Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
ขณะนี้ประเทศแม่น้ำโขงตอนล่างกำลังเผชิญกับความผันผวนของแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นผลกระทบข้ามพรมแดนที่มีสาเหตุมาจากการที่ประเทศจีนปิดเขื่อนทางตอนบนเพื่อซ่อมแซมมาตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้ระดับน้ำโขงทางตอนล่างลดระดับลงอย่างรวดเร็ว สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจชุมชนริมโขงตั้งแต่จังหวัดเชียงราย และ 7 จังหวัดในภาคอีสานของไทย
 
แต่ดูเหมือนหน่วยงานที่ต้องดูแลรับผิดชอบอย่าง "กรมทรัพยากรน้ำ" กลับลอยตัวต่อปัญหาเหล่านี้มาโดยตลอด
 
แปลงเกษตรริมโขงต่างพบกับความสูญเสียที่ไม่คาดคิดมาก่อน  เมื่อน้ำโขงยกระดับสูงขึ้นอย่างผิดธรรมชาติในช่วงเดือนธันวาคม 2556 ที่ผ่านมาโดยไม่ทราบสาเหตุ
 
จีนสร้างเขื่อนตัวแรกบนแม่น้ำโขงมาตั้งแต่ปี 2536 ผ่านมา 20 ปี จีนสร้างเขื่อนเสร็จสิ้นไปแล้วถึง 6 เขื่อน กำลังการผลิตรวม 15,600 เมกะวัตต์ โดยสามารถกักเก็บน้ำรวมกันได้มหาศาลถึง 41,204 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสามารถควบคุมการไหลของน้ำโขงตอนบนได้มากถึง 95 เปอร์เซ็นต์โดยเฉพาะในฤดูแล้ง
 
ระดับการไหลที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาลกลายเป็นเรื่องยากที่ชุมชนริมโขงทางตอนล่างจะคาดเดาและรับมือ ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนธันวาคม 2556 ระดับน้ำโขงเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติ โดยมีระดับน้ำสูงขึ้นมากกว่า 2 เมตรภายในระยะเวลาเพียง 2-3 วัน ส่งผลเสียหายต่อเกษตรริมน้ำโขงตลอดลำน้ำ
 
ความผันผวนของแม่น้ำโขงปรากฏขึ้นนับครั้งไม่ถ้วนในทศวรรษที่ผ่านมา และแต่ครั้งได้สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจของชุมชนลุ่มน้ำโขงทางตอนล่างอย่างมหาศาล  
 
แต่จนถึงปัจจุบัน กรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีพันธกิจหลักในการจัดการแม่น้ำโขงโดยตรง ภายใต้คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ยังถูกตั้งคำถามว่าให้ความสำคัญจริงจังกับปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดนที่มีสาเหตุมาจากเขื่อนจีนทางตอนบนหรือไม่ เพราะเมื่อครั้งที่จีนยอมรับว่าวิกฤตน้ำโขงแห้งเมื่อต้นปี 2553 นั้นไม่ได้เกิดจากภัยธรรมชาติ แต่เป็นผลมาจากการกักเก็บน้ำของเขื่อนเสี่ยววาน กรมทรัพยากรน้ำก็มิได้ทำการสำรวจความเสียหายและเรียกร้องการเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากทางการจีน
 
ครั้นเมื่อมีการผลักดันการสร้าง "เขื่อนไซยะบุรี" บนแม่น้ำโขงสายหลักในประเทศลาว เมื่อปี 2553 ชุมชนริมน้ำโขงของไทย 8 จังหวัดต่างออกมาส่งเสียงคัดค้าน เพราะหวั่นวิตกว่า ความผันผวนของระดับการไหลของน้ำโขงที่สร้างความเสียหายต่อวิถีชีวิตและระบบนิเวศ ซึ่งพวกเขาประสบมายาวนานจากเขื่อนจีน จะทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก เนื่องจากเขื่อนไซยะบุรีอยู่ห่างจาก อ.เชียงคาน จ.เลย ขึ้นไปเพียง 200 กิโลเมตรเท่านั้น
 
ครั้งนั้น กรมทรัพยากรฯ ซึ่งควรจะมีหน้าที่ให้ความเห็น และระงับยับยั้งเพื่อให้มีการศึกษาประเมินผลกระทบก่อนการตัดสินใจ กลับไม่แสดงบทบาทในการเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชนลุ่มน้ำโขงในประเทศไทยแต่อย่างใด
 
ในที่สุด เมื่อเขื่อนไซยะบุรีสามารถเดินหน้าก่อสร้างได้เมื่อปลายปี 2555 กรมทรัพยากรน้ำจึงค่อยเริ่มปริปากยอมรับว่า "ประชาชนริมฝั่งโขงของไทยคือกลุ่มแรกที่จะได้รับผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรี" และเพิ่งจะตระหนักได้ว่า "ที่ผ่านมายังไม่เคยมีหน่วยงานใดในประเทศไทยเก็บรวบรวมข้อมูลด้านระบบนิเวศของแม่น้ำโขงมาก่อนเลย"
 
ประโยคดังกล่าวเป็นคำพูดที่ตอกหน้าตัวเอง เพราะเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรน้ำโดยตรง และเป็นสิ่งที่ชาวบ้านจากชุมชนริมโขงทักท้วงและเรียกร้องมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงที่เขื่อนไซยะบุรีถูกนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาภายใต้กรอบความตกลงร่วมในการใช้แม่น้ำโขง ในช่วงปี 2553 แต่กรมทรัพยากรน้ำกลับลอยตัววางเฉย
 
แต่แล้วจู่ๆ วันหนึ่ง งบประมาณ 6 ล้านบาทก็ถูกจัดสรรขึ้น โดยคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย มีมติเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำดำเนินการใน “โครงการศึกษาผลกระทบและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนจากโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน” โดยมีแผนจะใช้งบก้อนนี้ในการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญให้ทำการศึกษาและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนที่จะเกิดขึ้นจากเขื่อนไซยะบุรี และโครงการเขื่อนอื่นๆ บนแม่น้ำโขงสายหลักในอนาคต เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับ "มาตรการป้องกัน เยียวยา และลดผลกระทบ"
 
ล่วงเลยมากว่า 1 ปี การศึกษาดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ และกรมทรัพยากรน้ำก็ยังไม่เคยเผยแพร่หลักเกณฑ์ ข้อกำหนด ขอบเขตงาน และกรอบงบประมาณให้ประชาชนที่อาศัยตามลำน้ำโขงถึง 8 จังหวัด ได้รับทราบโดยทั่วกัน ทั้งยังไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนลุ่มน้ำโขงเพื่อร่วมกันพิจารณาข้อกำหนดขอบเขตงานก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญาจ้าง ซึ่งสร้างความกังขาถึงความไม่โปร่งใสในการดำเนินงาน และความน่าเชื่อถือของข้อมูลการศึกษาที่อาจไม่ได้สะท้อนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่
 
หากใครบังเอิญได้มีโอกาสเห็นรายละเอียดข้อกำหนดและขอบเขตงานของโครงการศึกษาชิ้นนี้ ก็จะพบความไม่ชอบมาพากลว่า งบประมาณมากกว่า 55 เปอร์เซ็นต์ถูกจัดสรรให้กับการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญ และมีเพียง 1.6 เปอร์เซ็นต์ที่จะถูกใช้ในการสำรวจภาคสนาม ที่น่าตกใจคือ งานศึกษาที่ครอบคลุมพื้นที่ถึง 8 จังหวัดริมน้ำโขง แต่มีการวางแผนเก็บข้อมูลจากชาวบ้านเพียง 120 คนเท่านั้น
 
ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่น่าเคลือบแคลงของการศึกษานี้ก็คือ เป้าหมายในการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เน้นไปที่ “มาตรการป้องกัน เยียวยา และลดผลกระทบ” จากเขื่อนไซยะบุรีหรือเขื่อนอื่นๆ ในอนาคต ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกรอบแนวคิดเรื่อง “เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ยั่งยืน” ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือเอ็มอาร์ซี ที่มุ่งเน้น “การแบ่งปันผลประโยชน์จากเขื่อน” และเชื่อว่าเขื่อนสามารถถูกจัดการให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้ โดยเฉพาะเมื่อประชาชนผู้ได้รับผลกระทบได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์ในรูปของการชดเชยเยียวยา
 
แต่แนวคิดดังกล่าวเป็นสิ่งที่เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงไม่ยอมรับ ทั้งยังเคยร่วมกันออกแถลงการณ์ต่อต้าน โดยพวกเขาระบุชัดเจนว่า "ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างผู้สร้างเขื่อนทั้งหลาย กับผลประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจากแม่น้ำอย่างยั่งยืน เป็นผลประโยชน์ที่ขัดแย้งและแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง" และยังได้สรุปถึงประสบการณ์อันเจ็บปวดที่ผ่านมาว่า "ไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่เขื่อนใดทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกที่สามารถเยียวยาความเสียหายมหาศาลที่เป็นผลจากการสร้างเขื่อนได้ นับตั้งแต่เขื่อนใหญ่เขื่อนแรกของประเทศไทยที่ทุกวันนี้ชาวบ้านในพื้นที่ก็ยังได้รับความทุกข์ยากอยู่"
 
เพราะฉะนั้น งานศึกษาที่กรมทรัพยากรน้ำตั้งท่าว่าจะทำมาเป็นแรมปีนั้น เอาเข้าจริงแล้ว ก็อาจเป็นเครื่องมือรองรับให้เกิดการสร้างเขื่อน โดยยื่นข้อตอบแทนให้กับประชาชนในรูปของการชดเชยเยียวยา
 
ระดับน้ำโขงที่บ้านหนาด อ.เมือง จ.นครพนม สูงขึ้นเกือบ 2 เมตร และไหลเชี่ยว ท่วมดอนที่อยู่กลางแม่น้ำโขงจนมิด
 
ดูเหมือนว่า ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ชุมชนลุ่มน้ำโขงในประเทศไทยต้องเผชิญกับความผันผวนของกระแสน้ำ บทบาทของกรมทรัพยากรน้ำที่ผ่านมากลับ "ลอยตัว" เหนือปัญหา ให้ประชาชนรับมือตามลำพัง ครั้นเมื่อตระหนักว่าหน่วยงานของตนจะต้องลงมือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ก็มิได้พิจารณาว่ามัน "ทวนกระแส" กับสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องต้องการหรือไม่
 
โปรดฟังชัดๆ อีกครั้งหนึ่ง… ประชาชนลุ่มน้ำโขงได้ประกาศไว้ว่า "เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ที่ยั่งยืนไม่มีอยู่จริงในโลกนี้" เพราะพวกเขาเชื่อว่า "การปล่อยให้แม่น้ำไหลอย่างอิสระ คือความยั่งยืนที่แท้จริง และเป็นผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนทั้งลุ่มน้ำ"
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net