Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ในช่วงเวลาที่สังคมไทยมืดมิด สถาบันอย่างกองทัพบกแห่งราชอาณาจักรไทยยังพยายามที่จะกำจัดผู้ที่คิดเห็นแตกต่างทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นการฟ้องร้อง สปป.ล้านนา ในมาตรา 113 หรือแม้กระทั่งอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ด้วยมาตรา 112 ซึ่งเป็นข้อหาระดับความมั่นคงของชาติเป็นแน่แท้หากพิจารณาจากหมวดหมู่ของข้อกฎหมายเหล่านั้น มันทำให้เกิดคำถามต่อปรากฎการณ์เหล่านี้ว่าเหตุไฉนความมั่นคงของชาติไทยจึงเป็นอุปสรรคต่อการมี “เสรีภาพในการแสดงออก” หรือ freedom of expression อันเป็นหลักการขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย และตกลงกองทัพบกที่ทำเพื่อชาติเป็นชาติแบบไหน เป็นชาติในระบอบประชาธิปไตยหรือชาติในระบอบใดผู้เขียนก็หาไม่ทราบ

มันคงจะไม่แปลกเกินจริงหากเราจะเชื่อกันว่ากองทัพของประเทศไทยนั้นไม่เคยมีสำนึกร่วมในการเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง โดยเฉพาะบ้านเมืองที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย แต่ทหารของไทยนั้นกลับมีพฤติกรรมที่เป็นดั่งอุปสรรคในการพัฒนาบ้านเมือง แถมแทนที่กองทัพจะช่วยป้องกันภัยให้แก่คนในชาติสร้างความปลอดภัยให้กับชีวิตของผู้คนแต่พฤติกรรมของกองทัพไทยกลับกลายเป็นกองทัพโจรที่คอยจะกำจัดศัตรูที่เป็นเพื่อนร่วมชาติของตนโดยเฉพาะคนที่คิดเห็นแตกต่างทางการเมือง แทนที่จะรู้จักหน้าที่ของตนแต่กลับแทรกแซงทางการเมืองสร้างอำนาจบาตรใหญ่ให้กับระบบอุปถัมป์ของตน นอกจากนี้กองทัพยังมีสัญลักษณ์ทางการเมืองบางอย่างในการพยายามเล่นนอกกฎกติกาของระบบ เช่น การตั้งกลุ่มทหารที่กระจายไปทั่วกรุงเทพฯ ระหว่างที่กลุ่ม กปปส. ชุมนุมอยู่ หรือการสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงต่อนักวิชาการนำมาสู่คำถามว่านี้คือหน้าที่ของทหารใช่หรือไม่ ?

แต่แท้จริงแล้วปัญหาของการเมืองไทยในปัจจุบันที่มีคนถกเถียงกันมากทั้งเรื่องไอเดียของการแบ่งแยกประเทศ ไอเดียของการเปลี่ยนรัฐไทยจากรัฐเดี่ยว (unitary state) ไปสู่การเป็นสหพันธรัฐ (federal state) ที่สนับสนุนการกระจายอำนาจไปสู่การแบ่งรัฐย่อยภายในประเทศแต่ยังมีศูนย์กลางการปกครองหลักเป็นพื้นฐานหรือมีรัฐบาลกลางและรัฐธรรมนูญหลักเป็นของสหพันธรัฐที่ทุกรัฐจะต้องอิงหลักการจากตัวกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ในแต่ละรัฐภายในประเทศนั้นจะมีความสามารถในการจัดการงานบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติภายในรัฐตนเองได้อย่างเต็มที่ ในแต่ละรัฐจะสามารถที่จะออกกฎหมายเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของคนในรัฐของตนเองได้จริงๆ มากกว่าให้รัฐส่วนกลางได้กำหนดลักษณะการปกครอง การจัดงบประมาณให้โดยที่ไม่ทราบถึงความต้องการจริงๆ ของประชาชนในท้องถิ่นแบบที่รัฐไทยประเทศกรุงเทพฯ กำลังทำอยู่

ถามว่าทำไมไอเดียหรือความคิดเรื่องนี้ยังเป็นที่ต้องห้ามทางกฎหมายในสังคมไทยที่เรายังมีมาตรา 1 ที่กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกไม่ได้” ในบททั่วไปของกฎหมายรัฐธรรมนูญ อันต่างจากต้นกำเนิดรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแรกของสยาม 2475 ที่ระบุในมาตรา 1 ไว้ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ซึ่งในปัจจุบันถูกทำให้อยู่ในมาตรา 3 อันแสดงนัยยะสำคัญทางการเมืองว่าอำนาจอธิปไตยของประชาชนก็ยังต้องอยู่เป็นรองจากอำนาจในการแตะต้องมาตรา 1 เรื่องการเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐซึ่งมาตรานี้เองที่เป็นมรดกของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 10 ธันวาคม 2475 ที่กำเนิดจากการต่อรองทางอำนาจของรัชกาลที่ 7 กับคณะราษฎรจนก่อกำเนิดมาตรา 1 ให้เราต้องใช้กันมาถึงทุกวันนี้ และก็ตอกย้ำเราว่าอำนาจอธิปไตยจริงๆ ของปวงชนชาวไทยหาได้มีความหมายแต่อย่างใด

หลากหลายคำถามที่แสดงความสงสัยต่อความคิดเหล่านี้คงหลีกเลี่ยงที่จะอธิบายไม่ได้ว่าทำไม ณ ปัจจุบันกาลนี้ประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนรูปรัฐจากรัฐเดี่ยวไปเป็นสหพันธรัฐโดยยังมีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นเดิม อย่างแรกเลยนั้นคือประเทศไทยต้องการ “การกระจายอำนาจ” (decentralization) ความสำคัญของการกระจายอำนาจนั้นก็คือประชาชนทุกภาคส่วนภายในประเทศไทยต้องมีความสามารถในการตัดสินใจชีวิตของตนเองได้โดยที่ให้ประชาชนในชุมชนของตนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจกันเองมากกว่าให้รัฐส่วนกลางมาคอยชี้นิ้วว่าประชาชนในชุมชนต่างจังหวัดต่างภาคส่วนต้องทำอะไรโดยไม่เคยได้ปรึกษาประชาชนเหล่านี้จริงๆ จังๆ เลยในบริบทของสังคมไทย ดังนั้นการกระจายอำนาจโดยการแบ่งออกเป็นรัฐจะทำให้อำนาจอธิปไตยของประชาชนได้สามารถถูกบริหารได้โดยประชาชนในท้องที่ด้วยความต้องการของพวกเขาจริงๆ

หากพิจารณาจากมิติทางประวัติศาสตร์เราจะเห็นได้ว่าประเทศไทยนั้นถูกรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ในขณะที่เขาพยายามจะปฏิรูปสยามในปี 2435 ให้สยามสามารถจัดรวมกันเป็นรัฐที่มีอาณาเขต มีอำนาจอธิปไตย ฯลฯ หรือง่ายๆ คือรัชกาลที่ 5 พยายามจะจัดตั้งรัฐชาติสยามโดยการบุกยึดอาณาเขตของรัฐอื่นๆ รอบข้างให้มาเป็นของตนเอง เช่น การบุกตีล้านนา ปราบกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ หรือการบุกอีสานเพื่อไปปราบกบฎผู้มีบุญ หรือการจับเจ้าเมืองปาตานีมาขังเอาไว้เพื่อที่จะพยายามสลายอำนาจของเจ้าเมืองท้องถิ่นเหล่านี้ การใช้อำนาจความรุนแรงในฐานะอาญาสิทธิ์จึงนำมาซึ่งการก่อสร้างประวัติศาสตร์รัฐชาติไทยที่มีต้นกำเนิดมาจากการนองเลือด และในปัจจุบันแทนที่สังคมไทยจะปรับตัวให้สังคมจะสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างที่เกิดมาในอดีตได้อย่างที่ในยุโรปได้ทำ แต่รัฐไทยนั้นได้พยายามผนวกอำนาจของท้องถิ่นโดยผูกมัดความคิด ความอ่าน จิตสำนึกของชาติของประชาชนให้ต้องจำนนต่อชุดความคิดประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมอย่างที่ตั้งคำถามไม่ได้ และนิยามผู้ที่คิดต่างจากตนให้เป็น “ผู้ก่อการร้าย” บ้าง “กบฏแบ่งแยกแผ่นดิน” บ้าง

สิ่งเหล่านี้มันได้นำมาซึ่งการสถาปนาอำนาจของความรู้ที่รัฐไทยพยายามทำให้พลเมืองในปัจจุบันของรัฐต้องว่านอนสอนง่ายและที่สำคัญคือต้องเชื่อฟังต่อระบบการให้ความรู้จากรัฐสยามส่วนกลาง(ประวัติศาสตร์เจ้ากรุงเทพ) โดยที่ต้องพยายามกลืนไม่ให้ประชาชนมีภาพสำนึกทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ชัดเจน ระบบภาษา ระบบการศึกษา รวมทั้งการคมนาคมจะต้องเกิดการปฏิรูปเพื่อให้ประชาชนในละแวกบ้านนอกเข้าใจและสามารถรับใช้ต่อส่วนกลางได้อย่างไม่ต้องมีคำถามว่าทำไมคนในท้องถิ่นเรากลับรับรู้ประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นเราน้อยหรืออย่างมากก็คือรู้แค่บางเรื่อง แต่บางเรื่องต้องถูกทำให้ไม่รับรู้และต้องถูกสอดใส่ความรู้จากส่วนกลางเข้าไปแทน กระบวนการเหล่านี้จึงเป็นการเรียกได้ว่าเป็นการปกครองที่ทำให้ผู้คนในปัจจุบันยอมรับลักษณะทางอำนาจเช่นนี้อย่างแนบเนียน โดยที่ตนจะไม่ทราบถึงที่มาในอดีตว่าคนในท้องที่ของตนเคยเป็น “ผู้ถูกกระทำ” มาเช่นไรบ้าง

ดังนั้นการปฏิรูปประเทศไทยที่ควรจะเป็นประเทศสยาม[1]ให้เป็นสหพันธรัฐในแง่หนึ่งย่อมมีคุณูปการต่อการพัฒนาท้องถิ่นในด้านการสร้างสำนึกของชุมชนให้มากขึ้นและทำให้อัตลักษณ์ของท้องถิ่นสามารถปรับพัฒนากันได้เองอย่างโดดเด่นมากขึ้น และที่สำคัญอย่างที่กล่าวไว้คือการสร้างสำนึกทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มตนที่จะเริ่มก่อให้เกิดความสำคัญต่อชาติบ้านเมืองมากขึ้นอย่างแน่นอน ประการต่อมา การที่สยามจะเป็นสหพันธรัฐนั้นจะย่อมส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจภายในรัฐอย่างแน่นอนด้วยเหตุที่ว่าเมื่อการจัดการภาษีในแต่ละรัฐสามารถใช้บริหารมาพัฒนารัฐและชุมชนของตนเองได้ง่ายขึ้นและเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้นโดยไม่ต้องจ่ายภาษีให้ต่อส่วนกลางอย่างไม่เป็นธรรมอีกต่อไป เงินไหลเวียนในภูมิภาคจะมากขึ้นด้วยการลงทุนโดยชุมชนเอง เช่น เชียงใหม่มหานครอาจจะสามารถสร้างรถไฟฟ้าในเมืองเองได้ หรือในรัฐล้านนานั้นจะสร้างรถไฟฟ้าเชื่อมต่อจากเชียงใหม่ไปน่านได้ด้วยงบประมาณภาษีของคนในรัฐ และที่สำคัญเมืองใหญ่ๆ ตามในแต่ละภูมิภาคอย่าง ขอนแก่น อุดรฯ อุบลฯ ภูเก็ต สงขลา สามจังหวัดภาคใต้ จะสามารถจัดการตนเองได้และจะมีการเติบโตที่มากขึ้นอย่างแน่นอน และที่สำคัญในแต่ละรัฐจำต้องมีเมืองหลวงของแต่ละรัฐ ซึ่งนั้นจะทำให้เกิดเมืองใหญ่ (metropolis) ขึ้นพร้อมรับกับการเติบโตของ AEC

ด้วยเหตุนี้แล้วคนไทยจึงต้องทำความเข้าใจกันเสียใหม่ว่าการเปลี่ยนประเทศไทยไม่ใช่การแบ่งแยกประเทศไปตั้งประเทศใหม่ และที่สำคัญไม่ได้เป็นการล้มสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด แต่เป็นเพียงกระบวนการหนึ่งที่จะทำให้รัฐสยามนั้นสามารถตอบสนองต่อประชาชนในแต่ละภาคส่วนให้ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจชุมชนของตนเองอย่างจริงๆ เสียที เพราะแท้จริงแล้วอำนาจอธิปไตยในสังคมประชาธิปไตยนั้นจำต้องขึ้นอยู่กับอำนาจของปัจเจกชนในสังคมว่ามีอำนาจในการตัดสินใจด้วยตนเอง (autonomy and self-determination) มากน้อยแค่ไหน หรืออำนาจอธิปไตยในเศษกระดาษที่เขียนชื่อว่า “รัฐธรรมนูญ” จะเป้นเพียงเปลือกประดับของประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่หลอกให้ประชาชนแลดูมีความหวัง แต่เปรียบเสมือนดั่งความหวังที่ริบหรี่และเศร้าสร้อยในเมื่อความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยเฉพาะจากชาวบ้านต่างจังหวัดยังต้องกลายมาเป็น “อาชญากรรมของชาติ” ได้ แล้วคนไทยจะสามารถกระดิกตัวไปไหนได้ ในเมื่อเรายังต้องถูกปกครองกันด้วยความหวาดระแวง โดยหาได้มีสำนึกถึงความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่เราควรเชื่อว่า เราทุกคนปกครองประเทศนี้ร่วมกัน หาใช้ต้องรอหวังจากอำนาจจากชนชั้นปกครองเพียงกลุ่มเดียว

 

อ้างอิง :

- พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550




[1] ในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ทำการเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น ประเทศไทย ในปี 2482 โดยการใช้คำว่า “ไทย” นี้เป็นการขลุมรวมชาติพันธ์อื่นๆ ภายในชาติให้จำต้องยอมรับต่อความเป็นไทยโดยสดุดี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net