ยูเครนบนทางแพร่งความรุนแรง การเมืองภูมิภาคนิยมและการต่างประเทศกับมหาอำนาจ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


จัตุรัสเอกราช (Maidan Square) ในปี ค.ศ. 2009 (ซ้าย) และ 2014 (ขวา)

พฤศจิกายน 2013-กุมภาพันธ์ 2014. เซเนวเมร์ลาอูครายีนา – ยูเครนยังไม่สูญสิ้น ทั้งความรุ่งโรจน์และเสรีภาพ – เพลงชาติยูเครนถูกกู่ร้อง พร้อมกับธงชาติที่โบกสะบัดเหนือจัตุรัสเอกราช (Maidan Square) ในการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ของยูเครนเพื่อต่อต้านรัฐบาลของประธานาธิบดี Viktor Yanukovych (ค.ศ. 2010-ปัจจุบัน) จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ยูเครน ซึ่งหลังการได้รับเอกราช (Maidan) จากสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1991 ยูเครนเป็นประเทศที่มีความรุนแรงน้อยมาก สาเหตุในระยะสั้นของการประท้วงและความรุนแรงเป็นเวลากว่า 3 เดือน (ปลายเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์) เกิดขึ้นมาจากการที่ประธานาธิบดี Yanukovych ประกาศไม่เข้าร่วมข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2013 และไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดหุ้นส่วนตะวันออก (East Partnership Summit) ซึ่งสหภาพยุโรปจัดขึ้นเพื่อที่จะเซ็นข้อตกลงดังกล่าวกับประเทศในยุโรปตะวันออกที่กรุง Vilnius ประเทศลิทัวเนีย ในระหว่างวันที่ 28-29 พฤศจิกายน ในขณะเดียวกันก็หันไปพึ่งพิงกับมหาอำนาจอย่างรัสเซียเพิ่มมากขึ้น โดยบรรลุข้อตกลงทางเศรษฐกิจและความช่วยเหลือจากรัสเซียแทน จนเป็นชนวนเหตุให้ประชาชนในกรุงเคียฟ และจากภูมิภาคตะวันตกลุกขึ้นประท้วงรัฐบาลในบริเวณจัตุรัสเอกราชในกรุงเคียฟ และลุกลามกลายเป็นการขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม  กลุ่มผู้ชุมนุมก็ปักหลักชุมนุมที่กรุงเคียฟต่อไปท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็น ในขณะที่รัฐบาลไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม และเปิดกระบวนการเจรจากับฝ่ายค้าน อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 2014 รัฐบาล Yanukovych “เรียกแขก” ด้วยการออกกฎหมายต่อต้านการชุมนุมประท้วง ซึ่งลอกมาจากกฎหมายของรัสเซียแทบจะฉบับต่อฉบับ โดยถือว่าผู้ชุมนุมประท้วงเป็นอาชญากร และจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมประท้วงต่างๆ นานา จนนำมาสู่ความไม่พอใจของกลุ่มผู้ชุมนุมและเกิดการปะทะกัน เป็นเหตุให้ประชาชนเสียชีวิต 5 คนและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก Yanukovych ยกเลิกกฎหมายต่อต้านการชุมนุมและ Mykola Azarov นายกรัฐมนตรี (ซึ่งนิยมรัสเซีย) ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 28 มกราคม โดยเสนอให้ผู้นำฝ่ายค้านคนหนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ได้รับการปฏิเสธ   

ความรุนแรงระลอกล่าสุดเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มต้นจากการที่ตำรวจปราบจลาจลเข้าไปขอคืนพื้นที่ และมีการใช้กระสุนปืนจริงตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 77 คน และบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก กรุงเคียฟได้กลายเป็นพื้นที่สงครามกลางเมือง จนกระทั่งมีการเจรจายุติความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศของยุโรป 3 ประเทศ ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศสและโปแลนด์ (Frank-Walter Steinmeier, Laurent Fabius และ Radek Sikorski ตามลำดับ) เป็นตัวกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ย รัฐบาล Yanukovych ประกาศที่จะให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเร็วขึ้นภายในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2014 เป็นอย่างช้าที่สุด จัดตั้งรัฐบาลร่วมกันเป็นการชั่วคราวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแห่งชาติ การปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของรัฐสภาที่จะให้กลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี ค.ศ. 2004 ซึ่งลดอำนาจของประธานาธิบดีและให้อำนาจแก่รัฐสภามากขึ้น หรือเป็นสาธารณรัฐแบบรัฐสภา (parliamentary republic) และสัญญาที่จะปล่อยตัวผู้นำฝ่ายค้านคนสำคัญคือ Yulia Tymoshenko อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยชิงชัยแข่งขันในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 2010 และถูกจำคุกในข้อหาการคอรัปชั่น  

ระดับของความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งจากฝ่ายรัฐและกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศยูเครนหลังได้รับเอกราช หนทางออกของความขัดแย้งคือการเจรจาระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ และการจัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด ซึ่งทำให้เกิดความสงบขึ้นในชั่วขณะนี้ อย่างไรก็ดี การเมืองของการประท้วงและความขัดแย้งทางการเมืองในยูเครนไม่ได้เป็นปัญหาระยะสั้น หากแต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของรัฐยูเครนมาตั้งแต่ช่วงการได้รับเอกราชจากสหภาพโซเวียต และจะดำเนินต่อไปในอนาคตอันใกล้ หากยูเครนยังคงรูปแบบรัฐเป็นรัฐเดี่ยวต่อไป ปัญหาความขัดแย้งในเชิงโครงสร้างประกอบด้วย  

ในประการแรก คือ การเมืองภูมิภาคนิยมในยูเครน ยูเครนเป็นประเทศที่แตกแยกอย่างมาก โดยแบ่งแยกอย่างชัดเจนทางด้านภาษา ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจและการเมือง โดยยูเครนมีสองส่วนที่สำคัญ ได้แก่ ฝั่งตะวันออก ซึ่งประกอบด้วยภูมิภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ในบริเวณคาบสมุทรไครเมีย โดยมีประชาชนที่พูดภาษารัสเซีย และมีเศรษฐกิจส่วนใหญ่เป็นภาคเกษตรกรรม และบางส่วนที่เป็นการผลิตและส่งออกถ่านหินและเหล็ก ในขณะที่ฝั่งตะวันตก ประกอบด้วยประชาชนที่พูดภาษายูเครน และมีเศรษฐกิจส่วนใหญ่เป็นภาคอุตสาหกรรม การเมืองภูมิภาคนิยมของยูเครนทั้งสองส่วนยังมีผลต่อการเมืองของการเลือกตั้งอย่างมีนัยยะสำคัญมาโดยตลอด นั่นคือ พรรคแนวเสรีนิยมที่นิยมตะวันตก ได้แก่ พรรค Power of Peoples ของ Viktor Yushchenko และพรรค Fatherland ของ Yulia Tymoshenko ได้รับชัยชนะในฝั่งตะวันตก ในขณะที่พรรคอนุรักษนิยมที่นิยมรัสเซีย ได้แก่ พรรค The Party of Regions ของ Yanukovych ได้รับชัยชนะในฝั่งตะวันออกมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 2004 และ 2010 รวมทั้งการเลือกตั้งรัฐสภา ความตึงเครียดและความขัดแย้งในเชิงภูมิภาคนิยมปะทุเป็นความรุนแรงในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา   


การเมืองภูมิภาคนิยม: ยูเครนตะวันตกและยูเครนตะวันออก

ประการต่อมา ซึ่งสืบเนื่องมาจากประเด็นแรก คือ การเมืองยูเครนปัจจุบันเป็นการเมืองยุคหลัง “การปฏิวัติสีส้ม” กล่าวคือ ประเด็นปัญหาความขัดแย้งหลักเป็นมรดกตกทอดมาจากการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่มักเรียกกันว่าเป็น “การปฏิวัติสีส้ม” (Orange Revolution) ในปี ค.ศ. 2004 ซึ่งเริ่มต้นมาจากการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดระหว่าง Viktor Yushchenko ซึ่งนิยมตะวันตก และ Viktor Yanukovych ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอดีตประธานาธิบดีคนก่อนหน้านี้ และนิยมรัสเซีย โดยประชาชนยูเครนใส่เสื้อสีส้มออกมาประท้วงต่อต้านการจัดการเลือกตั้งที่ดูเหมือนมีการโกงเกิดขึ้น ในขณะเดียวกัน Yushchenko ถูกวางยาพิษจนทำให้หน้าเสียโฉมไป จนทำให้คะแนนนิยมเพิ่มสูงขึ้น และได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งที่สอง

อย่างไรก็ดี รัฐบาลสีส้ม ภายใต้การนำของ Yushchenko และ Tymoshenko ก็ล้มเหลวในการปฏิรูปและพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ และในปี ค.ศ. 2010 Yanukovych ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเหนือคู่แข่งอย่าง Tymoshenko Yanukovych บริหารประเทศโดยพยายามรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองเข้ามายังกลุ่มพวกพ้องของตนเองมากขึ้น และจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน รวมทั้งดำเนินคดีกับ Tymoshenko ด้วยข้อหาคอรัปชั่น โดยศาลตัดสินจำคุกในเวลาต่อมา อาจกล่าวได้ว่า ปัญหาความรุนแรงในยูเครนปัจจุบันเป็นกระบวนการต่อสู้ช่วงชิงทางการเมืองมาตั้งแต่ “การปฏิวัติสีส้ม” นั่นเอง


“การปฏิวัติสีส้ม” ในปี ค.ศ. 2004


ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 2004


Yulia Tymoshenko อดีตนายกรัฐมนตรี และ Viktor Yushchenko อดีตประธานาธิบดี

ประการที่สาม คือ พลวัตรและการเมืองเชิงอำนาจในการต่างประเทศของยูเครน กล่าวคือ บทบาทของมหาอำนาจ ได้แก่รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป มีผลต่อการเมืองภายในยูเครนอย่างมีนัยยะสำคัญ กล่าวคือ หลังปี ค.ศ. 1991 ยูเครนมีโจทย์สำคัญในการต่างประเทศและการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจการเมืองว่าจะหันไปหาตะวันตกหรือรัสเซียมากน้อยเพียงใด ในช่วง “การปฏิวัติสีส้ม” ในปี ค.ศ. 2004 มหาอำนาจเข้ามาสนับสนุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยฝ่ายสหรัฐอเมริกาสนับสนุน Yushchenko ในขณะที่ฝ่ายรัสเซียสนับสนุน Yanukovych อย่างชัดเจน 

รัสเซียมองยูเครนว่าไม่ได้เป็นรัฐอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ แต่มองว่าเป็นส่วนหนึ่งหรือบริเวณอิทธิพลของรัสเซีย (คำว่า “ยูเครน” ก็แปลว่า พื้นที่ชายแดน (borderland) ของรัสเซีย) รัสเซียมีผลประโยชน์ในยูเครนค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ด้านธุรกิจ โดยเฉพาะพลังงาน ซึ่งยูเครนเป็นรัฐที่มีท่อก๊าซธรรมชาติของรัสเซียวางผ่านไปยังตลาดยุโรป โดยมีการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 80 ของการส่งออกก๊าซทั้งหมดของรัสเซีย หรือผลประโยชน์ด้านยุทธศาสตร์ โดยรัสเซียเช่าฐานทัพเรือที่ Sevastopol ที่คาบสมุทรไครเมียเป็นฐานทัพเรือของรัสเซียในทะเลดำ เป็นต้น

หลัง “การปฏิวัติสีส้ม” ความสัมพันธ์ต่างประเทศรัสเซียกับยูเครนตกต่ำลงอย่างมาก โดยรัฐบาล Yushchenko มีแนวนโยบายต่างประเทศที่เอียงเข้าหาตะวันตกและสหรัฐฯ โดยมีแนวโน้มของการสมัครเข้าเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) และสหภาพยุโรป รัสเซียกดดันรัฐบาลยูเครนหลายประการ ได้แก่ การกดดันให้ชำระหนี้ต่างประเทศคืนแก่รัสเซีย และการยกเลิกการอุดหนุนราคาพลังงานให้แก่ยูเครน จนนำมาสู่กรณีพิพาทการตัดก๊าซธรรมชาติให้แก่ยูเครนในเดือนมกราคม ค.ศ. 2006 และ 2009 เป็นต้น

ความสัมพันธ์ต่างประเทศปรับตัวดีขึ้นเมื่อ Yanukovych ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 2010 โดยยูเครนต่อสัญญาการให้เช่าฐานทัพเรือที่ Sevastopol และปฏิเสธการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ NATO ในขณะที่รัสเซียให้การอุดหนุนราคาพลังงานแก่ยูเครนเช่นเดิม และยังปรารถนาให้ยูเครนเป็นสมาชิกของสหภาพศุลกากรยูเรเชียอีกด้วย ซึ่งขัดกับข้อเสนอของสหภาพยุโรปที่พยายามผลักดันเรื่องข้อตกลงการค้าเสรี (Deep and Comprehensive Free Trade Area: DCFTA) กับกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก รวมทั้งยูเครนด้วย Yanukovych ผู้ซึ่งนิยมรัสเซีย ตัดสินใจไม่เข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป และได้รับเงินช่วยเหลือจากรัสเซียเป็นจำนวน 15 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นชนวนเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ในการชุมนุมประท้วงครั้งนี้ สื่อกระแสหลักของรัสเซียยังประนามกลุ่มผู้ชุมนุมว่าเป็น “กลุ่มก่อการร้าย” และกลุ่มหัวรุนแรงที่ได้การสนับสนุนจากตะวันตก

อาจกล่าวได้ว่า ความขัดแย้งและความรุนแรงในยูเครนไม่ได้เป็นประเด็นการเมืองภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังมีการเมืองเชิงอำนาจระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างไม่อาจแยกขาดได้ 


Vladimir Putin ประธานาธิบดีรัสเซียและ Viktor Yanukovych ประธานาธิบดียูเครน

ในประการที่สี่ คือ การเมืองภาคประชาชนแนวระนาบของยูเครน กล่าวคือ ขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนไม่ได้มีความเข้มแข็ง และไม่มีผู้นำอย่างชัดเจน ซึ่งในแง่หนึ่งก็ขาดเอกภาพ และไม่มีการจัดตั้งเท่าที่ควร ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจากระบบสังคมนิยมมาสู่ระบบทุนนิยมประชาธิปไตยเป็นไปอย่างค่อนข้างราบรื่นและปราศจากความรุนแรง แม้กระทั่งในช่วงการชุมนุมประท้วงในครั้งนี้เองก็ไม่มีแกนนำของการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน และแม้ว่าฝ่ายค้าน (เช่น Vitali Klitschko อดีตแชมป์มวยโลกรุ่นเฮฟวี่เวท) จะพยายามเข้าไปเป็นแกนนำ หรือแสวงหาความนิยมจากกลุ่มผู้ชุมนุมก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าสามารถมีบทบาทนำในการประท้วงครั้งนี้

เหนือสิ่งอื่นใด ดูเหมือนว่าชนชั้นนำทุกฝ่ายต่างเล็งเห็นว่า การแสวงหาทางออกร่วมกัน (หรือ “เกี้ยเซียะ”?) ระหว่างกัน เพื่อนำพาระเบียบและเสถียรภาพทางการเมืองกลับมาสู่ยูเครน ดูเหมือนจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการธำรงรักษาความสัมพันธ์เชิงอำนาจในหมู่ชนชั้นนำเอาไว้ต่อไป ในกรณีของยูเครน แม้ว่าจะมีการพูดถึงการแบ่งแยกประเทศออกเป็นสองส่วนได้แก่ตะวันออกและตะวันตกอย่างกว้างขวาง ชนชั้นนำต่างเห็นพ้องต้องกันในระดับหนึ่งว่า ในระยะสั้นนี้ การเลือกตั้งเป็นทางออกเพียงหนทางเดียวเท่านั้นในการแก้ไขและคลี่คลายความขัดแย้ง ซึ่งเป็นความขัดแย้งในเชิงโครงสร้างในการเมืองยุคหลัง “การปฏิวัติสีส้ม” และนำเอารัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 2004 กลับมาใช้ ซึ่งพยายามทำให้รูปแบบของรัฐยูเครนมีความเป็น “สาธารณรัฐแบบรัฐสภา” มากขึ้นโดยลดอำนาจของประธานาธิบดีลง และเพิ่มอำนาจให้แก่รัฐสภามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งดูเหมือนจะยังไม่ยุติอย่างง่ายดายในอนาคตอันใกล้ และผู้ชุมนุมประท้วงยังไม่พอใจต่อการประนีประนอมทางการเมืองของชนชั้นนำ    

 

 

 

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: จิตติภัทร พูนขำ เป็นนักวิชาการอยู่ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท