Skip to main content
sharethis

เมื่อนักข่าวชาวญี่ปุ่นและชาวจีนร่วมกันค้นหาคำตอบว่าสิ่งใดที่ยังทำให้ชาวจีนบางส่วนเกลียดชังญี่ปุ่นในเรื่องตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงความตึงเครียดด้านความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำ ซึ่งดูเหมือนว่าส่วนหนึ่งจะมาจากการโฆษณาชวนเชื่อแบบกลับกลอกของพรรครัฐบาลจีน และท่าทีไม่คงเส้นคงวาของฝ่ายผู้นำญี่ปุ่น

16 ก.พ. 2557 ขณะที่ประเทศจีนและญี่ปุ่นกำลังมีข้อพิพาทเรื่องหมู่เกาะเซนกากุ ทำให้เกิดความบาดหมางในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่ผู้นำประเทศมักจะนำมาใช้ปลุกระดมคือกรณีญี่ปุ่นบุกยึดส่วนหนึ่งของจีนที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเรื่องนี้นักข่าวบีบีซีชาวญี่ปุ่น มาริโกะ โออิ และนักข่าวซีซีทีวีของจีน ไห่หนิงหลิว ได้เดินทางระหว่างสองประเทศเพื่อสืบหาว่าทำไมบาดแผลจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังไม่หายไป

"คุณรู้สึกผิดหรือไม่ เกี่ยวกับเรื่องที่ญี่ปุ่นกระทำกับจีนในช่วงสงคราม" โออิบอกว่า เธอต้องแปลประโยคนี้บ่อยมาก ในช่วงที่ทั้งสองคนทำรายงานข่าวเรื่องนี้ในญี่ปุ่น โดยมีไห่หนิงหลิวเป็นคนถาม ในกลุ่มผู้ให้สัมภาษณ์ที่อายุมากที่สุดซึ่งวัยเด็กของพวกเขาอยู่ในช่วงปี 2488

ชาวญี่ปุ่นที่ให้สัมภาษณ์พูดในทำนองว่า พวกเขารู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็มีคนญี่ปุ่นชาตินิยมคนหนึ่งที่พยายามโต้แย้งว่าตำราเรียนพยายามพูดถึงความโหดร้ายของทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามครั้งนั้นมากเกินจริง

อย่างไรก็ตาม รายงานในบีบีซีระบุว่ามีบางเรื่องที่เป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ คือเรื่องที่ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายรุกรานจนสามารถยึดแมนจูเรียได้ทางตอนเหนือของจีนในปี 2474 สงครามเริ่มขยายตัวมากขึ้นในปี 2480 และพอถึงช่วงที่ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามในปี 2488 ก็มีชาวจีนล้มตายนับล้านคนแล้ว เหตุการณ์ที่ถูกกล่าวถึงเรื่องความโหดร้ายมากที่สุดคงไม่พ้นกรณีการสังหารหมู่ที่นานกิงในปี 2480 นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่ทหารญี่ปุ่นกระทำกับประเทศอื่นในเอเชียด้วย

โออิบอกว่า เธอรู้สึกไม่สบายใจทุกครั้งเวลาที่ต้องแปลคำว่า "รู้สึกผิด" เป็นภาษาญี่ปุ่น และไม่มีผู้ให้สัมภาษณ์คนใดพูดถึงคำนี้ออกมาเลย

แต่ก็มีคำถามว่า คนในรุ่นปัจจุบันจะต้องมารับผิดชอบกับความผิดในอดีตด้วยหรือ โออิได้ถามคำถามนี้ต่อไห่หนิงหลิวในวันที่สองที่พวกเขาอยู่ด้วยกัน และถามต่อว่าตัวโออิเองควรจะรู้สึกผิดหรือไม่ ไห่หนิงหลิวไม่ได้ตอบตรงๆ ว่าใช่หรือไม่ใช่ เธอบอกว่า พวกเขาควรจะถามคำถามต่อไปเรื่อยๆ ขณะที่อยู่ในญี่ปุ่น เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ชาวจีนจำนวนมากรู้สึก

โออิกล่าวว่า เธอเริ่มสนใจประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นการส่วนตัวขณะที่ยังเป็นวัยรุ่น เธอได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังด้วยการเดินทางไปตามพิพิธภัณฑ์สงครามในที่ต่างๆ ของเอเชียเพื่อพยายามเรียนรู้ว่าญี่ปุ่นได้สร้างความเสียหายอะไรไว้บ้าง

โออิบอกอีกว่าเธอรู้สึกว่าโรงเรียนยังสอนเธอไม่มากพอในเรื่องนี้ เธอเคยเขียนบทความระบุว่าการสอนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นตามตำราเรียนมีเนื้อหาน้อยเกินไปจนทำให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากไม่เข้าใจเรื่องความตึงเครียดกับประเทศเพื่อนบ้าน

แต่บทความเรื่องนี้ของเธอก็ทำให้ชาวญี่ปุ่นหลายคนรวมถึงคนในครอบครัวเธอบางคนรู้สึกไม่สบายใจ โออิบอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของคนต่างชาติที่วิพากษ์วิจารณ์ญี่ปุ่น แต่เป็นนักข่าวญี่ปุ่นที่วิจารณ์ประเทศตัวเองต่อหน้าผู้ชมทั่วโลก เธอถูกกล่าวหาว่าเป็น "คนทรยศ" เป็น "สายลับต่างชาติ" มีคนถามเธอผ่านทวิตเตอร์ว่า "คุณไม่รักประเทศชาติตัวเองหรือ" ซึ่งโออิบอกว่า แน่นอนเธอรักประเทศตัวเอง

"เมื่อฉันได้เผชิญหน้ากับญี่ปุ่นในอดีต มันคล้ายความรู้สึกเลิกกับแฟนแบบแย่ๆ ฉันผ่านความรู้สึกหลายขั้น อย่างความตกตะลึง การปฏิเสธสิ่งที่เกิดขึ้น ความโกรธ และความเศร้า จนในที่สุดฉันก็ยอมรับได้ว่าฉันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นได้" โออิกล่าว

และหลังจากที่โออิได้เห็นการประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นอย่างรุนแรงในจีนช่วงปี 2555 เธอก็ตั้งคำถามว่า มีอะไรที่พวกเขาจะทำได้เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศอื่น และทำไมประเทศในเอเชียหลายประเทศที่เคยถูกทหารญี่ปุ่นยึดครองรวมถึงมีการสังหารประชาชนในประเทศนั้นจำนวนมากไม่ได้เกลียดชาวญี่ปุ่นมากเท่าจีนหรือเกาหลีใต้

แต่ไห่หนิงหลิวบอกว่า ในฐานะของชาวจีนที่เติบโตในช่วงยุคคริสตศตวรรษที่ 1980 และ 1990 วัฒนธรรมป็อบของญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นเพลง ละคร หรือหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นได้รับความนิยมมากในหมู่เด็กและวัยรุ่นชาวจีนทำให้เธอและเพื่อนของเธอมีทัศนคติเป็นบวกต่อญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม ไห่หนิงหลิวก็ยอมรับว่าเธอคงพูดแทนชาวจีนนับ 1,300 ล้านคนไม่ได้ทั้งหมด เช่นบางคนที่อาจจะสูญเสียสมาชิกครอบครัวในช่วงที่ทางการญี่ปุ่นรุกราน หรือประสบความยากลำบากในช่วงสงคราม อาจจะรู้สึกเป็นปฏิปักษ์หรือแม้กระทั่งเกลียดญี่ปุ่นอยู่ และพวกเขาก็ไม่ควรถูกตัดสินในเรื่องนี้

ขณะเดียวกันในประเทศสิงคโปร์ซึ่งโออิใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นตั้งแต่ปี 2549 ก็เคยถูกทหารญี่ปุ่นรุกรานมาก่อน แต่ก็ไม่เคยมีการประท้วงชาวญี่ปุ่นมาเป็นเวลาหลายสิบปี มีการอ้างว่าคนเชื้อสายจีนราว 50,000 ถึง 100,000 คนถูกสังหารในเหตุสังหารหมู่ซู่ชิง (Sook Ching massacre)

เล่าคีซง ญาติคนหนึ่งของเหยื่อในเหตุการณ์กล่าวสิ่งที่ทำให้โออิรู้สึกแปลกใจว่า "ผมไม่โทษคนในรุ่นนี้หรอก" เขาดูโกรธแค้นน้อยกว่าผู้ประท้วงชาวจีนมาก

"พวกเราเป็นประเทศของผู้อพยพ ดังนั้นแนวคิดหลักๆ ของเราคือ เราต้องรอด" เล่าคีซงกล่าว

เล่าคีซงบอกว่าหลังจากที่ประเทศสิงคโปร์เป็นอิสระจากมาเลเซียในปี 2508 พวกเขาสันนิษฐานว่าคงอยู่ได้แค่ 3 ปี ก่อนที่จะต้องคลานกลับไปหามาเลเซียอีกครั้ง ดังนั้นพอประเทศญี่ปุ่นมาเสนอให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและการลงทุน สิ่งที่ดูมีเหตุผลสำหรับเขาคือยอมรับมันแทนที่จะวิจารณ์สิ่งที่ญี่ปุ่นกระทำในอดีต

โออิยังมีเพื่อนสนิทอีกคนหนึ่งเป็นชาวฟิลิปปินส์ชื่อ เจด มาราวิลาส ผู้ที่มีญาติถูกสังหารในช่วงที่ชาวญี่ปุ่นยึดครองฟิลิปปินส์ แม้ว่าพวกเขาจะเป็นเพื่อนกันมาหลายปี แต่เจดก็ไม่เคยพูดเรื่องนี้จนกระทั่งเห็นบทความของโออิ เธอบอกว่าเพราะมันจะทำให้ความสัมพันธ์ของเราเกิดความกระอักกระอ่วนใจ

เจดเล่าว่า ในช่วงสงคราม ลุงและป้าของเธออยู่ที่มหาวิทยาลัย เดอ ลา ซัลล์ ลุงของเธอถูกสังหารขณะที่ทหารญี่ปุ่นบุกโจมตีโรงเรียน ขณะที่ป้าของเธอถูกแทงแต่รอดมาได้ แต่เจดก็ไม่ได้รู้สึกอะไรเมื่อพบชาวญี่ปุ่นอย่างโออิบอกว่ามันไม่ใช่ความผิดของเธอ

โออิถามว่าเหตุใดเจดถึงมีมุมมองต่อญี่ปุ่นต่างจากชาวจีนจำนวนมาก เจดตอบว่าตัวเธอเองไม่รู้ แต่สำหรับชาวฟิลิปปินส์แล้ว ญี่ปุ่นเป็นเหมือนอำนาจอาณานิคมที่มาภายหลังสเปนเท่านั้น

ประเทศจีนเคยพยายามกลับมาสานสัมพันธ์กับญี่ปุ่นด้วยสาเหตุเรื่องผลประโยชน์ในช่วงยุคของผู้นำเหมาเจ๋อตุง โรเบิร์ต ดูจาริก ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียร่วมสมัยศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทมเพิลกล่าวว่า การโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงนั้นเน้นย้ำเรื่องชัยชนะในสงครามกลางเมืองที่มีต่อฝ่ายก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็ค

ดูจาริกกล่าวว่า ในปี 2515 นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในยุคนั้นคือ คาคุเอย์ ทานากะ ได้ขอโทษจีนในสิ่งที่ทางการญี่ปุ่นทำไว้ในสงคราม แต่ประธานเหมาเจ๋อตุงก็บอกให้เขาไม่ต้องขอโทษเพราะเขาช่วยทำลายพรรคก๊กมินตั๋งจนทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนขึ้นสู่อำนาจได้ แต่หลังจากเกิดเหตุสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินโดยรัฐบาลจีนในวันที่ 4 มิ.ย. 2532 โฆษณาชวนเชื่อของพรรคก็เริ่มเปลี่ยนเป็นเรื่องชาตินิยม

อะกิโอะ ทากาฮาระ อาจารย์สอนวิชาการเมืองจีนร่วมสมัยที่มหาวิทยาลัยโตเกียวกล่าวว่า ช่วงหลังเหตุการณ์เทียนอันเหมิน พรรคคอมมิวนิสต์จีนเริ่มเน้นย้ำเรื่องที่ประเทศจีนเป็นเหยื่อ และโฆษณาชวนเชื่อว่าพรรคของตนเป็นผู้ยับยั้งการเข้ามารุกรานของต่างชาติด้วยวิธีการเพาะความเกลียดชังต่อประเทศที่รุกรานเมื่อไม่นานมานี้ซึ่งคือญี่ปุ่น

โออิบอกว่าในขณะที่เธอดูช่องโทรทัศน์ก็จะพบรายการในเชิงปลุกเร้าอารมณ์เรื่องจีนต่อต้านการรุกรานจากญี่ปุ่นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย "การศึกษาเพื่อความรักชาติ" โดยมีรายการแนวนี้ถูกผลิตออกมา 200 รายการเมื่อปีที่แล้ว เช่น ละครแนวต่อต้านญี่ปุ่นซึ่งโออิบอกว่าถ้าเธอเติบโตขึ้นมาโดยดูรายการเหล่านี้เธอคงสรุปเอาง่ายๆ ว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่แย่มาก

นอกจากนี้ยังมีการพยายามสื่อสารกับเด็กในโรงเรียนผ่านเพลง โคลงสัมผัส และศิลปะป้องกันตัว มีโคลงบทหนึ่งระบุถึงเหตุการณ์สะพานมาร์โคโปโลในปี 2480 ซึ่งเชื่อว่าเป็นเหตุการณ์ที่เป็นการเริ่มต้นสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ทำให้โออิมีคำถามว่า ข้อความเกี่ยวกับญี่ปุ่นเช่นนี้เป็นเรื่องที่มีความชอบธรรมหรือไม่ และเมื่อเธอกับนักข่าวจีนตระเวนพูดคุยกับคนที่รอดชีวิตจากความโหดร้ายของทหารญี่ปุ่น เธอก็รู้สึกปวดใจ

ผู้รอดชีวิตรายหนึ่งคือ เฉินกุ้ยเสียง เล่าว่าตอนเกิดเหตุสังหารหมู่ที่นานกิง เธออายุได้ 14 ปี มีร่างของคนที่ถูกสังหารกองกันอยู่หน้าโรงเรียน เธอเห็นเด็กผู้หญิงที่อายุเท่าเธอถูกข่มขืนโดยทหารญี่ปุ่น 7 คน แล้วจึงถูกสังหารด้วยมีด ตัวเธอเองเคยเกือบถูกจับและข่มขืน 2 ครั้ง แต่ก็หนีไปได้ เธอวิ่งหนีจนกระทั่งสลบไปด้วยความเหนื่อยล้าและมีชาวนาชาวจีนคนหนึ่งซ่อนเธอไว้ใต้กองหญ้า

หลายปีต่อมา เฉินกุ้ยเสียงก็ได้เดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อเล่าถึงเหตุการณ์ให้คนที่นั่นฟัง มีคนสวมกอดเธอและขอขมา บอกว่าพวกเขาไม่เคยรู้มาก่อนว่าบรรพบุรุษของพวกเขาเคยทำเรื่องแบบนี้ไว้ ผู้นำญี่ปุ่นหลายคนก็เคยขอโทษจีนในเรื่องนี้หลายครั้ง

หม่าลี่เฉิงเคยเป็นนักเขียนให้กับหนังสือพิมพ์พีเพิลเดลี่ของทางการจีน เขาบอกว่าทางการญี่ปุ่นเคยขอโทษจีนรวมทั้งหมด 25 ครั้ง และเคยให้เงินสนับสนุนจีนรวม 3.6 ล้านล้านเยน (ราว 1 ล้านล้านบาท) เป็นเวลาหลายปี แต่เรื่องเหล่านี้ทั้งหมดไม่เคยถูกนำเสนอในสื่อจีนหรือมีการสอนเด็กในโรงเรียนเลย

หม่าลี่เฉิงเคยเขียนไว้ในหนังสือชื่อ "เกินกว่าคำขอโทษ" (Beyond Apologies) ว่า "สิ่งที่ญี่ปุ่นทำกับจีนในช่วงสงครามเป็นเรื่องเลวร้าย แต่การเรียกร้องให้พวกเขาคุกเข่าลงกับพื้นเป็นเรื่องไร้ประโยชน์ คำขอโทษของชาวญี่ปุ่นอาจจะไม่มากพอสำหรับพวกเรา แต่สำหรับพวกเขาแล้วมันเป็นการก้าวข้ามที่ใหญ่หลวง เราจึงควรยอมรับแล้วเดินหน้าต่อไป"

เมื่อหม่าลี่เฉิงตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้แล้วเขาถูกเรียกว่าเป็นคนทรยศ ซึ่งเขาบอกว่าถือเป็น "เรื่องธรรมดา" เมื่อดูจากการปลุกเร้าอารมณ์ในประเทศของเขาเอง

ไห่หนิงหลิวเองก็บอกว่าโรงเรียนในจีนไม่ได้สอนเรื่องคำขอโทษหรือการให้เงินช่วยเหลือจากญี่ปุ่น แต่สำหรับเธอแล้วเธอคิดว่าต่อให้เด็กได้เรียนในเรื่องนี้มันก็ไม่ทำให้ทัศนคติของชาวจีนต่อญี่ปุ่นเปลี่ยนไปมากนัก ไห่หนิงหลิวบอกอีกว่าการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนทั่วไปเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา อาจจะยาวนานหลายสิบปี และทางผู้นำญี่ปุ่นเองก็ควรมีความคงเส้นคงวาในคำพูดและการกระทำด้วย

โดยไห่หนิงหลิวบอกว่าการที่ผู้นำญี่ปุ่นปฏิเสธว่าการสังหารหมู่ที่นานกิงไม่มีจริงหรือการแสดงความเคารพต่ออาชญากรสงครามจะทำให้สูญเสียความเชื่อใจได้

ในปี 2555 ทากาชิ คาวามูระ นายกเทศมนตรีนาโกย่า ซึ่งเป็นนักชาตินิยมที่มีชื่อเสียงกล่าวปฏิเสธว่าการสังหารหมู่ที่นานกิงไม่มีเคยเกิดขึ้นแต่เป็น "การยุทธตามรูปแบบของสงคราม" เท่านั้น การที่ผู้นำบางคนของญี่ปุ่นไปเยือนศาลเจ้ายาสุคุนิเพื่อแสดงความเคารพต่อทหารญี่ปุ่นผู้เสียชีวิตในสงครามก็ทำให้จีนและเกาหลีใต้ไม่พอใจเนื่องจากในหมู่ทหารผู้เสียชีวิตนั้นมีอาชญากรสงครามรวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม มีบางส่วนในนั้นที่ไม่ได้เป็นอาชญากรสงครามอยู่ด้วยเช่น แพทย์ทหารในสงครามที่ฟิลิปปินส์

แม้ว่าไห่หนิงหลิวและโออิจะยังกังวลเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระดับผู้นำ โดยไห่หนิงหลิวบอกว่าถ้าหากผู้นำทั้งสองประเทศยังคงดำเนินนโยบายในแบบปัจจุบันที่มีการโต้ตอบกันก็คงยากที่จะมีการปรองดองกันอีก แต่ไห่หนิงหลิวก็บอกว่าพวกเขายังมีโอกาสพัฒนาความสัมพันธ์อย่างน้อยก็ในระดับประชาชนทั่วไปโดยวิธีการสนทนากันอย่างเปิดกว้างและตรงไปตรงมาต่อกันมากขึ้น

 


เรียบเรียงจาก

China and Japan: Seven decades of bitterness, BBC, 13-02-2014
http://www.bbc.co.uk/news/magazine-25411700

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net