กม.ท้องถิ่นว่าด้วยการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนของสหรัฐฯ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

พื้นที่ชุมชนเมืองประกอบไปด้วยพื้นที่หลากหลายที่รองรับการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วไปในสังคม การประกอบอุตสาหกรรม และการประกอบพาณิชยกรรมของภาคเอกชน นอกจากนี้ ภาครัฐเองอาจจัดสรรพื้นที่หรือนำเอาพื้นที่ชุมชนเมืองบางส่วนมาใช้ประโยชน์เพื่ออำนวยการจัดกิจกรรมบริการสาธารณะให้สำเร็จลุล่วงไปด้วย ด้วยเหตุนี้ ภาครัฐที่มีหน้าที่โดยตรงในการจัดการผังเมือง จึงต้องนำเอามาตรการหรือกลไกการใช้ที่ดิน (land use mechanisms) เพื่อสนับสนุนการใช้ที่ดินในพื้นที่ชุมชนเมืองที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างคุ้มค่าและสมประโยชน์สูงสุด อนึ่ง พื้นที่ชุมชนเมืองย่อมประกอบไปด้วยประชากรที่มีที่มาหลากหลาย เช่น ผู้คนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมืองอยู่แล้ว ผู้คนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อมาทำงานในชุมชนเมือง และผู้คนที่ต้องอาศัยพื้นที่ชุมชนเมืองเพื่อการเดินทาง ซึ่งบุคคลที่มีที่มาหลากหลายเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยการเดินทาง (movement)[1] เพื่อเคลื่อนย้ายจากที่แห่งหนึ่งไปสู่พื้นที่แห่งหนึ่ง โดยอาศัยวิธีการที่หลากหลายหรือแตกต่างกันออกไป โดยการอาศัยยวดยานพาหนะส่วนตัว การอาศัยขนส่งมวลชนที่ภาครัฐได้จัดทำขึ้นหรือมีเอกชนมารับสัมปทานจากภาครัฐ การอาศัยยานพาหนะจากธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร รวมไปถึงการเดินเท้าในพื้นที่ชุมชนเมือง 

การเดินทางประเภทต่างๆ ได้เข้ามาเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต และปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและชุมชนเมือง รัฐ หน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องจึงมีหน้าที่ส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนหรือระบบขนส่งสาธารณะ (public transportation system) ที่จัดทำขึ้นโดยภาครัฐหรือภาคเอกชนที่รับสัมปทานมาจากภาครัฐอย่างเท่าเทียม ซึ่งไม่เพียงจะส่งผลดีต่อการเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้กับประชาชน และสามารถประหยัดค่าเดินทางจากการใช้งานยานพาหนะส่วนตัวได้แล้ว การสนับสนุนให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้อย่างสะดวกย่อมส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและผังเมืองในบริเวณพื้นที่ชุมชนเมืองอีกด้วย ตัวอย่างเช่น[2] ประชาชนย่อมมีทางเลือกในการเดินทางที่หลากหลายมากขึ้น ภาครัฐหรือท้องถิ่นสามารถลดปริมาณการจราจรที่แออัดในพื้นที่ชุมชนเมือง และการบริการระบบขนส่งย่อมทำให้การบริโภคพลังงานจากการใช้ยวดยานพาหนะส่วนตัวลดน้อยลง ซึ่งส่งต่อการลดมลภาวะทางอากาศในพื้นที่ชุมชนเมืองและภาวะก๊าซเรือนกระจก

การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่ชุมชนเมือง (urban transit systems) ย่อมต้องคำนึงถึงปัจจัยที่เอื้อต่อสิ่งแวดล้อมและการจัดผังเมืองในพื้นที่ชุมชน เพื่อให้ภาครัฐหรือท้องถิ่นสามารถจัดบริการสาธารณะที่อำนวยประโยชน์ให้กับประชาชนและสามารถจัดเก็บรายได้หรือจัดการผลประโยชน์จากการบริหารพื้นที่ประกอบกิจกรรมขนส่งมวลชน หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่รัฐได้นำเอามาจัดทำบริการสาธารณะด้านขนส่งมวลชน รวมไปถึงพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนอย่างเหมาะสม ซึ่งการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่ชุมชนเมืองที่ดี จำต้องคำนึงถึงบริบทต่างๆ อาทิ การปฏิรูปที่ดินให้สอดคล้องกับแนวโน้มในการพัฒนาเมือง การเชื่อมโยงการเดินทางประเภทต่างๆ ให้สามารถอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ต้องการความต่อเนื่องในการเดินทาง และการใช้ที่ดินที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่ชุมชนเมืองให้เกิดประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการขนส่งมวลชน

ในปี 1993 ปีเตอร์ คาลโทรล (Peter Calthorpe)[3] สถาปนิกและนักการผังเมืองชาวอเมริกัน ได้เสนอแนะแนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit-Oriented Development หรือ TOD) ในหนังสือเรื่อง “นครอเมริกันใหม่” หรือ “The New American Metropolis” โดยหนังสือดังกล่าวเสนอแนะสาระสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ชุมชนให้เอื้อต่อการเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะประเภทต่างๆ และมุ่งให้ประชาชนลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือยานพาหนะส่วนตัวอื่นๆ ผ่านการออกแบบชุมชนอย่างยั่งยืน (sustainable community design) โดยปีเตอร์มีความเชื่อว่า หากนำเอาข้อเสนอแนะของเขามาใช้ในการออกแบบพื้นที่ชุมชนเมืองและการวางผังเมืองแล้ว ไม่เพียงจะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและช่วยลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของประชาชนชาวอเมริกันได้เท่านั้น แต่อาจจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดปัญหาการจราจรที่แออัดในพื้นที่ชุมชนเมืองได้อีกด้วย

 

รูปที่ 1: การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนในเมืองซานดิเอโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่อาศัยการควบคุมอาคารและการวางผังเมือง ให้สะดวกต่อการเข้าถึงและเอื้อต่อการใช้บริการระบบขนส่งมวลชนของประชาชน  ที่มา: State of California, California Transit-Oriented Development (TOD) Database, ดูเว็บไซต์ California

 

การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit-Oriented Development หรือ TOD) อาจหมายถึง การพัฒนาพื้นที่โดยรอบรอบสถานีขนส่งมวลชนที่ถูกกำหนดเอาไว้ (designated areas) โดยโครงการของรัฐ หน่วยงานของรัฐ ท้องถิ่นหรือเอกชน เพื่อที่จะรองรับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในปัจจุบันและในอนาคต โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับต่างๆ ของการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน จำต้องคำนึงถึงขนาดของพื้นที่และความหนาแน่นของประชาชนที่อาศัยพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้เกิดการใช้ที่ดินซึ่งสามารถเชื่อมต่อรูปแบบการเดินทางจำพวกอื่นๆ และเชื่อมโยงกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินอื่นๆ ในบริเวณพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน[4] ตัวอย่างเช่น การสร้างจุดจอดจักรยานและทางจักรยานบริเวณโดยรอบพื้นที่สถานีรถไฟใต้ดิน สำหรับให้ผู้ใช้บริการรถไฟใต้ดินสามารถนำเอาจักรยานที่ตนจอดทิ้งเอาไว้ในจุดจอดจักรยาน มาขับเพื่อเดินทางต่อไป หรือสำหรับให้ผู้สัญจรโดยจักรยานสามารถนำเอาจักรยานมาจอดทิ้งเอาไว้ เพื่อใช้บริการรถไฟใต้ดินสัญจรต่อไป

รูปที่ 2: การออกแบบพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน ให้ประชาชนสามารถเดินเข้ามาใช้บริการได้โดยง่าย และมีทางเดินเชื่อมต่อระหว่างสถานีกับทางสาธารณะและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ โดยรอบ ย่อมทำให้เกิดความสะดวกต่อประชาชนในการเดินทางมากขึ้น   ที่มา: State of California, California Transit-Oriented Development (TOD) Database, ดูเว็บไซต์ California

 

รูปที่ 3: การสร้างที่จอดจักรยานและทางจักรยานบริเวณรอบสถานีขนส่งมวลชน ทำให้ประชาชนที่นิยมสัญจรด้วยจักรยานสามารถนำจักรยานมาจอดไว้ในจุดจอดจักรยาน และเดินทางต่อไปด้วยขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น   ที่มา: United States Department of Transportation - Federal Highway Administration, Application of TDM to Policy Issues, ดูเว็บไซต์ Federal Highway Administration        

ในสหรัฐอเมริกา เทศบาลเมืองของหลายมลรัฐได้นำเอาหลักการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนมาบัญญัติเป็นกฎหมายระดับท้องถิ่นในรูปแบบของเทศบัญญัติ (Ordinance) ขึ้น หลายมลรัฐได้นำเอาหลักการดังกล่าวมาจัดทำมาตรการกำหนดผังเมืองที่เอื้อต่อการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน ซึ่งเทศบาลอาจกำหนดประเภทหรือเขตพื้นที่ชุมชนโดยรอบบริเวณสถานีขนส่งมวลชนให้แตกต่างกัน (different place-types) อนึ่ง ปัจจัยต่างๆ ที่นำเอามาเป็นหลักเกณฑ์ในการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน ย่อมแตกต่างกันออกไป โดยอาจพิจารณาลักษณะทางกายภาพของสิ่งปลูกสร้างที่ท้องถิ่นมีอำนาจควบคุมอาคาร ให้สอดคล้องกับปริมาณความหนาแน่นของประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่แต่ละพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (residential densities) ประเภทของธุรกิจที่ประกอบกิจการค้าอยู่โดยรอบบริเวณสถานีขนส่งมวลชน (commercial types) และประเภทของอาคารสถานที่ทำงานของภาครัฐหรือภาคเอกชนที่ปลูกสร้างโดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (office uses) นอกจากนี้ เทศบัญญัติของท้องถิ่นอาจให้อำนาจท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในการควบคุมอาคารหรือพัฒนาเมืองให้เอื้อประโยชน์ต่อการเข้าถึงสถานีขนส่งมวลชนของประชาชนและเอื้อต่อการเชื่อมโยงโครงข่ายขนส่งมวลชนอื่นๆ

เทศบาลเมืองของหลายมลรัฐยังได้กำหนดมาตรการอื่นๆ ให้เอื้อต่อการเข้าถึงขนส่งมวลชนประเภทต่างๆ ที่ทำขึ้นโดยรัฐหรือจัดทำขึ้นโดยเอกชนที่มารับสัมปทาน เช่น การกำหนดให้ประตูทางเข้าอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่โดยรอบพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน หันหน้าออกไปทางถนนสายหลักหรือถนนสายอื่นๆ ที่ระบบขนส่งมวลชนสัญจรผ่านหรือให้บริการ และการห้ามสร้างที่จอดรถด้านหน้าอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น

นอกจากนี้ การปฏิบัติหรือการดำเนินการในทางการค้าบางอย่างของภาคธุรกิจ ที่อาจก่อให้เกิดปัญหารถติดในบริเวณโดยรอบสถานีขนส่งมวลชน ก็ถูกห้ามโดยเทศบัญญัติในหลายมลรัฐ ตัวอย่างของมาตรการนี้ เช่น การห้ามไม่ให้ภาคธุรกิจที่ให้บริการอาหารหรือเครื่องดื่มจำพวกอาหารจานด่วนหรือฟาสต์ฟู้ด นำระบบการขับรถเข้าไปซื้อโดยไม่ต้องลงจากรถ (drive-through uses)[5] มาดำเนินการในบริเวณพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน และการห้ามไม่ให้ภาคธุรกิจที่ให้บริการดูแลรักษารถยนต์แบบเร่งด่วน (automotive-related uses)[6] ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการล้างรถยนต์โดยใช้เครื่องล้างรถยนต์แบบเร่งด่วน (self-service auto washing) หรือการให้บริการบำรุงรักษารถยนต์เร่งด่วนจำพวกอื่นๆ (service and repair shops) มาดำเนินกิจการในพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน เพราะการปฏิบัติหรือการดำเนินการในทางการค้าของธุรกิจเหล่านี้ย่อมอาจก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ชุมชนเมือง หรือพื้นที่บริเวณโดยรอบสถานีขนส่งมวลชนได้

การจัดทำมาตรการทางกฎหมายท้องถิ่นในหลายมลรัฐของสหรัฐอเมริกา ที่วางหลักเกณฑ์และวิธีการที่อำนวยประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน ย่อมทำให้การกำหนดทิศทาง แนวทาง และพื้นที่ในการวางผังเมืองโดยรอบสถานีขนส่งมวลชนมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน หรือบริการสาธารณะด้านคมนาคมขนส่งอื่นๆ ที่รัฐเป็นผู้จัดทำขึ้นเอง หรือเอกชนเป็นผู้รับสัมปทานจากรัฐมาให้บริการประชาชน ที่ไม่เพียงจะต้องคำนึงถึงความสะดวกสบายที่ประชาชนพึงจะได้รับเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวอีกด้วย

 



[1] การเดินทางอาจถือเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานประการหนึ่งของมนุษย์ (freedom of movement) โดยมนุษย์ย่อมมีสิทธิในการสัญจรโดยยานพาหนะส่วนตัวหรือขนส่งสาธารณะประเภทต่างๆ เช่น รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟชั้นต่างๆ เรือโดยสารประเภทต่างๆ อากาศยาน และจักรยาน ตราบเท่าที่การใช้งานยวดยานพาหนะไม่ฝ่าฝืนกฎหมายหรือหลักเกณฑ์ที่รัฐกำหนดไว้ โปรดดูใน Klitz, P. et al., Managing the Transit Network: A PRIMER ON KEY CONCEPTS, Translink’s Network Management Group, 2012, p 3.

[2] Paine, C., 'Stronger Transit, Better Transit-Oriented Development', Community Development Department Federal Reserve Bank of San Francisco, 2010, 2 (22), pp 28-33.

[3] Carlton, I., Histories of Transit-Oriented Development: Perspectives on the Development of the TOD Concept Real Estate and Transit, Urban and Social Movements, Concept Protagonist, Institute of Urban and Regional Development, 2007, p 1.

[4] อย่างไรก็ตาม นิยามหรือความหมายของคำว่าการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit-Oriented Development หรือ TOD) อาจเปลี่ยนไปให้สอดคล้องกับบริบทของกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนในแต่ละท้องถิ่น มลรัฐหรือประเทศ โปรดดูเพิ่มเติมใน Shinkle, D., Transit-Oriented Development in the States, National Conference of State Legislatures, 2012, p 3.

[5] Commonwealth of Massachusett, Transit-Oriented Development Overlay District: Model Bylaw, See website: Mass.gov

[6] City of Richmond, Zoning Administration: A Guide to Automotive- Related Uses, See website: Richmond

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท