจะมีผู้ไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะหรือไม่  อภิสิทธิ์ตอบว่า “ผมมองว่า คำร้องของฝ่ายกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ ที่ยื่นไปนี้ ก็เป็นทางหนึ่ง การยื่นตามมาตรา 68 ถ้าศาลรัฐธรรมนูญรับไว้ ศาลรัฐธรรมนูญก็สามารถระงับยับยั้งการกระทำก็เหมือนกับมันเป็นโมฆะได้เช่นเดียวกัน"

"นอกจากนั้นแล้ว ผมคิดว่า วันนี้ หรือ พรุ่งนี้ กกต. กับทางรัฐบาลเขาต้องคุยกัน แล้วก็ถ้า กกต. บอกว่า ไม่สามารถที่จะดำเนินการเลือกตั้งต่อได้ ถ้ารัฐบาลยอมรับสภาพ ก็อาจจะทำให้การเลือกตั้งมันยุติลงโดยปริยาย ส่วนว่าที่ผ่านมารัฐบาลมีความผิดหรือไม่นั้น ก็ว่ากันไปอีกคนละเรื่องกัน"

"แต่ถ้ารัฐบาลบอกว่าจะพยายามทำอย่างอื่นเช่น จะขอผลักดัน 28 เขตโดยการตราพระราชกฤษฎีกาใหม่ แล้วถ้า กกต. เขาเห็นว่ามันไม่ควรทำอย่างนั้น ก็คงจะต้องเป็นเรื่องกลับไปที่ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ดี เพราะเป็นความขัดแย้งกันในการใช้อำนาจระหว่างองค์กร เพราะฉะนั้นผมดูแล้วยังไง แนวโน้มที่เรื่องนี้จะต้องไปสู่ศาลหลายทางนั้นมีมากครับ มีมาก แล้วก็อย่างที่บอกก็คือว่า ทั้งๆ ที่รู้ว่าจะต้องเดินมาสู่จุดนี้ เราเสียเงิน เราเสียเวลา เราเสียอะไรอีกหลายต่อหลายอย่างไปเพื่ออะไร ที่นายกรัฐมนตรีขึ้นเฟสบุคก่อนหน้านี้ว่า 2 ก.พ. ไปเลือกตั้งแล้วก็จะเห็นทางออก จะยุติปัญหา นี่ 3 ก.พ.แล้วครับ ถามว่าวันนี้กับวันเสาร์ อย่าว่าแต่คนไทยเลยครับ เมื่อเช้าก็สัมภาษณ์วิทยุ BBC ไปแล้ว เขาก็ยังไม่เข้าใจ มองไม่เห็นว่ามันจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร ถ้าไม่มีการมาตั้งหลักกันใหม่”

ผู้ดำเนินรายการถามนายอภิสิทธิ์ว่า "เมื่อ กกต. รู้ทั้งรู้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเดินไปสู่การเป็นโมฆะ กกต. มีอำนาจประกาศให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะเองได้หรือไม่" นายอภิสิทธิ์ตอบว่า "ผมว่าไม่มีนะครับ ผมว่า กกต. ทำได้ก็คือ อย่างที่ว่า เสนอความเห็นไป เพราะศาลรัฐธรรมนูญก็ชี้ไว้ว่า ในกรณีที่เห็นว่าการเลือกตั้งนั้นไม่สามารถดำเนินไปได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ถามว่าใครมีอำนาจทำอะไร ศาลก็วินิจฉัยไว้ชัดว่า กกต. ก็ต้องทำรายงานไปที่นายกฯ กับ ครม. เพื่อให้ตราพระราชกฤษฎีกาใหม่ ซึ่งเขาทำแล้ว แต่ปรากฎว่าทำไปแล้วรัฐบาลไม่เห็นพ้องกับเขา เขาก็คงทำอะไรไม่ได้"

"แต่ว่าขณะเดียวกัน เขาก็ไม่ควรที่จะไปดำเนินการอะไรที่มันผิดเสียเองนะครับ เพราะฉะนั้นกรณีที่เขาจะต้องวินิจฉัยต่อไปในแง่ของ 28 เขตก็ดี ในแง่ของการเลือกตั้งนอกเขต ที่เราเรียกว่าเลือกตั้งล่วงหน้าด้วยก็ดีนั้น จะทำอย่างไรนั้นเขาก็ต้องระมัดระวัง เพราะว่าถ้าเขาไปทำผิดเสียเอง เขาก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ชอบ"

"ผมก็ไม่รู้นะครับว่า จะต้องฟ้องร้องกันอย่างนั้นหรือไม่ แต่ผมคิดว่า กกต. ตามที่ศาลวินิจฉัยไว้นั้น ก็คงยังสามารถที่จะยืนยันความเห็น แล้วก็แน่นอนถ้าเกิดรัฐบาลพยายามจะสั่งให้ไปทำในสิ่งที่มันไม่ชอบนั้น ผมว่า กกต. ก็สามารถที่จะปฏิเสธที่จะไม่ทำ แล้วก็นำเรื่องขึ้นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้งหนึ่งก็ยังได้นะครับ คือผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันนะ นายกฯ นี่ กกต. ใหญ่ 5 คน บอกให้ทำอะไร หรือมีความเห็นอย่างไรนั้น นายกฯ ไม่ฟัง แต่ว่า กกต. ประจำหน่วยบอกให้หย่อนบัตรผิดกล่องนี่ทำตาม"

 

อัดนายกรัฐมนตรีอาจมีความผิดใช้การเลือกตั้งรักษาอำนาจตัวเอง

ตอนหนึ่งผู้ดำเนินรายการ ถามว่า "ในระหว่างที่ กกต. จัดการเลือกตั้ง แต่สถานะของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับ ครม. มีสถานะหนึ่งคือผู้สมัครที่จะได้ประโยชน์จากการเลือกตั้ง หรือไม่จัดการเลือกตั้ง และกำลังจะได้ประโยชน์จากการจัดเลือกตั้งครั้งนี้ ถือเป็นการมีผลประโยชน์ขัดกันหรือไม่" นายอภิสิทธิ์ ตอบว่า “ตรงนี้ไงครับที่ผมถึงบอกว่า เป็นเหตุผลว่าทำไมในที่สุดวัน สองวันนี้เราจะต้องยื่นว่านายกฯ กับ ครม. มีความผิด คือโดยระบบของเรา พระราชกฤษฎีกานั้น นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นคนดำเนินการ แต่ตามพระราชกฤษฎีกาจัดให้มีการเลือกตั้งนั้น ก็คือพระราชกฤษฎีกายุบสภา จริงๆ มันเคยมคำวินิจฉัยแยกออกมาแล้วว่า ในส่วนยุบสภานั้นเป็นอำนาจนายกฯ ในการจัดการเลือกตั้ง กำหนดวัน ก็เหมือนกับหารือกัน แต่สุดท้ายแล้วคนจัดการเลือกตั้งจริงๆ คือ กกต."

"ทีนี้ นายกฯ เขาก็ไม่ให้หรอกครับที่จะมาเลื่อนการเลือกตั้งได้ตามใจชอบ เพราะไม่อย่างนั้น นายกรัฐมนตรีก็อาจจะใช้ช่องทางนี้ในการที่จะให้ตัวเองรักษาการต่อไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วก็คือต้องมาพึ่ง กกต. เพียงแต่ กกต. นั้นเขาไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะไปตราพระราชกฤษฎีกาเอง เขาจึงต้องรายงานให้นายกฯ ถ้านายกฯ มีเหตุผล เช่น กกต. เสนอมานี้มันไม่ชอบ อันนี้ก็ต้องให้เหตุผลกัน แต่นี่ กกต. เสนอมา แล้วอิงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้วยังไม่ทำนี่ ผมมองว่ายังไงนายกฯ ก็มีความผิดตรงนี้ครับ"

ผู้ดำเนินรายการถามว่า "จากนี้ไป นายกฯ และ กกต. มีทางแก้ไขปัญหานี้อย่างไร" อภิสิทธิ์ตอบว่า "ผมว่าขณะนี้ กกต. ก็ต้องทำความเห็นให้ชัดว่าเมื่อมาถึงขึ้นนี้แล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้มันสามารถเดินไปสู่การได้สภา และได้รัฐบาลหรือไม่ ตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่า ฟังจากที่เขาเคยให้สัมภาษณ์อะไรมานั้น เขาเห็นว่ามันทำไม่ได้ เขาก็ต้องยืนยันความเห็นนี้ไปที่รัฐบาล เมื่อบอกรัฐบาลแล้วว่าทำไม่ได้ รัฐบาลยังอยากทำต่อ"

"ผมว่าคราวนี้ก็ 1. เป็นความขัดแย้งที่อาจจะขึ้นไปสู่ศาลอีกรอบ กับ 2. ผมคิดว่าถ้าคราวนี้ศาลยืนยันเลยว่า ที่ผ่านมานั้น นายกฯ ควรจะแก้ปัญหาได้ แล้วไม่แก้ แล้ววันนี้ก็ผิดอีก ผมว่าอันนี้น่าจะยืนยันความผิดของทางนายกฯ กับทางรัฐบาลแล้ว"

ผู้ดำเนินรายการถามว่า "กกต. ยื่นศาลพิจารณาได้หรือไม่ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะหรือไม่"  

อภิสิทธิ์ตอบว่า “ผมว่าต้องรายงานนายกฯ ก่อนครับ ผมคิดว่าต้องให้มีเกิดปัญหาความขัดแย้งในการใช้อำนาจของ 2 องค์กรก่อนนะครับ”

 

ชี้รัฐบาลได้อำนาจไม่เป็นไปตามวิถีรัฐธรรมนูญ เพราะบังคับจัดเลือกตั้งหวังเปิดสภา

ผู้ดำเนินรายการถามว่า "ทำไม น.ส.ยิ่งลักษณ์ และรัฐบาลจึงจงใจให้มีการเลือกตั้งวานนี้ ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าจะทำให้ไม่ได้ฝ่ายบริหาร" อภิสิทธิ์ตอบว่า "เราไปหยุดอยู่แค่ตรงเมื่อกี้ไม่ได้นะครับ เพราะว่าวันนี้ผมก็เห็นพลพรรคของรัฐบาล ยังพยายามกดดันว่า ให้ที่เหลือไปเลือกมาซะ ไม่ว่าชอบหรือไม่ชอบนะ ตรงนี้ไงครับที่ผมคิดว่า พอมีการพูดตรงนี้ย้ำแล้ว ย้ำอีก ผมถึงมองว่า อันนี้แหละผิดมาตรา 68 หรือเปล่า พยายามได้มาซึ่งอำนาจโดยไม่ใช่วิถีทางของรัฐธรรมนูญ เพราะว่าการเลือกตั้งที่คุณพยายามจะบีบบังคับให้เกิดขึ้นเพื่อให้คุณเปิดสภา แล้วกลับไปเป็นรัฐบาลได้นั้น มันขัดรัฐธรรมนูญ มันไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จะพูดให้ชัดนะครับ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนะ ไม่ใช่ว่าผมไม่ชอบรัฐธรรมนูญนะ"

ผู้ดำเนินรายการถามว่า "ก่อนหน้านี้รัฐบาลมักจะอ้างว่ามาจากเสียงส่วนใหญ่ 15 ล้านเสียง เมื่อดูตอนนี้ ก็น่าจะไม่ถึงครึ่ง หากบวกกับคะแนนไม่ประสงค์ลงคะแนน และบัตรเสีย แสดงให้เห็นว่าความชอบธรรมของรัฐบาลนั้นหมดไปแล้วหรือไม่" อภิสิทธิ์ตอบว่า "มีคนเขายังไม่ได้ลงคะแนนเยอะนะ ผมไม่กล้าพูดคะแนนพรรคไหนทั้งสิ้นนะครับ ผมพูดแต่ว่ามีคนไปใช้สิทธิน้อยมาก นี่เป็นข้อเท็จจริงซึ่งมีการรายงาน แล้วก็รับรู้กันว่าน้อยมาก แล้วก็ขณะเดียวกัน ในบรรดาคนที่ไปลงคะแนน ก็มีคนที่เขาไม่เลือกใคร หรือมีบัตรเสียอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งผมก็บอกแล้วว่า ดูจากภาพรวมตรงนี้ ผมมองไม่เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่พูดถึงเรื่องกฎหมายว่าเป็นโมฆะ ไม่เป็นโมฆะ แต่พูดถึงว่าในเชิงรัฐศาสตร์นั้น มันเป็นการเลือกตั้งที่สะท้อนเจตนารมณ์ได้จริงหรือเปล่า ถ้าบอกว่าพรรคนั้นพรรคนี้ได้ที่นั่งเท่านั้นเท่านี้ แล้วก็พยายามจะดึงดันไปตั้งรัฐบาลกัน"

ทั้งนี้อภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า เมื่อวานนี้ที่มีการเลือกตั้ง แต่พอนับคะแนนกันแล้ว เขาบอกไม่ให้รวมคะแนน ถือเป็นความผิดปกติของการเลือกตั้งครั้งนี้

 

ยันทำตามกติกา ไม่เล่นนอกกติกา ถ้าถูกตัดสิทธิลงสมัครไม่ได้ก็แล้วแต่พรรคจะหาคนมาลงแทน

ตอนหนึ่งผู้ดำเนินรายการถามว่า "ถ้าศาลชี้ว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ แล้วพรรคเพื่อไทย รัฐบาล บอกไม่ยอมรับอำนาจศาลจะทำอย่างไร" อภิสิทธิ์ตอบว่า "ผมว่าถ้าอย่างนั้นสงสัยว่ารัฐบาลจะได้ไปขึ้นศาลดูไบหรือเปล่าไม่ทราบ" ส่วนคำถามว่าอภิสิทธิ์ไปเลือกตั้งหรือไม่นั้น อภิสิทธิ์ตอบว่า "ไม่ได้ไปครับ ผมก็ยืนยันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ชอบ เป็นการเลือกตั้งที่ไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นการเลือกตั้งที่จะสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้ตามระบอบประชาธิปไตย เมื่อผมมีความคิดเช่นนี้ เป็นจุดยืนเช่นนี้ ก็ไม่เห็นเหตุผลที่จะไปใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้ง"

"มีคนถามว่า ผมไม่ทำตามกติกาหรือเปล่า ผมเลยบอกชัดครับว่า ผมทำตามกติกาครับ คือเมื่อผมไม่ไป แล้วรัฐธรรมนูญบอกว่า ผมต้องเสียสิทธิ์ ผมก็จะยอมเสียสิทธิ์ ผมไม่ไปอ้างว่าผมป่วย ผมไม่ไปอ้างว่าผมอย่างนั้นอย่างนี้ครับ เพราะผมไม่ไปด้วยเหตุผลนี้ เหตุผลนี้ไม่ใช่เหตุผลที่ กกต. เขาประกาศในการที่จะยกเว้นการไม่เสียสิทธิ์ เพราะฉะนั้นผมก็ต้องยอมรับการถูกตัดสิทธิ์ครับ"

"ผมไม่ได้เล่นนอกกติกา คือถูกตัดแต้ม ก็ถูกตัดแต้มครับ"

สุดท้ายผู้ดำเนินรายการถามว่า "สมมติว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีความสมบูรณ์ แล้วคุณอภิสิทธิ์ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง อาจเป็นเหตุให้ไม่สามารถลงเลือกตั้งไม่ได้ใช่หรือไม่" อภิสิทธิ์ตอบว่า "แล้วแต่พรรคครับ ถ้าพรรคเขาเห็นว่า จะต้องหาคนที่มาลงสมัครได้ เขาก็หาคนอื่นได้ครับ พรรคประชาธิปัตย์มีคนเยอะแยะครับ เมื่อตัดสินใจแล้ว ก็ต้องรับผลตรงนั้นครับ ตามกฎหมายทุกอย่างครับ นี่คือความแตกต่างนะครับว่า คนเล่นตามกติกา กับไม่เล่นตามกติกา ดูตรงนี้ครับ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net