Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เหตุการณ์รุนแรงในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายชีวิต โดยเฉพาะเด็กผู้บริสุทธิ ต้องสูญเสียไป อีกหลายคนบาดเจ็บ เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากเห็นเกิดขึ้น และคนส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าควรประนามผู้กระทำผิด แต่เมื่อโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นแล้ว สังคมไทยจำต้องกลับมาทบทวนว่า เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร แน่นอนว่าทุกคนมีส่วนช่วยให้ความขัดแย้งนี้รุนแรงขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เฉพาะส่วนนักกฎหมายนั้น ควรต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า กฎหมาย หรือการบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านมา นำมาสู่ความสูญเสียนี้ได้อย่างไร โดยเฉพาะจากคำสั่งของศาลแพ่งล่าสุด ที่กำหนดข้อห้ามในการใช้อำนาจ 9 ประการของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้เพื่อจะได้หาทางป้องกันเหตุการณ์ทำนองนี้ต่อไปในอนาคต

การใช้อำนาจตุลาการตรวจสอบรัฐ (judicial review) เป็นส่วนประกอบสำคัญของประชาธิปไตยอย่างไม่ต้องสงสัย แน่นอนว่าระบบตรวจสอบนี้ไม่ได้สมบูรณ์แบบ เพราะมันนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างอำนาจทั้งสาม คือ อำนาจนิติบัญญัติหรืออำนาจบริหาร กับอำนาจตุลาการ อย่างช่วยไม่ได้ ด้วยธรรมชาติของศาลต้องตัดสินอรรถคดีตามตัวบทกฎหมาย ในขณะที่เรื่องที่ถูกยื่นให้ตรวจสอบนั้น บ่อยครั้งเป็นคำถามทางการเมือง (political question) แต่ศาลตอบเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย (legality) แทน ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้น เพราะความชอบด้วยกฎหมาย กับตัวเลือกทางนโยบายการเมืองนั้น ไม่ใช่สิ่งเดียวกันเสมอไป ถึงจะมีจุดอ่อนดังนี้ แต่ทุกคนยอมรับว่า ศาลยังเป็นสถาบันที่จำเป็นอยู่ เพื่อป้องกันการลุแก่อำนาจและเผด็จการโดยเสียงข้างมาก เพียงแต่ว่า การใช้อำนาจศาลในการตรวจสอบรัฐนั้น จะเป็นต้องใช้อย่างระมัดระวังและตระหนักถึงผลกระทบจากการตัดสินของตนเองให้ดี

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้อำนาจศาลเข้าแทรกแซงกรณีสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นกรณีน่าลำบากใจของทุกฝ่าย ในแง่หนึ่ง สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นกรณีฝ่ายบริหารใช้อำนาจอย่างกว้างขวางที่สุด ยกเว้นหลักกฎหมายหรือคุณค่าประชาธิปไตยต่างๆเพราะความจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ในแง่ประชาชน การใช้อำนาจนี้กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรงที่สุดเช่นกัน คำตัดสินใดๆของศาลจึงกลายเป็นชนวนความขัดแย้งทางการเมืองได้อย่างง่ายดาย น่าเสียดายอย่างยิ่งที่คำสั่งของศาลแพ่งที่ผ่านมา ดูเหมือนจะผิดพลาดร้ายแรงและทำให้ความปลอดภัยของประชาชนเลวร้ายลงไปอีก

ความผิดพลาดที่ชัดเจนที่สุดของศาล คือ การละเลยข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการชุมนุมอย่างไม่น่าให้อภัยได้ การใช้กฎหมายประกอบด้วยคำถามข้อเท็จจริง และคำถามข้อกฎหมาย ในเรื่องข้อกฎหมายเป็นอิสระของศาลที่จะตีความอย่างไรก็ได้ตามแต่ที่ตนเล่าเรียนและเชื่อถือมา แต่คำถามข้อเท็จจริงนั้น ศาลตัดสินตามความเชื่อไม่ได้ ศาลต้องยึดตามสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น กฎหมายเปลี่ยนข้อเท็จจริงไม่ได้ คำพิพากษาไม่มีวันเปลี่ยนข้อเท็จจริงได้ ไม่ว่าศาลนั้นจะศักดิ์สิทธิขนาดไหนก็ตาม

ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนที่สุด คือ การชุมนุมนั้นไม่ได้สงบ “ปราศจากอาวุธ” อย่างแน่นอน ภาพถ่าย วีดิทัศน์ แม้แต่คำพูดของผู้ชุมนุมเอง ล้วนยอมรับว่ามีกองกำลังติดอาวุธร่วมอยู่ในการชุมนุมด้วย ไม่ว่ากองกำลังนั้นจะถูกถือว่าเป็นผู้ช่วยเหลือ นักรบเพื่อเสรีภาพ เพื่อประชาธิปไตย หรือผู้กระหายเลือดต่อต้านรัฐ ตามแต่มุมมองของแต่ละคนก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลย คือ การชุมนุมนี้ไม่ได้เป็นไปโดยปราศจากอาวุธ น่าสนใจว่าหากครอบครัวผู้บาดเจ็บจากป๊อบคอร์นที่หลักสี่ทราบตัวผู้กระทำผิดและเรียกร้องค่าเสียหาย ศาลจะยังถือข้อเท็จจริงตามที่เคยตัดสินไว้ไหมว่า ไม่มีการใช้อาวุธ แล้วศาลจะอธิบายการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นอย่างไร หรือศาลจะไปหาผู้ใช้อาวุธที่ไหนมารับผิดชอบค่าเสียหายแทน

เมื่อข้อเท็จจริงผิด การวิเคราะห์ข้อกฎหมายจึงผิดตามมา

ผลของคำสั่งศาลแพ่ง คือ ศาลหมดความน่าเชื่อถือลงทันที เพราะกฎหมายกับความเป็นจริงไม่ไปด้วยกัน คำสั่งศาลจึงเป็นแค่ลมปาก ข้อจำกัดทั้งเก้าข้อทำให้ตำรวจหมดอำนาจตามกฎหมาย ในขณะที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งรู้สึกเบื่อหน่ายเกลียดชังผู้ชุมนุม แต่หมดหนทางที่รัฐจะจัดการอย่างไรแล้ว ความหมดหวัง ประกอบกับความน้อยเนื้อต่ำใจว่าศาลมิได้ให้ความเป็นธรรมตรงไปตรงมาตามกฎหมาย จึงเกิดเป็นกองกำลังไม่ทราบฝ่ายถือโอกาสเข้ามาทำการควบคุมฝูงชุมนุมด้วยวิธีการรุนแรงทันที เจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น จะดีหรือเลวก็ยังต้องสวมเครื่องแบบ ถูกจับตามอง มีกลไกควบคุมสารพัด เช่น ความรับผิดทางกฎหมาย ความรับผิดทางวินัย ความรับผิดทางการเมือง การถูกประนามจากสังคม จึงเป็นกองกำลังที่ต้องมีความรับผิดชอบ (accountability) การใช้อำนาจจึงต้องระมัดระวังกว่าเมื่อเทียบกับกรณีกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ไม่เปิดเผยตัว ไม่มีกลไกการรับผิดชอบหรือลงโทษที่แน่ชัด จึงเป็นการใช้ความรุนแรงน่าสยดสยองโหดเหี้ยมกว่าเจ้าหน้าที่รัฐ เราอาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า สวัสดิภาพผู้ชุมนุมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่า มีตำรวจเป็นผู้ควบคุมนั่นเอง แน่นอนว่ามันนำไปสู่ความรุนแรง แต่เป็นความรุนแรงที่ควบคุมได้ง่ายกว่า

ดังนั้น คำสั่งศาลแพ่งที่ห้ามรัฐใช้อำนาจ จึงเป็นคำสั่งอนุญาตประชาชนให้ใช้ความรุนแรงต่อกัน ในขณะที่ศาลคิดว่าตนเองกำลังคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ศาลกำลังทำให้สิทธิเสรีภาพนั้นตกอยู่ภายใต้อันตรายมากกว่าเดิม

ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว คนตายไม่อาจฟื้นคืนมา แต่ศาลต้องคิดทบทวนเรื่องการใช้อำนาจของตนเองใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงในอนาคต คำถามคือ แล้วศาลควรทำอย่างไร

ประการแรก ข้อเท็จจริงในคำสั่งนั้นต้องถูกต้อง ข้อเท็จจริงต้องตัดสินตามพยานหลักฐานที่ประจักษ์ ต้องไม่ค้านสายตาประชาชน คำสั่งเปลี่ยนความจริงไม่ได้ กฎหมายนั้นเป็นสิ่งสมมติขึ้นมา ความน่าเชื่อถือต่ำอยู่แล้ว จะเคารพก็ได้ ไม่เคารพก็ไม่ตาย หากกฎหมายและความจริงไม่ตรงกัน กฎหมายจะยิ่งหมดความน่าเชื่อถือง่ายขึ้นกว่าเดิม

ประการที่สอง ศาลต้องระวังให้คำตัดสินนั้นเป็นไปตามบรรทัดฐานที่เคยมี ความมั่นคงแน่นอน หรือความคาดหมายได้ของกฎหมาย ก็เป็นหลักสำคัญในนิติธรรม แน่นอนว่า ศาลอาจเปลี่ยนบรรทัดฐานได้ แต่ศาลต้องให้เหตุผลที่ดีโน้มน้าวใจผู้อ่านให้กระจ่างปราศจากความสงสัย หากการเปลี่ยนมาตรฐานนั้นอธิบายไม่ได้ ไม่มีเหตุผล และเปลี่ยนพอดีในกรณีของฝ่ายการเมืองคนละข้างกับที่ศาลเคยมีคำสั่งเรื่องเดียวกันมาก่อน ปัญหาจะเกิดขึ้นทันทีว่าศาลอาจเลือกปฏิบัติหรือไม่ ในบางครั้ง น่าคิดว่าประชาชนอาจทนกฎหมายที่ไม่ดีหรือโหดร้ายได้มากกว่าการบังคับใช้กฎหมายอย่างเลือกปฏิบัติ เพราะในกรณีแรกนั้น อย่างน้อยยังรู้สึกเป็นธรรมหรือเสมอภาคกัน

ประการที่สาม การตีความข้อกฎหมายนั้น ต้องให้เหตุผลประกอบที่ดีและไม่สุดโต่งจนเกินไป ศาลอาจจะเข้ามาจำกัดการใช้อำนาจรัฐได้ แต่จำเป็นด้วยหรือที่กำหนดข้อห้ามไว้ถึงเก้าประการจนเป็นที่เห็นชัดเข้าใจกันทั่วว่า ศาลกำลังห้ามเจ้าหน้าที่ไม่ให้ใช้อำนาจได้จริง ศาลต้องยอมรับว่าการใช้อำนาจตุลาการมีข้อจำกัด ไม่อาจตัดสินได้ทุกสิ่งตามอำเภอใจ คำสั่งต้องถูกต้องด้วยหลักวิชาการ ไม่น่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม

ในกรณีการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน ศาลต้องยอมรับว่า รัฐบาลเองมาจากการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมาก ซึ่งเป็นที่มาของความชอบธรรมอีกแบบ ในขณะที่ศาลเองมีความชอบธรรมจากการเป็นผู้รู้ในสาขาเฉพาะทาง ดังนั้น ทั้งสององค์กรจึงต้องเคารพกัน และขัดแย้งกัน ทั้งสององค์กรต้องผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเช่นนี้ตลอดไป และไม่มีวันที่ผ่านไหนจะชนะขาด รวมทั้งไม่ควรพยายามให้ฝ่ายใดชนะขาดด้วย เนื่องจากนั่นจะเป็นอันตรายต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ

การวิพากษ์ศาลหลังโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องน่ายินดี บางคนอาจโต้แย้งว่า ไม่ว่าการชุมนุมจะยืดเยื้อหรือยั่วยุขนาดไหน ไม่ว่าคนที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมจะโกรธเกลียดผู้ชุมนุมขนาดไหน หรือแม้จะไม่มีรัฐเข้ามาควบคุมจับตามองการชุมนุม ก็ต้องไม่มีใครหยิบปืนหรือระเบิดขึ้นมาสังหารกัน ข้อโต้แย้งนี้เป็นจริงในทางอุดมคติ แต่เราไม่ได้อยู่ในโลกอุดมคติ โลกแห่งความเป็นจริงของประเทศไทยคือ มีผู้พร้อมใช้ความรุนแรงกำจัดผู้ที่เห็นต่าง ไม่ใช่ทุกคนจะถือศีลชุดเดียวกัน ดังนั้น การพยายามค้นหาสาเหตุและทางแก้ไขปัญหาเพื่อปลดชนวนความรุนแรงให้มากที่สุด จึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในปัจจุบันนี้แล้ว หัวใจหนึ่งของประชาธิปไตยคือ การพูดความจริงอย่างตรงไปตรงมา หากไม่พูดความจริงกัน ย่อมไม่ทราบสาเหตุของปัญหา แม้ทราบก็อาจทราบผิดเพราะหลับหูหลับตาคิดเอาเอง หากไม่เข้าใจสาเหตุของปัญหาจริงๆ สังคมไทยก็จะไม่อาจแก้ปัญหาความรุนแรงได้ ความขัดแย้งนี้ก็จะรุนแรงขึ้นเกินความจำเป็น อีกหลายชีวิตต้องสูญเสียไป และนำไปสู่สงครามกลางเมืองได้ในที่สุด

It takes two to tango. มีผู้กล่าวไว้ ว่าการเต้นรำนั้นต้องใช้คนสองคน ฉันใดก็ฉันนั้น ทั้งสองฝ่าย ฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายต่อต้านการชุมนุมได้ช่วยกันสร้างความรุนแรง และก็ต้องใช้ทั้งสองฝ่ายในการแก้ไขปัญหาเช่นกัน


 

เกี่ยวกับผู้เขียน :เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง เป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net