ประวัติศาสตร์ลิขสิทธิ์ (5): สิ่งพิมพ์เถื่อนล้มเจ้าอังกฤษถึงเสรีภาพสื่อก่อนมีลิขสิทธิ์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ตอนที่ 5 ของบทความชุด “ประวัติศาสตร์ลิขสิทธิ์” โดยอธิป จิตตฤกษ์ มาดูพลวัตรสิ่งพิมพ์หลังปฏิวัติอังกฤษซึ่งเกิดเสรีภาพสิ่งพิมพ์อย่างแท้จริง ก่อนกฎหมายลิขสิทธิ์จะมีขึ้นในศตวรรษที่ 17

จุดเริ่มต้นของลิขสิทธิ์เริ่มจากจุดตกต่ำของอำนาจผูกขาดของสมาคมผู้ผลิตหนังสือแห่งลอนดอนซึ่งผูกพันโดยตรงกับการปฏิวัติ “ล้มเจ้า” ของอังกฤษที่ทำให้อังกฤษกลายเป็นสาธารณรัฐในช่วงสั้นๆ ช่วงกลางศตวรรษที่ 17 ผู้เขียนคงไม่อาจลงรายละเอียดได้ในที่นี้ว่าอะไรมันเกิดขึ้นอีท่าไหนชาวอังกฤษถึงไปสู่การประหารพระเจ้าชาร์ลที่ 1 ซึ่งตามมาด้วยการขึ้นสู่อำนาจของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ (Oliver Cromwell) เพราะที่มาที่ไปของสงครามนั้นซับซ้อนพอสมควร อย่างไรก็ดีสิ่งพื้นฐานที่ต้องทราบในที่นี้ก็คือในทศวรรษที่ 1640 อังกฤษเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นระหว่างฝ่ายที่เข้าข้างกษัตริย์กับฝ่ายสภาที่ศัตรูกับกษัตริย์ และอำนาจต่างๆ ที่เคยเป็นของกษัตริย์ก็ทำงานไม่ได้ดังเดิมแล้วตั้งแต่ช่วงต้นสงคราม

การปฏิวัติอังกฤษก็ไม่ได้ต่างจากการปฏิวัติอื่นๆ ในยุโรปช่วงสมัยใหม่ตอนต้นที่มาพร้อมๆ กับการขยายตัวของการตีพิมพ์พวกจุลสารและเอกสารทางการเมืองจำนวนมาก อำนาจในการผูกขาดของสมาคมผู้ผลิตหนังสือแห่งลอนดอนที่เคยมีมาเกือบร้อยปีทำงานไม่ได้ในช่วงนี้เพราะสิทธิผูกขาดเป็นโมฆะไปพร้อมๆ กับอำนาจกษัตริย์ตั้งแต่ปี 1641 [1]  แม้ว่าช่างพิมพ์ที่คร่ำหวอดกับธุรกิจการพิมพ์เหล่านี้จะมีทรัพยากรเหลือเฟือในการที่จะพิมพ์สิ่งพิมพ์มาหนุนฝ่ายการเมืองใดก็ได้ แต่ฝ่ายต้านกษัตริย์จำนวนมากก็ย่อมมีความคลางแคลงใจที่จะไปตีพิมพ์สิ่งใดๆ ที่มีลักษณะ “ล้มเจ้า” กับบรรดาสมาชิกองค์กรที่มีสายสัมพันธ์กับสถาบันกษัตริย์มานมนานอย่างทางสมาคมฯ ดังนั้นความต้องการตีพิมพ์สิ่งพิมพ์ “ล้มเจ้า” ทั้งหลายของฝั่งสภาและฝ่ายต้านกษัตริย์อื่นๆ จึงทำให้พวกช่างพิมพ์นอกสมาคมมีโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้นจากที่ไม่เคยมีมาก่อนตลอดช่วงสงครามกลางเมืองที่กินเวลาหลายปี

ช่างพิมพ์นอกสมาคมพวกนี้โดยทั่วไปก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากพวกผู้คนที่เคยทำงานและฝึกงานกับทางสมาคมฯ นั่นเอง โดยทั่วไประบบของสมาคมช่างหรือ Guild ทั้งหลายไม่ว่าจะในอังกฤษหรือที่อื่นๆ ยุโรป ระบบการผลิตของยุคสมัยสมาคมช่างนั้นจะประกอบไปด้วย Master, Journeyman และ Apprentice สิ่งที่เรียกว่า Master คือคนระดับยอดของสมาคมช่างที่มีสิทธิประกอบกิจการได้ โดยทั่วไป Master ในทุกสมาคมช่างก็จะมีได้จำกัด ใครจะเป็น Master ได้คือคนที่ผลิตงานในระดับที่เรียกว่าเป็น Masterpiece และมีเงินเสียค่าสอบเป็น Master ซึ่งโดยทั่วไปก็จะเป็นเงินมหาศาลพอๆ กับรายได้เป็นปีของช่างที่ไม่มี Master ดังนั้นหากคนที่ “บ้านไม่รวย” ก็ยากจะเป็น Master ได้ และคนมาทำงานช่างก็บ้านไม่ได้รวยกันอยู่แล้ว ดังนั้นตำแหน่ง Master จึงมักจะตกอยู่กับลูกหลานของ Master ไปเรื่อยๆ ในการทำงาน Master ทุกๆ คนก็ต้องมี “ลูกน้อง” ซึ่งลูกน้องระดับต่ำสุดน่าจะเรียกได้ว่า “นายช่างฝึกหัด” หรือ Apprentice ซึ่งถือว่าเป็นผู้ฝึกฝนวิชาช่างในแขนงนั้นๆ โดยการทำงานกับ Master [2]

และสำหรับ Apprentice ที่ “สำเร็จวิชา” ช่างจาก Master แล้ว เขาก็จะกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า Journeyman ซึ่งก็คือคนที่ในทางหลักการแล้วพร้อมจะสอบเป็น Master รากของคำว่า Journeyman คือคำว่า journee ในภาษาฝรั่งเศสแปลว่า งานในหนึ่งวัน ซึ่งความหมายคือ Journeyman คือคนที่สามารถคิดค่าแรงเป็นรายวันได้ ต่างจาก Apprentice ที่เป็น “ลูกศิษย์” ของ Master ที่ทำงานให้ฟรีๆ นอกจากนี้ Journeyman ยังต่างจาก Apprentice ตรงที่ Journeyman ไม่มีความจำเป็นจะต้องอยู่ในบ้านของ Master แต่สามารถจะออกไปมีครอบครัวเองได้ไปพร้อมๆ กับที่ทำงานกับ Master

ระบบของสมาคมช่างโดยทั่วไปจะมีการจำกัดปริมาณ Master พอควรเพื่อควบคุมปริมาณสินค้าในตลาด อย่างไรก็ดีในกรณีของสมาคมช่างพิมพ์หนังสือในอังกฤษ การจำกัดปริมาณ Master นั้นผูกพันกับอำนาจกษัตริย์ที่มอบสิทธิ์ในการผูกขาดการค้ากับ Master อันมีจำนวนจำกัดโดยตรงมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 16 พูดง่ายๆ คือทางสมาคมก็ไม่สามารถจะตั้ง Master เพิ่มได้จากจำนวนที่กษัตริย์กำหนดไว้ในตอนแรก ซึ่งนั่นหมายถึงการจำกัดจำนวนแท่นพิมพ์และโรงพิมพ์ไปพร้อมกันด้วยเพราะ Master คนหนึ่งก็มีได้เพียงแค่โรงพิมพ์เดียวเท่านั้น การจำกัดจำนวนแท่นพิมพ์ในประเทศนี้สมเหตุสมผลในนามของ “ความมั่นคง” ของบัลลังก์ เพราะการปล่อยให้การพิมพ์ขยายได้อย่างเสรีนั้นย่อมมีศักยภาพในการเป็นภัยต่อราชบัลลังก์ อย่างไรก็ดีสิ่งที่ดูจะเป็นระเบิดเวลาก็คือ ระบบก็ได้ผลิต Journeyman มามากมายที่ไม่มีสิทธิจะเป็น Master ได้เพราะกฎหมายจำกัดปริมาณแท่นพิมพ์ไว้ ดังนั้นภาวะของสงครามกลางเมืองที่ทำให้การจำกัดแท่นพิมพ์ภายใต้อำนาจของกษัตริย์จบลงจึงเปิดโอกาสให้เหล่า Journeyman ได้กลายมาเป็น Master ในแง่ของการเปิดโรงพิมพ์เองเพื่อพิมพ์สิ่งพิมพ์แบบเถื่อนมาตอบสนองกระแสการเมือง ฝ่ายที่มาใช้บริการ Journeyman เหล่านี้ก็น่าจะเป็น “ฝ่ายล้มเจ้า” ไปเสียเยอะ อย่างไรก็ดีสิ่งที่ต้องไม่ลืมก็คืออำนาจผูกขาดทางการค้าของพวก Master ก็ผูกพันกับ “เจ้า” ถ้า “ล้มเจ้า” ได้อำนาจนี้ของ Master ก็หมดไปอย่างถาวร ดังนั้น Journeyman ก็จึงมีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจโดยตรงในการล้มเจ้า

หลังสงครามสิ้นสุดและฝ่ายล้มกษัตริย์เป็นฝ่ายชนะก็ได้มีการยกเลิกบรรดาอภิสิทธิ์ในการผูกขาดการพิมพ์ใดๆ อันเนื่องมาจากอำนาจกษัตริย์ทั้งหมดตามสูตร และอำนาจของทางสมาคมผู้ผลิตหนังสือแห่งลอนดอนที่โดนยกเลิกไปแล้วตั้งแต่ต้นสงครามก็แน่นอนว่าไม่ได้กลับมา สิ่งพิมพ์ในอังกฤษอยู่ในภาวะที่น่าจะพอเรียกได้ว่ามีเสรีภาพทางการค้า เพราะใครจะพิมพ์อะไรขายก็ได้ (แน่นอนว่าก็ต้องไม่ผิดไปจากบัญญัติของรัฐบาลปฏิวัติ) ภาวะแบบนี้ดำเนินไปสิบกว่าปี ก่อนอังกฤษจะกลับมามีกษัตริย์อีกครั้งจนถึงทุกวันนี้

แม้กว่ากษัตริย์จะกลับมาและมีความพยายามสถาปนาสิทธิผูกขาดการพิมพ์โดยรัฐในราชอาณาจักรอีกครั้งในการออก Licensing Act of 1662 อันเนื่องมาจากการปล่อยสิ่งพิมพ์ให้ดำเนินไปอย่างมีเสรีภาพเกินไปก็ไม่ใช่สิ่งที่เหล่าผู้มีอำนาจต้องการ เพราะอย่างน้อยๆ ช่วงปฏิวัติเหล่านายทหารที่ลุกขึ้นมาปฏิวัติกษัตริย์ก็รับไม่ได้กับข้อเสนอของพวก Leveller ที่จะให้ผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ทุกคนมีสิทธิ์เลือกตั้งไม่ใช่แค่พวกที่มีที่ดิน เพราะสำหรับพวกทหารการปฏิวัติมันก็ดูจะเป็นเรื่องของการระงับการใช้อำนาจอันเลยเถิดของกษัตริย์และดึงอำนาจกลับมาสู่สภาและเหล่าชนชั้นสูงมากกว่าที่จะเป็นการสู้เพื่อความเท่าเทียมกันในหมู่ปวงชนอังกฤษ ดังนั้นการเรียกร้องความเท่าเทียมอันล้นเกินไปจึงเป็นอันตรายทั้งนั้น และนี่เป็นเหตุผลที่ต้องควบคุมสื่ออีกครั้งผ่านการให้อำนาจผูกขาดการพิมพ์ต่อเหล่าช่างพิมพ์ที่จะไม่ทำลายเสถียรภาพทางการเมือง

อย่างไรก็ดีคราวนี้ภาวะของการผูกขาดไม่เหมือนเดิมอีก ประการแรก อำนาจในการผูกขาดในตอนนี้จะออกโดยนายทะเบียนสิ่งพิมพ์ (Licensor) ซึ่งทางสภาแต่งตั้งมา ดังนั้นอำนาจจังไม่ได้ผูกกับกษัตริย์อีกแล้วแต่ไปผูกกับสภาแทน และนี่เป็นการตัดสายสัมพันธ์ของอำนาจการผูกขาดสิ่งพิมพ์ในฐานะอำนาจกษัตริย์โดยถาวร ประการที่สอง หลังจากกว่า 20 ปีแห่งสงครามกลางเมืองและรัฐบาลสาธารณรัฐที่ไม่มีการควบคุมการพิมพ์ใดๆ ในอังกฤษ การกลับมาจำกัดปริมาณแท่นพิมพ์และจำกัดให้การพิมพ์นั้นมีอยู่แค่ในลอนดอนอีกรอบนั้นก็ไม่ใช่จะทำกันง่ายๆ อย่างน้อยๆ ตอนนายทะเบียนสิ่งพิมพ์เรียกช่างพิมพ์ทั้งหมดมาประชุมก็มีช่างพิมพ์ระดับโผล่มา 59 คน ทั้งๆ ที่ตัวเลขช่างพิมพ์ระดับ Master ที่ Licensing Act of 1662 กำหนดไว้นั้นมีได้เพียงแค่ 20 คน [3]

นี่ทำให้ในทางปฏิบัติทางรัฐไม่สามารถจะควบคุมปริมาณการพิมพ์ได้อีกแล้ว อย่างไรก็ดีรัฐก็ยังยืนยันอำนาจในการออกใบอนุญาตการพิมพ์อยู่ โดยมีการต่ออายุ Licensing Act ไปเรื่อยๆ ซึ่งมันก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องหลังจาก “การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์” ในปี 1688 ที่ทำให้กษัตริย์อยู่ใต้สภาอย่างสมบูรณ์ด้วยซ้ำ อย่างไรก็ดีการต่ออายุ Licensing Act ก็ไปจบสิ้นตอนที่สภาตัดสินใจที่จะไม่ต่ออายุมันอีกในปี 1695 นี่เป็นการปิดฉากการใช้อำนาจรัฐในการอนุญาตการพิมพ์ในอังกฤษอย่างถาวร อังกฤษน่าจะได้ชื่อว่ามี “เสรีภาพสื่อ/เสรีภาพของแท่นพิมพ์” (free press) อย่างเป็นทางการในตอนนี้ ซึ่งอำนาจรัฐก็แทบไม่ได้มายุ่มย่ามกับสิ่งพิมพ์อีกจนกระทั่งมีการออก “กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของโลก” ในปี 1710

 

อ้างอิง:

  1. Christopher Hill, The World Turned Upside Down: Radical Ideas During the English Revolution, (London: Penguin Books, 1972), p. 297
  2. ดูบทที่ 2 และ 3 ของ William H. Sewell, Jr., Work and Revolution in France: The Language of Labor from the old Regime to 1848, (New York: Cambridge University Press, 1980) สำหรับสภาวะทั่วไปของชีวิตช่างต่างๆ ในช่วงสมัยใหม่ตอนต้นในฝรั่งเศส จากการสำรวจของผู้เขียน โครงสร้างความสัมพันธ์ของหน่วยต่างๆ ในระบบการผลิตของช่างในทแต่ละพื้นที่ในยุโรปไม่ต่างกันนัก
  3. John Feather, A History of British Publishing, Second Edition, (London: Routledge, 2006),  p. 46

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท