Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ความเหลื่อมล้ำทางสังคม คือ การกระจายทรัพยากรที่ต่างกันมากระหว่างคนเมือง และคนต่างจังหวัด. รายได้และความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรต่างกันมากระหว่างคนรวยกับ คนจน 

เป็นสาเหตุสำคัญมาก  ที่หล่อเลี้ยง ระบบอุปถัมภ์  ให้ดำรงอยู่และเติบโตด้วยรูปแบบที่แปรเปลี่ยนซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ

และระบบอุปถัมภ์นี่เอง  ที่เป็นส่วนสำคัญทำให้เกิด  ปัญหาคอรัปชั่น

จะสังเกตได้ว่า  ไม่ว่า “ใคร”  จะส่ง “เทพเทวดา” จากไหน มาเป็นเป็นแกนนำของประเทศ พอบริหารไปได้ระยะหนึ่ง  ระบบอุปถัมภ์ ภายใต้ความเหลื่อมล้ำ  จะบันดาลให้โครงการต่างๆ เต็มไปด้วยการติดสินบน ให้ค่าคอมมิชชั่น  ผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ ข้าราชการ และทหารจะได้เปรียบ และ เหมือนเดิมจะมีคนจำนวนมาก “ถูกเอาเปรียบ”  ซึ่งไม่ใช่คนชั้นกลาง และคนกรุงเทพฯ

ด้วยเหตุนี้เอง ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การแก้ไขปัญหาของประเทศ  จึงเร่งกระจายความเจริญ ไม่ให้เกิดความต่างกันมากระหว่างคนเมือง กับ ชนบท   ระหว่างชนชั้นล่าง กลาง และเจ้าขุนมูลนาย  ระหว่างข้าราชการ ทหาร และคนสามัญ 

การเรียกร้องจิตสำนึก และ แก้ไขกฎหมายจึงเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้ คนชั้นกลาง และ คนชั้นสูงในประเทศที่พัฒนาแล้วถือครองที่ดินด้วยอัตราภาษีก้าวหน้า  มีที่ดินมาก ย่อมต้องเสียสละส่วนแบ่งให้สังคม  มากกว่าคนที่ไม่มีโอกาสมีที่ดินเพราะเกิดมาจน 

การก่อเกิด ปลูกฝัง จิตสำนึกและปรัชญา “สิทธิและความเท่าเทียมกันของมนุษย์”  ในโลกตะวันตกจึงไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน เท่ๆ แต่มันมาจาก เลือด และชีวิต ที่เคี่ยวกรำกันมาเป็นร้อยปี  กว่าจะเข้าใจว่า มนุษย์ทุกคน จำเป็นต้องได้รับการดูแล  ได้รับทรัพยากรทั้งทางสังคม การศึกษา และโอกาสทางการเมืองเท่าเทียมกัน 

มิเช่นนั้น  ปัญหาก็วนกลับมาที่เดิม  คือ  เกิดความเหลื่อมล้ำมาก  คนชั้นล่าง คนมีอำนาจและโอกาสน้อยกว่ายอมให้ผู้มีอำนาจอุปถัมภ์ และเริ่มโกงกันไปเรื่อยๆ

ความหมายของการคอรัปชั่น จึงไม่ได้อยู่ที่จิตสำนึกของความซื่อสัตย์สุจริต คุณธรรม จริยธรรม ของผู้นำแต่เพียงอย่างเดียว 

แต่อยู่ที่  ความเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้าง  คุณธรรม จริยธรรม ของ “ตัวละครหลัก” ที่มีอำนาจและโอกาสมากกว่า ที่ยังมีชีวิตสะดวกสบายในเมืองหลวง ในวงข้าราชการ  และในวงการการศึกษาจำนวนมาก

ไปๆมาๆ  ไม่รู้จะเศร้า หรือ ขำดี  ที่เห็น ตัวละครจำนวนมาก เรียกร้องให้ปฏิรูปประเทศ (แบบไม่ชัดเจนเลย แม้แต่กลไกง่ายๆ เช่น ที่มาอันชอบธรรมของผู้มีอำนาจในการปฏิรูป)  และเรียกร้องให้กำจัดคนโกง 

โดยที่ “ตัวเอง” ก็เป็นกลไกหนึ่ง  ที่ทำให้ “ห่วงโซ่คอรัปชั่น” ดำรงอยู่อย่างแข็งแกร่งนั่นเอง 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net