พิจารณาลับ สืบพยานนัดแรก คดี112 คนขายหนังสือกงจักรปีศาจ

สืบพยานนัดแรกคดี 112 กรณีลุง 65 ปีขายหนังสือต้องห้ามเกี่ยวกับการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ศาลสั่งพิจารณาคดีลับ ทนายจำเลยระบุ ตำรวจให้การ แต่ธงทอง จันทรางศุ พยานผู้ตีความเนื้อหาตามฟ้อง ไม่มาศาล ส่อเค้าเลื่อนนัด

 

11 ก.พ.2557 ที่ห้องพิจารณาคดี 501 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดสืบพยานนัดแรกในคดีที่ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3) เป็นโจทก์ฟ้อง นาย อ. (เจ้าตัวขอสงวนชื่อและนามสกุล) ในฐานความผิดตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา จากกรณีที่จำเลยขายหนังสือต้องห้าม ชื่อ กงจักรปีศาจ โดยคดีนี้อัยการได้ร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีลับ และศาลมีคำสั่งเห็นชอบ ทำให้สื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์คดีไม่สามารถเข้าฟังการสืบพยานโจทก์จำนวน  2 ปากคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับกุม และตำรวจสันติบาล ได้

ทั้งนี้ นาย อ. อายุ 65 ปี มีอาชีพขายหนังสือและขายของเบ็ดเตล็ดตามสถานที่ต่างๆ เขาถูกตำรวจ สน.ลุมพินีจับกุมเมื่อวันที่ 2 พ.ค.2549 หลังจากไปตั้งแผงขายหนังสือบริเวณสวนลุมพินี ซึ่งมีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) โดยตำรวจได้ทำการยึดหนังสือกงจักรปีศาจและหนังสือฟ้าเดียวกัน ฉบับสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย (ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 ตุลาคม - ธันวาคม 2548) หรือที่เรียกกันว่า ปกโค้ก ไปอย่างละ 1 เล่ม ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธและได้รับการประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์เป็นเงิน 40,000 บาท จากนั้นอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2556 ในคำฟ้องปรากฏ 6 ข้อความจากหนังสือกงจักรปีศาจเพียงเล่มเดียว ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8  ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 1 วันก่อนจะได้รับการประกันตัวในวันรุ่งขึ้น โดยใช้เงินสด 300,000 บาทเป็นหลักทรัพย์ประกัน

ทนายความจำเลยระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินี ที่ทำการจับกุมเบิกความว่าเห็นแผงหนังสือดังกล่าวมีวารสารฟ้าเดียวกันปกโค้กซึ่งทราบว่าเป็นหนังสือต้องห้ามจึงเข้าตรวจสอบและเมื่อพบหนังสือกงจักรปีศาจซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 จึงได้จ่ายเงินซื้อมาในราคาเล่มละ 500 บาทด้วย โดยทาง สน.ลุมพินีได้ส่งหนังสือเล่มนี้ต่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลซึ่งมีคณะกรรมการพิจารณาการฟ้องคดีตามมาตรา 112 เพื่อพิจารณาเนื้อหาในหนังสือ จากนั้นคณะกรรมการทำความเห็นให้สั่งฟ้อง โดยที่ทั้งตำรวจผู้จับกุมและตำรวจสันติบาลผู้รับมอบหมายให้แจ้งความดำเนินคดีไม่ได้อ่านหนังสือดังกล่าวแต่อย่างใด

ทนายความระบุด้วยว่า ส่วนผู้เชี่ยวชาญซึ่งจะเบิกความในส่วนการตีความ 6 ข้อความตามฟ้องนั้น หนึ่งในนั้นคือ รศ.ธงทอง จันทรางศุ ไม่มาศาล อัยการไม่สามารถติดต่อได้ ขณะที่ฝ่ายจำเลยไม่ยอมรับเอกสารการสอบปากคำและติดใจขอซักค้าน ศาลจึงออกหมายเรียกให้มาศาล ส่วนในวันพรุ่งนี้ (12 ก.พ.) จะมีการสืบพยานผู้เชี่ยวชาญฝั่งโจทก์อีก 1 คน คือ นายเสถียร วิพรมหา อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และพนักงานสอบสวนอีก 2 คน จากนั้นฝ่ายจำเลยจะมีการสืบพยาน 3 ปาก ประกอบด้วย จำเลย เพื่อนจำเลย และนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ อย่างไรก็ตาม ทนายความแจ้งด้วยว่าหากนายธงทองไม่มาศาลอีกในวันพรุ่งนี้ อาจมีการเลื่อนนัดสืบพยานในคดีนี้ออกไป

ข้อมูลจากเว็บไซต์วิกิพีเดียระบุว่า กงจักรปีศาจตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2507 โดยสำนักพิมพ์แคสเซลล์ (Cassell) รัฐบาลไทยได้สั่งห้ามตีพิมพ์ในทันทีและตัวครูเกอร์เองก็ถูกห้ามเข้าประเทศไทยด้วยเช่นกัน จากนั้นหนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดย ร.อ.ชลิต ชัยสิทธิเวช ในปี พ.ศ. 2517 และมีการหมุนเวียนขายอยู่ในตลาดมืดในประเทศไทย โรงพิมพ์ที่ตีพิมพ์หนังสือฉบับภางษาไทยโดนเผาทำลาย  เนื้อหาของหนังสือเป็นแนวสืบสวนการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล แบ่งเป็น 4 บท โดยบทท้ายมีข้อสรุปของผู้เขียนที่ว่าคำอธิบายที่น่าพอใจคือทรงกระทำอัตวินิบาตกรรมปลงพระชนม์ตัวพระองค์เอง เขาสนับสนุนทฤษฏีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวระหว่างสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและเพื่อนนักศึกษานิติศาสตร์ แมรีเลน เฟอร์รารี (Marylene Ferrari) ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่ได้รับการยอมรับในกลุ่มสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ในสยาม

หนังสือกงจักรปีศาจ เคยเป็น ‘หนังสือต้องห้าม’ ตามคำสั่งที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ห้ามการขายหรือจ่ายแจกและให้ยึดสิ่งพิมพ์ โดยเจ้าพนักงานการพิมพ์ ลงวันที่ 31 พ.ค.49 ลงนามโดย พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร.ในขณะนั้น ในประกาศระบุว่า "ด้วยปรากฏว่า สิ่งพิมพ์ ชื่อ “กงจักรปีศาจ” เขียนโดย Mr.Rayne Kurger แปลโดย เรือเอกชลิต ชัยสิทธิเวช ได้ลงโฆษณาข้อความอันอาจจะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เจ้าพนักงานการพิมพ์สำหรับกรุงเทพมหานคร อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่งพ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 ห้ามการขาย หรือจ่ายแจกและให้ยึดสิ่งพิมพ์ดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป" อย่างไรก็ตาม หลังจากมีพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ซึ่งมีผลยกเลิกกฎหมายการพิมพ์ฉบับเก่า พ.ศ.2484 ทำให้ประกาศหนังสือต้องห้ามต่างๆ ถูกยกเลิกไปด้วย และกฎหมายใหม่ให้อำนาจ ผบ.ตร.เพียงการออกประกาศห้ามสั่งเข้าหรือนำเข้าหนังสือที่มีเนื้อหากกระทบความมั่นคง หมิ่นประมาทกษัติย์ มาในราชอาณาจักรเท่านั้น 

สำหรับวารสารฟ้าเดียวกันฉบับสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน วางจำหน่ายเมื่อ 9 ธ.ค.48 แต่อัยการไม่ได้ส่งฟ้องด้วยในคดีนี้ วารสารเล่มนี้เคยจัดเป็นหนังสือต้องห้ามประกาศคำสั่งในราชกิจจานุเบกษาก่อนจะมีพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฉบับใหม่ด้วยเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม หลังวางจำหน่ายวารสารฉบับนี้ไม่นานก็มีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษบรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกันในข้อหาตามมาตรา 112 ด้วย

หมายเหตุ มีการแก้ไขข้อมูลเมื่อวันที่ 13 ก.พ.2557 เวลา 22.00 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท